พระราชสังวราภิมณฑ์ 

 (หลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ)

วัดประดู่ฉิมพลี  กรุงเทพฯ

 

สนใจเช่าบูชาูวัตถุมงคลของหลวงปู่โต๊ะ๋่ Click ที่นี่ได้เลยครับ

 

ชีวประวัติ

พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ) ท่านเป็นชาวสมุทรสงคราม ถือกำเนิดในสกุล รัตนคอน ณ บ้านใกล้คลองบางน้อย ตำบลบางพรหม อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม มีนายลอย และนางทับ เป็นบิดามารดา เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ตรงกับวันที่ 27 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2430 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน รวม 2 ท่านโดยท่านเป็นคนโต คือ

1. พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ)

2. นายเฉื่อย  รัตนคอน (ถึงแก่กรรมไปแล้ว)

ฉายแววแต่เยาว์วัย

ประกายแห่งสติปัญญา และลักษณะแห่งความเป็นผู้นำของท่านได้ฉายแววมาแต่เยาว์วัย ดังเป็นที่ประจักษ์แก่บิดา มารดา และญาติๆ ว่า ท่านเป็นผู้มีความเข้มแข็งว่องไวประจำนิสัย มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด รู้แยกแยะผิดชอบชั่วดี มิเคยสักครั้งที่จะนำความหนักใจให้กับบิดามารดา ชอบที่จะติดตามบิดามารดาไปวัดอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความกตัญญู มีความขยันมานะอดทน มีน้ำใจเสียสละ มีวาจาไพเราะสุภาพอ่อนโยน จึงเป็นที่รักยิ่งของบิดามารดา หลายครั้งท่านมักแอบไปวัดเพียงลำพังเพื่อฟังการสวดมนต์ของพระภิกษุ-สามเณร จนถึงกับสามารถท่องจำได้อย่างแม่นยำในบางบทบางตอน และถึงแม้ท่านจะเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มท่านก็หาได้มีจิตใจฝักใฝ่สตรีเพศดุจคนรุ่นเดียวกันไม่ จึงนับว่าเป็นนิมิตหมายแห่งการดำเนินสู่มรรคาแห่งการตัดวัฏฏะอย่างสิ้นเชิง

การศึกษาเบื้องต้นในปฐมวัย

เมื่อครั้งเยาว์วัยทั้งสองท่านได้ศึกษาเล่าเรียนเบื้องต้นอยู่ที่วัดเกาะแก้ว ปากคลองบางน้อย ตำบลบางพรหม อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม ครั้นต่อมาบิดามารดาได้เสียชีวิตไปหมด พระภิกษุแก้ว (ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงตาแก้วโม่ง) ซึ่งเป็นญาติกับท่าน ได้จำพรรษาอยู่กับพระอุดรคณารักษ์ ที่วัดเชตุพนฯ ได้นำท่านมาฝากไว้กับพระอธิการสุข (เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี) มาแต่เพียงหลวงปู่โต๊ะคนเดียว ส่วนนายเฉื่อยนั้นคงอยู่ที่วัดเกาะแก้วตามเดิม พระอธิการสุขกับพระภิกษุแก้วนั้นท่านทั้งสองเป็นเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนมและเคารพนับถือกันมาก ในระยะที่นำมาฝากไว้ที่วัดประดู่ฉิมพลีนั้น อายุของท่านขณะนั้นได้ 13 ปีเศษ

สู่ความเป็นเหล่ากอของสมณะ

ครั้นเมื่อท่านมีอายุย่างเข้า 17 ปี ก็ได้ทำการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดประดู่ฉิมพลี เมื่อในปี พ.ศ. 2477 โดยมีพระอธิการสุข เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ บรรพชาได้วันเดียวพระอธิการสุข ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และผู้อุปการะของท่านก็ได้มรณภาพ นายคล้าย นางพันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชายกับพี่สะใภ้ของพระอธิการสุข และมีบ้านอยู่ใกล้วัดประดู่ฉิมพลีจึงได้อุปการะท่านต่อมา ซึ่งเมื่อท่านได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร ท่านก็มีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาพระปริยัติธรรม ท่องเรียนพระสูตรต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและว่องไว มีความประพฤติไม่เป็นที่หนักใจแก่หมู่คณะ สนใจในการเจริญสมาธิกรรมฐานอย่างมุ่งมั่น ความในข้อนี้พระอาจารย์พรหม ผู้ซึ่งอบรมสอนสมาธิกรรมฐานให้กับท่านในสมัยนั้น ถึงกับเคยกล่าวไว้ว่า แทบทุกคืนจะเห็นสามเณรโต๊ะหลบไปนั่งกรรมฐานเพียงลำพังในโบสถ์ บางครั้งก็เห็นไปเดินจงกรมอยู่ในป่าริมคลองบางหลวงเพียงลำพัง พระอาจารย์พรหมยังได้เล่าอีกว่า สามเณรโต๊ะมักชอบเก็บตัวอยู่เงียบ ๆ พูดน้อย แต่ช่างซักถามในข้อธรรมต่าง ๆ

สู่เพศบรรพชิต

ครั้นเมื่ออายุครบ 20 ปีท่านก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดประดู่ฉิมพลี เมื่อวันอังคาร เดือน 8 ขึ้น 7 ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม พ.. 2450 เวลา 15.30 น. โดยมี

พระครูสมณธรรมสมาธาน (แสง)                   วัดปากน้ำภาษีเจริญ                 เป็นพระอุปัชฌาย์

พระครูอักขรานุสิต (ผ่อง)                             วัดนวลนรดิศ                           เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระครูธรรมวิรัติ (เชย)                                 วัดกำแพง                                 เป็นอนุสาวนาจารย์

มีฉายาในพระพุทธศาสนาว่า "อินฺทสุวณฺโณ"

เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้วท่านก็ได้ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมด้วยความวิริยะอุตสาหะด้วยจิตที่มุ่งหวังที่จะบรรลุสู่แดนเกษม ต่อมาพระอธิการคำเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้นได้ลาสิกขาบทออกไป ท่านจึงรับภาระหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี เมื่อท่านมีอายุได้ 26 ปี พรรษา 6 และมีฐานานุกรมที่ พระใบฎีกา ท่านได้รับภาระ เป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีสืบมาจนถึงแก่กาลมรณภาพ และถึงท่านจะมีภาระหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ ท่านก็มิย่อท้อต่อการศึกษาและการปฏิบัติทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ด้วยความมุมานะจนสอบได้ น.ธ. ตรีได้ เมื่อปี พ.ศ. 2455 ครั้นเมื่อพระอาจารย์พรหม ผู้ซึ่งให้การอบรมสมาธิกรรมฐานแก่ท่าน ได้มรณภาพไปแล้วท่านก็ได้ออกแสวงหาศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ออกธุดงค์

โดยในขั้นต้นท่านได้ออกจาริกธุดงค์ไปศึกษากับพระอาจารย์รุ่ง (หลวงพ่อรุ่ง) วัดท่ากระบือ จังหวัดสมุทรสาคร จากนั้นก็ได้ไปศึกษาวิปัสสนากับหลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และได้ธุดงค์ไปทางเหนืออีกหลายครั้ง พร้อมทั้งศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อกับพระอาจารย์หลายอาจารย์ด้วยกัน ซึ่งในระยะนั้นหลวงปู่ไม่ค่อยได้อยู่วัดประดู่ฉิมพลี นอกจากเทศกาลเข้าพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วต่อจากนั้นท่านก็ได้เดินธุดงค์ไปทางภาคใต้ และได้จำพรรษาอยู่ที่ปัตตานี จากนั้นท่านได้เลยไปจำพรรษาอยู่ที่สิงคโปร์หลายปี เมื่อหลวงปู่กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดประดู่ฉิมพลีตามเดิมแล้ว ท่านได้สร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งทำด้วยไม้สักประดับมุก และได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดในประเทศสิงคโปร์ (จำชื่อวัดไม่ได้) ปัจจุบันนี้รอยพระพุทธบาทจำลอง ได้กลายเป็นวัตถุโบราณไปแล้ว

เห็นทุกขเวทนา

เมื่อหลวงปู่โต๊ะได้อุปสมบทแล้วใหม่ ๆ ได้มีโรคระบาดเกิดขึ้น คือ ไข้ทรพิษ หลวงปู่ท่านได้เป็นโรคนี้เหมือนกัน และเป็นชนิดร้ายแรงด้วย แทบจะเอาชีวิตไม่รอด เมื่อถึงเวลานอนต้องใช้ใบตองรองนอน ต่อจากนั้นท่านได้ตักเอาน้ำขึ้นมาแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าจะมีชีวิตอยู่ ขอให้จงเกิดมีนิมิตเห็นพระ ถ้าจะไม่มีชีวิตอยู่ก็ขออย่าให้ได้เห็นอะไรเลย และในคืนนั้นเอง หลวงปู่ท่านก็ได้นิมิตไปว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลมได้มาประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ ครั้นรุ่งเช้าท่านก็ได้เอาน้ำพระพุทธมนต์ที่ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ทางศีรษะนอนขึ้นมาฉันและประพรมอีกครั้งหนึ่ง นับแต่นั้นมาโรคดังกล่าวก็ทุเลาเป็นปกติ

ตำแหน่งในทางคณะสงฆ์

หลวงปู่ท่านได้บริหารงานวัดด้วยความเที่ยงธรรมสม่ำเสมอ ประกอบด้วยเมตตาธรรมอนุเคราะห์ให้ได้รับความร่มเย็นทั่วหน้า ทางคณะสงฆ์จึงได้พร้อมใจถวายสมณะศักดิ์ให้แก่ท่านเป็นลำดับ ดังนี้

พ.ศ. 2455 เป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีเป็นพระใบฎีกาฐานานุกรมของพระอุดรคณารักษ์ วัดพระเชตุพนฯ

พ.ศ. 2457 เป็นพระครูสังฆวิชิต ฐานานุกรมของ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ แต่ครั้งยังเป็นพระเทพโมลี

พ.ศ. 2463 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่พระครูวิริยกิตติ

พ.ศ. 2497 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทในราชทินนามเดิม  (พัด จ.ป.ร.)

พ.ศ. 2499 เป็นเจ้าคณะตำบลวัดท่าพระ

พ.ศ. 2500 เป็นพระอุปัชฌายะ

พ.ศ. 2506 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในราชทินนามเดิม

พ.ศ. 2511 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษในราชทินนามเดิม

พ.ศ. 2516 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ "พระสังวรวิมลเถร"

พ.ศ. 2521 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชสังวราภิมณฑ์"

ปฏิปทาและจริยาวัตร

หลวงปู่ท่านเป็นผู้เยี่ยมด้วยความสะอาด แห่งความประพฤติทั้งทางกาย วาจา ใจ และเยี่ยมด้วยจิตซึ่งทรงไว้ด้วยคุณธรรม กล่าวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และ วิมุตติญาณทัศนะตามลำดับ เป็นลูกศิษย์พระตถาคตผู้งดงามด้วยความประพฤติทั้งภายนอก และภายในไม่มีที่ติ มีความองอาจกล้าหาญต่อการละชั่ว ทำดี ดำเนินตามรอยบาทวิถีที่พระศาสดาพาดำเนิน เป็นผู้ซื่อตรงต่อตนเอง และต่อพระธรรมวินัย อยู่ที่ใดไปที่ใดมีสุขโตเป็นที่รองรับ มีโอชารสแห่งธรรมเป็นที่ซึมซาบ มีความสว่างไสวอยู่ด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องส่องทาง ท่านเป็นผู้เทิดทูน ศาสนธรรม ไว้ได้ทั้งทางปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อย่างเต็มภาคภูมิ

ตลอดเวลาที่ท่านทรงสมณเพศอยู่นั้น ท่านตั้งมั่นในสัมมาปฏิบัติ ที่ทรงดอกทรงผลตลอดต้นชนปลาย ท่านเป็นผู้รักสันโดษ มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ท่านเอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ของพระภิกษุ-สามเณรอย่างใกล้ชิด ให้ความอนุเคราะห์สงเคราะห์อย่างสมเหตุสมผลอย่างสม่ำเสมอ กิตติศัพท์กิตติคุณฟุ้งขจรไปถึงไหน ก็เกิดความหอมหวนชวนให้เคารพเลื่อมใสในที่นั้น ๆ  และในการประชุมเพื่ออบรมธรรม ท่านก็เปิดโอกาสให้ผู้สนใจถามปัญหาธรรมะอยู่เป็นประจำ ซึ่งท่านก็ตอบอย่างกระจ่างแจ้งชัดถ้อยชัดคำไม่มีอ้ำอึ้ง ยังความกระจ่างให้บังเกิดแก่ผู้ซักถามอย่างน่าอัศจรรย์แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้แตกฉานในธรรมทั้งโดยอรรถ และโดยพยัญชนะ

หลวงปู่ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยอัปจายนธรรม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัว ในเรื่องนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดในพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้ไปพบปะสนทนาธรรมกับหลวงปู่ ตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็น พระศาสนโสภณ จนถึงกับกราบอาราธนาให้หลวงปู่ไปสอนกรรมฐานบรรยายธรรมเป็นประจำที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่หลวงปู่ท่านก็ยังคงอ่อนน้อมถ่อมตน ทั้งที่พรรษายุกาลท่านมากกว่า

อัธยาศัยและกิจวัตร

พระราชสังวราภิมณฑ์ ท่านมีอัธยาศัยงดงาม สุภาพอ่อนโยน มากด้วยเมตตากรุณา ยินดีสงเคราะห์ อนุเคราะห์แก่ผู้อื่น สัตว์อื่น โดยเสมอหน้า ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เป็นผู้ซื่อตรง ถ่อมตน ยึดมั่นในระเบียบประเพณีและความกตัญญูกตเวที ทั้งมีความภักดีในองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์อย่างแน่นแฟ้น  ผู้ที่มีโอกาสได้เข้าใกล้ชิดคุ้นเคยกับท่าน จะยืนยันในความที่กล่าวนี้ได้ทุกคน อีกประการหนึ่ง ท่านเป็นคนหมั่นขยันและแน่วแน่ ตั้งใจทำสิ่งใดแล้วเป็นต้องทำจนสำเร็จ กิจที่ท่านปฏิบัติเป็นนิจในแต่ละวันจนตลอดชีพของท่าน คือ

04.00  น.  ตื่นขึ้นเจริญสมณธรรม

08.00  น.  นำภิกษุ-สามเณร ทำวัตรสวดมนต์ และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

14.00  น.  อนุเคราะห์ศิษย์ที่มาถวายสักการะบ้าง ที่มาขอบารมีธรรมบ้าง ที่มาสนทนาธรรมบ้าง

18.00  น.  นั่งบำเพ็ญสมณธรรมไปจนถึง 20.00 น. แล้วนำภิกษุ สามเณรทำวัตรค่ำ

ในระยะหลังท่านนั่งบำเพ็ญสมณธรรมนานเข้าจนถึงเวลา 22.00 น. หรือ 24.00 น. โดยไม่ย่อท้อต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเนื่องแต่ความเสื่อมของสังขาร ในวันธรรมสวนะท่านจะแสดงธรรมแก่ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาเป็นประจำ และทุกวันพฤหัสบดีจะมีภิกษุ สามเณรจากวัดต่าง ๆ  รวมทั้งผู้สนใจในการปฏิบัติธรรม มาขอฝึกปฏิบัติกรรมฐานเป็นจำนวนมาก นับว่าท่านได้เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวอย่างยิ่งของคนทั่วไป

การปฏิบัติธรรม

พระราชสังวราภิมณฑ์ ท่านสนใจศึกษาด้านวิปัสสนาธุระมาแต่ยังเป็นสามเณร เท่าที่ทราบท่านศึกษากับพระอาจารย์พรหม วัดประดู่ฉิมพลีก่อน พระอาจารย์พรหมมรณภาพแล้ว จึงไปศึกษากับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งหลวงปู่โต๊ะมีความชื่นชม และเคารพในความเก่งกล้าสามารถของหลวงพ่อรุ่ง เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ หลวงปู่โต๊ะ ยังได้ไปเรียนวิชาอาคมกับ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ก่อนหน้าที่หลวงพ่อเนียมจะมรณภาพในอีก 2-3 ปี ต่อมา แล้วออกธุดงค์ไปทางภาคเหนือหลายครั้ง ต่อมาจึงได้มารู้จักคุ้นเคยกับหลวงพ่อสด คือ พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำ ซึ่งมีอายุแก่กว่าท่าน 4 ปี หลวงพ่อสดได้ชักชวนท่านให้ไปเรียนกับพระอาจารย์โหน่งที่จังหวัดสุพรรณบุรีอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้แล้วหลวงปู่โต๊ะ ยังได้เรียนวิชาเพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่ ยานนาวา และอีกหลายพระอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น หลังจากนั้น ท่านก็กลับมาปฏิบัติจิตภาวนา โดยตัวของท่านเองที่วัดต่อมา

แม้ว่าท่านจะมีภารกิจในด้านบริหารหมู่คณะและการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ผู้อื่นส่วนมากก็ตาม ท่านก็หาได้ละเลยเพิกเฉยส่วนวิปัสสนาธุระไม่ คงขะมักเขม้นฝึกฝนอบรม ตามโอกาสอันควรตลอดมา จึงปรากฏว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจพระศาสนาส่วนนี้อยู่รูปหนึ่ง และโดยอัธยาศัยที่เคยอบรมด้านวิปัสสนาธุระมามาก จึงได้รับอาราธนาให้เข้าร่วมในพิธีประสิทธิ์มงคลต่าง ๆ แทบทุกงาน ทั้งในกรุงและหัวเมือง ตลอดจนถึงต่างประเทศ

เมื่อครั้งหลวงปู่โต๊ะ เริ่มได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกใหม่ ๆ นั้น ท่านได้เล่าให้ลูกศิษย์ของท่านฟังว่า เวลาที่ท่านจับสายสิญจน์ในพิธี ท่านจะรู้ได้ทันทีว่า ในพิธีนี้ มีพระอาจารย์องค์ไหนเก่ง หลังจากนั้นหลวงปู่ก็จะติดตามไปเรียนวิชา และศึกษาเพิ่มเติมจากพระอาจารย์องค์นั้น......

ตอนที่หลวงปู่โต๊ะ เป็นเจ้าอาวาส ใหม่ ๆ นั้น ท่านไม่ค่อยจะได้อยู่ที่วัด ในช่วงออกพรรษาท่านมักจะออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ  บางครั้งก็หายเข้าไปในป่าลึกนาน ๆ หลวงปู่ได้เดินธุดงค์ไปถึงทางภาคใต้ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งที่ จ. ปัตตานี ท่านยังธุดงค์ไปถึงทางภาคเหนือ ไปนมัสการพระพุทธบาท 4 รอบ และพระบรมสารีริกธาตุหลายครั้ง ได้จำพรรษาอยู่ที่ จ. เชียงใหม่ และได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมต่าง ๆ จากหลายพระอาจารย์อีกด้วย......

หลวงปู่โต๊ะท่านไม่ชอบความอึกทึกครึกโครม หลวงปู่เป็นพระฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านชอบเก็บตัวเงียบ ๆ ภายในกุฏิ บางครั้งท่านจะออกจากวัดประดู่ฉิมพลี เดินลัดสวนผ่านหน้าวัดสังขจายน์ ไปยังวัดหงส์รัตนาราม  บางกอกใหญ่  คณะ 5 เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนวิชาอาคมกับสหธรรมิก อาทิ พระครูพรหมยานวินิต (หลวงพ่อกล้าย), พระครูญาณสิทธิ์ (เชื้อ), หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง และ พระพันโทหลวงจำรัส....

ต่อมาระยะหลัง  หลวงพ่อกล้าย ได้สร้างคณะ และหอสวดมนต์ มีผู้คนพลุกพล่านมาก หลวงปู่จึงไม่ได้ไปที่นั่นอีก ท่านเห็นว่า ที่กุฏิท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิเมธี (เจีย) วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ท่าเตียน เป็นสถานที่เงียบสงบดี หลวงปู่จึงมักไปที่นั่นเสมอ เวลาใครจะนิมนต์ท่านไปไหน ก็มักไปหาท่านที่กุฏิท่านเจ้าคุณเจีย....

ผู้คนเริ่มรู้จักหลวงปู่โต๊ะจริง ๆ  ตอนที่ท่านมีอายุ 77 - 78 ปี ในช่วงนั้นท่านได้รับกิจนิมนต์ไปร่วมในพิธีพุทธาภิเษกบ่อยมาก  เวลาที่ท่านไปถึงในงานพิธีฯ ท่านจะตรงเข้าไปกราบพระประธานก่อนเสมอ แล้วท่านจะขึ้นนั่งปรกทันที เมื่อช่วงพัก หลวงปู่มักจะถามว่า “มีพระเปลี่ยนฉันหรือเปล่าจ๊ะ”  ถ้าญาติโยมตอบว่า “นิมนต์หลวงปู่ตามสบาย” หลวงปู่ก็จะขึ้นนั่งปรกต่อ และจะนั่งต่อไปจนเสร็จพิธี ท่านจะปฏิบัติเช่นนี้ต่อเนื่องกันเสมอมาทุกพิธี  จนเป็นที่รู้กันในบรรดาพระคณาจารย์และถวายเกียรติให้หลวงปู่เป็นประธานในพิธีนั่งปรกบริกรรมเสมอ เวลาท่านนั่งปรกแต่ละพิธี จะใช้เวลา 3 ถึง 4 ชั่วโมง บางทีไปนั่ง 3 ถึง 4 วัดในวันเดียวกันก็มี พอเข้าพิธีก็จะนั่งหลับตานิ่งไม่ขยับเขยื้อน หรือเปลี่ยนอิริยาบถใด ๆ ทั้งสิ้น ท่านจะนั่งตัวตรง หลังไม่ติดพนักธรรมาสน์ เดินลมหายใจอย่างสม่ำเสมอ

ถ้ำสิงโตทอง

พระราชสังวราภิมณฑ์ท่านมีสถานที่บำเพ็ญธรรมของท่านอีก 2 แห่ง คือที่สำนักสงฆ์ถ้ำสิงโตทองแห่งหนึ่ง และที่วัดพระธาตุสบฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่านไปสร้างกุฏิไว้อีกแห่งหนึ่ง ที่วัดพระธาตุสบฝางท่านไม่ค่อยได้ไปจึงจะไม่กล่าวถึง จะกล่าวถึงถ้ำสิงโตทองแต่เพียงแห่งเดียว

เมื่อปี พ.ศ. 2519 ท่านได้เดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี ได้ไปพบกับพระมานิตย์เข้าพระมานิตย์พูดกับท่านถึงถ้ำสิงโตทอง ที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี และชวนท่านให้ไปชม หลังจากนั้นท่านก็มีโอกาสได้ไป และไปเห็นว่าสถานที่นั้นเป็นที่สงบสมควรแก่นักปฏิบัติธรรม ทั้งอยู่ไม่ห่างไกลกรุงเทพฯ มากนัก ท่านจึงไปอยู่ปฏิบัติธรรมที่ถ้ำสิงโตทองเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2510 แล้วเริ่มปรับปรุงให้มีความสะดวก เหมาะสมที่จะตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรม คือได้สร้างกุฏิสำหรับท่านพักหลังหนึ่ง กุฏิเล็กอีกหลายหลัง ตามไหล่เขาข้างถ้ำสิงโตทอง พร้อมทั้งโรงครัวและที่พัก สำหรับลูกศิษย์ที่ประสงค์จะติดตามไปค้างแรมหาความสงบสุข อยู่กับท่าน ท่านได้สร้างพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปแบบและปางต่าง ๆ เช่น แบบพระพุทธชินราช พระปางลีลา ปางมารวิชัย กับรูปเจ้าแม่กวนอิม เชิญไปไว้ที่ถ้ำในบริเวณใกล้ ๆ กันนั้นขึ้นอีกหลายแห่ง ได้เชิญพระพุทธรูปที่ผู้มีศรัทธาสร้างถวาย ไปประดิษฐานไว้ให้สักการะกัน ครั้งหลังที่สุดท่านได้สร้างรูปพระมหากัจจายนะนำไปประดิษฐานไว้ที่หน้าถ้ำกลาง ต่อมาถึงปี พ.ศ. 2519  พระมานิตย์ซึ่งรับหน้าที่ดูแลถ้ำสิงโตทองมรณภาพลง ท่านได้ส่งพระรูปอื่นไปดูแลแทน ได้มีผู้ศรัทธาถวายที่ดินเพิ่มให้อีก ท่านจึงวางโครงการก่อสร้างให้เพิ่มเติมอีก จะสร้างโบสถ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ โรงเรียนเด็กสำหรับลูกชาวไร่ สระน้ำ พร้อมกับซื้อที่บริเวณหน้าถ้ำเติมอีก 90 ไร่เศษ รวมกับเนื้อที่เดิมเป็น 140 ไร่ ทำถนนเชื่อมกับถนนส่วนใหญ่ ให้เป็นทางเข้าออกที่สะดวก องค์ท่านควบคุมดูแลการดำเนินงานนี้อย่างใกล้ชิด

 

 

ประวัติการสร้างพระเครื่องของพระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ)

เกี่ยวกับประวัติในการสร้างพระเครื่องของหลวงปู่โต๊ะนั้น พระเครื่องชุดแรกสุดของท่าน จะมีทั้งหมด 13 พิมพ์ด้วยกัน เช่น พระสมเด็จสามชั้น พิมพ์ขาโต๊ะ, พระสมเด็จพิมพ์เจ็ดชั้น และ พระสมเด็จสามชั้นพิมพ์หูบายศรี เป็นต้น

พระเครื่องทั้ง 13 พิมพ์นี้ หลวงปู่โต๊ะได้ลงมือสร้างด้วยความตั้งใจ และปรารถนาจะให้ขลังเป็นพิเศษ โดยพยายามเสาะหาวัตถุดันเป็นมงคลและอาถรรพ์เวทย์ต่าง ๆ ที่มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์มาทำ และกดพิมพ์ด้วยมือของท่านเองเป็นส่วนใหญ่ เพราะหลวงปู่ได้ผู้ช่วยทำงานซึ่งเป็นอาสาสมัคร อันประกอบด้วยพระเณร และฆราวาสมาจากวัดพลับ บางกอกใหญ่ คอยแนะนำส่วนผสมและวิธีการสร้างพระเครื่องต่าง ๆ

ผงพุทธคุณที่หลวงปู่ได้เสาะหามาผสมในการสร้างพระเครื่องชุดแรกนี้ มีผงวิเศษที่จัดเป็นแม่เชื้อของผงทั้งหมดโดยในยุคที่หลวงปู่ออกธุดงค์บ่อย ๆ นั้น หลวงปู่ได้เคยไปธุดงค์ด้วยกันกับหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และหลวงพ่ออีกองค์หนึ่งซึ่งจำชื่อและความเป็นมาไม่ชัดเจน

เมื่อท่านได้กลับมาที่วัดประดู่ฉิมพลีแล้ว ท่านทั้งสามก็ได้ทบทวนวิชาที่ได้เล่าเรียนกันมา ก็ได้ผลลัพธ์ออกมาคล้ายกัน ต่างจึงตกลงที่จะเขียนสูตรผงนั้น โดยใช้ดินสอพองมาละลายน้ำมนต์แล้วปั้นเป็นแท่งเหมือนกับชอล์ก แล้วเอาใบตำลึงมาตำ คั้นน้ำมาทาแท่งดินสอพองเวลาจับจะได้ไม่ติดมือ จากนั้นก็จะลงมือเขียนตามอักขระเลขยันต์ จากปถมัง ตรีสิงเห อิทธิเจ และมหาราช ว่าไปจนครบสูตร จะเว้นไม่ได้ หากขาดไปวันหนึ่งก็ต้องเอาผงที่เขียนไว้แล้วมารวมกัน แล้วเขียนขึ้นมาใหม่ทำทุกวันต่อเนื่องกันไปจนครบสูตร

เมื่อเขียนเสร็จได้เท่าไร ต่างองค์ต่างก็จะแบ่งขึ้นมาเป็นสามกอง โดยต่างองค์ก็จะมอบให้แก่กันองค์ละกอง แล้วจึงเอาผงทั้งหมดมาผสมรวมกัน ผงที่สร้างขึ้นมานี้ ก็จะเป็นสีขาวเรื่อ ๆ เล็กน้อย นวลละเอียด มีพุทธคุณทางเมตตา และทางด้านอื่น ๆ อีกสูงมาก ผงวิเศษที่สร้างขึ้นมานี้ก็คือ ผงวิเศษหรือที่ลูกศิษย์ของท่านได้เรียกกันว่าเป็นผง อิทธิเจ

ส่วนผสมผงทั้งหมดที่ได้มานั้น มีของวัดพลับมากที่สุดซึ่งเป็นพระวัดพลับที่ชำรุด และแตกหักจากคราวกรุแตก นอกจากนี้ ยังได้มวลสารสำคัญคือผงจากพระสมเด็จ วัดระฆังฯ ธนบุรีจำนวนเล็กน้อย ซึ่งเป็นของฆราวาสบ้านอยู่ใกล้กับวัดระฆังฯ

วิธีการแช่พระเครื่องในตุ่มน้ำมนต์ของหลวงปู่โต๊ะ

ด้วยความประสงค์ที่จะให้พระเครื่องของท่านมีความขลัง และดูน่าบูชา ท่านจะเอาพระเครื่องเหล่านี้ไปแช่น้ำมนต์ในตุ่มมังกร ซึ่งตั้งอยู่ในโบสถ์ และปลุกเสกตลอดพรรษา

วิธีการแช่พระเครื่องในตุ่มน้ำมนต์ของหลวงปู่โต๊ะนั้น ลูกศิษย์หลวงปู่ท่านหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า ตุ่มมังกรที่ใช้ใส่น้ำมนต์นั้น มีอยู่ด้วยกันหลายใบมีขนาดแตกต่างกัน เล็กบ้างใหญ่บ้าง บางตุ่มก็จะมีดิน มีทรายปะปนอยู่ด้วย และในระหว่างนั้น ถ้าหากว่ามีใครเอาพวงมาลัยดอกไม้สดมาถวายแด่หลวงปู ท่านก็จะเอาพวงมาลัยนั้น ใส่ลงไปในตุ่มมังกรน้ำมนต์นั้นด้วย เป็นการหมักเอาดอกไม้สดปนอยู่ในน้ำมนต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สีสันขององค์พระแตกต่างกันออกไป

หลวงปู่จะตั้งจิตอธิษฐาน ปลุกเสกภาวนา พระเครื่องที่แช่น้ำมนต์ในตุ่มมังกร ไปเรื่อย ๆ ตลอดพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วหลวงปู่ก็จะเอาพระเครื่องที่แช่ในน้ำมนต์จนได้ที่แล้วนั้น ออกมาแจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ลูกหา และผู้ที่ไปหาท่านในตอนนั้น ถ้าหากพระเครื่องแช่ไว้นานกว่านั้น พระจะติดกันเป็นก้อน

คราบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนองค์พระจึงไม่เหมือนกัน บางตุ่มที่ใส่น้ำมนต์ใหม่ ๆ น้ำยังใสอยู่ องค์พระที่แช่ไว้ คราบจะออกขาวเล็กน้อย ถ้าหากเป็นตุ่มเก่า ที่แช่น้ำมนต์มาก่อนนานเป็นพรรษา คราบน้ำมนต์ก็จะตกตะกอนมีคราบจับเกาะเป็นปื้น มีสีน้ำตาลหรือสีสนิมชัดขึ้น เรื่องของคราบน้ำมนต์ที่เกาะบนองค์พระ จึงมีความแตกต่างกันไป

ในการกดพิมพ์สร้างพระเครื่องของหลวงปู่โต๊ะนั้น ท่านจะกดพิมพ์ไปเรื่อย ๆ เมื่อมีเวลาว่าง หลวงปู่จะทำด้วยความเพลิดเพลิน สบายใจ และทำด้วยใจรักยิ่ง หลวงปู่จะกดพิมพ์พระสลับกันไปทั้ง 13 พิมพ์ โดยไม่ได้เจาะจงว่า จะทำพิมพ์นั้นจำนวนเท่านี้ พิมพ์นี้จำนวนเท่านั้น และพระทั้งหมด 13 พิมพ์ ทำไว้จำนวนเท่าไร หลวงปู่ก็ไม่ได้กำหนดไว้เป็นหลักฐาน ท่านเพียงแต่บอกว่า ได้ลงมือสร้างพระมาตั้งแต่ตอนที่ท่านอายุได้ 30 ปีเศษ ๆ

 

หลวงปู่ยังบอกด้วยว่า มีพระเณร และฆราวาสจากวัดพลับมาช่วยเห็นกำลังสำคัญในการสร้างพระเครื่องรุ่นแรกนี้ ตั้งแต่เริ่มต้น รวมทั้งการแกะบล็อกแม่พิมพ์พระเครื่องชุดแรกนี้ด้วย

มีลูกศิษย์เคยถามหลวงปู่ว่าบล็อกแม่พิมพ์พระ 13 พิมพ์นี้ ใครเป็นผู้แกะแบบพิมพ์ หลวงปู่บอกว่า ตัวท่านเองก็จำไม่ได้แน่นอน เพราะเป็นเวลาผ่านมานานแล้ว ท่านจำได้แต่เพียงว่า บล็อกแม่พิมพ์ของพระสมเด็จ พิมพ์ขาโต๊ะนั้น ท่านได้มาจากฆราวาสผู้หนึ่ง ซึ่งฆราวาสผู้นี้ได้ไปพบบล็อกแม่พิมพ์อันนี้เข้าโดยบังเอิญ ที่บนขื่อหรือบนเพดานของหลวงพ่อโบสถ์น้อย วัดอัมรินทราราม บางกอกน้อย ธนบุรี

หลังจากที่หลวงปู่โต๊ะ ได้ใช้บล็อกแม่พิมพ์อันนี้ กดพิมพ์พระสมเด็จขาโต๊ะได้จำนวนหนึ่ง ไม่นานนัก (ไม่กี่ร้อยองค์) หลวงพ่อโชติ วัดตะโน ได้มาขอยืมบล็อกแม่พิมพ์นี้ไปจากหลวงปู่โต๊ะ ต่อมาบล็อกแม่พิมพ์อันนี้ก็ได้หายไป นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายออย่างยิ่ง

หลวงปู่จะทำพระเครื่องชุดแรกนี้ ร่วมกับอาสาสมัครจากวัดพลับ จนหลวงปู่มีความชำนาญ และเข้าใจวิธีการสร้างพระทุกอย่างทุกขั้นตอนได้ดีแล้ว หลังจากนั้นหลวงปู่จะกดพิมพ์พระด้วยมือของท่านเองมาโดยตลอด และได้พิมพ์สร้างพระเครื่องชุดแรกนี้มาเรื่อย ๆ ทั้ง 13 พิมพ์ สลับกันไป สร้างไปแจกไป ไม่หวงแหนเลย ใครมาหาท่านในช่วงนั้น ท่านก็จะแจกพระเครื่องให้เสมอ

จวบจนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2490 กว่า ในวันหนึ่ง หลวงปู่ได้รับนิมนต์ไปฉันเพลที่ตลาดพลู ไปพบกับหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ  หลวงพ่อสด ได้ถามหลวงปู่โต๊ะว่า ผงพุทธคุณที่ได้สร้างกันขึ้นมานั้น ได้เอาไปทำอะไรบ้าง หลวงปู่ตอบว่า ได้เอาไปสร้างพระเครื่องแล้ว และก็ได้แจกจ่ายพระเครื่องนั้นให้กับลูกศิษย์ตลอดเวลาที่ผ่านมา  หลวงพ่อสด จึงได้บอกกับหลวงปู่โต๊ะว่า อย่านำผงไปสร้างพระแจกหมดเสียก่อน ให้รอท่านด้วย ท่านจะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม จะได้ขอผงมาสร้างพระแจกบ้าง หลังจากนั้นมา หลวงปู่โต๊ะ จึงได้เพลามือในการแจกพระเครื่องรุ่นแรก 13 พิมพ์ของท่าน พร้อมกับแบ่ง ผงพุทธคุณ จำนวนหนึ่ง ให้กับหลวงพ่อสด เพื่อเอาไปสร้างพระผงของขวัญ จนเป็นที่โด่งดังในเวลาต่อมา

ในตอนนั้น ถ้าหากหลวงปู่โต๊ะไม่ได้รับการบอกกล่าวจากหลวงพ่อสด หลวงปู่ก็คงจะแจกพระเครื่องของท่านไปจนหมด ไม่เหลือมาให้ได้แจกกับศิษย์รุ่นหลัง ๆ  ยังมีโอกาสได้รับพระจากมือของหลงวงปู่โดยตรงอีกจำนวนมากมายหลายท่านด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม พระเครื่องรุ่นแรกนี้ หลวงปู่ก็ได้แจกไปจนหมดสิ้นแล้วมิได้เหลือให้แจกกันอีก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา

นอกจากพระเครื่องชุดแรก 13 พิมพ์นี้แล้ว หลวงปู่ยังได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำ พระกลีบบัวเนื้อเมฆพัด, พระสมเด็จพิมพ์ห้าชั้น, พระสมเด็จพิมพ์คะแนน และพระสมเด็จเนื้อผงผสมชานหมากก่อนปี 2500  อีกด้วย

หลังจากปี 2500 ไปแล้ว หากมีการสร้างพระเครื่องของหลวงปู่ ทั้งของวัดหรือนอกวัดก็ตาม ลูกศิษย์และฆราวาสที่มีความเคารพนับถือ และศรัทธาในตัวหลวงปู่ จะเป็นผู้ขออนุญาตจากหลวงปู่ แล้วจัดทำและสร้างมาถวายให้ทั้งนั้น แต่หลวงปู่ท่านก็ตั้งใจปลุกเสกให้อย่างเต็มที่ ดังเราจะเห็นได้จากความนิยมของวงการพระเครื่อง ที่ได้ให้ความสนใจในพระปิดตาจัมโบ้, พระปิดตารุ่นปลดหนี้, พระปิดตาจัมโบ้รุ่นสอง และพิมพ์อื่นๆ อีกหลายพิมพ์ด้วยกัน

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเครื่องรุ่นหลัง ๆ นี้พระปิดตาเกือบทุกพิมพ์ต่างก็ได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งราคาเช่าหาก็จัดว่าไม่แพงจนเกินไป แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า พระปิดตาทุก ๆ พิมพ์นั้น ทางวัดได้จำหน่ายไปหมดสิ้นแล้ว จะเหลือก็แต่จำนวนเพียงเล็กน้อยที่ท่านพระครูวิโรจน์กิตติคุณ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ท่านได้เก็บรักษาเอาไว้เพื่อตอบแทนสมนาคุณ แก่ผู้ที่มาร่วมเป็นกรรมการบำเพ็ญกุศล เป็นเจ้าภาพคล้ายวันมรณภาพของหลวงปู่โต๊ะ วันที่ 5 มีนาคมของทุกปีเท่านั้น

สำหรับท่านที่ยังไม่เคยไปกราบไหว้หลวงปู่โต๊ะ ผู้เขียนก็อยากจะขอแนะนำให้ท่านลองแวะไปนมัสการดูสักครั้ง ท่านจะได้มีโอกาสสักการะ บูชารูปหล่อของหลวงปู่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเททองหล่อไว้ และจะได้กราบไหว้หุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่โต๊ะเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวท่านเองด้วย

เบื้องปลายชีวิต

พระราชสังวราภิมณฑ์ อยู่ในสมณเพศมาตั้งแต่อายุได้ 17 ปี ท่านได้เล่าเรียนพระธรรมวินัย มีความรู้แตกฉานลึกซึ้ง และถือวิปัสสนาธุระเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตอันยาวนานถึง 94 ปีของท่าน เป็นรัตตัญญูผู้รู้กาลนาน เป็นครูของสาธุชนทุกหมู่เหล่า เป็นที่เคารพบูชา ศรัทธาเลื่อมใสของบุคคลทุกเพศวัย ทุกชาติชั้น นับแต่สามัญบุคคลจนถึงองค์พระประมุขของชาติ แม้อายุพรรษาจะมากเพียงใด ท่านก็มิได้ขัดศรัทธาของผู้ที่อาราธนาไปในการบุญกุศลต่าง ๆ  มีการไปนั่งเจริญสมาธิภาวนาอำนวยสิริมงคล เป็นต้น จึงในระยะหลัง ๆ นี้ทำให้สังขารร่างกายท่านต้องตรากตรำมากเกินไป และเกิดอาพาธขึ้นบ่อย ๆ แม้จะได้รับการเยียวยารักษาและดูแลพยาบาลอย่างดีเพียงใด  กายสังขารของท่านก็ทนอยู่ไม่ไหว ท่านอาพาธครั้งสุดท้ายในเดือนกุมภาพันธ์ 2524  หลังจากกลับจากถ้ำสิงโตทอง มีอาการอ่อนเพลียลงตามลำดับ ก่อนมรณภาพ 7 วัน ท่านลุกจากเตียงไม่ได้เลย แต่ยังพอฉันได้บ้าง นายแพทย์ต้องให้น้ำเกลือทุกวัน อาหารนั้นถวายข้าวต้มกับรังนกตุ๋น ทุกเช้าราว 07.00 น. ถึงวันที่ 5 มีนาคม เวลาเช้าศิษย์ผู้พยาบาลก็ถวายข้าวต้มกับรังนกอีก คราวนี้สังเกตเห็นว่าแขนข้างขวาท่านบวม จึงกราบเรียนกับท่านว่า "แขนหลวงปู่บวมมาก" ท่านก็พยักหน้ารับคำแล้วฉันและหลับตาพักต่อไป โดยให้ออกซิเจนช่วยการหายใจตลอด เวลา 09.00 น. ท่านอ่อนแรงลงอีก และพอถึงเวลา 09.55 น. ท่านก็สิ้นลมด้วยอาการสงบดุจนอนหลับไป ณ กุฏิสายหยุด นับอายุได้ 93 ปี 10 เดือน กับ 22 วัน

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ควรทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษ เสมอพระราชาคณะชั้นธรรม พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมฉัตรเบญจาเครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่การศพโดยตลอด เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน 100 วัน และตามโอกาสอันควรหลายวาระ  พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และในการบำเพ็ญพระราชกุศลออกเมรุและพระราชทานเพลิงเผาศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์  วัดเทพศิรินทราวาส ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระราชสังวราภิมณฑ์ ตลอดจนศิษยานุศิษย์ ทุกคนหาที่สุดมิได้.

 

สนใจเช่าบูชาูวัตถุมงคลของหลวงปู่โต๊ะ๋่ Click ที่นี่ได้เลยครับ

 

ที่มา  :  1.  หนังสือ "ภาสุรธรรม"  ฉบับประกาศกิตติคุณ หลวงปู่โต๊ะ 108 ปี วัดประดู่ฉิมพลี, ศ.ดร.วิปัศยา ยิ่งพูนทรัพย์, มีนาคม 2538

            2.  ข้อมูลที่เกี่ยวกับพระเครื่องนำมาจากหนังสือที่จัดทำโดย คุณ ประสิทธิ์ ปริชาน