ม.เกริกจัดพิธีมอบทุนการศึกษาโครงการทุนจุฬาราชมนตรี ประจำปีการศึกษา 2566
ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก ได้รับเกียรติจากอาจารย์ประสาน ศรีเจริญ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี ในการมอบทุนการศึกษา 100% จำนวน 5 ทุนให้กับนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกโครงการทุนจุฬาราชมนตรี ประจำปีการศึกษา 2566 โดยมีผู้ที่ได้รับดังนี้
1.นายมุสตานีดร์ สุขกุดี จากโรงเรียน Khalid bin Al waleed school ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต เอกอุตสาหกรรมฮาลาล
2. นายอุสมัน อัมนีฮียา วิทยาลัยเทคนิคยะลา เอกการเงินอิสลาม 3.นางสาวมินตรา จันทร์ขาว โรงเรียนอิสลามสันติชนเอกการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์
4.นายนรวิทย์ พุ่มประดิษฐ์ โรงเรียนอัลกุรรออ์วิทยา เอกการเงินอิสลาม และ 5.นางสาวรอฆ๊อด เจ๊ะเล๊าะ โรงเรียน Saudi schools in Kuala Lumpur ประเทศมาเลเซีย เอกการเงินอิสลาม
นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษา 100% จาก ผศ.ดร.พัดชา รักตะกนิษฐ ที่ปรึกษาวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ จำนวน 1 ทุน โดยนางสาวณิชา ชลเจริญ โรงเรียนอิสลามสันติชน เอกอุตสาหกรรมฮาลาล ได้ผ่านการคัดเลือกและได้รับทุนดังกล่าว รวมถึงการมอบทุนการศึกษา 20% ให้กับนักศึกษาไทย (มุวัลลัต) และนักศึกษาจากทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกจุฬาราชมนตรี ประจำปีการศึกษา 2566 อีกกว่า 100 คน มหาวิทยาลัยเกริกยังได้รับโอกาสจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มอบให้ คุณนุจรี ภักดีเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มอบทุนซะกาตจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยให้กับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี จำนวน 3 ทุน นับว่าเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มนักศึกษาจากทั่วประเทศได้รับโอกาสทั้งจากสำนักจุฬาราชมนตรี มหาวิทยาลัยเกริก และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการศึกษาของนักศึกษาไทยทั่วประเทศคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกริก ศ.ดร.นพ. กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกริก รศ.สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก MR. LI SHAOYUN ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน นายยิ่งศักดิ์ สิทธิยากรณ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ศ.ดร. จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ อาจารย์ สราวุธ และซัน รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศ สัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ คณาจารย์วิทยาลัยฯ ร่วมให้การต้อนรับอาจารย์ประสาน ศรีเจริญ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี และต้อนรับนักศึกษาใหม่กว่า 100 คนที่ได้รับทุนการศึกษาในโครงการทุนจุฬาราชมนตรี ประจำปีการศึกษา 2566
ศ.ดร. จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ได้กล่าวต้อนรับผู้แทนจุฬาราชมนตรี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกริก และนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาว่า วันนี้วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริกได้ก้าวมามีบทบาทสำคัญในสังคมไทย มีโอกาสได้ร่วมคัดเลือกบุคคลที่จะไปปฏิบัติงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เข้าร่วมต้อนรับในงานประชุมสุดยอด APEC ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ช่วยเหลือกลุ่มผู้รับวัคซีนก่อนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ประจำปี 2566 ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ รวมถึงการส่งผู้แทนเป็นล่ามภาษาอาหรับให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นับว่านักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยเกริกได้รับโอกาสสำคัญในหลากหลายบริบทต่อการขับเคลื่อนสังคมไทยในหลากหลายมิติ
ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี ได้กล่าวเปิดงานโครงการทุนจุฬาราชมนตรี ประจำปีการศึกษา 2566 ว่า มหาวิทยาลัยเกริกเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน โดยมี ดร.เกริก มังคละพฤกษ์ เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา และกลายเป็นสถาบันการศึกษาที่หลายคนรู้จักด้านอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยว่าด้วยการสอนภาษาอังกฤษสมัยใหม่ และปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของมิติทางการศึกษา ทำให้มหาวิทยาลัยเกริกได้ยกระดับตนเองสู่ความเป็นนานาชาติ มีนักศึกษาจากหลายประเทศ ทั้งจากประเทศจีน ซาอุดีอาระเบีย และกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกริกได้เปิดสถาบันผู้เชี่ยวชาญพิเศษ คือ 1) สถาบันไทย จีน อาเซียน 2) สถาบันหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และ 3) สถาบันภาวะผู้นำ ทั้งนี้เพื่อรองรับการศึกษาที่ครอบคลุมทั้งในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความเข้าใจด้านการค้าการลงทุน และมีภาวะความเป็นผู้นำของสังคม
นอกจากนี้ โครงการมอบทุนดังกล่าวอาจารย์ประสาน ศรีเจริญ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี ได้กล่าวเปิดงานโดยกล่าวว่า จุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล ได้มอบหมายให้มาแสดงความขอบคุณกับมหาวิทยาลัยเกริก ที่ได้มอบโอกาสจัดโครงการทุนจุฬาราชมนตรี ประจำปีการศึกษา 2566 ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว และมีนักศึกษาที่ได้รับทุนกว่า 100 คน ในวันนี้นับว่าเป็นปรากฎการณ์ใหม่ในสังคมมุสลิมที่เห็นความกระตือรือร้นของเยาวชนมุสลิมไทยจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการทุนจุฬาราชมนตรี ซึ่งสำนักจุฬาราชมนตรีและมหาวิทยาลัยเกริกต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาของคนทุกกลุ่ม ผมเชื่อมั่นว่าทิศทางการพัฒนาของวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ นอกเหนือจากการสนับสนุนจากสำนักจุฬาราชมนตรีแล้ว ยังมีองค์กรอื่น ๆ ที่ยังคอยให้การสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นธนาคารอิสลาม กลุ่มสหกรณ์อิสลาม หน่วยงานภาครัฐและเอกชนซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาของเยาวชนมุสลิมไทยมีโอกาสเข้าสู่ระบบอุดมศึกษามากยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพคนที่ใช้หลักคุณธรรม จริยธรรม ร่วมสร้างประโยชน์กับประเทศไปพร้อม ๆ กัน
ในช่วงท้าย นายทวี สาโรวาท นักศึกษาเอกอุตสาหกรรมฮาลาล นายอภิสิทธิ์ พยายาม นักศึกษาเอกการเงินอิสลาม และนายอาหามะอาดาฮา ลุโบะเด็ง นักศึกษาเอกการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ ซึ่งเป็นตัวแทนนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบกาณ์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตด้านการเรียน และการทำงานไปพร้อมๆ กัน โดยได้รับความสนใจจากนักศึกษาใหม่และผู้ปกครองที่เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้
ข้อมูล https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230505073356001
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More