ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

พระราชวิจารณ์ในร.5 เรื่องคนไทย “รู้สึกว่าต้องมีเจ้าขุนมูลนาย” กับข้อดีจากมุมมองต่างชาติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระปิยมหาราชของปวงชนชาวไทย ท่านเสด็จลงมาใกล้ชิดกับประชาราษฎร์ ตลอดเวลายาวนานที่บริหารราชการแผ่นดิน มีพระราชหัตถเลขาถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รวบรวมและจัดพิมพ์ไว้ มีหลายฉบับที่เกี่ยวกับนิสัย อัธยาศัย ของประชาชนและข้าราชการไทยยุคนั้น นอกจากนิสัยหลักๆ ดังที่เราได้กล่าววิจารณ์กันมาแล้ว… ยังมีนิสัยรอง ซึ่งน่าที่เราจะสำเหนียกรับรู้ไว้ ดังนี้

องค์ความรู้และสติปัญญา

“หนังสือที่ญี่ปุ่นแต่ง ทำทั้งสง่าทำทั้งภูมิให้ฝรั่งเกรงใจ แลอ่อนหวานให้ชมว่าดีด้วย จึงชมว่าเขาฉลาดจริงๆ ไม่ใช่ฉลาดคนเดียว มันฉลาดเป็นกองสองกองเช่นนี้ บ้านเมืองเขาจะไม่เจริญขึ้นสู่ทางมีอำนาจ มีประโยชน์เต็มอย่างไรได้ การที่บ้านเมืองเขาเจริญขึ้นได้สำเร็จดังประสงค์ เราอาจจะแลเห็น เพราะผู้ที่เรียบเรียงหนังสือทั้งหลายเหล่านี้ได้มีฝีมือในกิจการทั้งปวงเหล่านั้นทุกคน ดูมันน่าชื่นใจ เมื่อนึกถึงของเราบ้าง มันชวนแต่จะถอนใจอย่างเดียว ความรู้สึกในใจเป็นอย่างนี้ จึงได้ส่งมาให้ช่วยกันถอนใจใหญ่บ้าง” (พระราชหัตถเลขาฯ 8 สิงหาคม ร.ศ. 129)

“แต่อ้ายพวกหนังสือพิมพ์ไทยทั้งหลายละจ้อยเปล่าจ้อยเปลือย [ตามพจนานุกรม จ้อย แปลว่า คล่อง เช่น พูดจ้อย] ไม่ได้ความกระไรเลย ไทยเอ๋ยไทย นี่มันจะตกต่ำไปถึงไหน น้อยใจเสียจริงๆ” (2 มิถุนายน ร.ศ. 129)

นั่นเป็นสถานการณ์เมื่อ 100 ปีมาแล้ว ถ้ามีคำถามว่า วันนี้เราพ้นจากสถานภาพดังกล่าวแล้วหรือยัง เพราะเรามีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นนับร้อยแห่ง ผลิตบัณฑิตปีละเป็นหมื่นคน ในการที่จะดูภูมิความรู้ของชาติ เขาดูจากหนังสือที่ผลิตออกมาจำหน่าย ตลาดหนังสือของไทยผลิตหนังสือออกมาจนเต็มตลาด เยาวชนทั้งหลายก็ขวักไขว่กันเข้าซื้อน่านิยมยินดี แต่หนังสือเหล่านั้นเป็นประเภทบันเทิงเริงรมย์ การ์ตูน หนังสือสารคดีมีน้อย…

ดังนั้นในด้านสติปัญญาของชนชาติจึงยังต้องถอนใจกันต่อไป

ที่มาของสติปัญญา

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มาจากหนังสือ สติปัญญาจะลึกซึ้งเพียงใดดูได้จากหนังสือที่เขาอ่าน หนังสือที่เป็นความรู้ความคิดชั้นสูง มีอยู่น้อยในตลาดหนังสือของไทย ถ้าเอาไปเปรียบกับของต่างประเทศ แม้แต่ฮ่องกง สิงคโปร์ ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาลไม่ได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ หนังสือต่างประเทศในตลาดเมืองไทยราคาแพงอย่างยิ่ง ประมาณ 600-900 บาท เพราะภาษี

หนังสือเรื่องเดียวกันเมื่อพิมพ์เป็นภาษาไทยราคาโดยเฉลี่ยเล่มละ 200-300 บาทเท่านั้น แต่แน่ละอรรถรสและความเข้าใจลึกซึ้งไม่เหมือนอ่านจากต้นฉบับ

ดังนั้นในนานาประเทศที่เจริญ รัฐบาลเขาจะไม่ขูดรีดภาษีจากหนังสือ พยายามจะให้ราคาถูกที่สุดเพื่อประชาชนจะได้เข้าถึงภูมิปัญญาชั้นสูงเหล่านั้น

นิยมเป็นคนมีสังกัด

ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านแบบโบราณก็คือ นิยมมีมูลนาย แบบใหม่ก็คือ เป็นคนของนาย ลักษณะนี้อาจเกิดจากเป็นประเพณี และกฎหมายที่ปฏิบัติกันมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาว่า ประชาชนแต่ละคนจะต้องมีสังกัดอยู่ในขุนนางหรือเจ้านายพระองค์ใด ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การเรียกระดมพลยามสงคราม หรือการปกครองบังคับบัญชา

นอกจากนั้นในกฎหมายตราสามดวงยังมีบัญญัติเรื่องตราภูมิคุ้มห้ามที่ให้ความคุ้มกันแก่คนของเจ้านายที่ไปต่างหัวเมือง กรมการเมืองเจ้าหน้าที่จะจับกุมข่มเหงง่ายๆ มิได้

คราวนี้เรื่องที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นคือ เจ้านครเชียงใหม่ที่เป็นเจ้าประเทศราชออกหนังสือดังกล่าวให้แก่ราษฎรแขวงเมืองตากที่อยู่นอกอำนาจของเชียงใหม่ กระทรวงมหาดไทยได้หารือขอพระราชวินิจฉัย มีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 21 ตุลาคม ร.ศ. 122 ตอบว่า

“ที่บอกเรื่องเจ้านครเชียงใหม่ ออกหนังสือสำหรับตัวให้แก่ราษฎรแขวงเมืองตาก แบบอย่างอันนี้น่าจะได้เคยทำมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้ากาวิโลรส พระเจ้าอินทวิชยานนท์แล้ว ด้วยคนเรารู้สึกว่าต้องมีเจ้าขุนมูลนาย ให้เจ้าเมืองกรมการเขาเกรงใจ…หนังสือที่ออกให้ก็เป็นอย่างที่เจ้านายข้าราชการออกให้บ่าวตามเคย

สยามมินทร์”

ลักษณะนิสัยนี้ยังมีสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน คนไทยมิใช่น้อยนิยมที่จะอ้างตนเป็นคนของนายตำรวจ นายทหารผู้ใหญ่หรือนักการเมืองผู้กำลังมีอำนาจวาสนา บางทีก็ขอนามบัตรเขาไว้กับตัว ไว้กล่าวอ้างเมื่อต้องการความอนุเคราะห์เป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็มักจะได้ผล

…การสร้างตราสัญลักษณ์ เครื่องหมาย เข็มที่ระลึก เหรียญ ก็มีพื้นฐานมาจากนิสัยชอบมีสังกัดนี้เอง ความนิยมมูลนายนี้ ถ้าเป็นทัศนะของฝรั่งก็จะถูกดูแคลน ว่ามีนิสัยเป็นข้าทาส (Servile) แต่นายวันวลิต และนายครอเฟิดที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมองเห็นในแง่ดีว่า

“ชาวสยามรักแต่จะเป็นผู้รับใช้ เฉื่อยชา และว่าง่ายไม่ดิ้นรน ซึ่งเป็นอุปนิสัยทั่วไปของชาวสยาม อุปนิสัยอันนี้เองนับว่ามีคุณค่าต่อชาวสยามอยู่ เพราะสามารถช่วยชาวสยามสามารถรักษาอิสรภาพของตนไว้ได้ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะทำให้ประชาชนต้องสูญเสียศักดิ์ศรีของตนไปมากเพียงใดก็ดี” (กล่าวแล้วในบทที่ 3 วันวลิต และ 5 ครอเฟิด ทูตอังกฤษ) [เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม – กองบก.ออนไลน์]

อย่างไรก็ดี ประโยชน์อันนี้จะมีขึ้นได้ก็อยู่ในเงื่อนไข “คนไทยจะได้ดีเพราะมีนาย เป็นยอดชายฉลาดสามารถนัก” (ร.6) แต่ถ้าไปได้นายที่ไม่เอาไหน หรือเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน ลักษณะนี้จะทำลายเมืองไทยจนย่อยยับ ดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์มาหลายครั้งหลายหน

เรื่องความสำคัญของผู้นำหมู่คณะนี้ มีพระราชหัตถเลขาฯ ที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง คือขณะนั้นฝรั่งเศสซึ่งยึดครองจันทบุรีอยู่ เมื่อได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงสมใจแล้ว ก็ถอนทหารจากจันทบุรี แต่ยังไปอยู่ที่ตราด ที่ตราดเรามีทหารเรือที่ฝึกแบบใหม่อยู่ 120 คน ทรงกังวลว่า ข้าหลวงผู้รักษาเมืองตราดจะใช้ประโยชน์จากกองทหารนี้ไม่ได้จริงจัง

“มีหนทางเดียวที่จะใช้กำลังทหารได้จริง กรมทหารเรือจะต้องหานายทหารที่เคยบังคับบัญชาคนเหล่านี้ เป็นที่นับถือ ยำเกรงจริงๆ ให้อยู่ประจำบังคับทหาร และต้องมีคำสั่งโดยเฉพาะให้ทำการ ร่วมความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับฝ่ายพลเรือน โดยถือว่าเป็นราชการพิเศษ” (21 ตุลาคม ร.ศ. 122)

นิสัยติดบ้าน

อันที่จริงลักษณะนี้เป็นวิสัยของมนุษย์ทุกชาติพันธุ์ แต่คนไทยออกจะมีมากสักหน่อย ข้าราชการไทยเมื่อต้องย้ายไปอยู่ในที่ไกลบ้าน หรือที่ไม่เจริญ ก็มักจะท้อแท้ ไม่ยินดีในการงานที่ทำ ในครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบรมบาทบำรุง เป็นข้าหลวงไปราชการชายแดนแม่น้ำโขง ซึ่งกำลังพิพาทกับฝรั่งเศส

“วิตกแต่คนของเรา ไปแปลกถิ่นมันทนไม่ได้เหมือนฝรั่งหรือญวน พระยาบรมบาทครางถึง 2 ครั้งแล้ว ฝรั่งและญวนที่มันอยู่ตรงกันข้าม คนละฟาก ทำไมมันอยู่ได้…จะจัดการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยก็คงทำให้แน่นหนาพอสบาย ป้องกันแดดลมร้อนเย็นได้จริงๆ แลนึกทอดธุระว่า เมื่อถึงกำหนดเมื่อใดก็คงจะได้เปลี่ยน ข้างฝ่ายเราจะถือว่าไปเป็นครั้งเป็นคราว ไม่ช้าเท่าใดก็จะได้กลับ จะถูกลมถูกฝนบ้างก็ช่างเถิด ไม่กี่วันจะได้กลับ

ทั้งใจก็นึกเตือนเวลากลับอยู่เสมอ ไม่สบายทั้งร่างกาย ไม่สบายทั้งใจ จึงได้ผิดกันกับฝรั่งเศสและญวนที่มันไปอยู่ การที่คิดจะปกครองอาณาเขตให้กว้างขวางออกไปตามความจำเป็น น่าจะต้องหาทางปลูกความคิด ซักซ้อมคนของเรา ให้มันหายใจคอหดหู่ แลให้เข้าใจ การที่ไปตั้งอยู่แห่งใด จำจะต้องคิดให้เป็นที่มั่นคง แลเป็นที่สบายสำหรับตัว แลสำหรับผู้ไปเปลี่ยน บางทีจับอยู่ที่อ่อนของคนเรา ไข้เจ็บจะเบาบางลงได้

สยามมินทร์” (22 มิถุนายน ร.ศ. 123)

หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดย่อบางส่วนมาจากบทความ “(12) นิสัยคนไทยสมัยพระพุทธเจ้าหลวง” โดยจำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2550

The post พระราชวิจารณ์ในร.5 เรื่องคนไทย “รู้สึกว่าต้องมีเจ้าขุนมูลนาย” กับข้อดีจากมุมมองต่างชาติ appeared first on Thailand News.