ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ปิติมา ล่ามสมบัติ LFC12 ปั้นชัยภูมิเมืองสมุนไพรเต็มพื้นที่

ปิติมา ล่ามสมบัติ LFC12 ปั้นชัยภูมิเมืองสมุนไพรเต็มพื้นที่

อีกหนึ่งหญิงเก่งที่ชอบตั้งเป้าหมายการทำงาน สำหรับ “ปิติมา ล่ามสมบัติ” ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรชัยภูมิ กับเป้าหมายอีก 4 ปีจากนี้จะผลักดันให้จังหวัดชัยภูมิเป็นเมืองสมุนไพรเต็มพื้นที่  ไม่พูดเปล่าเธอนำทีม 17 วิสาหกิจชุมชน ใน 7 อำเภอ ปฏิบัติการจริงจังต่อเนื่อง โดยนำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change – LFC) รุ่นที่ 12 ไปใช้กับการทำงานในพื้นที่ 

“นำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมหลักสูตรนี้ไปประยุกต์ใช้พันเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในเชิงกลยุทธ์และการทำงานเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ได้เรียนรู้หลายวิชา บางวิชาก็อินจนน้ำตาไหล การอบรมแต่ละสัปดาห์ทำให้ค่อยๆกระเถิบเข้ามาในสัมมาชีพมากขึ้นเรื่อยๆ จนรู้และเข้าใจว่าหลักสูตรนี้มีความจำเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องมาเรียน” ปิติมา เล่า 

โดยเฉพาะเธอซึ่งก่อนจะมาอบรมหลักสูตรนี้ ทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชน ในธุรกิจฟาร์มเห็ด (วิสาหกิจชุมชนฟาร์มเห็ดกาญจนา) ส่งเสริมการเพาะเห็ดกับชุมชนในละแวกหมู่บ้าน  โดยมีสมาชิกที่เพาะเห็ดอยู่เกือบทุกอำเภอ ทว่าในตอนนั้น การทำงานยังสะเปะสะปะ จนได้มาอบรมหลักสูตรนี้ ที่ทำให้ภาพทุกอย่างชัดเจน มีระบบคิดเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ 

“พอไปอบรมเพิ่งรู้ว่า นี่คือสิ่งที่เราทำมาตลอด แต่มีคนจัดหลักสูตรให้เรียนรู้เพิ่มเติม กลายเป็นที่มาของการจัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรชัยภูมิ โดยความร่วมมือของเพื่อนๆLFC 12 และได้รับคำแนะนำแรงกระตุ้นจากรุ่นพี่ การอบรมยังสอนให้รู้ว่า ต้องรวบรวมกลุ่มคนในชุมชน (วิสาหกิจชุมชน) เพื่อสร้างพลังและเครือข่ายขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงดีกว่าทำโดดเดี่ยว ขณะเดียวกันการอบรมยังทำให้ได้องค์ความรู้ที่ใช่ กรณีของสมุนไพรที่นำมาปรับใช้คือการปลูกตามความต้องการของตลาด ตามความต้องการของคนในพื้นที่ และตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและราคาที่ดี”

เธอยังบอกด้วยว่า การทำตามแนวทางสัมมาชีพ นอกจากสร้างรายได้แล้ว ยังทำให้ชาวบ้านมีความสุข ไม่เป็นทุกข์ไม่มีโรคภัย ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่สมาชิกกำลังร่วมกันผลักดันคือ ลดการใช้สารเคมี ให้เข้าใกล้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้นเรื่อยๆนอกจากคนปลูกจะปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้า เป็นที่ต้องการของตลาดสมุนไพร โดยสมาชิกจะผลิตสินค้าโดยใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวตั้ง 

“ปีนี้เข้าสู่ปีที่สามของการจัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรชัยภูมิ จะเน้นความเข้มข้นในการผลิตสมุนไพรเป็นยา เช่น โรงพยาบาลจัตุรัส ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอ มีโครงการผลิตยาไทย ดังนั้นสมาชิกส่วนหนึ่งก็จะเปลี่ยนมาปลูกสมุนไพรที่ตรงตามความต้องการของโรงพยาบาล  โดยเฉพาะ ว่านไพล ขมิ้นชัน  อีกทั้งยังได้รับราคาประกันที่ดีกว่าการปลูกมันสำปะหลัง เป็นต้น”

นอกจากนี้เครือข่ายฯยังผลักดันเรื่องของ “ธนาคารพันธุ์” โดยในปีนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำมาจัดหาพันธุ์ เนื่องจากพบว่าปัญหาหลักที่ผ่านมาของสมาชิกคือขาดพันธุ์ที่ดี  สมาชิกบางรายขาดสภาพคล่องในการจัดหาพันธุ์ ทำให้ต้องใช้วิธียืมพันธุ์กับบริษัทที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร โดยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้กับบริษัทเหล่านี้ ในรูปของราคาประกันพืชผลทางการเกษตรที่ได้น้อยกว่าราคาตลาด 

“เราคุยกับสมาชิกพบว่าเขาอยากมีธนาคารพันธุ์ เพราะถ้าไปยืมพันธุ์กับบริษัทจะต้องเสียดอกเบี้ยกิโลกรัมละ 10 บาทเทียบจากราคาตลาด จึงเป็นที่มาของโครงการธนาคารพันธุ์  เราก็พยายามแก้ไขปัญหานี้ให้หมดลง เพื่อทำให้สมาชิกมีรายได้จากการขายสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น”

…พอมีธนาคารพันธุ์สมาชิกก็จะมีอิสระในการขาย ไม่ถูกคุมราคา ไม่ถูกเอาเปรียบ เป็นการปลดล็อกเรื่องราคา “ปิติมา” เล่า

นอกจากการผลิต และจำหน่ายแล้ว ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรชัยภูมิ ยังเล่าว่า เครือข่ายฯยังอยู่ระหว่างการแปรรูปสมุนไพรที่ผลิตได้เป็น “สินค้าที่สะท้อนอัตลักษณ์พื้นที่” เช่น ยาหม่องขิงแห้ง ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของจังหวัดชัยภูมิ  รวมถึงการนำไพลมาสกัดเป็นน้ำมันไพล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าสมุนไพร เป็นต้น ที่ผ่านมายังผลักดันตลาดนัดต้นไม้ให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้สมาชิกนำสมุนไพรมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน 

ทั้งนี้สิ่งที่สมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรชัยภูมิร่วมกันทำมานั้น “ปิติมา” ย้ำว่า เป็นสิ่งที่สมาชิกทุกคนมีความสุข พร้อมให้ความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำให้เธอในฐานะประธานฯ และผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รู้สึกหายเหนื่อยและสุขใจ  

“สิ่งที่ได้คือทุกคนมีความสุข เวลาเรียกประชุม สมาชิกไม่มีเบี้ยประชุม แต่ไกลแค่ไหนก็มา เราก็ประทับใจ สมาชิกตื่นเต้นอยากได้องค์ความรู้  มานั่งฟังวิทยากรสอน ทำกับข้าวกันมาคนละอย่าง หุงข้าวกันมาคนละหม้อ คนละกระติบ กลายเป็นมีสำรับกับข้าวอลังมาก เห็นแบบนี้แม้เราจะเหนื่อยแต่ก็มีความสุข ไม่ใช่ทำแล้วท้อแท้ไม่มีความสุข”

ขณะที่นิยามผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงสไตล์เธอ คือ ผู้นำต้องตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ สุจริต จริงจังในสิ่งที่พูดและทำจริง จึงจะได้รับความจริงใจตอบ มีเป้าหมายในการทำงานชัดเจน และต้องพร้อมที่จะเป็นนักเรียน เรียนรู้ตลอดเวลา 

“ถามว่าทำแล้วรวยไหม คำตอบคือรวยความสุข ผลผลิตของสมาชิกขายได้ ทำให้คนที่ลำบากมีรายได้เพิ่ม มีสินค้า มีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง มีเพื่อนทั้งจังหวัด แค่นี้ก็เยอะมากแล้ว กับสิ่งที่ได้รับ” ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรชัยภูมิ ทิ้งท้าย

 

อ่านรายละเอียดหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 ได้ที่ http://rb.gy/zfcwkn

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More