งานจักสานยิ่งใหญ่ของโลกเริ่มขึ้นแล้ว! วธ.ร่วมยกระดับ “บุญกลางบ้าน สืบสานตำนานเมืองพนัส” ครั้งที่ 26 ปี 66
งานจักสานยิ่งใหญ่ของโลกเริ่มขึ้นแล้ว! วธ.ร่วมยกระดับ “บุญกลางบ้าน สืบสานตำนานเมืองพนัส” ครั้งที่ 26 ปี 66 ชมขบวนรถแห่รถจักสาน ไทย-ลาว-จีน สัมผัสวิถีชีวิตผสมผสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญา วันที่ 5-7 พ.ค. 66 ณ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับสู่นานาชาติ
วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงาน ประเพณีบุญกลางบ้านและเผยแพร่เครื่องจักสานพนัสนิคม ครั้งที่ ๒๖ “บุญกลางบ้าน สืบสานตำนานเมืองพนัส” โดยมีนางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายวิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ กรจิระเจริญ นายอำเภอพนัสนิคม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการจัดงาน สื่อมวลชน ประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เข้าร่วม ณ สวนสาธารณะเทศบาลเมืองพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ในโอกาสนี้ รมว.วธ. ชมขบวนรถแห่รถจักสาน ขบวนไทย ลาว จีน มอบรางวัลการประกวดรถจักสานประเภทความสวยงาม/ความคิดสร้างสรรค์ ชมการแสดงมหกรรมเอ็งกอ 3 คณะ เยี่ยมชมลานบ้านจีน ลานบ้านลาว บ้านจักสาน เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ปรับบทบาทจากกระทรวงสังคมสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม ผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F ด้านงานเทศกาลประเพณี (Festival) มุ่งขับเคลื่อนและยกระดับงานเทศกาลประเพณีสู่ระดับโลก วธ.จึงบูรณาการความร่วมมือกับเทศบาลเมืองพนัสนิคม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานพัทยา) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานภาคประชาชน ร่วมกันจัดงานประเพณีบุญกลางบ้านและเผยแพร่เครื่องจักสานพนัสนิคม ครั้งที่ 26 ประจำปี 2566 “บุญกลางบ้าน สืบสานตำนานเมืองพนัส” ระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็น 1 ใน 16 เทศกาลประเพณีไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ทางวธ.คัดเลือก เนื่องจากมีความโดดเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักสาน ศิลปะการแสดงเอ็งกอ วิถีชีวิตแบบไทย แบบจีน แบบลาว และขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานและมีการจัดงานเทศกาลประเพณีดังกล่าวมายาวนานกว่า 26 ปี นับเป็นอีกประเพณีหนึ่งของไทยที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญผสมผสานอย่างลงตัวด้วยอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นที่น่าสนใจและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่หาชมได้ยาก ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับสู่นานาชาติ
รมว.วธ. กล่าวอีกว่า ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ ขบวนรถแห่รถตกแต่งจักสาน ขบวนไทย ลาว จีน อย่างยิ่งใหญ่ การประกวดรถจักสานจากไม้ไผ่ การประกวดแต่งกายงาม “หิ้วตะกร้า นุ่งผ้าไทย ลาว จีน” มหกรรมจักสาน 4 ภาค มหกรรมเอ็งกอครั้งแรกในไทยของสุดยอดเอ็งกอ 3 คณะ 3 จังหวัด (จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดอุดรธานี) อาหารถิ่น 3 ชาติพันธุ์ ไทย ลาว จีน การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงและดนตรีท้องถิ่นมากมาย เพลิดเพลินไปกับมนต์เสน่ห์เสียงเพลงลูกทุ่ง ในเวทีไทย อาทิ เล้ง ศรันยกันย์ จากรายการดวลเพลงชิงทุน , ไรอัล กาจบัณฑิต จำปาศิลป์ และวิรดา วงศ์เทวัญ สนุกสนานไปกับการประชันหมอลำหลากหลายคณะ ในเวทีลาว ชมการแสดงงิ้วเปลี่ยนหน้า กายกรรมสัตว์แสนรู้ มายากลซีแมนโชว์ ในเวทีจีน รวมถึงการสัมมนาให้ความรู้ “การพัฒนาการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จักสาน”
พนัสนิคมเป็นเมืองเก่าที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีตกาลมานับร้อยปี มีชุมชนอาศัยอยู่ร่วมกันหลายเชื้อชาติ อาทิเช่น ไทย ลาว จีน จึงเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ผสมผสานและทรงคุณค่าอยู่มากมาย มีประเพณีที่สำคัญ คือ ประเพณีบุญกลางบ้าน และเผยแพร่เครื่องจักสานพนัสนิคม ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติร่วมกันมานานกว่า 100 ปี ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา โดยเชื่อว่าเมื่อกระทำแล้วจะเกิดสิริมงคลทำให้ครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรือง ตลอดจนเป็นการสะเดาะเคราะห์ ให้ปราศจากหรือแคล้วคลาดจากภัยพิบัติทั้งปวง รวมถึงการรำลึกบูชาภูตผี เทวดา โดยมีกำหนดจัดงานในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี กิจกรรมประกอบด้วย ขบวนแห่เครื่องจักสานที่ใหญ่ และสวยงามที่สุด ในโลก รวมไปถึงการแห่รถที่ตกแต่งด้วยจักสานจากหน่วยงานต่างๆ การประกวดรถจักสาน และการประกวดแต่งกายสวยงามทั้ง 3 ชาติพันธุ์ คือ ไทย ลาว จีน การแสดงพระเครื่องเมืองพนัสนิคม การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน รำวงย้อนยุค การทายโจ๊กปริศนา โดยได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่ และอำเภอใกล้เคียงเข้าร่วมชมเที่ยวงานเป็นจำนวนมาก
ข้อมูล https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/67986
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More