7 เมษายน 2310: กรุงศรีอยุธยาแตก
เหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 นั้น คำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งถือเป็นหลักฐานชั้นต้นได้บันทึกเอาไว้ว่า
“พม่าเห็นได้ที ก็ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยา ทำลายเข้ามาทางประตูที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้ ก็เข้าเมืองได้ทางประตูทิศตะวันออกในเวลากลางคืน เมื่อ ณ วันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ จุลศักราช ๑๑๒๘ (7 เมษายน พ.ศ. 2310) ไล่ฆ่าฟันผู้คนล้มตายลงเปนจำนวนมาก เอาไฟเผาโรงร้านบ้านเรือนภายในพระนครศรีอยุธยาเสียเปนอันมาก ขณะนั้นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาและพระมเหสีพระราชโอรสธิดา กับพระราชวงศานุวงศ์ก็หนีกระจัดกระจายกันไป พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวันก็เสด็จสวรรคต”
ส่วนในพระนิพนธ์ไทยรบพม่า ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเรียบเรียงขึ้นหลังเหตุเสียกรุงประมาณ 160 ปี ได้เล่าไว้ว่า
“ครั้นถึงวันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นวันเนาสงกรานต์ เพลาบ่าย ๓ โมง พม่าก็จุดไฟสุมรากกำแพงเมืองตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาไชย และยิงปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนคร จากบรรดาค่ายที่รายล้อมทุกๆ ค่าย พอเพลาพลบค่ำ กำแพงเมืองตรงที่เอาไฟสุมทรุดลง เพลาค่ำ ๘ นาฬิกา แม่ทัพพม่าก็ยิงปืนสัญญาให้เข้าปีนปล้นพระนครพร้อมกันทุกด้าน พม่าเอาบันไดพาดปีนเข้าได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน พวกไทยที่รักษาหน้าที่เหลือกำลังจะต่อสู้ พม่าก็เข้าพระนครได้ในเวลาค่ำวันนั้นทุกทาง นับเวลาแต่พม่ายกมาตั้งล้อมพระนครได้ปี ๑ กับ ๒ เดือน จึงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึก”
พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังได้บรรยายถึงการทำลายล้างกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ว่า
“เมื่อพม่าเข้าพระนครได้นั้นเป็นเพลากลางคืน พม่าไปถึงไหนก็เอาไฟจุดเผาเหย้าเรือนของชาวเมืองเข้าไปจนกระทั่งปราสาทราชมนเทียร ไฟไหม้ลุกลามแสงสว่างดังกลางวัน ครั้นพม่าเห็นว่าไม่มีผู้ใดต่อสู้แล้ว ก็เที่ยวเก็บรวบรวมทรัพย์จับผู้คนอลหม่านทั่วไปทั้งพระนคร แต่เพราะเป็นเวลากลางคืนพวกชาวเมืองจึงหนีรอดไปได้มาก พม่าจับได้สัก ๓๐,๐๐๐ ส่วนพระเจ้าเอกทัศ มหาดเล็กพาลงเรือน้อย หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ที่บ้านจิก ริมวัดสังฆาวาส แต่พม่ายังหารู้ไม่ จับได้แต่พระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวชกับเจ้านายโดยมาก ทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยและพระภิกษุสามเณรที่หนีไปไม่พ้น พม่าก็จับเอารวมไปคุมไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนผู้คนพลเมืองที่จับได้ ก็แจกจ่ายกันไปควบคุมไว้ตามค่ายนายทัพนายกองทั้งปวง แล้วพม่าเที่ยวตรวจเก็บบรรดาทรัพย์สมบัติทั้งสิ่งของ ของหลวงของราษฎรตลอดจนเงินทองของเครื่องพุทธบูชาตามพระอารามใหญ่น้อย ไม่เลือกว่าของที่จะหยิบยกได้หรือที่ไม่พึงจะหยิบยกได้ ดังเช่นทองเงินที่แผ่หุ้มพระพุทธรูป มีทองคำที่หุ้มพระศรีสรรเพชญดาญาณเป็นต้น พม่าก็เอาไฟสุมพระพุทธรูปให้ทองละลายเก็บเอามาจนสิ้น เท่านั้นยังไม่พอ พม่ายังจะเอาทรัพย์ซึ่งราษฎรฝังซ่อนไว้ตามวัดวาบ้านเรือนต่อไปอีก เอาราษฎรที่จับไว้ได้ไปชำระซักถาม แล้วล่อลวงให้ส่อกันเอง ใครเป็นโจทก์บอกทรัพย์ของผู้อื่นให้ได้ก็ยอมปล่อยตัวไป ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ถ้าไม่บอกให้โดยดี พม่าก็เฆี่ยนตีและทำทัณฑกรรมต่างๆ เร่งเอาทรัพย์จนถึงล้มตายก็มี”
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2565 “เพลงยาวชาวกรุงเก่า : คำบอกเล่า “ความหลัง” ครั้งเสียกรุง” และบทความน่าสนใจอื่นๆ การเดินทางของกองทัพพม่าสู่ค่ายวัดทุ่งประเชด-ปากกราน, ภาพอานุภาพในรัชกาลที่ ๕ จุดยืนของสยามยามวิกฤติ, ศัพท์มหาชาติคำหลวง ผลงานที่ถูกลืมของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย), ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ไม่ใช่นวัตกรรมอาหารสมัย จอมพล ป.
อย่างไรก็ดี แม้ว่าบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวจะชวนให้คิดว่า พม่าคือต้นเหตุที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาย่อยยับแต่ฝ่ายเดียว แต่ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่า “อยุธยาที่เห็นเหลือแต่ซากทุกวันนี้ เป็นฝีมือคนพื้นเมืองและไทยจีนกันเองทั้งนั้น แต่มักโยนบาปเหมาให้พม่าพวกเดียว” ก่อนเสริมว่า “ไฟไหม้ใหญ่ในพระนครศรีอยุธยา ก่อนกรุงแตก 3-4 เดือน ไม่ใช่พม่าลอบเผา แต่คนในเมืองลักลอบเผากันเอง เพราะทัพอังวะล้อมกรุงอยู่นอกเมืองเป็นปกติ ยังตีไม่ได้อยุธยา จึงไม่มีส่วนเผาตลาดกลางเมืองอยุธยา” นอกจากนี้ยังมีบันทึกของชาวต่างชาติที่กล่าวถึงการขุดทำลายเมืองเพื่อหาซากสมบัติโดยฝีมือคนพื้นเมืองทั้งไทยและจีนหลังจากที่พม่าได้ยกทัพกลับไปแล้วด้วย
และในส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่า พม่าเป็นผู้เผาลอกทองพระศรีสรรเพชญ์ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ผู้เสนอว่า เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร คือ “เศียรพระศรีสรรเพชญ์” ก็ได้ให้ความเห็นที่ต่างออกไปโดยระบุ หลักฐานที่เอามาอ้างกันนั้นมาจากเอกสารที่เขียนขึ้นในยุคหลังและเมื่อพลิกรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีที่ฐานชุกชีพระศรีสรรเพชญ์ ก็ไม่พบร่องรอย “ชั้นดินที่ถูกเผา” แต่อย่างใด (พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร. “เชื่อไหม? พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก !” มติชนออนไลน์ 23 มี.ค. 2560.)
Source: https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_8085
The post 7 เมษายน 2310: กรุงศรีอยุธยาแตก appeared first on Thailand News.