ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ค่านิยมในการพระราชทาน “ของขวัญ” ที่เปลี่ยนไปสมัย ร.5 ?

ของขวัญ ของกำนัลจากต่างประเทศมีความสำคัญขึ้นอย่างมาก ในรัชกาลที่ 4 จนกลายเป็นธรรมเนียมใหม่ที่พระมหากษัตริย์และข้าราชบริพารราชสำนักได้รับมอบและมอบให้แก่กัน นอกจากนี้การพระราชทานของที่ระลึกหรือเครื่องราชบรรณาการยังมุ่งหมายที่จะแสดงความรู้จัก และแสดงความเป็นมิตรจากคนแปลกหน้า โดยพระมหากษัตริย์หรือผู้นำประเทศจากแดนไกลที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อนเลย เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง

หาก “ค่านิยม” การพระราชทานของขวัญในรัชกาลที่ 5 เริ่มเปลี่ยนไปจากที่เคยมีมาข้างต้นอย่างไร ไกรฤกษ์ นานา เป็นผู้เขียนอธิบายไว้เป็นส่วนหนึ่งของ “ประวัติสาตร์นอกตำรา สยามรัฐตามทรรศนะโลกตะวันตก” (สนพ.มติชน) ดังนี้

แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ค่านิยมใหม่ในการพระราชทานของขวัญกลับเปลี่ยนไปจากการที่ ‘พระมหากษัตริย์’ ถวายให้ ‘พระมหากษัตริย์’ ด้วยกันเอง เพราะ ‘เหตุผลด้านการเมือง’ และ ‘ความประสงค์ของผู้ให้ฝ่ายเดียว’ มาเป็นพระมหากษัตริย์พระราชทานให้ ‘ผู้เป็นที่รัก’ หรือ ‘บุคคลใกล้ชิด’ ของพระองค์เป็นสินน้ำใจด้วย ‘เหตุผลด้านความรู้สึก’ ของผู้ให้และผู้รับ และ ‘เพื่อความพึงพอใจของผู้รับ’ เป็นการกระทำด้วยน้ำใสใจจริง โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนั้นในบางโอกาสก็ยังมีชาวต่างชาติทูลเกล้าฯ ถวายของขวัญ ของที่ระลึกโดยคนภายนอกที่มิได้รู้จักเป็นการส่วนพระองค์ แต่ทราบชื่อเสียงกันทางธุรกิจ การนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจึงเป็นเกียรติยศแก่ผู้ถวายด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นเกียรติประวัติต่อผู้จัดหาของชิ้นนั้นดังที่จะกล่าวต่อไป

ของขวัญ ของฝากกลายเป็นสิ่งสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งต่อผู้ได้รับพระราชทาน ดังเช่นในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกที่เสด็จฯ ถึงทวีปยุโรปก็ทรงระลึกถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็นอันดับแรก เพราะการเสด็จฯ ในปี พ.ศ. 2440 นั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในระหว่างที่พระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ห่างไกลเป็นเวลานานหลายเดือน ภารกิจอันหนักอึ้งจึงตกอยู่กับสมเด็จพระบรมราชินีนาถในการบริหารราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณ

ของฝากที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะทรงซื้อพระราชทานสมเด็จพระบรมราชินีนาถจึงต้องเป็นของมีค่ามีราคา และต้อง “เป็นที่ถูกพระราชหฤทัย” ตามที่ทรงทราบพระราชอัชฌาสัยเป็นอย่างดี เพื่อเป็นรางวัลแก่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ แต่ข้อมูลดังกล่าวก็ไม่เคยถูกระบุไว้ในพงศาวดารฉบับใด นอกจากสิ่งที่หมอสมิธได้พบเห็นมาด้วยตนเอง

หมอเล่าว่า ‘สมเด็จพระพันปีหลวงทรงโปรดเครื่องอาภรณ์เพชรพลอยเช่นเดียวกับผู้หญิงสยามทุกคน และทรงมีเก็บสะสมไว้มากมาย เมื่อครั้งที่ยังเยาว์พระชันษาพระองค์ทรงประดับเครื่องอาภรณ์เพชรพลอยมากมายตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น แต่มาในยามที่ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระองค์นั้น พระองค์มิได้ทรงใส่พระทัยในสิ่งของเหล่านี้แล้ว จะทรงสวมพระธำมรงค์บ้างก็เฉพาะในโอกาสพิเศษๆ

ส่วนของที่พระราชทานให้แก่ผู้คนไปก็มีเป็นจำนวนมาก เท่าที่เหลืออยู่ก็ทรงเก็บรักษาไว้อย่างดีในกล่องใส่เครื่องประดับเพชรพลอย เวลาที่จะพระราชทานให้แก่ผู้ใดก็จะทรงนำออกมาให้บุคคลผู้นั้นเลือกดู เครื่องอาภรณ์เพชรพลอยที่เห็นส่วนใหญ่เป็นของห้างฟาร์แบร์เช่ ห้างร้านที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กในสมัยของพระเจ้าซาร์ งานฝีมือของห้างฟาร์แบร์เช่บางชิ้นดูแปลกไม่เหมือนใคร

ผู้คนที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันปีหลวงในแต่ละวันนั้นมีจำนวนมากมาย ตลอดระยะเวลาที่พระพลานามัยของพระองค์ยังคงสมบูรณ์ดีจะมีผู้คนมาที่ตำหนักอยู่แทบมิได้ขาด สำหรับบางคืนที่ไม่มีใครเข้าเฝ้าความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวพระทัยทำให้พระองค์แทบจะกลั้นน้ำพระเนตรไว้ไม่อยู่ สมาชิกภายในพระราชวงศ์ของพระองค์เองก็มักจะเสด็จฯ มาเข้าเฝ้าอยู่เนืองๆ และถือเป็นโอกาสที่จะได้ทรงพบปะพูดคุยกันภายในห้องบรรทมแห่งนี้ ส่วนพวกที่อยู่นอกห้องบรรทมที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกันก็จะจับกลุ่มแยกออกมาต่างหาก สมเด็จพระพันปีหลวงทรงมีพระเสาวนีย์ให้พระราชโอรสของพระองค์เสด็จฯ มาเข้าเฝ้าอย่างสม่ำเสมอจนเกือบจะเป็นหน้าที่ และพระราชโอรสส่วนใหญ่ก็ทรงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

คืนหนึ่งข้าพเจ้าได้ทูลขอให้สมเด็จพระพันปีหลวงทรงนำสร้อยพระศอไข่มุกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นของขวัญแก่พระองค์ เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ซึ่งมีมูลค่าถึง 100,000 ปอนด์ออกมาให้ชม

แม้ว่าข้าพเจ้าจะเคยเห็นสร้อยพระศอเส้นนี้มาแล้วหลายครั้งในขณะที่พระองค์ทรงสวมอยู่ แต่ก็ยังไม่เคยได้เห็นและสัมผัสอย่างใกล้ชิด สร้อยพระศอเส้นดังกล่าวถูกนำออกมาจากห้องที่อยู่ติดๆ กันเกือบจะในทันที และเมื่อเห็นข้าพเจ้าก็มิได้รู้สึกผิดหวังเลย ไข่มุกเม็ดที่จัดว่าเป็น ‘น้ำเอก’ มีขนาดกำลังพอเหมาะประดับตกแต่งด้วยอัญมณีงดงาม ภายใต้แสงตะเกียงสลัวๆ ขณะปล่อยมันให้ไหวตัวกลิ้งไปมาส่งประกายระยิบระยับอยู่ในอุ้งมือของข้าพเจ้านับเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจลืมเลือน ความยาวเต็มที่ของสร้อยที่ร้อยเข้าไว้ด้วยกันทั้งเส้นวัดได้เกือบ 5 ฟุต เวลาสวมสามารถจัดแต่งให้พันรอบพระศอได้เป็น 2 ทบ มุกเม็ดที่ใหญ่ที่สุดขนาดเท่าลูกหินห้อยอยู่ตรงกลางของมุกแต่ละสาย

สร้อยพระศอไข่มุกเส้นที่ 2 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทรงซื้อไว้เมื่อปี พ.ศ. 2450 [จากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 – ไกรฤกษ์ นานา] ราคาเพียง 20,000 ปอนด์ ภายหลังถูกโจรกรรมที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ในที่สุดก็สามารถตามกลับคืนมาได้’

ของขวัญจากรัชกาลที่ 5 ยังแปรสภาพเป็นเครื่องผูกมัดจิตใจระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลใกล้ชิดที่ทรงผูกพันรักใคร่เป็นพิเศษในชีวิตประจำวันอีกด้วย

ดังปรากฏว่าเมื่อพระองค์เสด็จประพาสยุโรปอีกครั้งใน พ.ศ. 2450 นั้น ยังได้ทรงเผื่อแผ่น้ำพระราชหฤทัยด้วยการพระราชทานของขวัญ ของฝากไปยังผู้ที่ทรงสนิทสนมคุ้นเคยเป็นพิเศษ มีอาทิ สมเด็จพระอนุชาธิราช ขุนนางและบรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถวายงานเป็นที่สนิทเสน่หา

ดังนั้น ถ้าเมืองใดก็ตามที่เสด็จประพาส หรือสถานที่แห่งใดที่น่าประทับใจ ก็มักจะทรงรำลึกถึงคนข้างหลัง จึงได้ทรงซื้อหาของที่ระลึกจากที่นั้นๆ ส่งกลับมาพระราชทานด้วยความรู้สึกคิดถึง และเพื่อเป็นน้ำใจ เป็นการแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยแผ่ไพศาล เกิดเป็นธรรมเนียมใหม่ ไม่เคยเกิดขึ้นในรัชกาลก่อนๆ ดังพระราชดำรัสบางตอนทรงอ้างถึงพระราชกรณียกิจบางอย่างซึ่งมิได้เกี่ยวกับราชการเลย แต่ก็ทรงให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าภารกิจในทางราชการ”

ดังพระราชหัตถเลขาที่พะราชทานสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตอนหนึ่งว่า

“ฉันได้ตั้งปณิธานไว้อย่างหนึ่งว่า จะหาของฝากข้างใน [ฝ่ายใน] จากตำบลที่ฉันได้ไปทุกแห่ง แต่ตำบลที่ขึ้นมาข้างเหนือนี้มันเป็นตลาดปลา หาอไรฝากกันไม่ได้ จึงได้คิดเก็บโปสตก๊าดซื้อสมุดเก็บตั้งแต่ตรอนธเยม จะไปส่งที่กีล เดี๋ยวนี้ กำลังเติมอยู่เสมอทุกวัน หวังว่าจะเป็นที่พอใจ และจะยกโทษข้อที่ไม่มีลายมือ เพราะได้เขียนลงไว้ในน่าสมุดบอกให้ ขอให้เข้าใจว่าได้นึกถึงทุกเวลาเมื่อได้ เก็บโปสตก๊าดลงในสมุดนั้น บางทีก็จะไม่เต็มเล่ม จะส่งทั้งไม่เต็มเช่นนั้น”

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_63619

The post ค่านิยมในการพระราชทาน “ของขวัญ” ที่เปลี่ยนไปสมัย ร.5 ? appeared first on Thailand News.