หลวงพ่อเกษม  เขมโก

เลิศยิ่งอภิญญาบารมี ณ สุสานไตรลักษณ์  นครลำปาง

สนใจเช่าบูชาูวัตถุมงคลของหลวงพ่อเกษม Click ที่นี่ได้เลยครับ

 

 

            อาจจะเป็นเรื่องแปลกประหลาด ถ้ามีใครบางคนชอบเข้าไปอยู่ในป่าช้าซึ่งมีกลิ่นค่อนข้างเหม็นและน่ากลัว  เราเห็นแต่คนที่เข้าไปที่เจริญหูเจริญตาโดยทั่วไปไม่มีใครเข้าไปในป่าช้า เว้นแต่จะถูกเขาหามไปเพราะตัวเองหาชีวิตไม่แล้ว  แต่ป่าช้านั้นย่อมเป็นที่ ๆ ควรเข้าไปเพื่อภาวนาสำหรับผู้ต้องการค้นพบ  ผู้ต้องการพ้นภัยวัฏสงสารวังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิดถ้าอยากจะเข้าไปอยู่ป่าช้าย่อมไม่เป็นความแปลกประหลาดแต่อย่างใด  เพราะป่าช้าเป็นที่ ๆ เหมาะแก่การฝึกตนเพื่อผลในทางธรรม  หลวงพ่อเกษมเป็นพระที่พิสมัยป่าช้ามาก  ตลอดชีวิตแห่งการบวชของท่านเกือบจะอยู่แต่ในป่าช้าเท่านั้น  ความเงียบสงบที่อยู่ในป่าช้าย่อมเป็นสับปายะอย่างดีสำหรับการเจริญกรรมฐาน  หลวงพ่อไม่ชอบที่จะอยู่คลุกคลีกับหมู่คณะเพราะมันวุ่นวายหาความสงบจิตได้ยาก  จึงพาตัวเองเข้าไปอยู่ในป่าช้าแสวงหาสัจจะของชีวิต  ป่าช้าที่หลวงพ่อเกษมเข้าไปอยู่บำเพ็ญเป็นป่าช้าชั้นในซึ่งเป็นที่ฝังศพของผีตายโหง  เวลาเขาเอาศพมาเผาหลวงพ่อจะมานั่งสมาธิที่หน้าเชิงตะกอน ขณะที่ไฟร้อนแรงกำลังลุกไหม้ซากศพท่านก็นั่งพิจารณาซากศพที่กำลังไหม้อยู่นั่นแหละ  ท่านนั่งอยู่อย่างนั้นจนกว่าไฟจะหมดให้มันมอดสนิทไปกับกิเลสภายในเลยทีเดียว

                “อันตำแหน่งเจ้าอาวาส..เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวจึงไม่เหมาะกับเรา เราเป็นพระกรรมฐานที่ต้องการความสงบ...เราไม่ขอกลับมาอีก...อย่าได้คิดติดตามเราไป”  กิตติศัพท์เรื่องแดนสงบในป่าช้าหลายแห่งที่หลวงพ่อเกษมได้ไปนั่งบำเพ็ญภาวนา ระบือไปไม่มีขอบเขต จนที่สุด บรรดาญาติโยม  สานุศิษย์  ผู้มีความเคารพเลื่อมใสในท่าน  จึงพร้อมใจกันสร้างกุฏิให้ท่านที่บริเวณสุสานไตรลักษณ์ (สุสานประตูม้าในอดีต)  นี่คือความเป็นมาแห่งอดีตของหลวงพ่อเกษม  เขมโก

                ท่านกำเนิดแต่วันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือนยี่ เหนือปีชวด  ตรงกับวันที่ 28 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 (เมื่อเทียบปฏิทินโหราศาสตร์เป็นวันพฤหัสบดี แรม 5 ค่ำ เดือน 12 เกิดยามใกล้สว่าง สากลถือว่าเป็นวันใหม่)  ท่านเป็นชาวลำปาง  เป็นบุตรชายหัวปี  ในจำนวนพี่น้องสองคนของเจ้าน้อยหนู (มณีอรุณ) และเจ้าแม่บัวจ้อน (ณ ลำปาง)  บ้านท่าเค้าม่วง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง  น้องร่วมท้องเสียชีวิตแต่เยาว์ สายสกุลข้างบิดาของเจ้าน้อยหนูคือ น้องสุดท้องของเจ้าน้อย แก้วมูล  และเจ้าซาน  บ้านนาแงะ  อำเภอเกาะคา ลำปาง “สกุล มณีอรุณ”  อยู่ในสายของเจ้าวังซ้าย อาชีพของโยมบิดา  เจ้าน้อยหนูรับราชการเป็นปลัดอำเภองาว  และต่อมาได้ย้ายไปเป็นปลัดอำเภอเกาะคา ถึงแก่กรรมทิ้งลูกเป็นกำพร้าแต่ในขณะที่หลวงพ่อเกษม ยังอยู่ในเยาว์วัย  สายสกุลข้างมารดาของเจ้าแม่บัวจ้อน คือบุตรีคนโตในจำนวนพี่น้องสามคน  เจ้าจี๋และเจ้าศรีโลหะ  น้องผู้ถัดไปถือกำเนิดแต่เจ้าน้อยเมืองแก้ว  บุตรเจ้าวังซ้ายกับแม่ศรีนวลบุตรีผู้ถ้วนเจ็ดของ เจ้าหลวงนรนันทไชย  เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 9 กับเจ้าแม่กาบดำ ในพี่น้อง 7 คนของเจ้าแม่บัวจ้อน มีพี่ชาย 4 คน ก็คือ เจ้าชวลิตวรวุธ มีศักดิ์เป็นเจ้าราชสัมพันธ์ และรองเจ้าผู้ครองนครลำปางสมัยเจ้าหลวงบุญวาทย์  วงศ์มานิต  ซึ่งเป็นเจ้าพี่ต่างมารดาราชบุตรของ เจ้าหลวงนรนันทไชยผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 9 

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามสกุลแก่ผู้บำเพ็ญคุณงามความดี  โปรดเกล้าพระราชทานนามสกุล ณ ลำปาง แก่เจ้าหลวงบุญวาทย์ วงศ์มานิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2457  โดยเริ่มพระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ. 2456  มาตรา 7 ความว่า “เมื่อบิดาของคนใดไม่ปรากฏอยู่ในชั่วกาลใด บุคคลนั้นต้องใช้ชื่อสกุลฝ่ายมารดาชั่วกาลนั้น”  เจ้าเกษม (หลวงพ่อเกษม) กำเนิดแต่เจ้าพ่อน้อยหนู และเจ้าแม่บัวจ้อน  ก่อนพระราชบัญญัตินามสกุล ครั้นภายหลังกำพร้าบิดา เจ้าเกษม ได้ชื่อในวัยการศึกษาว่า “เกษม  ณ ลำปาง”  ด้วยเหตุดังกล่าวนี้  หากนับโดยชาติวุฒิแล้ว  ก็กำเนิดในสกุลสูงทั้งฝ่ายบิดาและมารดาในสายสกุลมารดา เป็นสายสกุลใกล้ชิดกับสกุลเจ้าผู้ครองนครหลายชั้นโดยลำดับ

 

ชีวิต และการงาน

ssssssssssssssssssssssssss

 

                วัยการศึกษา  เจ้าเกษม  ณ ลำปาง เข้าศึกษา ณ โรงเรียนบุญวงษ์  (ปัจจุบันคือ โรงเรียนเทศบาล 3)  โรงเรียนของคุ้ม ซึ่งตั้งอยู่หน้าคุ้มลำปาง โรงเรียนแห่งนี้ เจ้าหลวงบุญวาทย์  วงศ์มานิต  เป็นผู้อุทิศการสร้าง  โดยย้ายจากโรงเรียนเก่าที่วัดเวียงเหนือ  คือ วัดพระแก้วดอนเต้า   เจ้าเกษม  ณ ลำปาง  ได้ศึกษาจบหลักสูตรชั้นประถม 5 อันเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนบุญวงษ์ ในขณะนั้น

                วัยบรรพชา  ในระหว่างที่เจ้าเกษม  ณ ลำปาง  ศึกษาอยู่ในโรงเรียนบุญวงษ์นั้น สถานที่ตั้งโรงเรียนอยู่ติดกับวัดบุญยืน  ซึ่งวัดนี้สร้างขึ้นโดย  เจ้าหลวงนรนันทไชย และเจ้าแม่กาบดำ เป็นวัดระหว่างศรัทธาเจ้าพี่เจ้าน้องเครือเดียวกันกับวัดเชียงมั่น  วัดคะตึก เจ้าเกษม  ณ ลำปาง ได้มีโอกาสบรรพชาหน้าศพเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ในสมัยที่ยังเป็นนักเรียนเมื่อ พ.ศ. 2468  โดยที่เป็นบุตรหลานในสกุลที่เกี่ยวข้องกับวัดบุญยืน  พ.ศ. 2470 หลังจากจบการศึกษาในโรงเรียนบุญวงษ์แล้ว  เจ้าเกษม  ณ ลำปาง  ก็ตัดสินใจบรรพชา เพื่อการศึกษาธรรมวินัยอย่างจริงจัง  ในสมัยครูบาเหมย (สุธรรม)  เป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน  สามเณรเกษม ได้ศึกษาวิชานักธรรม ตรี-โท  ที่วัดเชตวัน  ศึกษาบาลีที่วัดศรีล้อม (เป็นสำนักเรียนแห่งแรก)  ต่อมาได้ย้ายไปศึกษาบาลีที่วัดบุญวาทย์วิหาร  โดยมี พระมหาสุรัส  อภิรโน  ป. 9  และเทพวิสุทธิญาณมุนี  ป. 9  สอนการเรียน

                ในปี พ.ศ. 2476 สามเณร เกษม  ณ ลำปาง  อายุครบ 21 ปี จึงได้อุปสมบทโดยมีท่านเจ้าคุณธรรมจินดานายก (ฝาย)  เจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหาร  เจ้าคณะจังหวัดลำปางในสมัยนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์  ท่านพระครูอุตตรวงศ์ธาดา (ปัญญาลิ้นทอง)  เจ้าอาวาสวัดหมื่นกาศ  เจ้าคณะอำเภอเมืองลำปาง เป็นกรรมวาจาจารย์  ท่านพระธรรมจินดานายก (อุ่นเรือน) เจ้าอาวาสวัดป่าตัวะ เป็นอนุสาวนาจารย์  โดยมีเจ้าแม่บุญปัน (ณ ลำปาง)  พงศ์พันธ์ และคณะศรัทธาวัดบุญยืน  เป็นแรงสำคัญในพิธีอุปสมบทครั้งนี้  จากการอุปสมบท สามเณรเกษม  ณ ลำปาง  ได้รับนามฉายาเป็น เขมโก ภิกขุ นับตั้งแต่นั้นมา พระเกษม  เขมโก ยังคงศึกษาพระธรรมวินัยและได้ศึกษาวิชานักธรรมเอก  จากสำนักวัดเชียงราย  ลำปาง โดยมีท่านเจ้าคุณราชวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดลำปางเป็นพระอาจารย์สอน  ส่วนบาลีคงศึกษาที่วัดบุญวาทย์วิหาร  โดยมิได้นำพาต่อการที่จะเรียนเพื่อสอบ แต่จะนำเอาความรู้มาเพื่อเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์คำแปล พุทธวจนะ  พระเกษม เขมโก  เคยกล่าวอยู่เนือง ๆ ว่า  บัดนี้ท่านกำลังเรียนภาษาของพระพุทธเจ้าและเริ่มสนใจต่อปฏิปทาของพระวิปัสสนา

 

กรรมฐานที่ถือธุดงควัตร

ssssssssssssssssssssssssss

 

                เมื่อเราศึกษาประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการพระศาสนาในนครลำปางโดยลำดับมา  กิตติคุณของครูบามหาป่า แห่งสกุลชาวตำบลลำปางหลวงบ้านไหล่หินต่าง ๆ สืบทอดต่อกันมานับเวลาร้อย ๆ ปี  ท่านครูบามหาป่า ถือธุดงควัตร  ไม่ยึดถือตำแหน่งเจ้าวัด  ชอบนั่งกรรมฐานตามป่าช้า ตัดเยื่อใยในลาภยศสรรเสริญ  หลวงพ่อครูบาแก่น (พระอุบลสุมโน)  เจ้าอาวาสวัดประตูป่องก็เช่นกัน  ในเรื่องปฏิปทา หลวงพ่อครูบาแก่นท่านถือธุดงควัตรหลังเทศกาลพรรษา  เป็นพระที่เจริญรอยแบบ “ครูบามหาป่า”  ยึดถือป่าช้า ร่มไม้จุดวิเวกเป็นสถานที่ฝึกบำเพ็ญภาวนา ฉันมื้อเดียว กิจวัตรระหว่างอยู่วัดประตูป่อง หลวงพ่อครูบาแก่น เช้าขึ้นนั่งภาวนาสวดมนต์ทั้ง 5  ตอนบ่ายเดินจงกรม  ค่ำลงสวดมนต์และตรวจตราดูความเรียบร้อยของพระเณรท่องหนังสือในวัด  จากนั้นท่านหลวงพ่อครูบาแก่น ก็นั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่จนราว 4 ทุ่ม  สวดมนต์กรวดน้ำแผ่เมตตา  พระเกษม เขมโก  จึงได้นำตัวท่านเองเข้าไปใกล้ชิดปรนนิบัติ และศึกษาวิชาจากหลวงพ่อครูบาแก่น (พระอุบลสุมโน)  แห่งวัดประตูป่อง  หลวงพ่อเกษม  เขมโก ได้ติดตามหลวงพ่อครูบาแก่น  ในการไปธุดงค์ตามป่าช้าต่าง ๆ  ฉันมื้อเอกาเมื่อเวลา 9.00 น.  ตอนบ่ายเดินจงกรม ค่ำลงสวดมนต์บำเพ็ญภาวนาจน 5 ทุ่ม  กรวดน้ำแผ่เมตตา  แล้วนั่งกรรมฐานตลอดไป  ปี พ.ศ. 2486  พระเกษม  เขมโก  สอบวิชานักธรรมเอกได้

 

 

    ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส

ssssssssssssssssssssssssss

 

            พระเกษม  เขมโก  ได้บรรพชาและอุปสมบทจำพรรษาอยู่  ณ วัดบุญยืน  นับตั้งแต่เจ้าอธิการคำเหมย  สุธรรม  มรณภาพลง  ก็มีพระต่อมคำ (เจ้าต่อมคำ  ณ ลำปาง บุตรเจ้าหนานอินตา  น้องเจ้าน้อยจู)  ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสสืบแทน  เจ้าอธิการคำเหมย  สุธรรม ต่อมาพระต่อมคำเหนื่อยหน่ายต่อผ้ากาสาวพัสตร์ จึงลาสิกขา  ความศรัทธาของญาติโยมและคณะสงฆ์ ได้ขออาราธนาให้พระเกษม  เขมโก  เข้าดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืนสืบแทนต่อมา

 

 

สละตำแหน่งการเป็นเจ้าอาวาส

ssssssssssssssssssssssssss

 

พระเกษม  เขมโก  ได้บริหารวัดบุญยืนควบคู่กับการศึกษาพระธรรมวินัย ความรอบรู้ของท่าน นับว่าแตกฉานลึกซึ้งมากขึ้น  ตลอดเวลาที่ท่านมีชีวิตร่มเย็นอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ส่วนใหญ่ของท่าน คือการฝึกฝนสมาธิจิต ปฏิบัติกรรมฐานอย่างอดทน  ที่สุดแล้วจิตตานุภาพก็แก่กล้าสูงส่ง  เกียรติคุณเริ่มขจรขจายไปทั่วสิบทิศ  หลวงพ่อเกษม  หรือเจ้าอาวาสวัดบุญยืน แม้มีตำแหน่งเจ้าอาวาสก็ตาม  ท่านก็หาได้ละเว้นการวิปัสสนากรรมฐานไม่  คงตั้งหน้าฝักใฝ่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  เมื่อหลวงพ่อเกษมสนใจในการปฏิบัติขั้นสูง  ท่านเริ่มเล็งเห็นความไม่เที่ยงแท้จากลาภสักการะ   ศรัทธาอามิสที่หลั่งไหลเข้าสู่วัดบุญยืนนั้นมิใช่เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นได้  ลาภยศสรรเสริญและความสุขแบบที่ตำแหน่งเจ้าอาวาสกับจุดมุ่งหมาย บำเพ็ญปฏิบัติตามโลกุตตระวิถี มิอาจจะร่วมทางกันได้แน่แท้  ปี พ.ศ. 2492 นั้นเอง  หลวงพ่อเกษม  เขมโก  เจ้าอาวาสแห่งวัดบุญยืน ก็ได้ตัดสินใจ ขอนมัสการกราบลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ต่อท่านพระครูอินทวิชณาจารย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมืองลำปางในขณะนั้น  ท่ามกลางความประหลาดใจและคาดไม่ถึง . . .

 

 

บำเพ็ญตบะหาความสงบ

ssssssssssssssssssssssssss

 

                ตอนใกล้รุ่งสาง  หลวงพ่อเกษม  เขมโก  มุ่งหน้าสู่สุสานศาลา วังทาน คือบริเวณที่ทำการสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 กรมประชาสัมพันธ์ เขตลำปาง ตำบลหัวเวียง ในขณะนี้  โดยถือธุดงควัตรตั้งแต่นั้นมา  สิ่งแห่งความสงบนั้นอยู่ ณ ที่ใด  และที่ใดหรือซึ่งได้ชื่อว่าสงบ  หลวงพ่อเกษมเป็นพระสงฆ์ซึ่งหมดสิ้นแล้วซึ่งกิเลสและเปี่ยมล้นด้วยบารมี  เราต้องจารึกเรื่องราวของหลวงพ่อเกษม  เขมโก  ซึ่งมีปฏิปทาเช่นเดียวกับพระมหาป่า เป็นรูปแรกที่ได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาสเพื่อเป็นการตัดเยื่อใยในลาภยศสรรเสริญ และความสุขอย่างหยาบได้เปราะหนึ่ง  โดยวัยวุฒิ  หลวงพ่อเกษม  เขมโก ในปัจจุบันปี พ.ศ. 2535  เริ่มจะพ้นวัย 80 ปีแล้วย่อมเป็นวัยอาวุโสกว่าสงฆ์จำนวนไม่น้อย  ย่อมก้าวล่วงสู่จุดสำรวมอินทรีย์ตามวัยแห่งสังขาร  การบันทึกประวัติส่วนหนึ่งของหลวงพ่อเกษม  เขมโก  ท่านย่อมเสมอบุคคลผู้หาได้ยาก  เป็นแบบอย่างของพุทธสาวกที่เราอาจจะมองเห็นภาพแต่ในสมัยใกล้เคียงกับยุคพุทธกาลมากที่สุด  ขอให้พิจารณาเรื่องราวของหลวงพ่อเกษม  เขมโก ท้ายนี้ เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาว่า  ท่านจะอยู่ในข่ายพระอริยสาวกรูปหนึ่งได้หรือไม่  ตามที่ได้รับการยืนยันจากผู้ใกล้ชิด

 

ปฏิปทาของหลวงพ่อเกษม  เขมโก

ssssssssssssssssssssssssss

 

                เมื่อปี พ.ศ. 2493  หลังจากที่หลวงพ่อเกษม  เขมโก  ออกจากวัดบุญยืน  สู่สุสานศาลาวังทาน เพื่อฝึกบำเพ็ญสมาธิในป่าช้า  หน้าเชิงตะกอนที่เจียนมอดดับในวันใหม่ท่ามกลางแสงแดดหรือสายฝน และแม้แต่เสียงเอ็ดอึงของผู้คน  ท่านนั่งหลับตาบำเพ็ญภาวนาอยู่หน้าเชิงตะกอนอยู่อย่างนั้น และเป็นลักษณะอย่างนั้น นับวันนับคืน ท่านถือปฏิบัติแบบไม่ยอมพูดกับผู้ใดเลย

                ตลอดระยะเวลาดังกล่าว  ในระยะนั้นไม่มีข่าวใดเกี่ยวกับหลวงพ่อเกษม  เขมโก  มากกว่าข่าวที่มีผู้เลื่อมใสศรัทธาในการปฏิบัติเคร่งครัด  ถือเคร่งในวิธีทรมานกายแบบล่อแหลม  ต่ออันตรายทางด้านสุขภาพ  ซึ่งทุกคนเป็นห่วงและกังวลอย่างยิ่ง  ท่านได้จาริกไปปฏิบัติตามป่าช้าต่าง ๆ จนกระทั่งไปที่ป่าช้าประตูม้า  จริยาวัตรอันสูงและความอุตสาหะแรงกล้า  ยากจะมีผู้เสมอเหมือนจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 50 ปี  เช่น การบริกรรมกลางแดดท่ามกลางฤดูร้อนที่แสนระอุ  จนตัวไหม้เกรียมเป็นเวลาถึง 3 เดือน  โดยไม่พักเข้าร่มเลย  ท่านนั่งขัดสมาธิอยู่เช่นนั้น ถึงเวลาจำวัดก็เพียงแต่ฟุบหน้าลงบนพื้นไม้กระดานที่ท่านทำไว้เป็นแคร่เท่านั้น  ใช่แต่เท่านี้ การบริกรรมอยู่กลางสายฝน มิใยฝนจะตกหรือฟ้าจะร้องดังครืนครั่นประการใด  แม้ผ้าที่ท่านครองจะเปียกโชก ท่านก็หาสนใจไม่  การบริกรรมฤดูหนาว ซึ่งจะหนาวแสนหนาวอย่างไร ก็หามิได้แม้แต่ความวิตกปราศจากการสะทกสะท้านทั้งสิ้น  ต่อมามีข่าวผลการปฏิบัติของท่าน คือสามารถฉันอาหารที่บูดแล้วเพื่อตัดความยินดีในกลิ่นรสได้  ท่านเคยอดอาหารเป็นเวลาถึง 49 วัน  ด้านอาหาร ท่านมิได้อาลัยใยดีภัตตาหารที่อุดมด้วยรสอร่อยมากมายจากผู้ที่นำไปถวาย  ท่านจะนำมาคลุกเคล้าปนกันให้ทั่ว เสร็จแล้วเก็บไว้ในบาตรทิ้งไว้จนบูดเน่า  จึงนำมาฉัน  เมือมีผู้นำของถวายท่าน แม้จะมีพวกลักเล็กขโมยน้อยมาคอยหยิบฉวย  ท่านก็ไม่ว่ากระไร

 

 

โจรมนุษย์หรือเทวดาจำแลง

ssssssssssssssssssssssssss

 

                ความสุขในขั้นนิพพานนั้นคือ ความว่าง ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข หากหวังคำว่านิพพาน มีจิตใจไม่หลงใหลอยู่กับสิ่งของวัตถุ    อาศรม ณ ป่าช้าศาลาวังทานขณะหลวงพ่อเกษม  เขมโกท่านกำลังบำเพ็ญภาวนาอยู่ ซึ่งเป็นเวลาพลบค่ำมีเจ้าหัวขโมยคนหนึ่งแฝงกายเข้ามาในความมืดสลัว  มันคงตั้งใจมาเพื่อขโมยข้าวของของหลวงพ่อ  แล้วก็เป็นความจริงมันมาเพื่อขโมยมุ้ง  ขโมยคนนี้ ความตั้งใจแน่วแน่มาว่าจะหามุ้งไว้กางกันยุงสักหลัง  มุ้งของหลวงพ่อเกษมหลังนี้คงเหมาะแน่ ๆ  ระหว่างที่มันกำลังใช้ความพยายามแก้ดึงสายมุ้งเพื่อให้ขาดอยู่นั้น มันไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ของมันให้สำเร็จโดยสะดวกดังใจนึกได้  หลวงพ่อได้ยินเสียงขโมยกำลังดึงสายมุ้งของท่าน  จึงปลงวิปัสสนาแล้วช่วยแก้เชือกข้างฝาที่ผูกมุ้งไว้ เมื่อหลวงพ่อเกษมแก้เชือกสายมุ้งเสร็จเรียบร้อย  หลวงพ่อก็ยื่นมุ้งส่งให้เจ้าหัวขโมยพร้อมกับรายการแถมผ้าห่มและหมอน เจ้าหัวขโมยก็ยื่นมือมารับ เมื่อหลวงพ่อส่งของให้เสร็จ พร้อมกันนั้นหลวงพ่อเกษมก็รีบโบกมือไล่เพื่อบอกให้เจ้าหัวขโมยรีบเอาข้าวของหนีไปโดยเร็ว ๆ เข้า  เหตุที่หลวงพ่อเกษมได้โบกมือไล่มันให้รีบหนีนั้น เพราะเกรงว่าคนอื่นจะมาพบเห็นเข้า  และเกรงว่าเจ้าหัวขโมยจะได้รับเคราะห์กรรมหรือโดนประชาทัณฑ์แน่ คนร้ายรายนี้ชะรอยจะเป็นเวทุติจำแลงกายมาทดสอบหลวงพ่อเกษม เขมโกก็ได้  โดยการแสดงน้ำใจของ (เจ้าขโมย) มันนั้นดำเหมือนถ่าน ส่วนใจของหลวงพ่อเกษมสิ  สุดใสสะอาดบริสุทธิ์ไม่มีอะไรเทียม  เห็นหลวงพ่อช่วยแก้สายมุ้งให้มันยังอุตส่าห์เอามุ้งหมอนและผ้าห่มไปได้ลงคอ  นี่ไม่เรียกว่าขโมยเสียแล้ว จะเรียกว่ามันมาปล้นทรัพย์ของหลวงพ่อก็ประมาณได้

                จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในครั้งนั้น หลวงพ่อเกษม  เขมโก จึงได้สละมุ้งหมอนและผ้าห่มอยู่เสมอ  นักเฉลยปัญหาธรรมก็มุ่งตีปัญหาว่ามิใช่โจรมนุษย์ดอก หากคงเป็นเทวดาจำแลงมาเสริมบารมีของหลวงพ่อเกษม  เขมโก  “สุข สุปติ  พุทโธ    เยน  เมตตา  สุภา  วิตา”  ผู้เจริญเมตตาดีแล้ว ย่อมหลับและตื่นเป็นสุข  ด้วยความเมตตาสูงของ หลวงพ่อเกษม  เขมโก  ดังนั้น ปัจจุบันนี้ท่านจำวัดอยู่ในป่าช้าโดยไม่มีมุ้ง   แต่ตลอดทั่วร่างกายของท่านจะไม่มีรอยถูกยุงกัดเลย  แปลกประหลาดอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ  ได้ข่าวทราบมาว่าระยะเวลาหนึ่งปี  หลวงพ่อเกษม  เขมโก จะอาบน้ำเพียงหนเดียวเท่านั้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา  หลวงพ่อเกษม  เขมโก ไม่ยอมอาบน้ำอีก  แต่ว่ากลิ่นตัวท่านไม่มี ไม่มีเหงื่อ แม้ท่านจะออกนั่งภาวนาตากแดด นี่แหละบารมีความเมตตาของหลวงพ่อ  ช่างเป็นสิ่งมหัศจรรย์แท้

 

สมบัติของหลวงพ่อ

ssssssssssssssssssssssssss

 

                จะเห็นได้ว่า  หลวงพ่อเกษม  เขมโก  มีจริยาวัตรอันสูงส่งอีกทั้งยังมีอุตสาหะแรงกล้า ยากที่จะหาผู้เสมอเหมือน  ท่านมุ่งศึกษาหาความจริง ค้นคว้าสาระของชีวิต ความหมั่นเพียรบวกกับความอุตสาหะของท่าน  เสริมสร้างจิตใจคนทั่วไปทำให้เลื่อมใสศรัทธา  ดังที่ทราบกันแล้วว่า ท่านเป็นภิกษุที่ฉันน้อย คือสามวันท่านฉันเพียงมื้อเดียวหนำซ้ำยังเป็นข้าวบูดเสียอีกด้วย  ข้อที่จะลืมเสียไม่ได้เลยก็คือ หลวงพ่อเกษมท่านไม่ได้มีสมบัติมากมายมหาศาลแต่อย่างใดเลย ท่านมีสมบัติติดตัวก็เพียงแค่ 3 อย่างเท่านั้น คือ “บาตร” หนึ่งลูก “ไตรจีวร” ที่ท่านครองอยู่ 1 ชุด และอีกอย่างหนึ่งคือ “กะโหลกศีรษะมนุษย์” อีก 1 หัว  ยังไม่มีหมอน ไม่มีเสื่อ ไม่มีย่าม ไม่มีรองเท้า  ตลอดจนของอื่นใดทั้งสิ้น  นี่ย่อมเป็นเครื่องแสดงได้ชัดเจนว่าท่านไม่ปรารถนาอะไรไว้เป็นสมบัติเลย  เวลาจะหลับนอนนั้น หลวงพ่อท่านไม่เคยต้องการที่จะนอนหลับให้สบายสุขารมณ์  เวลานอนท่านก็ฟุบหน้าลงพื้นกระดานในกุฏิเท่านั้น  เมื่อมีผู้ที่เคารพบูชาท่านนำเอาไตรจีวรใหม่ ๆ ดี ๆ มาถวาย  เพราะเห็นจีวรที่ท่านครองอยู่นั้นขาดแล้วขาดอีก  แทบไม่มีชิ้นดี ท่านบอกว่าท่านเป็นพระป่าไม่ใช่พระประจำอยู่กับวัด  ของใหม่ของสวยไม่สำคัญแล้วท่านก็บริจาคจีวรใหม่ ๆ ให้แก่ภิกษุอื่น ๆ ไปจนหมดสิ้น นี่แหละ “หลวงพ่อเกษม  เขมโก”  พระผู้ยิ่งไปด้วยอภิญญาฤทธิ์ จิตตานุภาพ

 

การสร้างพระเครื่องของ

หลวงพ่อเกษม  เขมโก  ณ สุสานไตรลักษณ์

ssssssssssssssssssssssssssssssss

 

                 

 

                ในที่นี้จะขอนำเสนอเฉพาะวัตถุมงคลของหลวงพ่อเกษมที่ออกโดยทางสุสานไตรลักษณ์หรือที่หลวงพ่อท่านดำริจัดสร้างเท่านั้น  ด้วยเหตุว่าหากจะรวบรวมภาพและข้อมูลทั้งหมดคงจะไม่มีเนื้อที่พอ  มูลเหตุของการจัดสร้างวัตถุมงคลของทางสุสานไตรลักษณ์นั้น  เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อครั้งที่หลวงพ่อเกษม  เขมโก ท่านมีอายุครบ 60 ปี สานุศิษย์ทั้งหลายก็จัดการให้มีพิธีทำบุญอายุให้  ความจริงหลวงพ่อท่านไม่เต็มใจจะให้จัดเลย  แต่เนื่องจากขัดศรัทธาศิษยานุศิษย์ไม่ได้ จึงต้องอนุโลมตาม  และในการจัดทำบุญครบรอบ 60 ปีมานี้เอง  คุณประเวทย์  ณ ลำปาง  ซึ่งเป็นญาติและศิษย์ก้นกุฏิของท่าน  ได้ตกลงจัดสร้างพระเครื่อง ขึ้นเป็นที่ระลึกเนื่องในวันทำบุญครบรอบอายุ 60 ปี  โดยการสร้างคราวนี้ คุณประเวทย์ได้นมัสการขอเก็บรวบรวมเส้นเกศาของท่านภายหลังจากปลงผมแล้ว  ดอกไม้บูชาพระ ผงขี้เถ้าจากก้านธูปภาวนา  ซึ่งท่านเก็บรวบรวมไว้และเศษจีวรเก่า ๆ ที่ท่านสละแล้ว  นอกจากนี้ยังมีดินโป่งข่าม ซึ่งคุณประเวทย์นำมาจากอำเภอเถินมาร่วมผสมด้วย พระผงและเหรียญกลมรุ่นแรกนี้  หลวงพ่อได้อนุญาตให้ช่างภาพถ่ายรูปท่านเพื่อจัดทำบล็อคสร้างเหรียญเป็นกรณีพิเศษ  และจัดได้ว่าเป็นครั้งแรกซึ่งสร้างขึ้นที่สุสานไตรลักษณ์ 

 

 

                เหรียญกลมที่สร้างขึ้นมีจำนวน 5,000 เหรียญ และพระผงรุ่นแรกมีจำนวน 5,000 องค์เช่นเดียวกัน  การปลุกเสกเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 05.00 น. ของเช้าวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 อันเป็นเวลาและวันเกิดของท่าน  หลวงพ่อเกษมใช้เวลาบริกรรมเพียง 15 นาที  แล้วก็เป่าพรวดลงไปในบาตรที่ใส่พระเครื่องเป็นอันเสร็จพิธี  ครั้นรุ่งเช้า 09.00 น. คณะกรรมการ จัดสร้างพระก็นำออกจำหน่ายเพื่อรวบรวมเงินไว้บูรณะวัดที่ชำรุดทรุดโทรม  เฉพาะรุ่นนี้ ทราบว่าพระเครื่องทั้งหมดมีประชาชนหลั่งไหลกันมาเช่าบูชามากมาย และหมดสิ้นไปในเวลาอันรวดเร็วเพียงแค่ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น  เหตุการณ์ระบุให้ทราบว่า  พอเปิดจำหน่ายผู้ที่ได้ไปก็เอาไปทดลองทันที  ใคร ๆ ก็อยากจะรู้ว่าจริงแท้แค่ไหนจึงต้องลองดูให้รู้ชัด  ความจริงก็ปรากฏว่ายิงไม่ออก ฟันไม่เข้า ปืนไม่มีความหมาย  มีดที่ว่าคมแสนคมก็ไม่มีความสำคัญ  ผู้รู้ผู้เห็นจึงกลับมาเช่าไปอีก  กระทั่งหมดสิ้นไม่มีเหลืออีกเลยการนำออกให้บูชาครั้งแรก  มูลค่าเพียงองค์ละ 20 บาทเท่านั้นเอง  ครั้นกิตติศัพท์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ระบือไปอย่างรวดเร็ว จากองค์ละ 20 บาท  ก็เลยพุ่งขึ้นเป็นพันบาทอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว  ด้วยเหตุนี้มนุษย์หัวใสไร้ธรรมะ  ก็จัดการปลอมแปลงเลียนแบบเพื่อกอบโกยหาผลประโยชน์ใส่ตน  พระปลอมเริ่มระบาดกลาดเกลื่อน มองไปทิศทางไหนก็พบแต่พระเทียมทั้งนั้น  พระแท้หายากมาก ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าท่านผู้ใดที่ใฝ่หาพระผงรุ่นนี้  พึงใช้ความพินิจพิเคราะห์ให้มากเป็นพิเศษ  เพื่อป้องกันความผิดหวัง  อันที่จริงหลวงพ่อเกษมท่านก็เคยปรารภไว้ก่อนแล้วว่า ไม่ประสงค์ให้ใครไปโจษขานกันถึงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์หรืออภินิหารอะไรต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวท่าน  เพราะท่านพูดว่าท่านไม่มีอะไร ไม่เก่ง และไม่ศักดิ์สิทธิ์อะไรนัก  ถึงเช่นนี้ก็ตาม เมื่อเรื่องราวได้ออกจากปากหนึ่งไปสู่อีกปากหนึ่ง  จนเป็นที่เกรียวกราวร่ำลือกันไปทั่วในหมู่พุทธศาสนิกชน

 

วัตถุมงคลชุดเบญจบารมี

ของหลวงพ่อเกษม  เขมโก

ssssssssssssssssssssssssss

 

       

 

                หลวงพ่อเกษม  ท่านเป็นที่มีหลักฐานมั่นคงหรือ?  คำถามนี้ไม่ต้องตอบให้เสียเวลาก็ได้  ท่านออกจากวัดมาอยู่สุสานไตรลักษณ์นั้น  ท่านมีเพียงจีวรติดตัวมาเท่านั้น  ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด หลักฐานจะติดตามท่านไปทุกหนทุกแห่ง  จึงไม่ต้องวิตกว่าท่านจะไม่มีหลักฐาน  อยากได้อะไรปรารถนาสิ่งใด ก็ได้อย่างนิมิต แต่ความจริงนั้นมีว่า “ท่านไม่ต้องการ”  การสร้างพระเครื่องของหลวงพ่อเกษม  เขมโกนั้น หากพิจารณากันให้ดีแล้ว เห็นได้ว่าเป็นวิธีการสร้างเป็นไปตามแบบโบราณจารย์การสร้างจึงแยกให้มีคุณวิเศษแตกต่างกันไปหลายนัยหลายแบบ เพราะบางคนก็อยากได้ทางเมตตามหานิยม บ้างก็อยากดังในทางอยู่ยงคงกระพัน  ในเมื่อผู้นั้นมีชีวิตคลุกคลีผจญอยู่กับเรื่องการต่อสู้  คนมีเงินก็ประสงค์จะมีอำนาจ  ที่มีอำนาจแล้วก็อยากมีเสน่ห์เป็นที่พิสมัยไหลหลงของเพศตรงข้าม  และวัตถุมงคลชุดที่มีคุณพิเศษอันเป็นที่แสวงหาของพุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธานั่นก็คือพระเครื่องชุด “เบญจบารมี”  อันประกอบไปด้วยวัตถุมงคลดังต่อไปนี้

 

1.        เหรียญพิชัยมงคลรุ่นแรก  เหรียญนี้จัดว่าเป็นยอดนักในทางพิชิต หรือทำลายอุปสรรคทั้งมวล  ผู้ใดไม่อยากให้ชีวิตเต็มไปด้วยความมืดมน  พ้นจากการรบกวนของนา ๆ อุปสรรค  เหรียญนี้สร้างเมื่อพระครูพิชัยมงคลเจ้าอาวาสวัดพิชัย  จ.ลำปาง ถึงแก่มรณภาพลง โดยที่พระครูองค์นี้ท่านเคยเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อเกษม ในด้านการสอนหนังสือไทยล้านนาให้หลวงพ่อเกษม จึงจัดสร้างเหรียญ “พิชัยมงคล” ขึ้นจำนวน 3,000 เหรียญ  เป็นเหรียญทองแดงรูปไข่  บนเหรียญเป็นรูปพระครูพิชัยมงคล  รายได้ที่ได้จากการทำเหรียญนี้ จัดส่งเข้าสมทบทุนการประชุมเพลิงศพท่านพระครูพิชัย  เมื่อเหรียญนี้สร้างเสร็จ  ประชาชนผู้สนใจจำนวนมากก็พากันแย่งมาบูชากันจนไม่เหลือ  เรียกว่าชั่วพริบตาก็ว่าได้

2.        เหรียญคะตึกเชียงมั่น  เหรียญนี้นับเป็นเหรียญอันอับสองของชุด “เบญจบารมี” ซึ่งมีบารมีทางด้านปลูกฝังหลักฐานให้มั่นคงถาวร  มูลเหตุที่จะสร้างเหรียญนี้ขึ้น เนื่องมาจากท่านเจ้าคุณวัดเชียงมั่นมาขอให้สร้างเพื่อหารายได้สร้างโบสถ์วัดคะตึก  เชียงมั่น ซึ่งทางกรมศาสนามีดำริให้รวมสองวัดนี้เป็นวัดเดียวกัน (วัดเชียงมั่นและวัดคะตึกเชียงมั่น)  เหรียญที่สร้างครั้งแรกแบ่งเป็น 2 แบบคือ แบบแรกจะเป็นเหรียญรูปไข่  ในเหรียญจะมีรูปหลวงพ่อเกษมในลักษณะครึ่งองค์  เป็นเหรียญทองแดง  สร้างจำนวน 10,000 เหรียญ เมื่อรุ่นแรกหมด ปรากฏว่าจำนวนเงินที่ได้มายังไม่เพียงพอแก่การสร้างโบสถ์  ก็เลยจัดสร้างรุ่น 2 ขึ้น โดยมีรูปหลวงพ่อเกษมนั่งเต็มองค์  การสร้างเพิ่มเติมคราวนี้ ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน  เหรียญคะตึกเชียงมั่นนี้  สร้างขึ้นเมื่อปลายปี 2513

3.        เหรียญนางเหลียว  มูลเหตุการณ์สร้างก็เพื่อหาทุนสร้างโบสถ์วัดนางเหลียว (นางแหงะ) อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง  การสร้างด้วยโลหะ ลักษณะก็แตกต่างไปกว่าพระเครื่องแบบอื่น ๆ องค์พระในเหรียญเป็นรูปหลวงพ่อเกษมยืนประสานมือ ฝีมือในการสร้างดูไม่ค่อยจะประณีตเรียบร้อยเท่าที่ควร  ทว่าลึกซึ้งลงไปในพุทธานุภาพของเหรียญนางเหลียวแล้ว  มหาศาลจริง ๆ หากคุณผู้อ่านรู้จักพระนางพญาและรู้ว่ามีคุณวิเศษสูงทางไหน  ถ้ารู้แล้วเหรียญนางเหลียวก็มีอานุภาพสูงส่งดุจเดียวกัน  ทำไมจึงกล้ากล่าวว่า เหรียญวัดนางเหลียวอยู่ในอันดับพิเศษที่พร้อมด้วยคุณวิเศษก็จะต้องบอกว่า เป็นพระบารมีทางด้านเมตตามหานิยม หรืออีกนัยหนึ่ง “เสน่ห์” นั้น หลวงพ่อเกษมท่านมีอยู่มากมาย  สังเกตกันง่าย ๆ ก็คือไม่ว่าหลวงพ่อเกษมท่านจะอยู่ที่ใด จะมีประชาชนพุทธศาสนิกชน ห้อมล้อมอยู่แน่นหนา  จนบางคราวมีผู้ไปกินไปนอนอยู่เป็นเวลานาน ๆ กระทั่งถึงกับมีการโจทย์ขานกันว่าท่านเป็นพระอาจารย์ใบ้หวย  แต่ในความจริงหลวงพ่อเกษมท่านไม่เคยมีประวัติว่าให้หวยใคร  มีคนเคยไปสังเกตว่าท่านจะใบ้หวยหรือเปล่า และผลของการพิสูจน์ก็คือ  หลวงพ่อท่านไม่เคยให้หวยใคร หากแต่ผู้คนที่ไปหาหลวงพ่อจับเอาอากัปกิริยาของหลวงพ่อมาตีเป็นหวยเองต่างหาก และไม่ค่อยจะมีใครผิดหวังเสียด้วย เพราะบารมีของหลวงพ่อนั้นแรงจริง ๆ เหรียญนางเหลียวนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2514

4.        พระผงทรงระฆังเสาร์ 5  มีทั้งแบบเหรียญและผง  เป็นวัตถุมงคลชุดแรกที่จัดสร้างที่สุสานไตรลักษณ์  เป็นอีกหนึ่งชุด “เบญจบารมี”  ได้ดำเนินการสร้างเมื่อมีงานทำบุญครบ 5 รอบ หลวงพ่อเกษม  เขมโก  เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2515  การสร้างพระครั้งนี้ทราบว่าคุณประเวทย์  ณ ลำปาง ซึ่งเป็นทั้งศิษย์และญาติสนิทของหลวงพ่อเกษม ท่านผู้นี้  ได้เตรียมการไว้เพื่อเพื่อนฝูงด้วยเวลาอันยาวนาน  โดยจัดการสะสมเนื้อพระไว้จนกระทั่งสามารถสร้างพระได้ถึงจำนวน 5,000 องค์

 

 

  มวลสารที่ใช้สร้างพระผง   

วัตถุมงคล 5 รอบ มวลสารที่นำมาสร้างพระผงวัตถุมงคล 5 รอบมีรวมด้วยกัน 9 สิ่ง  ซึ่งทั้ง 9 สิ่งนี้เองที่เป็นพลังบันดาลให้พระผงมีพุทธานุภาพอย่างมหาศาล  วัสดุทั้ง 9 นั้นก็คือ

1.  เส้นเกศา ของหลวงพ่อเกษม  เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เส้นเกศาเป็นของที่สูงที่สุดในร่างกายของมนุษย์เรา  โดยเฉพาะเป็นเส้นเกศาของหลวงพ่อเกษมด้วยแล้ว  น้อยคนนักที่จะได้ของท่านมาบูชา  ด้วยเหตุนี้การสะสมเกศาให้มีจำนวนมากพอที่จะสร้างพระผงถึง 6,500 องค์ จึงนับว่าไม่ใช่เป็นของง่าย

2.  จีวร  สำหรับจีวรของหลวงพ่อเกษม  ไม่เหมือนกับจีวรของภิกษุองค์อื่น ๆ ซึ่งใช้อย่างฉาบฉวยชั่วครั้งชั่วคราว  พอเห็นว่าเก่าหน่อยก็ทิ้ง  แต่ทว่าจีวรของหลวงพ่อเกษมอยู่กับตัวท่านจนหาที่ปะแทบไม่ได้  เป็นจีวรที่รับใช้ซับเหงื่อไคล  คุ้มร้อนคุ้มหนาวให้แก่ท่านและปกติหลวงพ่อก็อาบน้ำน้อย ปีหนึ่งอาบน้ำอย่างมากก็ราว 2-3 ครั้งเท่านั้น  น้ำเหงื่อไคลนี้จะเกิดก็ตอนท่านเข้ากรรมฐาน

3.  ก้านธูป จากกระถางธูปของหลวงพ่อเกษม ซึ่งก้านธูปนี้นับเป็นสิ่งหนึ่งในพิธีกรรมพุทธศาสนา  เป็นสื่อทางจิตของชาวพุทธทั้งมวล  ปรากฏว่าทหารกองพลที่ 7 แห่งจังหวัดลำปาง เมื่อถึงคราวจะออกรบแนวหน้าได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อเกษม  แล้วท่านก็จะให้พรพร้อมกับมอบของดีให้ติดตัวไปของดีนี้คือ ก้านธูป เมื่อทหารของชาติได้ก้านธูปไป  และเกิดความเลื่อมใสกระแสจิตของหลวงพ่อเกษมกับทหารจึงรวมกันเป็นเหตุให้สามารถคุ้มกันภยันตรายได้  ไม่แพ้เครื่องรางประเภทอื่น ๆ

4.  ดอกไม้บูชาพระ  เฉพาะดอกไม้นี้ถ้าคุณประเวทย์ลูกศิษย์ของท่านไม่เก็บไว้ ดอกไม้ที่เหี่ยวแห้งก็จะถูกนำเอาไปทิ้ง  ดอกไม้ได้ชื่อว่าเป็นของหอมของสวยงาม กลิ่นดอกไม้จะยังความชื่นใจแก่ผู้ที่ได้กลิ่น  เป็นที่ชื่นตาเมื่อยามได้เห็น เมื่อสัมผัสทางตา  นับเป็นสิ่งที่ไม่ควรขาดไปเสียจากชีวิตคนเรา

5.  น้ำผึ้ง  น้ำผึ้งนี้เป็นสิ่งที่ให้ความหวาน เป็นความสุขทางลิ้น นอกจากนั้น  น้ำผึ้งยังเป็นยาอายุวัฒนะ  บำบัดโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย

6.  น้ำมันตังอิ๊ว  เป็นน้ำมันที่ให้ประโยชน์ทางด้านยึดเนื้อพระให้ผนึกแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หนำซ้ำยังมีประสิทธิภาพป้องกันน้ำ  หรือสิ่งอื่นใดที่จะมาแยกเนื้อให้สลายไป  น้ำมันตังอิ๊วนี้จะเปรียบก็เหมือนสามัคคีธรรมที่ช่วยยึดมนุษย์เรามุ่งมั่นสามัคคี  บำเพ็ญไมตรีต่อกัน นับว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายสูงเป็นสิริมงคลดียิ่ง

7.  ปูนซีเมนต์ขาว  เนื้อหาของปูนซีเมนต์ก็คือ ให้ประโยชน์ทางด้านเทคนิคการสร้างพระที่ใช้ปูนขาวเข้ามามีส่วนด้วย  ก็เพื่อให้เนื้อพระแข็งแกร่งและคงทน  ความแข็งแกร่งเป็นที่ปรารถนาของชายฉกรรจ์ทั่วไป แต่ก็มีบางคนที่อ่อนแอเป็นสมบัติส่วนตัว ฉะนั้นการที่มีพระอันจะมาเสริมความแข็งแกร่งขึ้นได้ จึงเป็นสิ่งที่สมควร

8.  แก้วโป่งข่าม  ในสมัยนั้น (พ.ศ. 2515) ผู้คนทั่วไปต่างรู้จัก “แก้วโป่งข่าม” กันเป็นอย่างดี  แต่แก้วโป่งข่ามแท้ ๆ นั้น  น้อยคนที่จะรู้จัก  แก้วโป่งข่ามที่ดีใช่ว่าจะมีอยู่ดาษดื่น  อย่าเพิ่งเชื่อว่าดีเลิศทุกเม็ดไป เม็ดใดดีจึงจะมีอิทธิปาฏิหาริย์ให้เห็น  การเลือกเฟ้นแก้วโป่งข่ามที่มีคุณค่า  นับเป็นการยากยิ่งและต้องปฏิบัติกันอย่างถูกต้องตามพิธีการ ไม่ใช่หากันอย่างง่าย ๆ อย่างในสมัยปัจจุบัน คุณสมบัติของแก้วโป่งข่ามนั้นเป็นแก้วที่ให้ความร่มเย็นเป็นสุข  อีกทั้งยังอยู่ยงคงกระพันชาตรีด้วย  ยิ่งมาได้รับบารมีของหลวงพ่อเกษม ก็ยิ่งทำให้มีพลานุภาพมากยิ่งขึ้น

9.  กล้วยน้ำว้า  เมื่อพูดถึงกล้วย บางทีบางท่านอาจจะระลึกขึ้นมาได้ว่า “พระสมเด็จ” ของสมเด็จโต  ก็มีกล้วยเป็นส่วนผสมเหมือนกัน  หากแต่ใช้กล้วยคนละชนิดเท่านั้น

ส่วนผสมทั้ง 9 อย่างนี้  จะเห็นได้ว่าเนื้อหาของพระผงจะสูงส่งวิเศษปานใดและเมื่อบรรจุไว้ด้วยพลังจิตอันบริสุทธิ์ของหลวงพ่อเกษม ด้วยแล้วก็เป็นของแน่ที่สุดว่ายอดเยี่ยมอย่างไม่มีปัญหา  จากบันทึกในหนังสือที่พิมพ์ในงานฉลองอายุ 5 รอบ  เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515  ได้บันทึกเอาไว้ว่า  พระผงนี้มีจำนวน 6,500 องค์  ส่วนเหรียญนั้นมีจำนวน 5,000 เหรียญ  ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้าชายได้เสด็จไปในงานฉลองของวัดคะตึกเชียงมั่น  หลวงพ่อเกษมจึงสร้างพระผงวัตถุมงคล 5 รอบเพิ่มเติม  โดยนำพระผงที่เหลือและพระที่ชำรุดทั้งหมดมาบด แล้วสร้างเพิ่มอีกประมาณร้อยกว่าองค์  และได้ทูลเกล้าถวายเจ้าฟ้าชายไป 9 องค์  ต่อจากนั้นก็ทำตำหนิแม่พิมพ์และถ่ายภาพเอาไว้เป็นหลักฐาน  วัตถุมงคล 5 รอบ สร้างเมื่อปี 2515

 

5.        เหรียญสิริมงคลทรงระฆัง  เหรียญนี้นับเป็นเหรียญสุดท้ายในชุด “เบญจบารมี” ซึ่งมีบารมีในด้านโชคลาภบันดาลความรุ่งเรือง  คำว่าสิริมงคลนี้ หากจะแปลตามศัพท์สิริ  ก็จะแปลว่าความดีความงาม  และโชคลาภคำว่ามงคลแปลว่า ความเจริญรุ่งเรือง  มูลเหตุของการสร้างเหรียญสิริมงคลนั้น มาจากเรื่องตำนานเจ้าแม่สุชาดา  โดยเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งกระโน้น  มีหญิงผู้หนึ่งชื่อนางสุชาดา  ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำวัดพระแก้ว นางสุชาดาผู้นี้ทำไร่และสวน  มีผลหมากรากไม้สมบูรณ์  นางมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก  ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้พืชผลจากที่เพราะปลูกไว้  ก็พยายามเก็บเอาไปถวายพระสงฆ์ในวัดพระแก้ว  นางได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเช่นนี้เสมอมา กระทั่งอยู่มาวันหนึ่งเกิดมีผู้มีจิตริษยากล่าวหาว่านางทำชู้กับพระสงฆ์ในวัดนั้น  นางก็เลยถูกประชาชนนำไปประหาร แต่ก่อนนางจะตาย  นางประกาศเป็นคำสาปไว้ว่าถ้านางเป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้ที่ลงโทษนางจะต้องได้รับกรรมไปตลอดจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน  กาลสืบต่อมา ชาวบ้านก็รู้ความจริงว่านางสุชาดาบริสุทธิ์  คำสาปนี้จึงติดความทรงจำ ลูกหลานเหลนผู้ที่ลงโทษนาง  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ลูกหลานเหลนไม่ได้ก่อกรรมไว้ด้วยไม่น่าจะต้องมารับผิดชอบ โดยไม่มีเวลาสิ้นสุด หลวงพ่อเกษมท่านทราบเรื่องราวและความเป็นมาดังนี้ จึงตั้งใจสร้างเหรียญสิริมงคล  หารายได้เข้าวัดโดยการจัดสร้างเป็นศาลาเพื่อลบล้างคำสาปให้หมดสิ้นไป  นอกจากนั้นเมื่อมีรายได้เหลือก็ได้สร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์แก่คนทั้งหลายอีกด้วย  วันหนึ่งขณะที่กำลังดำเนินการสร้างเหรียญเพื่อสิริมงคล มีลูกศิษย์ท่านหนึ่งเรียนถามหลวงพ่อว่า จะสร้างเป็นรูปอะไรดี  หลวงพ่อก็ตอบว่า “สร้างเป็นรูประฆังจะดังดี”  เหรียญแบบระฆังนี้  สร้างด้วยทองแดงบริสุทธิ์  แม้ขนาดของเหรียญจะดูใหญ่ไปสักหน่อย แต่ก็ดูงดงามมิใช่น้อย 

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือ  พระเครื่องชุด “เบญจบารมี”  ซึ่งเป็นที่เสาะหามาสะสมในหมู่บรรดาผู้นิยมวัตถุมงคล  ปัจจุบันพระเครื่องชุดนี้หาได้ยากมาก  อีกทั้งราคาเช่าก็แพงขึ้นเป็นเงาตามตัว  เนื่องจากผู้ที่มีไว้ต่างหวงแหนเท่าชีวิต 

 

 

ก่อนมรณภาพ  หลวงพ่อเกษมได้ทำบันทึกไว้เป็นเหมือนพินัยกรรมการจัดพิธีศพของท่านไว้ดังนี้

 

“ห้ามทำปราสาท ห้ามมีฆ้องกลองทุกอย่าง เครื่องฉายก็ไม่ได้  ห้ามมี่บอกไฟทุกชนิด...

สิ่งเหล่านี้ไม่สมควรเหมาะสมแก่สมณกรรมฐาน...ให้ทำตามที่เขียนนี้ดีมาก”

 

อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่าหลวงพ่อท่านเป็นผู้มีสติและมิได้ตั้งอยู่ในความประมาท  ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว เหมาะสมกับคำสั่งสอนของพระศาสดา ตามที่กล่าวไว้เป็นภาษาบาลีว่า “สุปฏิปันโณ สาวกสังโฆ”  ซึ่งแปลความหมายว่า  พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว   ø

 

สนใจเช่าบูชาูวัตถุมงคลของหลวงพ่อเกษม Click ที่นี่ได้เลยครับ

 

ที่มา :    1.  ตำนานเกจิพระเครื่อง, สำนักพิมพ์แก้ววิไล, เมษายน 2546.

                2.  วีซีดี  สารคดีอมตพระอริยสงฆ์ หลวงพ่อเกษม  เขมโก, บริษัท จีเอ็ม ดิสคัฟเวอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด.