ทูตต่างประเทศ ยุคก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 พำนักอยู่บริเวณไหนในกรุงเทพ?
“แขกรัฐบาล” ที่เป็นทูตต่างประเทศ เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ในสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 พำนักอยู่บริเวณไหน?
ในสมัยรัชกาลที่ 1 ไม่มีการบันทึกถึงที่พำนักของทูตในกรุงเทพฯ
ในสมัยรัชกาลที่ 2 “กาละลด มันแวนด์” ทูตโปรตุเกสจากมาเก๊า เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2361 ว่ามาพำนัก “อยู่ที่เรือนหน้าบ้านพระยาสุริยวงศ์มนตรี” ซึ่งมีลักษณะเป็นตึก พระยาสุริยวงศ์มนตรีผู้นี้ (ต่อมาภายหลัง) คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)
ต่อมา ใน พ.ศ. 2365 “จอห์น ครอว์เฟิร์ด” ทูตอังกฤษเดินทางมายังกรุงเทพฯ “การะฝัดเข้ามาครั้งนั้น โปรดให้ขึ้นพักอาศัยอยู่ที่ตึกสูงหน้าบ้านท่านเจ้าพระยาพระคลัง” เจ้าพระยาพระคลังผู้นี้ (ต่อมาภายหลัง) คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)
ตึกดังกล่าวต่อมาได้ให้ “นายหันแตร (ฮันเตอร์)” ชาวต่างชาติ เช่าทำเป็นห้างทำกิจการค้าขาย ถือเป็นห้างแรกของกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัชกาลที่ 3 “เอดมัน รอเบิร์ต” ทูตอเมริกามาพำนักที่ “ตึกรับแขกเมืองหน้าวัดประยูรวงศ์” เมื่อ พ.ศ. 2376 แต่เพราะนายหันแตรเช่าตึกอยู่ จึงย้ายไปพำนักที่ตึกหน้าบ้านพระยาราชสุภาวดี
พระยาราชสุภาวดีผู้นี้ (ต่อมาภายหลัง) คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ท่านสร้างบ้านเป็นตึกฝั่งพระนคร ภายหลังยกตึกและบ้านให้วัด เรียกกันว่า วัดชัยชนะสงคราม หรือวัดตึก บริเวณเยาวราชในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ตึกของนายหันแตรอาจยังคงใช้เป็นที่พำนักของทูตอยู่ เพราะมีตึกสองหลัง เช่น พ.ศ. 2381 มิสเตอร์ฤทธิ์สชอนหรือริดซันเข้ามา ก็มา “อาศัยอยู่กับนายหันแตรที่ตึกหน้าวัดประยูรวงศ์”
ต่อมาเมื่อนายหันแตรออกไปจากกรุงเทพฯ กัปตันปรอนเช่าต่อ พอ “โยเสฟ บาเลสเตีย” ทูตอเมริกาเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2393 รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกเรือนพำนักทูตขึ้นแถวหน้าวัดประยุรวงศ์
ครั้นเมื่อ “เซอร์ เจมส์ บรูก” ทูตอังกฤษเดินทางเข้ามา รัฐบาลได้ปลูกโรงเรือเครื่องไม้จากไว้ให้เป็นที่พำนัก ยาว 9 ห้อง ดาดเพดานด้วยผ้าขาว แต่เซอร์ เจมส์ บรูกไม่ชอบใจ จึงไปอาศัยอยู่กับกัปตันปรอนที่ตึกใหญ่
ในสมัยรัชกาลที่ 4 “เซอร์ จอห์น เบาริง” ทูตอังกฤษ เดินทางเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2398 บันทึกไว้ว่า
“ข้าพเจ้าพักอยู่ที่ตึกรับแขกเมือง ซึ่งเรียกว่า บริติ๊ชแฟกตอรีย์ ตึกนี้ได้ซ่อมแซมขึ้นใหม่โดยเรียบร้อย ในการที่จะรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอยู่ชั้นบนสองห้อง เป็นห้องกว้างใหญ่ ห้องนั่งเล่น กว้างขวางและอากาศเย็นสบาย ห้องนอนนั้นพึ่งปิดกระดาษ ฝาผนังพึ่งแล้วเสร็จใหม่ ๆ เตียงนอนที่ข้าพเจ้านอนนั้นมีมุ้งและม่านแดงลายทองกั้น และมีพวงดอกไม้ห้อย มีหม้อน้ำเย็นวางบนโต๊ะ และช่อพวงดอกกุหลาบปักขวด มีคนใช้ไทยพูดภาษาอังกฤษได้ให้มาอยู่สำหรับข้าพเจ้าใช้สรอย”
(ภาพประกอบเนื้อหา) สมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ได้แต่งทูตมาแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อ พ.ศ. 2406 และได้ทูลเกล้าถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลยอง ดอนเนอร์ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2410 เพื่อทรงรับราชทูตฝรั่งเศสอีกคณะหนึ่ง จึงทรงสายสะพายเลยอง ดอนเนอร์พร้อมดารา เพื่อเป็นเกียรติยศแด่ชาวฝรั่งเศส (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพเหตุการณ์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์)
ต่อมา พ.ศ. 2399 “แฮรี ปาร์กส์” ซึ่งเคยเดินทางมากับเซอร์ จอห์น เบาริงเมื่อปีก่อน เดินทางนำหนังสือสัญญามาส่ง ได้พำนักที่ตึกรับแขกเมืองหน้าวัดประยุรวงศ์
ปีเดียวกันนั้น “ทาวน์เซนด์ แฮร์ริส” ทูตอเมริกาบันทึกว่า “ตึกรับแขกเมืองหน้าวัดประยุรวงศ์มีคณะทูตชุดแฮรี ปาร์กส์อาศัยอยู่ จึงปลูกเรือนให้พักที่หน้าโรงฝางเก่า ปากคลองผดุงกรุงเกษม”
ขณะเดียวกันนั้นเอง ทูตฝรั่งเศสนาม “มองติญี เอก” ก็อธิบายว่า ตึกรับแขกเมืองมีทูตอังกฤษพำนัก เรือนจากที่ปากคลองผดุงกรุงเกษมก็มีทูตพำนัก จึงตำหนิว่าเป็นเรือนจากนั้นไม่สมควร จึงได้ขึ้นไปอาศัยอยู่ที่หอนั่ง บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)
นอกจากนี้ยังมีที่พำนักทูตอีกหลายที่ เช่น พ.ศ. 2401 “มิสเตอร์ยอนยาเว อิศเกวร์” กงสุลเดนมาร์ก พำนักที่บ้านมิสเตอร์ ดี. เกดะ มอซอน เหนือปากคลองผดุงกรุงเกษม
พ.ศ. 2406 “มองซิเออร์ มารีเนต” กงสุลฝรั่งเศสพำนักที่เก๋งเหนือพระที่นั่งสุทไธศวรรย์
พ.ศ. 2408 “พลเรือโท ยอช คิง” พำนักที่บ้านกงสุลอังกฤษ
พ.ศ. 2410 ทูตโปรตุเกสพำนักที่บ้านมิสเตอร์สก็อต เหนือปากคลองผดุงกรุงเกษม
ดังนั้น ที่พำนักของรัฐบาล (ส่วนใหญ่) ที่ใช้รับแขกรัฐบาลโดยเฉพาะชาวต่างชาตินั้น อยู่บริเวณบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือละแวกวัดประยูรวงศาวาส ในปัจจุบันคือ สำนักเทศกิจ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา
The post ทูตต่างประเทศ ยุคก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 พำนักอยู่บริเวณไหนในกรุงเทพ? appeared first on Thailand News.