ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“กรมพระยานริศฯ” นายช่างใหญ่ผู้ไม่ร้องขอเงินบำนาญ ร.5ทรงชม “ผู้อยู่ในหัวใจฉัน”

“กรมพระยานริศฯ” นายช่างใหญ่ผู้ไม่ร้องขอเงินบำนาญ ร.5ทรงชม “ผู้อยู่ในหัวใจฉัน”

(ซ้าย) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ขวา) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทับบนรถไฟ ทอดพระเนตร กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงยืน

 

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นอกจากจะเป็นอีกหนึ่งเจ้านายที่ทรงมีความสามารถยอดเยี่ยมหลายด้าน ทรงได้รับคำสรรเสริญพระเกียรติคุณอย่างมาก เรียกว่าเป็น “สมเด็จครู” นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยามจากความสามารถด้านศิลปกรรมแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นผู้มีเกียรติจากพระประวัติในช่วงหลังออกจากราชการโดยที่พระองค์ไม่ได้ดำรัสเรียกร้องรับพระราชทานเงินบำนาญแก่พระองค์เองอันส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพระองค์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือเจ้าฟ้านริศ เป็นชื่อเจ้านายที่กลับมาเป็นที่สนใจของประชาชนอีกครั้งเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 จากกรณีทายาทราชสกุลจิตรพงศ์ ซึ่งสืบมาจากกรมพระยานริศฯ แสดงความกังวลการเปลี่ยนแปลงอันจะส่งผลต่อโครงสร้างโบราณสถานในเขตบ้านปลายเนิน หรือวังคลองเตย อันเป็นที่ประทับของกรมพระยานริศฯ

หากย้อนกลับไปเปิดพระประวัติของกรมพระยานริศฯ ประชาชนชาวไทยย่อมตระหนักถึงความสามารถและผลงานด้านการช่างของพระองค์ที่ทรงอุทิศเวลาตลอดพระชนมชีพของพระองค์สร้างสรรค์งาน ผลงานของพระองค์ได้รับการสรรเสริญจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่า พระองค์ทรงเขียนรูปจนกระดิกได้ และทรงออกแบบจนประทับในพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรงานออกแบบแผ่นศิลาจารึกโรงเรียนวัดเบญจมบพิตรรูปสุนทรีย์ ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบลายเส้น 4 แบบ เพื่อใช้เป็นแบบจารึกบนแผ่นศิลาของโรงเรียนวัดเบญจมบพิตรขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 ทรงตื่นเต้นยินดีและทรงพอพระราชหฤทัยในผลงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จฯ ตั้งแต่ทอดพระเนตรชิ้นที่ 1 โดยไม่ทอดพระเนตรชิ้นอื่น

ความพอพระทัยในการนี้ทรงแสดงผ่านพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 17 เมษายน ความตอนหนึ่งว่า “ฉันไม่ได้นึกยอเลย แต่อดไม่ได้ว่าเธอเป็นผู้นั่งอยู่ในหัวใจฉันเสียแล้วในเรื่องทำดีไซน์เช่นนี้ ได้ส่งแบบคืนออกมา”

สุรศักดิ์ เจริญวงศ์ ผู้เขียนหนังสือ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ‘สมเด็จครู’ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” แสดงความคิดเห็นว่าเป็นคำยกย่องชมเชยที่ไม่เกินความจริง เนื่องจากผลงานของพระองค์แสดงถึงพระปรีชาสามารถอันโดดเด่นจากภาพนางเทพอัปสรกัญญา ทรวดทรงองค์เอวงดงามอ่อนหวาน นั่งขัดสมาธิราบอยู่ในซุ้มเรือนแก้วลายกนกขอม (กนกขมวด)

งานออกแบบศิลาจารึกโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร รูปสุนทรีย์ แบบที่ 1-3

 

นอกเหนือจากงานด้านศิลปกรรม พระองค์ทรงเป็นเสนาบดี 4 กระทรวง และยังเป็นนักการทหาร ผู้นำทางการทหารอันสำคัญ นักการโยธาธิการผู้วางรากฐานกิจการรถไฟ นักการเงินการคลัง นักปราชญ์วัฒนธรรม และผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์

เมื่อเข้าสู่วัยชรา ช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สุรศักดิ์ เจริญวงศ์ เล่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า กรมพระยานริศฯ มีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์สืบเนื่องมาตั้งแต่ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นผลให้ต้องกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นจากราชการในระยะแรก พระองค์มิได้รับพระราชทานเงินบำนาญ (การรับพระราชทานเงินบำนาญจำเป็นต้องมีพระราชดำรัสก่อน) เชื่อว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคาดว่า กรมพระยานริศฯ จะทรงกลับเข้ามารับราชการได้อีกครั้ง ทรงรีรอเรื่อยมาตราบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ก็ไม่ได้รับสั่งเรื่องเงินบำนาญ ขณะที่กรมพระยานริศฯ ก็ไม่ได้ยื่นเรื่องราวให้เป็นที่รบกวนพระราชหฤทัย ทั้งที่มีอาการประชวร แต่ก็ทรงใช้สอยเงินเท่าที่พระองค์มี อันกลายเป็นสภาพขัดสนเป็นอันมากจากที่เป็นครอบครัวใหญ่และมีความเป็นอยู่ในฐานะราชวงศ์ชั้นสูง พระองค์จำต้องนำของเก่าที่มีออกมาขาย แต่ก็ไม่ได้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6

กระทั่งหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ในวาระเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพรรณราย พระมารดาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ ได้เข้าเฝ้าถวายพระพรและถวายของขวัญ

จากนั้นได้กราบบังคมทูลขอขายของถวายกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงสอบถามสาเหตุ ซึ่งพระองค์เจ้าหญิงพรรณรายก็ทรงเล่าสภาพไปตามความจริง พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเรื่องเงินบำนาญ

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกไม่นานก็มีพระราชดำรัสสั่งเรื่องเงินบำนาญของพระองค์ท่าน เงินบำนาญที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานตามพระราชบัญญัติที่ทรงได้รับนั้นเป็นเงินเดือน 1,250 บาท ซึ่งทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของกรมพระยานริศฯ ทรงดีขึ้นตามลำดับ และตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ท่านทรงเป็นข้าราชการโดยตลอด

แม้ไม่ได้เป็นข้าราชการประจำ แต่ก็ทรงสนองพระคุณรับใช้ตามที่รัชกาลที่ 6 มีพระประสงค์ พระองค์ยังทรงรับใช้พระมหากษัตริย์มาหลายรัชกาล กระทั่งพระกำลังและพระปัญญาเริ่มเสื่อมถอย พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2490 พระชันษา 83 ปี 10 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 (ยังทรงประทับเพื่อทรงศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีศพหลวงอย่างฐานะพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่

 

อ้างอิง:

สุรศักดิ์ เจริญวงศ์. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ‘สมเด็จครู’ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 20 ธันวาคม พ.ศ.2561

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_24747

The post “กรมพระยานริศฯ” นายช่างใหญ่ผู้ไม่ร้องขอเงินบำนาญ ร.5ทรงชม “ผู้อยู่ในหัวใจฉัน” appeared first on Thailand News.