ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

กำเนิด“สามล้อถีบ”ที่“เลื่อน พงษ์โสภณ”ได้ไอเดียจากไมอามี่

กำเนิด“สามล้อถีบ”ที่“เลื่อน พงษ์โสภณ”ได้ไอเดียจากไมอามี่

รถสามล้อต้นแบบของนายเลื่อน ที่นั่งผู้โดยสารเป็นเก้าอี้ไม้ (ภาพจาก อเนก นาวิกมูล)

 

ยืนยันอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่ข่าวขายหัว ที่มาของรถสามล้อบ้านเราที่นายเลื่อน พงษ์โสภณ ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นนั้นได้แนวคิดมาจากเมืองไมอามี่ ประเทศสหรัฐอเมริกาจริงๆ รถสามล้อที่ว่านั้นไม่ใช่สามล้อติดเครื่องยนต์ หรือ “ตุ๊กตุ๊ก” ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน  แต่เป็น “สามล้อถีบ” ที่ต้องอาศัยแรงงานเท้าของผู้ขับขี่ล้วนๆ

นายเลื่อน พงษ์โสภณ (ภาพจากอเนก นาวิกมูล)

ลำดับแรกเรามารู้จักผู้ประดิษฐ์กันก่อน นายเลื่อน พงษ์โสภณ (พ.ศ. 2441-2519) เป็นบุตรของขุนเชี่ยวหัสดิน (เถา) กับนางแฉ่ง เจ้าของกิจการโรงเลื่อย, ร้านขายเครื่องเรือน และเครื่องประดับบ้าน  ขณะที่นายเลื่อนใกล้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นทางยุโรป นายเลื่อนได้สมัครเป็นทหารอาสาไปรบที่ฝรั่งเศส ซึ่งทำให้มีโอกาสเรียนวิชาเครื่องยนต์

ประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการไปร่วมรบครั้งนั้น และการไปศึกษาการบินที่ สหรัฐอเมริกาในภายหลัง ประกอบกับนิสัยของนายเลื่อนเองที่เป็นคนหัวก้าวหน้า กล้าคิดกล้าทำ และเป็นนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ นายเลื่อนจึงเป็นผู้ “ริเริ่ม” สิ่งประดิษฐ์, กิจการ ฯลฯ หลายอย่างที่ยังไม่เคยมีมาก่อนขึ้นในเมืองไทย เช่น โรงเรียนสอนวิชาเครื่องยนต์, สามล้อ ฯลฯ

สำหรับการคิดประดิษฐ์ “สามล้อ” นั้น ประมาณ พ.ศ. 2475 นายเลื่อนทำงานอยู่ที่บริษัท เดินอากาศไทย ที่นครราชสีมาได้เห็น คนลากรถบรรทุกเป็นการใช้แรงงานคนที่น่าสังเวช จึงคิดว่าควรทำให้เกิดความสะดวกขึ้นได้อย่างไร แต่จะให้ติดเครื่องยนต์ในเวลานั้นคงเป็นเรื่องยาก แนวคิดเริมต้นนั้นสามล้อถีบนี้ ศ.แถบ นีละนิธิ กล่าวว่านายเลื่อนบอกท่านว่า “คิดมาจากรถสามล้อที่ใช้ในเมืองไมอามี่ ในสหรัฐอเมริกาสมัยนั้น”

แม้จะคิดได้ แต่กว่าจะจดทะเบียนเพื่อใช้งานจริงได้ก็ไม่ใช่ง่าย

เริ่มแรกนั้นนายเลื่อนออกแบบทำเป็น “รถข้างหน้า 2 ล้อ พ่วงท้าย 2 ล้อ แบบอินโดนีเซีย” แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียน จึงแก้เป็น “ข้างหน้า 2 ล้อ ข้างหลังล้อเดียว” ก็ยังไม่ผ่าน

ครั้งสุดท้ายก็แก้เป็น “ข้างหน้าล้อเดียว ข้างหลัง 2 ล้อ” เจ้าหน้าที่ให้ไปขอกับหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ นายเลื่อนนำรถสามล้อไปสาธิตให้หลวงอดุลยฯ นั่งจากระทรวงถึงเสาชิงช้า (ไป-กลับ) ซึ่งก็ได้อนุญาตให้จดทะเบียน

การจดทะเบียนว่ายากแล้ว การทำตลาดยิ่งยากกว่า

เมื่อรถสามล้อจดทะเบียนได้ นายเลื่อนก็กลับไปโคราช นำรถสามล้อรุ่นแรก 3 คันที่จดทะเบียนให้คนเช่า แต่ไม่มีใครเช่า นายเลื่อนลางานมาถีบรถสามล้อโชว์ และเชิญชวนให้คนที่ผ่านไปมาทดลองนั่ง แต่ก็ไม่มีใครกล้านั่ง สุดท้ายนายเลื่อนจึงจ้างเด็กที่วิ่งตามดูอยู่นั้นนั่งรถสามล้อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้คน ซึ่งก็นับว่าได้ผลเริ่มมีคนมาเช่ารถสามล้อถีบ

ในฐานะผู้คิดค้นประดิษฐกรรม นายเลื่อนคงจะร่ำรวยจากกิจการสามล้อถีบเป็นแน่ แต่ความจริงคือ บรรดาคนเช่าหัวใสเอาสามล้อต้นแบบของนายเลื่อนไปก๊อปปี้ผลิต จนกระทั่งในกรุงเทพฯ ก็ยังมีสามล้อเกลื่อนเมือง

 

ข้อมูลจาก

อเนก นาวิกมูล, พ่อค้าไทยยุค 2480 เล่ม 1, สำนักพิมพ์แสงดาว พิมพ์ครั้งแรก 2557

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_47431

The post กำเนิด“สามล้อถีบ”ที่“เลื่อน พงษ์โสภณ”ได้ไอเดียจากไมอามี่ appeared first on Thailand News.