โอกาสที่มาหลังวิกฤต พัฒนาการผ้าไหมไทย
เมื่อครั้งที่บ้านเมืองไทยของเราเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ฝรั่งเศสได้ยึดครองดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไป โดยยังมีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ครอบคลุมทั่วทั้งภาคอีสาน
เป็นที่มาของเรื่องราวต่างๆ เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงระงับโครงการสร้างทางรถไฟไปยังภาคเหนือ เปลี่ยนเป็นทางรถไฟกรุงเทพฯ-โคราชแทน เป็นต้น
แม้แต่เรื่องเล็กๆ ที่คนรุ่นปัจจุบันไม่รู้ความ นำไปวิพากษ์วิจารณ์ อย่างเรื่องผ้าไหม ผลิตภัณฑ์ฝีมือคนไทยที่มีชื่อเสียงและยอมรับกันทั่วโลก ว่ามีความเงางาม มีผิวสัมผัส และมีสีสัน เฉพาะไม่เหมือนใคร ที่น้อยคนจะรู้ว่า การพัฒนาผ้าไหมไทยในปัจจุบัน ได้เริ่มขึ้นหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ เพื่อยกระดับความเจริญของภูมิภาคอีสาน โดยการพัฒนาวิชาชีพให้กับประชาราษฎร์ ประกอบกับการข่าวที่ฝรั่งเศสเคยมีแผนจะส่งผู้เชี่ยวชาญการทำไหมมาแนะนำชาวบ้าน เพื่อจะแผ่อิทธิพลเข้ามาในแถบโคราช จึงเป็นที่มาของการจ้างผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงไหมชาวญี่ปุ่นมาให้คำปรึกษาในสยามประเทศ
หลังจากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ออกสำรวจการทำไหมในภาคอีสานในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ พบว่าการทอผ้าไหมในเวลานั้น ล้าหลังและคุณภาพเส้นไหมไม่ดี จึงมีข้อเสนอให้ปรับปรุงวิธีการเลี้ยงไหมและวิธีการทอผ้าไหม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ จะได้เป็นสินค้าส่งออกเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น ที่ในเวลานั้นอุตสาหกรรมไหม มีความเจริญก้าวหน้า เป็นสินค้าส่งออกครองอันดับหนึ่งของโลก
ในปีต่อมา จึงมีการว่าจ้าง ดร.โตยามา คาเมทาโร แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว มาเป็นผู้เชี่ยวชาญ หลังจากการออกไปสำรวจหมู่บ้านที่มีการเลี้ยงและทอผ้าไหมในโคราชและเมืองต่างๆ ในภาคอีสานแล้ว ดร.โตยามา เสนอรายงานต่อ เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ให้มีการทดลองปลูกต้นหม่อน และการเลี้ยงไหมแบบญี่ปุ่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขาว่า “จะต้องตั้งใจว่าจะทำการจริง ถ้าทำขึ้นได้จะเปนประโยชน์แก่บ้านเมือง ไม่ใช่เปนแต่ทดลองให้รู้ไว้”
อันเป็นที่มาของโครงการนำร่องปลูกหม่อน ในพื้นที่สวนดุสิต ที่เรียกขานว่าสวนทอง คือบริเวณนอกคลองเปรมประชากร ไปจนถึงทางรถไฟสามเสน และระหว่างถนนดวงตวัน (ถนนศรีอยุธยา) และถนนคอเสื้อ (ถนนพิษณุโลก) ปัจจุบันคือพื้นที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม และส่วนหนึ่งของราชตฤณมัยสมาคม
ดังที่ปรากฎใน พระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการปลูกต้นหม่อน สำหรับการทดลองเลี้ยงไหมในสวนดุสิต มีความว่า
“…จะทำการครั้งนี้ อย่าให้เป็นที่ขายหน้ายี่ปุ่นได้…ข้อที่สำคัญนั้นอยู่ที่ตัวผู้ที่จะดูการให้เปนคนทำงานจริง ถ้าเปนแต่เคร่าๆ อย่างทำราชการ คงจะไม่เปนประโยชน์อันใดได้ ให้หาคนที่ดี ถึงจะเสียเงินเดือนมากน้อยก็ตามเถิด ยังต่อไปจะต้องให้เข้าใจวิธีเก็บใบหม่อนแลรักษาต้นหม่อน น่าจะต้องถึงให้ไปเรียนดูวิธีที่ยี่ปุ่นเขาทำให้เข้าใจชัดเจนด้วย ตัวเจ้าจะต้องไปมาตรวจตราเนืองๆ ในเวลาแรกปลูกซึ่งยังทิ้งไม่ได้ ถ้าเปนต้นใหญ่เสียแล้ว การตรวจตราก็คงเบาแรง จะทำการครั้งนี้อย่าให้เปนที่ขายหน้ายี่ปุ่นได้ ในแปลงสวนทองตลอดทั้งสิ้นมอบให้เจ้าเปนผู้ปลูกแลรักษา”
นอกจากการปลูกต้นหม่อนในสวนดุสิตแล้วนั้น พระองค์ยังมีพระราชประสงค์ให้ตั้งโรงเรียน เพื่อฝึกสอนการเก็บใบหม่อนเพื่อเลี้ยงตัวไหม จนถึงการทอเป็นเส้นไหม โดยในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖) ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วัฒน์ว่า “คนเลี้ยงตัวไหมนั้นหาได้แล้ว ทั้งลูกปลัดทูลฉลองก็สมัค การฝึกสอนจะลงมือได้เมื่อไร ขอให้บอกให้ทราบ”
เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ จึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูลตอบไปว่า “ข้าพระพุทธเจ้าได้พบมิศเตอร์โทยามา เวลาเช้าวันนี้ แจ้งว่าการที่จะสอนได้เตรียมพร้อมแล้ว นักเรียนที่จะฝึกสอนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ลงไปวันใด ก็ได้ตามพระราชประสงค์”
สำหรับวิชาที่สอนนั้น ได้แก่ วิชาว่าด้วยต้นหม่อน วิชาว่าด้วยฟองไหม และวิธีรักษาฟองไหม วิชาการเลี้ยงตัวไหม วิชาว่าด้วยรังไหมและการรักษารังไหม และวิชาการชักเส้นไหม กำหนดเวลาเรียนครึ่งปี เข้าเรียนตั้งแต่เวลา ๓ โมงเช้า จนถึง ๔ ทุ่ม แบ่งการเรียนภาคทฤษฎีวิชาการในช่วงครึ่งวันเช้า และช่วงบ่ายจนถึงเย็นเป็นภาคปฏิบัติ โดยมี ดร.โตยามา เป็นผู้สอนวิชาในช่วงต้น มิสเตอร์โฮโซยะ สอนในช่วงปลาย มี มิสซิสฮิราโน เป็นล่าม
ประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ โรงเรียนสอนการทำไหม จึงเปิดอบรมรุ่นแรก ผู้ที่เข้ารับการอบรมเป็นสตรีในราชสำนัก และนักเรียนสตรีโรงเรียนวังหลัง จำนวน ๑๖ คน
พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๗ จำนวนผู้เข้ารับการอบรม ลดลงเหลือ ๑๑ คน จนครบกำหนดเวลาเรียน มีการยุบโรงเรียนสอนการทำไหมในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ย้ายไปตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง ปทุมวัน เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ในบริเวณพื้นที่ที่ กระทรวงเกษตราธิการจัด เตรียมสร้างเป็นสถานีทดลองการทำไหม และเพาะกล้าหม่อน ซึ่งต่อมาใช้เป็นสถานที่ทำการ กรมช่างไหม ที่จัดตั้งขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ ก่อนที่จะรวมกองการผลิตและกองการเลี้ยงสัตว์ และเปลี่ยนชื่อเป็น กรมเพาะปลูก
ในปีเดียวกันนั้น มีการจัดตั้ง สถานทดลองทำไหม ที่ปักธงชัย โคราช ประกอบด้วย สวนหม่อนจำนวน ๑๗๐ ไร่ สำนักงาน สถานที่เพาะเลี้ยงไหม คลังเก็บรังไหม ที่ทำเส้นไหม และหอพักสำหรับผู้ฝึกอบรม รวมทั้งขยายไปจังหวัดอื่น เช่น บุรีรัมย์ ที่มีพื้นที่ปลูกต้นหม่อน ๑๐๐ ไร่ และรับผู้ฝึกอบรมรุ่นแรกได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ มีการย้ายที่ทำการกรมช่างไหม จากที่ตำบลศาลาแดง ไปอยู่ที่เดียวกับ ที่ทำการของกระทรวงเกษตราธิการ โรงเรียนการทำไหม ที่อยู่ในโรงเรียนเพาะปลูก ก็ไปรวมกับโรงเรียนของกรมแผนที่ ที่ตั้งอยู่ ณ วังใหม่ ปทุมวัน เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเกษตราธิการ ส่วนสถานทดลองเลี้ยงไหม ก็ย้ายไปรวมกับ สถานทดลองเลี้ยงไหมที่โคราช ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมผ้าไหมของไทย จึงกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสาน โดยมีมีศูนย์กลางอยู่ที่โคราชนับแต่นั้นเป็นต้นมา
เป็นที่น่าเสียดายว่า เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ อธิบดีกรมช่างไหม ประชวรและสิ้นพระชนม์ในพ.ศ. ๒๔๕๒ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในกรมช่างไหม หัวหน้าของสถานทดลองเลี้ยงไหม ย้ายไปอยู่ในความควบคุมดูแลของ ข้าหลวงเทศาภิบาล มีการเลิกจ้างชาวต่างประเทศ เจ้าหน้าที่อื่นๆ ทั้งกรมกองต่างๆ ในส่วนกลาง และในส่วนภูมิภาค ย้ายเข้าสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประจวบกับภาวะแห้งแล้ง และเกิดโรคระบาดใน พ.ศ. ๒๔๕๖ สถานทดลองเลี้ยงไหมและสาขาทุกแห่งถูกปิด นับเป็นการสิ้นสุดพัฒนาการไหมไทยในครั้งนั้น
จนกระทั่ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทุ่มเทพระกำลังสนับสนุนและเผยแพร่ความงดงามของผ้าไหมไทยอีกครั้ง จนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาชาติ ส่งผลให้ผ้าไหมไทยในปัจจุบัน กลายเป็นสินค้าส่งออก แข่งขันกับตลาดสากล และได้รับความนิยมไปทั่วโลก
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_71734
The post โอกาสที่มาหลังวิกฤต พัฒนาการผ้าไหมไทย appeared first on Thailand News.