ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

5 เมษายน วันคล้ายวันเกิดนายกรัฐมนตรีไทย สัญญา-ธานินทร์-ชาติชาย

วันที่ 5 เมษายน ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของนายกรัฐมนตรีประเทศไทย 3 คนคือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งทั้งสามท่านล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกันเชื่อมโยงกันอยู่บางประการ และหากมองในมุมทางการเมืองจะเห็นว่าเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความคล้ายคลึงกันในสมัยที่ทั้งสามท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สัญญา ธรรมศักดิ์

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2450 ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2545 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 12 ของประเทศไทย (ลำดับที่ 16) ตั้งแต่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 – 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

รัฐบาลชั่วคราวคณะนี้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มนักศึกษาและประชาชนอย่างมาก ภายหลังจากการลงจากอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร และพวกแล้ว รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์จึงดำเนินการยึดทรัพย์จอมพลถนอมและพวก แม้เป็นรัฐบาลชั่วคราวแต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาของประเทศในขณะนั้นคือปัญหาราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค และค่าโดยสารรถประจำทางพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถือว่าเป็นฉบับให้สิทธิเสรีภาพต่อประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดหลัง พ.ศ. 2475 โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ให้สิทธิเสรีภาพแก่ปวงชนยิ่งกว่านายกรัฐมนตรีคนใด ในยุคของท่านต่างก็เรียกร้องให้ช่วยเหลือที่ทำกิน ค่าจ้าง และด้วยประการอื่น ๆ แต่ท่านก็ทำได้เพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ดูเหมือนจะทำได้อย่างสมบูรณ์ก็คือ เสรีภาพทางการเมือง แต่ในเรื่องเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ ท่านทำอะไรไม่ได้เลย (วิเทศกรณีย์, 2518)

ธานินทร์ กรัยวิเชียร

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2470 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของประเทศไทย (ลำดับที่ 20) ตั้งแต่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ภายหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ทำการรัฐประหาร

รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิรูปฯ มีการยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนในการแสดงความคิดเห็น มีการควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชน สั่งปิดหนังสือพิมพ์ โดยระยะเวลา 1 ปี มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ถึง 22 ครั้ง นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 21 ซึ่งมีอำนาจเช่นเดียวกับมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519

รัฐบาลคณะนี้ได้รับสมญาณามว่า “รัฐบาลหอย” มีที่มาจากนายธานินทร์ กรัยวิเชียรกล่าวทางโทรทัศน์ว่า “รัฐบาลเสมือนหอยที่อยู่ในเปลือก โดยมีนัยถึงเป็นรัฐบาลที่คณะนายทหารคอยให้ความคุ้มกัน” นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคือการควบคุมและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ผลงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของรัฐบาลนี้คือการก่อตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

ชาติชาย ชุณหะวัณ

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2463 ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย (ลำดับที่ 23) ตั้งแต่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

พลเอกชาติชายเข้าสู่แวดวงทางการเมืองจากการก่อตั้ง “พรรคชาติไทย” ซึ่งเป็นการกระโดดลงมาเล่นการเมืองของกลุ่ม “ซอยราชครู” อีกครั้ง หลังจากกลุ่มซอยราชครูรุ่นพ่อหมดบทบาทไปตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์รัฐประหาร พ.ศ. 2501 พลเอกชาติชายและพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2531 จนถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยการนำของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ รัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

ผลงานที่โดดเด่นมากของรัฐบาลพลเอกชาติชายคือ นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแต่กลับเผชิญปัญหาต่าง ๆ เช่น วิกฤตศรัทธาจากประชาชนเนื่องจากปัญหาคอรัปชัน ปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล และความไม่ลงรอยกับฝ่ายทหาร

Source: https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_30427

The post 5 เมษายน วันคล้ายวันเกิดนายกรัฐมนตรีไทย สัญญา-ธานินทร์-ชาติชาย appeared first on Thailand News.