ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ครม.เห็นชอบในหลักการร่างแถลงการณ์ผลประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียน+3 ติดตามความเสี่ยงและโอกาสทางเศรษฐกิจ กระชับความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค

ครม.เห็นชอบในหลักการร่างแถลงการณ์ผลประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียน+3 ติดตามความเสี่ยงและโอกาสทางเศรษฐกิจ กระชับความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 2 พ.ค. 66 ได้เห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting : AFMGM+3) ครั้งที่ 26  ซึ่งได้มีจัดการประชุมขึ้นที่เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี ในวันนี้ (2 พ.ค. 66) และจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวเพื่อเป็นผลลัพธ์ของการประชุม
 
การประชุม AFMGM+3 มีสมาชิกที่เข้าร่วมประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดและนอกอาเซียนอีก 3 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี โดยแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมมีเนื้อหาแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียน+3 ในการสนับสนุนความร่วมมือกันด้านต่างๆ เสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาค อาทิ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน การสร้างประสิทธิภาพความร่วมมือ รวมทั้งการกำหนดข้อริเริ่มภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน
 
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ที่ประชุม AFMGM+3 ได้รับทราบถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและการเงินของภูมภาคที่ในปี 2565 ที่ผ่านมาอาเซียน+3 เติบโต 3.2% และมองว่าความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคทั้งเงินเฟ้อ การเงินที่ตึงตัว การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ในขณะที่สถานการณ์ปัญหาในภาคการธนาคารของสหรัฐและยุโรปกระทบต่อภูมิภาคในวงจำกัด และเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะต่อไปจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศ เนื่องจากการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง
 
ด้านการเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค  AFMGM+3 เห็นด้วยกับการสร้างกลไกความช่วยเหลือทางการเงินแบบเร่งด่วนให้แก่ประเทศสมาชิกที่มีความต้อง ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยให้มีการกำหนดรูปแบบกลไกความช่วยเหลือที่เป็นไปได้ภายในปี 2566  และยังได้รับทราบความคืบหน้าการปรับปรุงแนวปฏิบัติของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี(Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM)เพื่อให้เป็นตัวเลือกทางการเงินที่มีประสิทธิภาพของประเทศสมาชิกยามจำเป็น
 
ที่ประชุม AFMGM+3 ได้รับรองแผนงานระยะกลางของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย(Asian Bond Markets Initiative :ABMI) สำหรับปี 2566-69 โดยเน้นทิศทางในอนาคตประกอบด้วย การส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนในภูมิภาค ปรับปรุงการกำกับดูแลตลาดและพัฒนารากฐานธุรกรรมข้ามพรมแดน ส่งเสริมตลาดกาเงินดิจิทัลของอาเซียน+3 การจัดหาสภาพคล่องสกุลท้องถิ่นเพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน สนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้สกุลท้องถิ่น
 
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า AFMGM+3 ได้เห็นชอบในการบรรจุให้การจัดหาเงินทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ(Disaster Risk Financing :DRF) เป็นวาระใหม่ของการหารือภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเงินของอาเซียน+3 พร้อมกับมีการรับรองแผนปฏิบัติการสำหรับปี 2566-68 ของข้อริเริ่ม DRF ด้วย
 
นอกจากนี้  AFMGM+3  ยังได้รับทราบถึงความคืบหน้าของคณะทำงานภายใต้ความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 อาทิ การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากลไกเพื่อรองรับปัญหาด้านมหภาคและปัญหาเชิงโครงสร้าง การพัฒนาความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการเงิน ตลอดจนเห็นชอบที่จะมีการศึกษา 4 หัวข้อที่สำคัญร่วมกันได้แก่ 1)การทำธุรกรรมและการชำระเงินข้ามพรหมแดนด้วยสกุลท้องถิ่นในภูมิภาค 2)การพัฒนาหนี้ภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยง 3)การพัฒนาฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนและ 4)การปฏิรูปนโยบายเพื่อรองรับการเงินเพื่อความยั่งยืนในภูมิภาค
ที่มา https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/67870

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More