มหาดไทยจับมือ EU และ UNDP เปิดโครงการ “Strengthening SDG Localization in Thailand ร่วมกับผู้ว่าฯ 15 จังหวัดนำร่อง” มุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อประเทศไทย
วันนี้ (28 เม.ย. 66) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม CR-3 ชั้น 1 ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานร่วมในพิธีเปิด “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ (SDGs Localization) ในจังหวัดนำร่องทั้ง 15 จังหวัด” โดยมี นางสาวซารา เรโซอากลี รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำราชอาณาจักรไทย นายเรโน เมแยร์ ผู้แทนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) นางสาวมาริสา ปัณยาชีวะ ผู้แทนสำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ นายประสพโชค อยู่สำราญ นางสุจิตรา ศรีนาม ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครราชสีมา นราธิวาส ปัตตานี เพชรบุรี ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา สงขลา สุราษฎร์ธานี อุดรธานี จังหวัดอุบลราชธานี และผู้แทนกรุงเทพมหานคร นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมในงาน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสแสดงเจตนารมณ์ให้ทาง UNDP และสหภาพยุโรป (EU) ได้มั่นใจว่าพวกเราทุกคนจะช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ไปสู่การปฏิบัติในทันที ดังคำมั่นสัญญาว่า “1 จังหวัด 1 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” รวมทั้งตามปรารภของรองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำราชอาณาจักรไทยที่กล่าวว่าโลกของเรากำลังเผชิญความท้าทายต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สภาวะสงครามระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งซึ่งทุกคนไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน รวมทั้งสภาวะความผันแปรทางระบบเศรษฐกิจของโลก ซึ่งประเทศไทยก็เคยได้รับผลกระทบจาก “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” ยิ่งไปกว่านั้นโลกของเรากำลังเผชิญสภาพความแปรปรวนของอากาศ ดังนั้น พวกเราทุกคนจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนดังที่พวกเราทุกคนได้ร่วมกันในวันนี้ เพื่อมาแสดงความจริงใจว่าพวกเราทุกคนรับรู้ว่าโลกใบนี้มีปัญหา และแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นให้สำเร็จ
“กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางระหว่างทุกกระทรวง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ประสานบูรณาการขับเคลื่อนงานร่วมกันระหว่างราชการกับพี่น้องประชาชน ทั้งในรูปแบบ Top Down และ Bottom Up เป็น Two Way Communication โดยให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วน (Partner) ที่ดีในการดูแลครอบครัว ชุมชน สังคมให้ได้รับการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย ซึ่งสิ่งที่ดีจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้นั้นเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องขับเคลื่อนพร้อมกันทุกภาคส่วน ดังที่ UN ได้ให้โอกาสกับกระทรวงมหาดไทยร่วมเป็นหุ้นส่วนที่ดีในการดูแลโลกใบนี้ และมุ่งมั่นช่วยขับเคลื่อนทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยเป็นสมาชิกที่ดีของโลก โดยกระทรวงมหาดไทยได้ทุ่มเทในการช่วยเหลือทำให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการขับเคลื่อนสำรวจเป้าหมายแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยกลไก ศจพ. ผ่าน ThaiQM ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้กว่า 4.1 ล้านครัวเรือน คิดเป็นกว่า 10 ล้านปัญหา อันเป็นการค้นหาเป้าหมายเพิ่มเติมจากระบบ TPMAP ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคนมหาดไทยทุกกลไกในพื้นที่ได้ทำอย่างจริงจังจนสามารถแก้ไขปัญหาในมิติ “ยาฝรั่ง” ไปบางส่วนแล้ว และเราจะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาในมิติความยั่งยืนแบบ “ยาไทย” ต่อไป” ปลัด มท.กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า UN เป็นเสมือนหัวรถจักรที่มีพลังขับเคลื่อนที่จะทำให้พวกเราตื่นตัวและกระตือรือร้นเอาใจใส่ในการที่จะไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้เกิดรูปธรรม และบัดนี้ความสำเร็จของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มผลิดอกออกผลภายใต้บริบทของสังคมไทยที่เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์นับเนื่องมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงมาเป็นผู้ให้แรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนร่วมกับพี่น้องประชาชนด้วยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์ใช้กับ SDGs 17 ข้อ หรือที่รู้จักกันว่า SEP for SDGs ด้วยการกระตุ้นปลุกเร้าในระดับหมู่บ้าน ใน 7,255 ตำบล 878 อำเภอ 76 จังหวัด ร่วมกันทำให้ประชาชนทุกคนมีที่อยู่อาศัย มีที่พักที่แข็งแรง ถูกสุขลักษณะ มีความมั่นคงด้านอาหาร ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม คัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ลดการปลดปล่อยก๊าซเสียไปสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งล่าสุดองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตจากขยะเปียก รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมให้คนมีความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และใช้สีธรรมชาติย้อมผ้า ตัดเย็บผ้า ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเครื่องนุ่งห่มเราไม่ทำลายโลก และหล่อเลี้ยงกระตุ้นทำให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศนี้เข้มแข็งขึ้นต่อยอดไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ปราศจากปัญหายาเสพติด มีความรักใคร่ความสามัคคี ประชาชนมีความสุข มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน อันแสดงให้เห็นว่า การที่พวกเราทุกคนได้ “ทำทันที (Action Now)” จะเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน
“การที่พวกเรามาร่วมกัน Kick off ในวันนี้ จะเป็นก้าวย่างสำคัญที่ทำให้ความเป็นหุ้นส่วนของทุกส่วนประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนสร้างความมั่นคงให้กับเพื่อนมนุษย์ มุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความสำเร็จเป็นรูปธรรม และพวกเราชาวมหาดไทยทุกคนจะทำอย่างจริงจังในทุกพื้นที่โดยยึดหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เพื่อทำให้ประเทศไทยของเราก้าวไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 76 จังหวัดตามเจตนารมณ์ 1 จังหวัด 1 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน เพื่อความเท่าเทียมของทุกคน เพื่อโอกาสที่ดีของทุกชีวิตบนผืนแผ่นดินนี้ ทั้งนี้ พวกเราชาวมหาดไทยรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งว่า เราไม่ได้เดินไปตามลำพัง เรามีมิตรสหายผู้มีอุดมการณ์สอดคล้องต้องกันกับพวกเราทุกคน นั่นคือ UNDP และ EU” ปลัด มท. กล่าวเพิ่มเติม
นางสาวซารา เรโซอากลี กล่าวว่า ปัจจุบันโลกของเราเผชิญสภาพความท้าทายมากมาย ทั้งปัญหาโลกร้อน ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ปัญหาภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในรัสเซียและยูเครน ความท้าทายที่มีอยู่ในวันนี้ต้องเกิดความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยมีจุดแข็งร่วมกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการร่วมงานแบบพหุภาคีและจะต้องมีระบบที่เราใช้กฎสากลและค่านิยมร่วมกัน มีตัวชี้วัด เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยรัฐภาคีของ EU จะใช้หลักนิติธรรมและประชาธิปไตย เป็นหลักสากลเพื่อเชื่อมโยงคนในโลกนี้ รวมถึงการให้ความรู้กับคนในทุกภูมิภาค ซึ่งในวันนี้กระทรวงมหาดไทย UNDP และ EU จะได้มาพบปะพูดคุยร่วมกันเป็นพันธมิตร อันเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการทำงานร่วมกันจากล่างขึ้นบน (Bottom Up) โดยเริ่มจากระดับท้องถิ่น ซึ่งทาง EU และประเทศสมาชิกพร้อมที่จะสนับสนุนประเทศไทย และ UNDP เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs และขอย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นพันธมิตรที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะนำกลยุทธ์ไปใช้ในพื้นที่และสนับสนุนความมั่นคงความมั่งคั่งและการพัฒนาประเทศไทยให้ยั่งยืน และการเปิดตัวโครงการ “Strengthening SDG Localization in Thailand” เป็นเครื่องตอกย้ำว่า รัฐภาคี EU พร้อมที่จะร่วมมือเป็น Partner ร่วมกับพันธมิตรจากทุกจังหวัด เพื่อทำให้ประเทศไทยและโลกใบนี้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายเรโน เมแยร์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย UNDP และ EU รวมถึงตัวแทนจากภาคประชาสังคมต่าง ๆ ได้มีการพูดคุยกันเรื่อง SDGs 17 เป้าหมาย เกิดเป็นโครงการความร่วมมือมากมาย อย่างไรก็ตามเราจะต้องเร่งดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในครัวเรือนและชุมชน ในพื้นที่ 15 จังหวัด ด้วยการนำยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ไปใช้ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง “โมเดลเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญ” ที่จะทำให้เป้าหมาย SDGs 17 สำเร็จได้อย่างแท้จริง บนฐานที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1) “ข้อมูล” เพราะหลายประเทศได้มีการพัฒนาข้อมูลที่เป็นความท้าทายของประเทศ โดยนำข้อมูลที่จังหวัดต่าง ๆ ได้รวบรวม มากำหนดตัวชี้วัดที่เป็นทางการสำหรับติดตามตรวจสอบความก้าวหน้า เพื่อเทียบกับเป้าหมาย และค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมที่สามารถสอดรับกับ SDGs ได้ และต้องติดตามความก้าวหน้า มาเทียบกับค่าเฉลี่ยในระดับประเทศ โดยเราจะทำงานร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อปรับข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2) ต้องเกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ทั้งระดับประเทศ ระดับรัฐบาล ระดับท้องถิ่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและเทศบาลต้องระดมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาด้วยกัน เพราะถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่ง การที่จะบรรลุเป้าหมายก็ยาก นอกจากนี้องค์กรภาครัฐต้องพยายามดึงภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมก็มีส่วนด้วย 3) ต้องยอมรับความหลากหลาย เพื่อตามให้ทันภาคส่วนอื่น ๆ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้ประโยชน์กับทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม เราต้องทำงานเชิงรุก ต้องระบุเป้าหมายได้ 4) SDGs 17 เป้าหมาย ไม่ใช่บทบาท UNDP เท่านั้น แต่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการบูรณาการร่วมกัน โดยมี UNDP เป็นผู้ประสานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และ EU เพื่อสร้างความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญในการใช้ความพยายาม เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จทั้งระดับประเทศและระดับโลกตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวในช่วงท้ายว่า แม้ว่า UNDP จะได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนโครงการฯ ในพื้นที่ 15 จังหวัด (14 จังหวัด + กรุงเทพมหานคร) แต่ทว่าภารกิจของกระทรวงมหาดไทยนั้น “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยมีความยินดีที่จะ “ลงมือทำทันทีในทุกจังหวัด” เพิ่มเติมจากเป้าหมายของ UNDP เราจะขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพราะกระทรวงมหาดไทยมีข้อมูลการขับเคลื่อนเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ครอบคลุมในทุกมิติทุกจังหวัด ผ่านระบบปฏิบัติการ MOI War room ซึ่งได้มีการประชุมติดตามผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดเป้าหมายอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว นอกจากนี้ สิ่งที่กระทรวงมหาดไทย ยังคงมุ่งมั่นเพื่อที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนมีความสุข มีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ (SEP for SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างหลักประกันในด้านความมั่นคงด้านอาหาร ผ่านการขับเคลื่อนสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของดิน อันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมเนื่องในวันดินโลก ปี 2565 (World Soil Day 2022) ภายใต้แนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน (Soils, where food begins)” ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในพื้นที่มากกว่า 1.7 พันแห่งครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงทุกประการนี้ เป็นความตั้งใจจาก Passion ของคนมหาดไทยที่มุ่งมั่นในการทำหน้าที่เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/67771
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More