ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เปิดตำนานธุรกิจเก่าแก่ในไทย จากกิจการย่านถนนทรงวาด สู่บริษัทเติบใหญ่ระดับสากล

เปิดตำนานธุรกิจเก่าแก่ในไทย จากกิจการย่านถนนทรงวาด สู่บริษัทเติบใหญ่ระดับสากล

เผยเบื้องหลังจุดกำเนิดธุรกิจการค้าเก่าแก่จากย่านถนนทรงวาด เส้นทางผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอดีตของไทย สู่บริษัทเติบใหญ่ระดับสากล

โครงสร้างพื้นฐานของหลายประเทศมีผู้ประกอบการระดับต่างๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมในหลายมิติ สำหรับไทยแล้ว ในอดีตมีกิจการเก่าแก่ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กระทั่งกลายมาเป็นบริษัทและเครือข่ายธุรกิจระดับนานาชาติ

ธุรกิจเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก่อนหน้าเส้นทางอันนำมาสู่สถานะนี้ จุดกำเนิดของธุรกิจเก่าแก่หลายกลุ่มเริ่มต้นมาจากผู้ประกอบการในย่านการค้ายุคบุกเบิกสมัยแรกเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์ที่คนปัจจุบันเรียกกันว่า “ย่านสำเพ็ง”

พื้นที่สำเพ็งในอดีตเป็นทั้งย่านชุมชนที่อยู่อาศัยและเป็นย่านศูนย์กลางการค้าของกรุงเทพฯ ยุคแรกเริ่ม กระทั่งเกิด “ถนนทรงวาด” บนพื้นที่เดิมของสำเพ็งในภายหลัง

ผู้ประกอบการหลายรายมาตั้งรกรากในบริเวณนี้ แม้ว่าหลายรายจะหันเหไปสู่กิจกรรมอื่นแล้ว ในอีกด้าน ยังมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ยืนหยัดหรือสามารถพัฒนาตัวเองก้าวมาสู่ธุรกิจระดับประเทศ ไปจนถึงระดับนานาชาติได้

ธุรกิจเก่าแก่ที่เริ่มต้นเส้นทางจากพื้นที่ถนนทรงวาดนี้มีใครกันบ้าง ทำไมพวกเขาเติบโตและพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตามมาดูข้อมูลที่น่าสนใจจากซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” ตอนที่ 7 ว่าด้วยตำนานธุรกิจเก่าแก่ในย่านถนนทรงวาด (คลิกที่ภาพเพื่ออ่านคำบรรยายประกอบ)

ติดตามซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” จากศิลปวัฒนธรรมและช่องทางต่างๆ ในเครือมติชน เผยแพร่เดือนละ 2 ตอน ในวันศุกร์ (ศุกร์เว้นศุกร์) เวลา 19.00 น. (ครั้งถัดไปเผยแพร่วันที่ 7 มกราคม 2565)

2490 เลือดใหม่ทรงวาด

ทศวรรษ 2490 คือ การมาถึงของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของทรงวาด ผู้รังสรรค์การค้าแห่งอนาคต หรือ นิวเอสเคิร์ฟ (New S-curve) พวกเขามีลักษณะเด่นร่วมกันหลายประการ เกิดในประเทศไทย ผ่านระบบการศึกษาของไทย มีแนวคิดแปลกใหม่ที่ท้าทาย ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะกลายเป็นผู้สร้างตำนานธุรกิจที่ยิ่งใหญ่

เลือดเก่าไป-เลือดใหม่มา

ช่วงต้นถนนทรงวาด มีซอยเล็กๆ แคบๆ ซอยหนึ่ง ชื่อ “ซอยอาเนียเก็ง” ในอดีตถูกเรียกว่า “ตรอกอาเนียเก็ง”

ย้อนหลังไปราวๆ 90-100 ปีที่ผ่านมาโดยในยุคที่ระบบช่องทางการจัดจำหน่ายยังไม่พัฒนาไปมากมายดังเช่นปัจจุบันนี้ สำเพ็ง-ทรงวาดเป็นตลาดการค้าที่นับว่าทรงอิทธิพลมากที่สุด โดยมี “ตรอกอาเนียเก็ง” เป็นหนึ่งในชัยภูมิสำคัญ

แม้ชาติตะวันตก จะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต และควบคุมตลาดการค้าระหว่างประเทศ โดยมีบริษัทฝรั่งทำหน้าที่เป็น “นายหน้า” สั่งสินค้าเข้ามาในสยามเช่นบอร์เนียว อีสต์เอเชียติ๊ก ห้างโอเรียลเต็ลสโตร์ เบอร์ลี่ยุคเกอร์ เป็นต้น แต่บริษัทฝรั่งเหล่านี้ ขาด “ตัวกลาง”ที่จะนำสินค้าจากผู้ผลิตไปถึงมือผู้บริโภค

ผู้ประกอบการ “เลือดใหม่รุ่นแรก” ได้เกิดขึ้น พวกเขาไม่ใช่เจ้าภาษีนายอากร หรือ พ่อค้าข้าวรายใหญ่ ตระกูลเก่า ที่หลายคนมีราชทินนาม หากแต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีทุนเพียงน้อยนิดแต่อาศัยความเฉลียวฉลาดในการหมุนเงินและการค้าในจังหวะที่ระบบเศรษฐกิจเปิดมากขึ้น

สมใจ(ณรินณ์ทิพ) วิริยะบัณฑิต อธิบายบทบาทกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่เมื่อร้อยปีก่อนในหนังสือ สหพัฒน์ : โตแล้วแตก แตกแล้วโต ความว่า “การค้าที่สำเพ็งและทรงวาด จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นช่องทางระบายสินค้าและรับสินค้าจากบริษัทฝรั่งไปขายอีกทอดหนึ่งและพัฒนาไปสู่การเป็นตลาดการค้าที่รับสินค้ามาขายจากทุกสารทิศไม่ว่าจะเป็นซัวเถา สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น”

ร้านค้าย่านทรงวาดโดยเฉพาะ บริเวณตรอกอาเนียเก็งพัฒนาเป็น “หลงเท้า” หรือ ผู้นำเข้า ซึ่งมีอยู่เพียง 10 กว่าแห่งในขณะที่สำเพ็งเป็นยี่ปั๊วหรือผู้ค้าส่งสินค้าซื้อสินค้าจากหลงเท้าขายส่งให้ร้านค้าทั่วประเทศอีกต่อหนึ่งซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยร้าน

“เลือดใหม่รุ่นแรก” ซื้อมา ขายไป อยู่ราวๆสามสิบปี เศรษฐกิจสังคมไทยก็เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดกลุ่มผู้ประกอบการ “เลือดใหม่รุ่นสอง” ที่มองเห็นโอกาสที่เกิดจากความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลง ในที่สุดได้กลายเป็นจุดกำเนิดของ ผู้ประกอบการ อาทิ สหพัฒนพิบูล เครือเจริญโภคภัณฑ์

พลวัตการเปลี่ยนแปลงรอบนี้มาเร็วกว่ายุคก่อนหน้า เมื่อรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เริ่มนำเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาใช้ เมื่อ พ.ศ. 2504 พร้อมกันนั้นก็ส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชนโดยการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2509

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าโดยให้สิทธิ์พิเศษแก่ผู้ที่จะประกอบการอุตสาหกรรมและเก็บภาษีสินค้าสำเร็จรูปนำเข้าในอัตราสูง

บริษัทการค้าจากค่ายตะวันตกบางแห่งก็เริ่มปรับแนวทางโดยสั่งเครื่องจักรเข้ามาทำการผลิต เช่น บริษัทลีเวอร์บราเธอร์ และบริษัทคอลเกต-ปาล์มโอลีฟ แต่ก็มีบริษัทการค้าอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงทำหน้าที่เป็นเพียงบริษัทการค้าที่ไม่ลงสู่ภาคการผลิตและไม่ปรับแนวทางธุรกิจซึ่งปรากฏว่าในปัจจุบันบริษัทการค้าเหล่านี้ได้เลิกกิจการไปก็มาก ที่เหลือเป็นบริษัทเล็กๆ ที่เติบโตอย่างเชื่องช้า

ไม่ต่างจาก “เลือดใหม่รุ่น 1” ย่านทรงวาด สำเพ็งมีการปรับตัวช้ามากและค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นบริษัทการค้าที่ไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารและทิศทางการเติบโต ยังคงมีร้านค้าที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เรียกกันว่าโชห่วยแบบเดิม ร้านค้าที่เลิกกิจการไปก็ไม่น้อย

ส่วนร้านค้าที่หวังเติบใหญ่ขึ้นได้มาก ก็ต้องไปลงทุนทำการผลิต เช่น ร้านฮกเซ้งฮวด ซึ่งกล่าวกันว่าเคยเป็นหนึ่งในสี่มหาอำนาจของสำเพ็งซึ่งทำการค้าแบบ “ฮั้ว” กัน นั่นคือนอกจากฮกเซ้งฮวดก็มี ไคเซ้ง โฉงฮะ และกิมจั่วเซ้ง แต่ในที่สุดก็เหลือเพียงฮกเซ้งฮวดซึ่งเริ่มจากการเป็น ยี่ปั๊ว ไปเป็นหลงเท้าโดยตั้งบริษัทหลี่เซ้งฮวดขึ้นมา ต่อมาตั้งโรงงานผลิตร่มในชื่อบริษัทร่มไทย ผลิตร่มตรานก ตรานักรบ กิจการเติบโตแบบอนุรักษ์นิยม

ในส่วนตรอกอาเนียเก็ง บรรดาหลงเท้าก็กระจัดกระจายกันไป ที่คงเหลืออยู่ในตรอกอาเนียเก็งมีเพียงไม่กี่ราย ล่อเซี่ยงฮวดไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าสำเร็จรูปส่งออก ไถ่คังไปตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกในเกาะแห่งหนึ่งใกล้กับอเมริกาเพื่อส่งเข้าไปขายในอเมริกาเป็นหลัก กิมฮะเชียงไปตั้งโรงงานทำวัตถุดิบเพื่อผลิตถุงเท้าเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทไทยอะครีลิคเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตไม่น้อย

ในขณะที่เลือดใหม่รุ่น 2 ที่เริ่มปรากฎตัวในช่วงทศวรรษ 2490 กลับสามารถช่วงชิงโอกาสใหม่ได้ดีกว่า อาทิ เด็กหนุ่มอย่างสุมิตร เลิศสุมิตรกุล ซึ่งเริ่มจากการขายสินค้าพลาสติกแบกะดินอยู่แล้วหน้าร้านขายทองตั้งโต๊ะกัง ผู้เคยซื้อสินค้าจากฮกเซ้งฮวด มาขาย จนกระทั่งมีร้านเป็นหลักแหล่งในสำเพ็ง และปี พ.ศ. 2506 เริ่มตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตถังน้ำ ตะกร้า เป็นต้น ก่อนจะกลายเป็นกลุ่มศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ซึ่งนับเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมผลิตสินค้าพลาสติกและเมลามีนของไทยที่ใหญ่ในระดับโลก

เลือดใหม่ ทรงวาด ยังมีอีกหลายราย

ผู้เยี่ยมยุทธ์แห่งตรอกอาเนียเก็ง

ในบรรดาร้านค้าจากทรงวาดขยายตัวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เห็นจะไม่มีใครเทียบ เฮียบเซ่งเชียง จากตรอกอาเนียเก็งซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสหพัฒนพิบูล

ต่อมาขยายเครือข่ายมากขึ้นก็เรียกกันว่าเครือสหพัฒน์ ครั้นสินค้าแตกแขนงไปอีกมากมายมิได้จำกัดอยู่ในแวดวงสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น คำว่าเครือสหพัฒน์ก็เริ่มสื่อความหมายของธุรกิจในเครือได้ไม่ครบถ้วน ระยะหลังจึงเรียกว่าสหกรุ๊ป ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีบริษัทในเครือมากที่สุดในประเทศไทย

พ.ศ.2485 เทียม โชควัฒนา ในวัยเบญจเพส เปิดร้านเฮียบเซ่งเชียง เพื่อขายสินค้าเบ็ดเตล็ด โดยแยกตัวออกมาจากร้านของบิดาซึ่งขายข้าวสาร น้ำตาล แป้งหมี่ ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยมของร้านชำยุคนั้น

สมใจ(ณรินณ์ทิพ) วิริยะบัณฑิต อธิบายเบื้องหลังจุดเปลี่ยนนี้ไว้ในหนังสือ สหพัฒน์ : โตแล้วแตก แตกแล้วโต ว่า ตั้งแต่วัย 15 ปี เทียม ผ่านชีวิตทำงานในร้านที่เป็นกิจการครอบครัว ต้องแบกน้ำตาลกระสอบละ 100 กิโลกรัม ได้กำไรกระสอบละ 0.20 บาท แต่เขากลับพบว่าเสื้อยืดที่ใช้สองแขนหิ้วได้ครั้งละ 10 โหล ขายได้กำไรถึง 1.50 บาท จึงนำไปสู่การตั้งกิจการใหม่ในตรอกอาเนียเก็ง

เนื่องจากเฮียบเซ่งเชียง ก่อตั้งกิจการช่วงสงคราม เทียม และครอบครัว ต้องหลบภัยสงครามและทำการค้าด้วยโดยไปพำนักที่บ้านสวน แถวบางกอกน้อยในยามกลางคืนจากนั้นตอนเช้าก็ขนของลงเรือมาขึ้นที่ท่าน้ำราชวงศ์นำสินค้าไปขายที่เฮียบเซ่งเชียง นับว่าสร้างความยากลำบากและเป็นการเสี่ยงภัยอย่างมาก กับลูกระเบิดซึ่งไม่รู้ว่าจะถูกทิ้งลงมาเมื่อไหร่

ครั้งหนึ่งเทียมเล่าว่า ขณะที่เขาถีบจักรยานส่งของ เขาเห็นระเบิดลูกหนึ่งตกลงห่างจากร้านเขาเพียง 20 กว่าห้องทำให้คนตายไปหลายคน ก็ได้แต่ภาวนาไม่ให้ลูกระเบิดตกลงที่ร้าน เพราะหากไม่ทำการค้าในตอนนี้ก็จะไม่มีเงินเลี้ยงครอบครัว

นอกจากเตรียมจะเปลี่ยนแนวทางการค้ามาเป็นขายของเบ็ดเตล็ดแล้ว เทียมยังเปลี่ยนสถานะของเฮียบเซ่งเชียง ให้เป็นหลงเท้าที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าเสียเองเพื่อจะได้สินค้ามาขายมากขึ้นและเร็วขึ้นเพราะแม้สงครามโลกจะยุติลงแล้ว แต่บริษัทฝรั่งก็ยังเห็นว่าตลาดเมืองไทยเล็กจึงสั่งสินค้าเข้ามาขายไม่มาก แต่เทียมกลับเห็นว่าตลาดเมืองไทยกำลังโตวันโตคืน เริ่มจากสั่งซื้อสินค้าจากซัวเถาซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว แป้งมัน ตลอดจนของใช้บางส่วน เช่น กระดาษ

เฮียบเซ่งเชียง เริ่มใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ นับเป็นผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ทั้งจาก ซัวเถา ฮ่องกงและญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2495 เฮียบเซ่งเชียง ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ขณะนั้นมียอดขายปีละ 30 กว่าล้านบาท มีคนทำงานประมาณ 50-60 คน ค้าสินค้าเบ็ดเตล็ดประเภทเสื้อกล้าม เครื่องประดับ เครื่องกระป๋อง สินค้าพลาสติก ฯลฯ

ยี่ห้อที่ติดตลาดในยุคนั้นมีน้ำมันใส่ผมเพนนิซิลินปอมเมท กระติกน้ำตรานกยูง เตารีดถ่านตรานางฟ้า เสื้อยืด เสื้อกล้ามตราลูกไก่ แต่สินค้าส่วนใหญ่สั่งมาจำนวนไม่มากและเปลี่ยนยี่ห้อไปเรื่อยๆ คู่แข่งในช่วงนี้น้อยเพราะไม่มีใครคิดนำสินค้าประเภทนี้เข้าจากฮ่องกงและญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ใช้วิธีซื้อจากห้างฝรั่งในเมืองไทย

อีกหนึ่งความ “ติดต่าง ทำต่าง” ของเทียม คือ ช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ธรรมเนียมของการค้าขาย ลูกค้าต้องวิ่งเข้ามาที่สำเพ็งและซื้อของด้วยเงินสด แต่เทียมก็กล้าพอที่จะบุกเบิกต่างจังหวัด แถมยังเปิดบัญชีเครดิต 15 วันหรือ 1 เดือน ซึ่งยุคนั้นไม่มีใครเขาทำกัน

การที่เทียมกล้าเสี่ยงปล่อยบัญชีนั้น เพราะเขาคิดสะระตะแล้วว่าคุ้ม ทั้งยังเป็นการเรียนรู้จากฝรั่งมาประยุกต์ใช้ทั้งในด้านคำนวณอัตรากำไร ค่าใช้จ่ายตลอดจนหนี้สูญ นั่นทำให้สหพัฒน์สามารถขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว

“หลังสงครามใหม่ๆ เรานำเข้าสินค้าจากฮ่องกงมาขาย ตอนแรกที่สินค้าขายดี เราก็ขายด้วยเงินสด ต่อมาตัดสินใจเปิดบัญชีให้ร้านค้า สิบห้าวันบ้าง หนึ่งเดือนบ้าง ตามความเหมาะสม คู่แข่งก็ออกมานินทาวิจารณ์ว่าสหพัฒน์ เปิดบัญชีแบบซี้ซั้ว หาหลักการอะไรไม่ได้ ต่อไปคงล้มละลายอย่างไม่มีปัญหา

ผมเอาคำวิจารณ์เหล่านั้นมาวิเคราะห์ดู สินค้านั้นเราขายได้กำไร 10 – 20% ค่าใช้จ่ายในการขายให้ผู้ค้าส่งก็มีน้อยเพียง 3- 4% เปิดบัญชีให้ร้านค้า หนึ่งเดือนเรายังได้กำไรอีกกว่า 10% หมุนเพียง 6-7 เดือนเราก็ได้ทุนคืนแล้ว จะมากลัวหนี้สูญอยู่ทำไม หนี้สูญสิ้นปีค่อยคิดกันอีกทีว่าจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งคิดแล้วไม่เคยเกิน 0.25- 0.5% ของยอดขาย

ผมถือหลักการนี้และเกิดความมั่นใจเพราะศึกษามาจากห้างฝรั่งว่าเค้าดำเนินการค้าขายเผื่อเหลือไว้เช่นนี้เหมือนกัน ผมจึงไม่สนใจว่าใครจะติฉินนินทาอย่างไร” เทียม กล่าวในการให้สัมภาษณ์ผู้เขียน หนังสือ สหพัฒน์ : โตแล้วแตก แตกแล้วโต

เมื่อคนอื่นไม่กล้า แต่สหพัฒน์กล้าอย่างมีเหตุผลจึงทำให้แนวทางการค้ากว้างขวางกว่า สามารถสั่งสินค้าเข้ามาขายได้หลายประเภทและครั้งละมากๆ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของสหพัฒน์ในยุคต้น การที่เริ่มทำก่อนคนอื่นย่อมมีโอกาสเลือกได้ก่อนใครได้ลูกค้าดีๆได้ไปก่อนคนอื่นด้วย

บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด เป็นจุดเริ่มต้นของเครือสหพัฒน์โดยเริ่มต้นจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย ต่อมาได้พัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายอีกทั้งยังมีการร่วมทุนกับต่างประเทศในการผลิตสินค้า

ถ้าเรามอง สหพัฒน์ ในมุมพัฒนาการในด้านสินค้า จะพบลำดับขั้นความก้าวหน้าดังนี้ เริ่มจาก 1. สินค้าอุปโภคบริโภคที่ทุกคนในตลาดขาย 2. เอเยนต์ขายสินค้าแต่เพียงผู้เดียว 3.ขายสินค้าที่ซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตเอง 4. สร้างสินค้ายี่ห้อของตัวเอง 5. รับจ้างผลิตสินค้าให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

มองในมุมพัฒนาการในแง่ลักษณะบริษัทจะพบลำดับขั้นความก้าวหน้าดังนี้ เริ่มจาก 1.ร้านค้าปลีก 2. ร้านค้าส่ง 3. บริษัทนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ 4. บริษัทที่เป็นเอเยนต์จำหน่ายสินค้าบางยี่ห้อแต่เพียงผู้เดียว 5. บริษัทสาขาในต่างประเทศเพื่อนำเข้าสินค้า 6. บริษัทผลิตสินค้าของตัวเอง 7. บริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศ 8. บริษัทมหาชน 9. บริษัทสาขาในต่างประเทศเพื่อส่งสินค้าออก

บริการปัจจุบันเครือสหพัฒน์เติบใหญ่จนเป็นเครือบริษัทของคนไทยที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง มีบริษัทในเครือประมาณ 300 บริษัทและมีสินค้าและบริการที่เป็นโหมดที่รู้จักหลากหลายกว่า 30,000 รายการจากกว่า 1,000 แบรนด์ที่จำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก

สินค้าส่วนใหญ่ในเครือสหพัฒน์ ผลิตโดยตรงจากโรงงานในสวนอุตสาหกรรมของเครือทั้ง 3 แห่งได้แก่สวนอุตสาหกรรมศรีราชา จังหวัดชลบุรี ส่วนอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และสวนอุตสาหกรรมลำพูน จังหวัดลำพูน รวมพื้นที่ทั้งหมด 6,000 ไร่ เครือสหพัฒน์มีพนักงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 100,000 คนทั่วประเทศ

พลิกคัมภีร์เกษตรแปรรูป

“การที่เราขายอาหารสัตว์ให้เกษตรกร ทำให้เราต้องแนะนำวิธีเลี้ยงสัตว์ให้พวกเขาด้วย”

ประเสริฐ พุ่งกุมาร รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงหนึ่งในจุดเปลี่ยนของเกษตรแปรรูปไทยเมื่อราวๆ 70 ปีก่อน เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการอย่างซีพีเริ่มเข้าไปมีบทบาทการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นของใหม่ในยุคนั้น

พ.ศ.2496 จรัญ และ มนตรี เจียรวนนท์ ในวัย 25 ปี และ 21 ปี เปิดร้าน เจริญโภคภัณฑ์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจของตระกูลเจียรวนนท์ รุ่นที่ 2

จรัญ-มนตรี เป็นบุตรคนโตและคนรองของเจี่ย เอ็กชอ และเป็นหลานอาของ ‘เจี่ย จิ้นเฮี้ยง’ (ชนม์เจริญ เจียรวนนท์) ซึ่งคุณพ่อและคุณอา คือผู้บุกเบิกก่อตั้งร้านเจียไต้จึง หรือเจียไต๋ ตั้งแต่ พ.ศ. 2464 จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ตราเรือบิน และขยายธุรกิจจำหน่ายปุ๋ย และยาฆ่าแมลง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาคอุตสาหกรรมไทย มีการขยายตัวอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร โดยในปี พ.ศ.2494 ก่อนการก่อตั้ง ร้านเจริญโภคภัณฑ์ 2 ปี มูลค่าเพิ่มในสาขาอาหารของประเทศไทย มีมูลค่ารวม 688 ล้านบาท ต่อมาในปี พ.ศ.2498 หลังการก่อตั้ง ร้านเจริญโภคภัณฑ์ 2 ปี มูลค่าเพิ่มเป็น 1,669 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 2,309 ล้านบาทในปี พ.ศ.2503 (ข้อมูลจากหนังสือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850-1970 โดย เจมส์ ซี อินแกรม)

“อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวมากที่สุดคือ การแปรรูปอาหาร การสีข้าวยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด แต่การแปรรูปของสินค้าชนิดใหม่ (ข้าวโพด มันสำปะหลัง) มีส่วนทำให้การแปรรูปอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย”

สถิติการขยายตัว ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เจียรวนนท์รุ่น 2 มาถูกทางแล้ว

ร้านเจริญโภคภัณฑ์ เริ่มต้นด้วยเครื่องบดและโรงบดอาหารสัตว์ โดยขายอาหารสัตว์ประเภทวัตถุดิบด้วยการนำเอาข้าวโพด กากถั่วเหลือง กระถิน มาบดแล้วขายเป็นอย่างๆ โดยประเสริฐ พุ่งกุมาร ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่เจียไต๋ ก็ย้ายมาช่วยงาน

“มีการขายวัตถุดิบเริ่มต้น นอกจากขายหน้าร้านแล้วก็มีส่งไปต่างจังหวัด ตอนแรกๆ เปิดร้านก็มีคุณจรัญก่อน ตอนหลังผมจึงจะเข้ามาอยู่ร้านเจริญโภคภัณฑ์ เพราะตอนนั้นกิจการอาหารสัตว์ก็มีการขยาย ต้องการคนมาช่วย ซึ่งก่อนหน้านั้นในวงการก็มีร้านขายวัตถุดิบอาหารสัตว์ ยี่ห้อ ‘รวงทอง’ กับ ‘สตางค์’ เก่าแก่ก็มีอยู่ 2 เจ้า ซีพีก็เป็นรายที่ 3 ผมมาอยู่ที่ซีพีแล้วก็อยู่มาจนถึงปัจจุบัน เจียไต๋ก็ไม่ได้กลับไป” ประเสริฐ กล่าว

“ตอนนั้นผมก็มาอยู่หน้าร้านด้วย ส่งของด้วย ไปส่งของก็ต้องเอาเรือมารับที่ปากน้ำมีท่าเรือ แล้วก็ท่าเตียนก็ไปส่งประจำ ตอนนั้นมีทั้งอ่างทอง ผักไห่ อยุธยา ลูกค้าแถวนั้นก็มาก ไปทางน้ำ ตอนนั้นก็เอาวัตถุดิบมาผสม ลูกค้าจะให้ผสม เราก็ผสมให้ แต่หลักของซีพีคือขายวัตถุดิบ เช่น ข้าวโพด กากถั่ว ปลาป่น ใบกระถิน ขายแยกเป็นส่วนไปเลย แต่ถ้าลูกค้าต้องการจะให้ผสมก็ยินดี แต่หลักยังเน้นขายวัตถุดิบ”

ประเสริฐ เล่าว่าวันธรรมดา เขาจะอยู่หน้าร้านเจริญโภคภัณฑ์ พอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ “ออกตลาด” ไปหาลูกค้าเกษตรกร ในต่างจังหวัด ทำให้ต้องทำหน้าที่แนะนำเรื่องการเลี้ยงสัตว์ไปด้วย

“ผมผูกพันกับลูกค้าเรียกว่าดีมาก จนถึงวันนี้ผมก็ยังจัดเวลาไปเยี่ยมลูกค้าทางใต้บ้าง อีสาน เหนือบ้าง เราถือว่า ลูกค้าสำคัญที่สุด บางทีผมยังเปรียบเทียบลูกค้าก็เหมือนพ่อแม่ด้วยซ้ำ”

ร้านเจริญโภคภัณฑ์ มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งในปี พ.ศ. 2507 เมื่อ ธนินท์ เจียรวนนท์ ในวัย 25 ปี ได้รับมอบหมายให้หน้าที่เป็น “ผู้จัดการทั่วไป” หลังจากสั่งสมประสบการณ์จากการบริหารองค์กรที่ สหพันธ์สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย และบริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด

แนวคิดใหม่ของผู้จัดการทั่วไปคนใหม่คือ เปลี่ยนแปลงธุรกิจจากค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มาเป็นอาหารสัตว์สำเร็จรูปและหัวอาหาร

ในมุมมองของธนินท์ เขาเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม วัตถุดิบที่ผลิตทางการเกษตรได้ในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่ผลิตอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์ ดังนั้นอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์ล้วนแต่เป็นวัตถุดิบที่มาจากวัตถุดิบทางการเกษตร

ดังนั้นจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม วัตถุดิบที่มาสนับสนุนอุตสาหกรรมคือตัวชี้ถึงการขยายตัวทางด้านธุรกิจ และจะเป็นกำลังสำคัญที่จะผลิตสินค้าออกไปจำหน่ายในตลาด โดยเฉพาะต้องแข่งขันกับผู้ผลิต และจำหน่ายในต่างประเทศ

ซีพี ก่อตั้งโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรกที่ตรอกจันทน์ ที่เวลานั้นถือว่าอยู่ชานเมือง แต่ช่วงนั้น การคมนาคมก็มีอุปสรรคมาก เพราะถนนเป็นดิน จึงต้องใช้รถจิ๊ปเข้าไป

ในด้านการพัฒนาคุณภาพ ธนินท์ ดึง ดร.หลิน หรือ ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล จบปริญญาตรี สาขาวิชาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยไต้หวัน ปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอริโซน่า สหรัฐอเมริกา เข้ามาช่วยวางรากฐานเรื่องการผลิตอาหารสัตว์ให้ซีพีจนกิจการอาหารสัตว์ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1

“หลังจากมีห้องแล็ปที่ตรอกจันทน์ทำให้เรามีความสามารถในการทำสูตรอาหารให้ไก่เช่นมีโปรตีน 10% 20% และเราถามลูกค้าโดยตรงคือไก่และหมูที่เราเลี้ยงไว้ ตอนนั้นที่ผมมาซีพีมีการเลี้ยงไก่แล้ว ครั้งแรกประธาน(ธนินท์)พาผมดูฟาร์มอ้อมน้อยมีทั้งฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ ประธานเอาไก่ที่ดีที่สุดในโลกมาเลี้ยงแล้วที่อ้อมน้อย” ดร.หลินเล่าความหลัง

จากความสำเร็จโรงงานอาหารสัตว์ที่ตรอกจันทน์ ทำให้ได้สินค้ามีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ ทำให้เกิดความต้องการอาหารสัตว์ของซีพีจนเต็มกำลังผลิตจึงได้คิดที่จะขยายโรงงานอาหารสัตว์ไปที่กม.21 บนถนนบางนา-ตราด เป็นฐานสำคัญสู่กิจการเกษตรครบวงจรระดับโลก

เส้นทาง จาก “ร้านเจียไต้จึง” ( พ.ศ. 2464) ถึง “ร้านเจริญโภคภัณฑ์” (พ.ศ. 2496) ใช้เวลา 32 ปี จาก รุ่นสู่รุ่น ก่อนจะเดินทางมาถึง 100 ปี ในวันนี้

คอมประโดร์ชิน

1 ธันวาคม พ.ศ. 2487 วันเปิดทำการวันแรกของธนาคารกรุงเทพ สถานที่ทำการหรือสำนักงานแห่งแรกเป็นตึกแถว 2 ชั้น 2 คูหาเลขที่ 235-237 ถนนราชวงศ์ มุมถนนทรงวาด ปากตรอกอาเนียเก็งซึ่งเช่ามาจากห้างเกียนซิงห์นานซิงห์ มีพนักงานรุ่นแรกจำนวน 23 คน

หนึ่งในผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการคือ “ชิน โสภณพนิช” วัย 34 ปี นายห้างที่ประสบความสำเร็จในกิจการก่อสร้าง ค้าทอง ค้าข้าว ห้างสรรพสินค้า และธุรกิจค้าเงินตรา(เอเชียทรัสต์)

หลังจากนั้นอีกราว 5-6 เดือน ชิน ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับธนาคารกรุงเทพเต็มตัว โดยเข้ารับตำแหน่ง “คอมประโดร์” แทนคนเดิมที่ลาออก เนื่องจากต้องไปโฟกัสธุรกิจหลัก

ย้อนหลังกลับไปกว่าร้อยปีก่อนที่ระบบการเงินไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของธนาคารชาติยุโรป จึงจำเป็นต้องมีบุคคลที่เป็น “ตัวกลาง” เชื่อมโยงระหว่างแบงก์ และคนพื้นเมือง นั่นคือ “คอมประโดร์ธนาคาร” ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้วิจารณ์เครดิตและเป็นผู้ค้ำประกันลูกค้าให้กับธนาคาร

“การวิจารณ์เครดิต” หมายถึงการพิจารณาคุณสมบัติและฐานะของลูกค้าหรือฐานะผู้แนะนำมาอีกทีหนึ่งว่าเชื่อถือได้หรือไม่ และที่สำคัญคือตลาดขณะนั้นเป็นอย่างไร เมื่อผ่านการพิจารณาเครดิตแล้ว คอมประโดร์จะค้ำประกันให้ลูกค้าจึงจะได้เงินไปซื้อสินค้า จึงเห็นได้ว่าคอมประโดร์จะต้องเป็นบุคคลที่มีทรัพย์สินหรือฐานะดีผู้หนึ่ง ขณะเดียวกันจะต้องเป็นที่รู้จักหรือนับถือในหมู่พ่อค้า

หนังสืออนุสรณ์เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ นายชิน โสภณพนิช บันทึกไว้ว่า คอมประโดร์ชิน ผู้เข้ามาทำหน้าที่แทน เป็นที่ยอมรับในเรื่องความสามารถในการหาเงินฝากเข้าและปล่อยเงินให้กู้ในระยะสั้นได้อย่างแม่นยำไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน จนแทบไม่มีหนี้สูญ ส่งผลให้ธนาคารกรุงเทพเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะต่อมาจนล้ำหน้าธนาคารอื่นๆ ที่ตั้งมาก่อน

ประจักษ์พยานที่ยืนยันถึงความจริงข้อนี้คือหลังจากที่ธนาคารได้เปิดดำเนินงานโดยการมีเงินฝาก 9 ล้านบาทเศษในวันแรกคือ 1 ธันวาคม 2487 นั้น ในการออกงบการเงินครั้งแรกของธนาคาร ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2488 ปรากฏว่ายอดเงินฝากมีจำนวน 10.2 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นเพียงประมาณหนึ่งล้านบาทเท่านั้น

แต่หลังจากที่ ชินได้เข้าดำรงตำแหน่งคอมประโดร์ของธนาคารแล้วยอดเงินฝากตามงบการเงินเมื่อสิ้นปีเมื่อวันสิ้นปี 2488 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 18.5 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกเกือบเท่าตัวทีเดียว

เบื้องหลังความสำเร็จนี้ เป็นผลมาจากคอมประโดร์ชินนั้น ไม่เพียงแต่กว้างขวางในหมู่นักธุรกิจพวกพ่อค้ารายใหญ่เท่านั้น แต่เขายังพร้อมให้บริการแก่พ่อค้ารายเล็กรายน้อยประเภทใส่เกี๊ยะ ใส่เสื้อกล้ามเข้ามาโดยเสมอหน้ากัน ทำให้ลูกค้าที่มาติดต่อทำธุรกิจกับธนาคารกรุงเทพนั้นมีทุกระดับ

ตั้งแต่นายห้างและเถ้าแก่ใหญ่ไปจนถึงคนธรรมดาสามัญทั่วไป การให้ความช่วยเหลือในการทำธุรกิจการค้าแก่ทุกคนที่เข้ามาหาเช่นนี้ทำให้ตัวของคอมประโดร์และธนาคารกรุงเทพ สามารถผูกน้ำใจคนทั่วไปได้เป็นอันมาก

สงครามสงบยังนำมาซึ่งความต้องการข้าวไทยเพิ่มขึ้นอย่างเอกอุในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้าวไทยเคยเป็นสินค้าหลักที่พ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลสามารถทำกำไรได้อย่างงดงามมาแล้วกับการค้าทั้งในและนอกประเทศและเป็นเครื่องมือสร้างความมั่งคั่งรวมทั้งก่อให้เกิดกลุ่มบริษัทข้ามชาติขึ้นในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในครั้งนี้ข้าวไทยมีสภาพเป็นตัวเร่งความเจริญเติบโตของธนาคารในประเทศและผลักดันให้ก้าวสู่อาณาจักรการเงินระหว่างประเทศอย่างชนิดไม่เคยปรากฎมาก่อน

หลังจากได้ร่วมงานกับธนาคารกรุงเทพในฐานะคอมประโดร์นานถึง 5-6 ปี ชินก็ได้มีโอกาสรู้จักงานธุรกิจธนาคารมากขึ้น จนเมื่อธนาคารประสบปัญหาสภาพคล่องหรือขาดแคลนเงินหมุนเวียนตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2494 ถึงต้นปี พ.ศ. 2495 ในที่สุดคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นเห็นพ้องว่าหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้คือต้องเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่ให้เข้าทำหน้าที่แทนและบุคคลที่คณะกรรมการทุกคนลงมติเอกฉันท์ว่าเหมาะสมคือ ชิน โสภณพนิช

ทันทีที่ได้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ชินได้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงระบบงานเต็มที่ เขาพบว่าธนาคารยังมีจุดอ่อนที่เป็นช่องโหว่ในด้านการบริหารและระบบบัญชีที่ไม่รัดกุมเพียงพอ จึงได้เชื้อเชิญประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ นักกฎหมายผู้เป็นเพื่อนสนิท มาช่วยสะสางปัญหาต่างๆ ด้วยกันรวมถึง บุญชู โรจนเสถียร อดีตผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีจุดแข็งด้านการบริหาร ซึ่งภายหลัง ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ สืบต่อจากชิน

ความสามารถของชิน ในการคัดเลือกคนดีฝีมือ เข้าร่วมงานที่ธนาคารกรุงเทพ ถึงกับเคยมีผู้ยกย่องว่านายชินคือบุคคลที่สมควรเรียกขานว่าเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) แท้จริง มิใช่เป็นเพียงเถ้าแก่หรือนายห้างธรรมดา

เหตุเพราะในขณะที่ฝรั่งก็ดี จีนก็ดี ยังมีเรื่องกีดกันเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ในการรับคนเข้าร่วมงานนั้น ชินยินดีต้อนรับทุกคนที่สามารถทำประโยชน์ให้ธนาคารได้โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา หรือภาษาแต่อย่างใด ขอให้มีความรู้ความสามารถ รู้จักงานธนาคาร และเต็มอกเต็มใจที่จะเข้ามาร่วมหัวจมท้ายด้วยกันเขาก็รับมาทั้งหมด

จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดแต่อย่างใดที่ธนาคารกรุงเทพในยุคใหม่ภายใต้การบริหารงานของ ชิน จะมีทั้งคนจีนแท้ๆ นามว่าด็อกเตอร์จาง อดีตผู้จัดการของธนาคารแห่งประเทศจีนสาขาประเทศไทย เข้ามาทำหน้าที่ผู้จัดการแผนกต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ คนฟิลิปปินส์ชื่ออาวิล่า (ว.อธิ อาวิลาสกุล) ซึ่งช่ำชองงานธนาคารเป็นอย่างดี เพราะตั้งแต่เข้ามาอยู่เมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2476 ก็ทำงานธนาคารที่เป็นของชาวต่างประเทศมาตลอด เริ่มแรกทำงานที่ธนาคารชาร์เตอร์ด ซึ่งเป็นของชาวอังกฤษ ต่อมาภายหลังสงครามได้ทำงานกับธนาคารแห่งอเมริกา ก่อนจะลาออกมาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพตามคำชักชวนของ ชิน

“ตอนที่ผมอยู่ที่แบงค์อเมริกาเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อเสียง กิตติศัพท์ความเก่งกาจของคุณชินที่เอเชียทรัสต์ เพราะขณะนั้นเอเชียทรัสต์เป็นผู้ค้าเงินตราต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไทย ทุกเช้า แบงก์ต้องไปถามเอเชียทรัสต์ว่าวันนี้อัตราแลกเปลี่ยนจะเท่าไหร่แน่

แล้วคุณชินก็ส่งด็อกเตอร์จาง มาที่แบงก์อเมริกาเพื่อให้มาทำเรื่องการส่งออก เพราะธนาคารกรุงเทพมีแอลซีสำหรับการส่งออก ขอให้แบงก์อเมริกาช่วยเรื่องเงินตราต่างประเทศ ซึ่งผมก็ช่วยไปตามหน้าที่โดยบอกให้ทำเอกสารมาให้เรียบร้อย แล้วแบงก์อเมริกาก็จะให้กู้เป็นเงินดอลล่าร์ใส่บัญชีของแบงค์กรุงเทพไว้ที่นิวยอร์ก แต่ต้องมีของมาค้ำประกันด้วย ทุกอย่างก็เรียบร้อยดี

แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง เอกสารของธนาคารกรุงเทพไม่เรียบร้อย ผมเองก็ไม่เคยเห็นแบงก์นี้มาก่อน เลยบอกผู้จัดการว่าวันนี้ไปดูซิว่าบางกอกแบงก์อยู่ที่ไหน ผมก็ออกไปหาเกือบตายกว่าจะเจอสำนักงานใหญ่ก็เป็นเพียงห้องแถวเล็กๆ ผมขึ้นไปข้างบนเห็นคุณชินนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะเล็กๆตัวหนึ่ง ผมก็บอกว่า คุณชินครับ เอกสารผิดนิดหน่อย

คุณชินถามว่าตรงไหน ผมก็ชี้แจงให้ทราบ คุณชินบอกว่า คุณอาวิลล่า มาทำงานกับผมเถอะ ผมเองก็เสี่ยงน่าดู บอกรับเลยว่าเอาสิครับ ผมรับเพราะมันดูท้าทายดี จำได้ว่ากันยายน 2497 กลับไปบอกกับเมีย เมียบอกจะบ้าหรือไรไปทำงานกับแบงก์กรุงเทพ อยู่ที่ไหนไม่เคยได้ยินชื่อเลยอยู่กับแบงก์อเมริกาดีๆ ทำไมไม่เอา แต่ผมตัดสินใจแล้ว รับปากคุณชินแล้วจึงไม่ยอมเปลี่ยนใจละ”

ด้วยความสามารถในการเจรจาต่อรองกับธนาคารต่างชาติของอาวิล่าและชื่อเสียงของนายชินในฐานะผู้รักษาสัญญาการส่งมอบสินค้าซึ่งตรงตามกำหนดเวลา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกรุงเทพกับธนาคารต่างชาติเริ่มอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคกันมากขึ้น

โดยธนาคารกรุงเทพเริ่มมีฐานะเป็นคู่แข่งของธนาคารอาณานิคมของชาวต่างประเทศขึ้นมาแล้ว และเพราะความรู้บวกประสบการณ์ที่เคยผ่านธนาคารมาก่อน เขาจึงช่วยให้ธนาคารกรุงเทพมีแบบฟอร์มเอกสารแอลซีของตัวเอง ชนิดที่ถูกต้องขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2497 ซึ่งธนาคารต่างชาติก็ยอมรับเอกสารนี้และรับรองในการจ่ายค่าธรรมเนียมด้วย

นอกจากนี้ยังสามารถออกตั๋วแลกเงินที่ธนาคารรับรองแล้วซึ่งเป็นเอกสารสำคัญยิ่งในธุรกิจการธนาคารที่ทำให้สามารถถอนเงินก่อนหรือเมื่อแอลซีครบกำหนดเวลา และยังสามารถรับบริการธนาคารเครดิตจากธนาคารต่างชาติในรูปแบบ “เอกสาร” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 เป็นต้นไป ธนาคารสามารถทำไฟแนนซ์ ไม่เพียงแต่เพื่อการสั่งเข้าเท่านั้น แต่ยังเพื่อการส่งออกด้วย โดยใช้บริการเครดิตจากธนาคารต่างชาติซึ่งการใช้ระบบไฟแนนซ์ที่เรียก “พรี-ชิปเมนท์” หรือการที่ธนาคารอีกธนาคารหนึ่งโดยมากเป็นธนาคารต่างชาติยอมไฟแนนซ์ให้ก่อนส่งสินค้านั้น ถือเป็นยุทธวิธีการดำเนินธุรกิจที่ยอดเยี่ยมมาก

นั่นหมายถึงว่า ธนาคารกรุงเทพสามารถดำเนินธุรกิจธนาคารและให้บริการต่างๆ แก่พ่อค้าผู้ส่งออกและนำเข้าเฉกเช่นเดียวกับธนาคารอาณานิคมเคยกระทำเป็นผลสำเร็จมาแล้ว นับเป็นการเปิดยุคใหม่ของกิจการธนาคารไทย และทรงวาด

Source: https://www.silpa-mag.com/songwad-century/article_79380

The post เปิดตำนานธุรกิจเก่าแก่ในไทย จากกิจการย่านถนนทรงวาด สู่บริษัทเติบใหญ่ระดับสากล appeared first on Thailand News.