ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

มีการ “สลับตัว” สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อคราวถูกสำเร็จโทษ จริงหรือ?

มีการ “สลับตัว” สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อคราวถูกสำเร็จโทษ จริงหรือ?

เรื่องมีการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจริงหรือไม่นี้ก็เป็นตอนที่เขียนยาก เพราะหลักฐานส่วนหนึ่งไม่สามารถระบุที่มาที่ไปได้ ทำให้ความน่าเชื่อถือลดน้อยลง และส่งผลให้ความถูกต้องของการเขียนบทความลดน้อยลงไปด้วย

ประเด็น “การสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” นี้ไม่มีการกล่าวไว้เลยในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นต้นที่เป็นประวัติศาสตร์หลักของมาตรฐานสมัยกรุงธนบุรี คือ

1. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) [1]

2. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับบริติชมิวเซียม [2]

3. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพิมพ์หมอบรัดเลย์ [3]

4. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา [4]

แม้ว่าหลักฐานทั้ง 3 ชิ้นหลังจะมีต้นกำเนิดจากหลักฐานชิ้นแรก [1] และในยุคก่อน พ.ศ. 2475 ไม่มีหลักฐานอื่นที่ปฏิเสธการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีการเชิดชูพระเกียรติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยมีการเปลี่ยนพระนามอย่างเป็นทางการว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ที่วงเวียนใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2484

ประวัติศาสตร์ “กระซิบ” ได้เกิดขึ้นอย่างมากมายนับตั้งแต่เรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน” เขียนโดยพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ [5] ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา ซึ่งเปิดประเด็นใหม่คือ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้ถูกสำเร็จโทษจริง”

……..

มีเอกสารหลายชิ้นที่กล่าวว่ามีการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีทั้งที่บอกว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงทราบและไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังที่ผมได้สรุปไว้ในตารางที่ 1 อันเป็นที่น่าสังเกตอยู่ประการหนึ่งคือ เหตุการณ์สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีปรากฏในเอกสารทุกชิ้น ต่างกันเพียงแต่ว่ามีหรือไม่มีการเปลี่ยนสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเท่านั้น

ตารางเปรียบเทียบเหตุการณ์สลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในเอกสารต่าง ๆ

ในการวิเคราะห์บทนี้ ผมขอแยกออกเป็น 2 กรณีคือ

1) โอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อคราวสำเร็จโทษจริง ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 2 กรณี

1.1) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไม่ได้เข้าร่วมแผนการที่มีการสลับตัว

1.2) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเข้าร่วมแผนการที่มีการสลับตัว

2) กรณีไม่มีการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อคราวสำเร็จโทษจริง

1) โอกาสความเป็นไปได้ที่จะสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อคราวสําเร็จโทษจริง

1.1) ในกรณีที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไม่ได้เข้าร่วมแผนการที่มีการสลับตัว มีหลักฐานอยู่ 2 ชิ้นที่กล่าวว่ามีการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไม่เข้าร่วมแผนการสลับตัว คือ “ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน” [5] และ “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” [6] โดยเนื้อความย่อคือ มีการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังจากนั้นมีการประหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตัวปลอมโดยที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไม่เข้าร่วมแผนการที่มีการสลับตัวดังกล่าว คือไม่ทราบว่ามีการสลับตัวเกิดขึ้น

ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้เขียนเหตุการณ์ตอนสำเร็จโทษว่า [1]

“…เสด็จพระราชดำเนินทัพมาจากเสียมราบ ประทับ ณ พลับพลาหน้าวัดโพธาราม ฝ่ายข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันไปเชิญเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบ ข้ามมาพระราชวัง สถิต ณ ศาลาลูกขุน มีหมู่พฤฒามาตย์ราชกุลทวีมุขเฝ้าพร้อมกัน จึงมีพระราชบริหารดำรัสปรึกษาว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินอาสัตย์ละสุจริตธรรมเสีย ประพฤติการทุจริตฉะนี้ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดินจะละไว้มิได้ ขอให้ปริวรรตออกประหารเสีย ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งปวงมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก ก็นำเอาพระเจ้าแผ่นดินและพวกโจทก์ทั้งปวงนั้นไปสำเร็จ ณ ป้อมท้ายเมืองในทันใดนั้น…” [1]

แต่พระราชพงศาวดารฯ นี้ ไม่ได้เขียนว่าได้นำสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาอยู่ในที่ประชุม ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ร่วมอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย และในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาฯ [4] ก็ได้เขียนไว้เช่นเดียวกันว่า สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน โดยทรงปรึกษาคดีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับข้าราชการทั้งหลาย ความว่า

“…พระเจ้าแผ่นดินลุสุจริตธรรมเสียฉะนี้ ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดินจะละไว้เสียมิได้ ควรจะให้สำเร็จโทษเสีย… ตัวเป็นเจ้าแผ่นดินใช้เราไปกระทำการสงครามได้ความลำบากกินเหื่อต่างน้ำ เราก็อุตสาหะอาสากระทำศึก มิได้อาลัยแก่ชีวิต คิดแต่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้สิ้นเสี้ยนหนาม จะให้สมณพราหมณาจารย์และไพร่ฟ้าประชากรอยู่เย็นเป็นสุขสิ้นด้วยกัน

ก็เหตุไฉนอยู่ภายหลัง ตัวจึงเอาบุตรภรรยามาจองจำทำโทษ แล้วโบยตีพระภิกษุสงฆ์และลงโทษแก่ข้าราชการและอาณาประชาราษฎร์เร่งเอาทรัพย์สินโดยพลการด้วยหาความผิดมิได้ กระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนทุกเส้นหญ้า ทั้งพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรุดเศร้าหมองดุจเมืองมิจฉาทิฐิฉะนี้ โทษตัวจะมีเป็นประการใดจงให้การไปให้แจ้ง แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็รับผิดทั้งสิ้นทุกประการ จึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย…” [4]

ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาฯ [4] นี้ ได้เขียนไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงอยู่ในที่ประชุมด้วยอย่างชัดเจน และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็อยู่ในที่ประชุมด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่จะกล่าวว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกโบกมือเพราะไม่ขอเกี่ยวข้องจึงเป็นไปไม่ได้เพราะท่านได้เกี่ยวข้องแล้วตั้งแต่ต้นแล้ว

ภาพเขียนพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี

ผมขอวิเคราะห์ถึง “โอกาสความเป็นไปได้ที่จะสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ใน “ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน” ที่ไม่ได้เขียนถึงวิธีการเปลี่ยนเอาหลวงอาสาศึกไปแทนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ใน “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ซึ่งผู้เขียนเชื่อในเรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน” และได้เพิ่มรายละเอียดในวิธีการเปลี่ยนตัวโดยให้สายลับ 4 คน (หินขาบ, สีเหล็ก, ปางทราย และสิงห์ขาบ) และหลวงอาสาศึก ที่ได้ปลอมเป็นพระสงฆ์เข้าไปเยี่ยมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งขณะนั้นได้ผนวชเป็นพระสงฆ์เช่นเดียวกัน แล้วสลับเอาหลวงอาสาศึกไปอยู่ในคุกแทนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่หนีออกมา

นอกจากนี้เรื่อง “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ยังได้ผูกเรื่องต่อไปว่า สายลับทั้ง 4 นี้ เป็นคนของหลวงสรวิชิต (หน) ที่วางแผนให้สายลับทั้ง 4 คนนี้ลักพาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยมีตัวปลอมไปสลับแทน แล้วนำสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปประหาร ในขณะเดียวกันทั้ง 4 คนก็เป็นคนของฝ่ายที่ต้องการช่วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหรือที่เรียกว่า สายลับ 2 หน้า ผมขอวิเคราะห์ว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก ด้วยเหตุผลคือ

ก) ในสมัยนั้นอดีตกษัตริย์ที่ถูกยึดพระราชบัลลังก์ส่วนใหญ่ถูกสำเร็จโทษแทบทั้งสิ้นในเวลาไม่นานหลังจากนั้น ในกรณีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็เช่นเดียวกัน ผมคิดว่าผู้ยึดอำนาจคงจะกระทำอย่างเดียวกัน และไม่ต้องสงสัยเลยว่า พระองค์จะต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวดก่อนที่จะถูกสำเร็จโทษในเวลาต่อมา

ข) นักโทษที่สำคัญมากขนาดพระเจ้าแผ่นดินจะปล่อยให้พระสงฆ์ 5 รูป ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับพระองค์เลยเข้าไปเยี่ยมอย่างง่ายดาย และยังปล่อยให้มีการสลับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับหลวงอาสาศึกโดยที่ทหารยามไม่รู้เรื่องเลย

ค) ผมคิดว่าเป็นความยุ่งยากซับซ้อนมากในการปฏิบัติการเช่นนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย

ค. 1) หาคนที่ใบหน้าเหมือนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ค. 2) พยายามเปลี่ยนให้คนที่หน้าเหมือนไปคุมขังแทนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ค. 3) แล้วจึงประหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตัวปลอม

สิ่งที่ง่ายที่สุดที่จะประหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในขณะนั้นก็คือ การวางยาพิษในขณะที่พระองค์ถูกคุมขังอยู่ แทนที่จะทำสิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนดังกล่าว

บ. บวรรังษี [7] ได้เขียนเกี่ยวกับการสลับตัวพระเจ้าตากในหนังสือ “บันทึกลับ ‘พระเจ้าตาก’ เรื่องจริงนอกพงศาวดาร” ไว้อย่างน่าสนใจถึงเหตุที่เกิดการสลับตัวขึ้นได้โดยไม่มีใครสงสัยดังนี้

“…ในครั้งอดีตผู้คนนั้นมีโอกาสเห็นพระพักตร์ของพระเจ้าแผ่นดินน้อยมาก เพราะมีกฎว่าหากผู้ใดสบตาพระเจ้าแผ่นดินจะถูกยิงธนูใส่ตา เมื่อทางกรุงธนบุรีประกาศการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้รู้กันทั่วแผ่นดินแล้ว ทุกคนย่อมคิดว่า พระองค์ทรงสวรรคตแล้ว ไม่มีใครคิดว่ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ อีกทั้งก็ยังไม่เคยเห็นพระพักตร์ต่อให้เจอกันซึ่ง ๆ หน้าก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใครอยู่ดี…”

แต่ปเรตร์ อรรถวิภัชน์ [8] ได้ค้นคว้าจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39 ซึ่งเป็นบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสในยุคกรุงธนบุรี พบว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกเลิกกฎหมายที่ห้ามพลเมืองแอบดูพระเจ้าแผ่นดิน ดังความตอนหนึ่งว่า

“…ในธรรมเนียมของพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายตะวันตก ที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ด้วยกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่า ถ้าจะเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์ และถ้าจะทรงรับสั่งด้วยแล้วจะทำให้เสียพระราชอำนาจลงอย่างใด เพราะพระองค์มีประสงค์จะทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น…”

อย่างไรก็ตาม ต่อมาธรรมเนียมที่ห้ามพลเมืองมองพระเจ้าแผ่นดินได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในช่วงรัชกาลที่ 3 และ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ [8] ดังนั้นการที่จะสลับตัวพระเจ้าตากสินได้ หากเกิดขึ้นจริงย่อมจะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งในจำนวนหลายหมื่นหลายแสนคนที่เคยเห็นพระพักตร์ของพระองค์ และอาจตั้งข้อสังเกตว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ใช่พระองค์จริง แม้ว่าจะมีคนหน้าเหมือนพระองค์มาสลับตัวก็ตาม แต่พระราชจริยาวัตรของพระองค์ย่อมจะเลียนแบบได้ยาก

1.2) ในกรณีที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเข้าร่วมแผนการที่มีการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ในกรณีนี้เป็นไปตามสมมติฐานว่า บทที่ 4 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้เงิน 60,000 ตําลึงจากเมืองจีนเป็นความจริง และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เข้าร่วมอยู่ในแผนการนั้นด้วย

โอกาสที่จะสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากขณะนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในกรุงธนบุรี ถ้าหากมีการเปลี่ยนตัวจริงต้องมีผู้รู้เห็นอีกหลายคน และการสลับตัวก็จะไม่เป็นความลับอีกต่อไป

แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมจึงไม่มีการพูดถึงการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในเอกสารใด ๆ เลยเป็นเวลากว่า 160 ปี จนกระทั่งหลวงวิจิตรวาทการ [5] ได้เขียนเรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน” ขึ้นในปี พ.ศ. 2492

ดังนั้นในหัวข้อที่ 1 โอกาสที่จะมีการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อคราวสำเร็จโทษมีความเป็นไปได้น้อยมาก ในกรณี 1.1 ที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไม่ได้เข้าร่วมแผนการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่มีความเป็นไปได้มากขึ้นในกรณี 1.2 ที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเข้าร่วมในแผนการที่มีการเปลี่ยนสลับตัว

แต่ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่จะมีการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจะร่วมในแผนการเปลี่ยนสลับตัวนี้หรือไม่ก็ตาม

2) กรณีไม่มีการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อคราวสำเร็จโทษ ก็คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จริงทรงถูกสำเร็จโทษจริง ตามที่ประวัติศาสตร์ได้เขียนไว้

ผมขอกลับมาประเด็นความสำคัญของนักโทษที่สำคัญมากระดับอดีตกษัตริย์จะต้องมีการคุมขังอย่างแน่นหนามั่นคง โดยขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ผลัดเปลี่ยนแผ่นดินปลายสมัยอยุธยา ในสมัยพระเจ้าเชษฐาธิราช ซึ่งครองราชย์ต่อจากพระเจ้าทรงธรรม ที่เขียนโดยพรรณี เกษกมล [9]

“…ในสมัยอยุธยา เมื่อมีการผลัดแผ่นดินเมื่อใดก็จะมีการสำเร็จโทษกษัตริย์องค์ก่อน อาทิเช่น เมื่อจมื่นศรีสรลักษณ์และพระศรีศิลป์ชิงราชสมบัติหลังเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ครองราชย์ได้เพียง 2 เดือน ปลงพระชนม์ด้วยท่อนจันทน์ พระศพฝังไว้ที่ลานโคกพญา ผู้ที่ครองบัลลังก์ต่อมาคือ พระอินทราชา พระนามใหม่ว่า พระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเป็นพระโอรสองค์โตที่ประสูติจากพระสนม ส่วนจมื่นศรีสรลักษณ์ผู้ก่อการได้เลื่อนยศเป็นพระยาศรีวรวงศ์จางวางมหาดเล็ก ครั้นต่อมาเมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตยกราชบัลลังก์ให้พระราชโอรสคือพระเชษฐาธิราช พระยาศรีวรวงศ์จึงนำกำลังทหารปฏิวัติทำทีจะยกบัลลังก์ให้พระศรีศิลป์พระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรมซึ่งกำลังผนวชในขณะนั้น

แต่ต่อมาเมื่อปฏิวัติได้สำเร็จกลับยกราชบัลลังก์ให้พระเชษฐาธิราชครองแผ่นดิน โดยใช้อุบายหลอกล่อบอกพระศรีศิลป์ว่า พระศรีศิลป์ควรได้ราชบัลลังก์แทนเป็นการหลอกล่อให้ศัตรูตายใจ แล้วใช้แผนลอบฆ่าพระศรีศิลป์ในภายหลัง โดยขอให้พระศรีศิลป์สึกจากวัดระฆัง แต่พระศรีศิลป์รู้ดีว่าถ้าออกจากวัดคงสิ้นชีพแน่จึงปฏิเสธ จนกระทั่งออกญาเสนาภิมุขแม่ทัพญี่ปุ่นไปพูดหว่านล้อมจึงหลงเชื่อ โดยทหารญี่ปุ่นเข้ามาจับมัดและหวังจะให้ตายอย่างช้า ๆ จึงส่งตัวไปเมืองเพชรบุรี นำไปขับไว้ในหลุมลึก ให้ลดจำนวนอาหารลงทุกวัน จนถึงแก่ความตายเอง

ให้พนักงานเฝ้ามีหน้าที่ชะโงกลงไปดูวันละ 3 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่ายังมีชีวิตอยู่ ออกหลวงมงคลรู้ข่าวแอบขุดหลุมที่จะไปถึงหลุมที่พระศรีศิลป์อยู่และลอบเปลี่ยนตัวเอาทาสชายที่เสียชีวิตแล้วสวมใส่เสื้อผ้าพระศรีศิลป์ ทำให้พนักงานเข้าใจผิดโดยไม่มีการตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนที่จะกลบหลุม

เมื่อพระศรีศิลป์รอดชีวิตออกมาจากหลุมได้ สามารถรวบรวมไพร่พล มีทหารประมาณ 20,000 คนเศษ ตั้งทัพที่เมืองเพชรบุรี พระเจ้าเชษฐาธิราชได้ข่าวจึงส่งกำลังทหารไทยและญี่ปุ่น พร้อมทั้งออกญาเสนาภิมุขแม่ทัพญี่ปุ่น และถูกเล่ห์กลของออกญาภิมุขพ่ายแพ้อีก และสุดท้ายพระศรีศิลป์ถูกนำไปประหารที่ลานโคกพญา…” [9]

ประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยพระเจ้าทรงธรรมนี้ผ่านมาประมาณร้อยกว่าปีก่อนยุคสมัยกรุงธนบุรี ผมคิดว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไม่น่าจะหละหลวมปล่อยให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างการสลับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้เกิดเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ของพระองค์ในอนาคต เมื่อทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

โดยสรุป… ผมเชื่อว่าไม่มีการเปลี่ยนสลับตัวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อคราวถูกสำเร็จโทษครับ

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_66841

The post มีการ “สลับตัว” สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อคราวถูกสำเร็จโทษ จริงหรือ? appeared first on Thailand News.