ภูมิบ้าน ภูมิเมือง : ‘วัดราชาธิวาสฯ’ ภูมิอนุรักษ์จิตรกรรมแบบเฟรสโกแห่งเดียว
วันอนุรักษ์มรดกไทยวันที่ ๒ เมษายนที่ผ่านมา นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร ได้ร่วมกับชาวศิลปากรทำกิจกรรมรักษาความสะอาด ณ วัดราชาธิวาสวรวิหาร เช่นเดียวกับหน่วยงานกรมศิลปากรที่รับผิดชอบดูแลโบราณสถาน-พิพิธภัณฑ์ในหลายจังหวัดต่างร่วมกันในการอนุรักษ์มรดกของชาติในท้องถิ่นของตนด้วย แม้จะเป็นงานสัญลักษณ์ให้รับรู้ถึงการสืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความใส่ใจให้มองเห็นคุณค่าสิ่งที่เป็นมรดกแผ่นดินจะต้องไม่สูญสิ้นไปกับการเฉยเมยของสังคมก็ตาม แต่งานอนุรักษ์และวิชาการอย่างถูกวิธีนั้น กรมศิลปากรซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบนั้นได้ทำงานอย่างต่อเนื่องในทุกแห่งสืบไป ดังเช่นงานบูรณะภาพจิตรกรรมหนึ่งเดียวของวัดราชาธิวาสฯ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงที่สืบมาแต่วัดเก่าครั้งอยุธยา อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนครแห่งนี้ นั้นต้องใช้เวลารักษาจุดเด่นทางด้านศิลปกรรมที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ให้สืบต่อไป แม้ว่าวัดสมอรายแห่งนี้เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) สถาปนาจาก “วัดสมอรายเดิม” ที่ทรุดโทรมจนต้องปฏิสังขรณ์สืบมาแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ชื่อวัดสมอราย นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า คำว่าสมอนี้น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ถมอ ซึ่งเป็นภาษาเขมรแปลว่า หิน ดังนั้น สมอราย หรือ ถมอราย จึงน่าจะหมายถึงหินเรียงราย เมื่อปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดราชาธิวาส”มีความหมายว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา ด้วยวัดนี้เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เมื่อครั้งทรงผนวชจำพรรษาที่วัดนี้ ซึ่งรวมถึงพระองค์ด้วยคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงเป็นพระวชิรญาณภิกขุนั้น ในช่วงประทับที่วัดสมอรายแห่งนี้ ทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นตามพระราชประสงค์ที่ต้องการฟื้นฟูศาสนาพุทธในสยามและแก้ไขวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัย จึงถือเป็นวัดที่ตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นเป็นแห่งแรกในปลายรัชกาลที่ ๔
ดังนั้้น การปฏิสังขรณ์แต่ละสมัยจึงปรากฏอาคารในรูปแบบสถาปัตยกรรมอย่างใหม่ขึ้นดังเห็นได้จากพระอุโบสถเป็นอาคารทรงขอมคล้ายนครวัด ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีห้องสามตอนคือ ห้องหน้าเป็นระเบียง ห้องกลางเป็นห้องพิธี มีพระสัมพุทธพรรณีเป็นพระประธานมีนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งหล่อพระราชทานในรัชกาลที่ ๕ หลังพระประธานเป็นซุ้มคูหา มีภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในแสดงเรื่องพระเวสสันดรชาดก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้ร่างภาพ และ ศ.ซี.ริโกลี(C.Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียน เป็นผู้เขียนด้วยวิธีการใช้สีผสมปูนเปียก (Fresco) ที่สร้างให้จิตรกรรมเรื่องพระเวสสันดร ๑๓ กัณฑ์ อยู่ภายในให้งดงามอย่างภาพแบบตะวันตก ซึ่งต้องมีการศึกษาพิเศษในการป้องกันการแทรกตัวของเชื้อราในภาพ โดยเฉพาะศาลาการเปรียญขนาดใหญ่นั้นสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้สร้างเลียนแบบจากศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นศาลาการเปรียญที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้วัดราชาธิวาสฯจึงเสมือนสถาบันงานช่างศิลปไทยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จครูและนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ผู้ทรงอุทิศเวลาตลอดพระชนม์ชีพแก่การสร้างสรรค์งานช่างทุกสาขาในงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ในแผ่นดินอีกแห่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นงานช่างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อวัดสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ พระยศในขณะนั้นเป็นผู้ออกแบบพระอุโบสถ กำแพงแก้ว และสะพานนาคหน้าอุโบสถโดยให้พระอุโบสถเป็นอาคารประธานหันหน้าไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในสมัยโบราณ โดยมีสะพานข้ามคลองเล็กๆตั้งอยู่ด้านหน้า ซึ่งสมเด็จครูได้แรงบันดาลใจจากสะพานนาคในศิลปะขอมนั้นมาดัดแปลงลวดลาย ตัวพระอุโบสถ โดยมีแนวกำแพงแก้วที่มีการหักมุมและมีการนำรูปแบบใบเสมามาดัดแปลงกับหัวเสากำแพงแก้ว โดยผสมผสานศิลปะไทยศิลปะขอม และศิลปะตะวันตก เข้าด้วยกันจนกลายเป็นสถาบันช่างศิลปไทยที่สร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินสมัยหลังนำไปใช้สืบต่อกันจนวันนี้
The post ภูมิบ้าน ภูมิเมือง : ‘วัดราชาธิวาสฯ’ ภูมิอนุรักษ์จิตรกรรมแบบเฟรสโกแห่งเดียว appeared first on Thailand News.