ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบ)

ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบ)

ในการพิจารณาว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอำนาจในทางปฏิบัติแค่ไหนนั้น ในตอนที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีกระทรวงต่างๆในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เปลี่ยนรัชกาลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2453) จะพบความแตกต่างในความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีกระทรวงต่างๆ

ด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระมหากษัตริย์ทรงมีความ “อาวุโส” และ “ความเป็นผู้นำ” เพราะส่วนใหญ่ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีล้วนแต่เป็น “พระอนุชา” หรือไม่ก็เป็นเสนาบดีที่เคยเป็นผู้อยู่ภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์มาก่อน อีกทั้งพระมหากษัตริย์เป็นผู้ริเริ่มการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน จัดตั้งกระทรวงทบวงกรมขึ้นและเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลที่พระองค์ทรงเห็นสมควรลงในตำแหน่งต่างๆ

ส่วนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ในช่วงต้นรัชกาล บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีล้วนแต่เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งสืบเนื่องมาแต่รัชกาลก่อน และมีความ “อาวุโส” กว่าพระองค์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางสามัญชน

ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรณีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหมและกระทรวงธรรมการไปแล้ว และคราวที่แล้วได้กล่าวถึงการตั้งเสนาบดีคนแรกของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ต่อไปจะขอใช้ “กรมพระยานริศฯ”) ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการในปี พ.ศ. 2435 ทำไมพระองค์ถึงทรงตั้ง กรมพระยานริศฯ ?

กรมพระยานริศฯ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย พระชันษาอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ 10 ปี ก่อนที่กรมพระยานริศฯจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในปี พ.ศ. 2430 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาในพระองค์หรือที่เรียกว่า “ปรีวี เคาน์ซิล” การแต่งตั้งในปี พ.ศ. 2430 เป็นการแต่งตั้งเพิ่มเติมต่อจากที่แต่งตั้งไปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2417 เนื่องจากผู้ที่ได้รับแต่งตั้งไปในปี พ.ศ. 2417 บางท่านชราภาพหรือเสียชีวิตไป

กรมพระจักรพรรดิพงษ์                                                      กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์                                      กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 ได้มีการจัดตั้งกรมโยธาธิการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดูแลงานช่าง ในปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้กรมพระยานริศฯเป็นเจ้ากรม หรืออธิบดีกรมโยธาธิการพระองค์แรกด้วยทรงเห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมในการทำหน้าที่สนองพระบรมราโชบาย และเมื่อกรมฯ แห่งนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวง ก็ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 จนถึงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2436 ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2436 ทรงโปรดเกล้าฯให้ย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

โดยก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ เป็นเสนาบดีกระทรวงการคลัง พระมหาสมบัติ แต่เนื่องจากทรงพระประชวร กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ในฐานะรองเสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติจึงทรงปฏิบัติราชการแทน

ต่อมา วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2436 จึงได้โปรดเกล้าฯให้กรมพระยานริศฯดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการคลังมหาสมบัติแทนกรมพระจักรพรรดิพงษ์ที่ทรงประชวร สาเหตุที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ รองเสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติไม่ได้รับโปรดเกล้าฯให้ขึ้นเป็นเสนาบดี น่าจะเป็นเพราะพระองค์ทรงมีความรู้ความสามารถและความถนัดในทางอักษรศาสตร์เสียมาก เพราะก่อนหน้า ทรงดำรงตำแหน่งกรรมการ (สมัยนั้นเรียกว่า กรรมสัมปาทิก) หอพระสมุดวชิราญาณใน พ.ศ. 2428 และเป็นสภานายกในปี พ.ศ.2434

จากการสืบค้น ศึกษา วิเคราะห์เอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้นในสมัยรัชกาลที่ห้าและการวิเคราะห์ของนักวิชาการตะวันตก ของ ศาสตราจารย์ ดร. ปิยนาถ บุนนาค ทำให้เราทราบว่า หลังจากมีการตั้งกระทรวงทบวงกรมขึ้นและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งเสนาบดีกระทรวงต่างๆในปี พ.ศ. 2435 ต่อมาเวลาผ่านไปได้เพียงปีเดียว ก็ได้เกิด “การปรับปรุงคณะเสนาบดีครั้งใหญ่ ทั้งนี้เพราะเสนาบดีที่ตั้งไปในครั้ง พ.ศ. 2435 บางคนก็มิได้ปฏิบัติงานตามความมุ่งหมาย เพราะได้เกิดความขัดแย้งกันมากมาย เนื่องจากเอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับงานราชการ จนคณะเสนาบดีไม่ยอมมาประชุมเป็นเวลานาน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2439 เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอที่ทรงปรีชาสามารถสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ กลับมารับราชการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเปลี่ยนตัวเสนาบดีครั้งใหญ่ทั้งหมด 8 ตำแหน่งด้วยกัน”

จากเหตุผลข้างต้น ผู้เขียนจะขอเสริมความเห็นของผู้เขียนว่า ในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่างๆทั้ง 12 กระทรวงในตอนแรกเริ่มนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอในพระองค์ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่างๆ รวมทั้งตำแหน่งสำคัญอื่นๆที่มีมากมาย

แต่จำนวนของพระเจ้าน้องยาเธอที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในขณะนั้นมีเพียง 25 พระองค์ และทรงผนวชหนึ่งพระองค์ นั่นคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสในสมัยรัชกาลที่ห้า หรือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพในสมัยรัชกาลที่สี่) จึงทำให้ต้องมีการย้ายกระทรวงกันไปมาด้วยเหตุผลต่างๆ โดยเหตุผลสำคัญสองประการก็เป็นไปอย่างที่ศาสตราจารย์ ดร. ปิยนาถ ได้วิเคราะห์ไว้ นั่นคือ เสนาบดีบางคนก็มิได้ปฏิบัติงานตามความมุ่งหมายและเอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับงานราชการ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

การไม่สามารถปฏิบัติงานตามความมุ่งหมาย น่าจะเป็นเพราะสาเหตุสำคัญคือ ภายใต้ข้อจำกัดของการศึกษาในสมัยนั้น บรรดาพระเจ้าน้องยาเธอโดยส่วนใหญ่ก็มิได้ศึกษามาเฉพาะทางที่จะมีความรู้เฉพาะด้านสำหรับกระทรวงต่างๆที่เพิ่งตั้งขึ้น เพราะการมีกระทรวงทบวงกรมตามแบบตะวันตกนั้นเป็นของใหม่ ในช่วงแรก จึงอยู่ในช่วงของการ “ตั้งไข่” เข้าข่ายเป็นการทดลองงานและความถนัดของเสนาบดีกระทรวงต่างๆด้วย ข้อจำกัดเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญนั้นเป็นข้อจำกัดประการหนึ่ง นอกเหนือไปจากบุคลิกภาพความสามารถ ความใส่ใจเอาจริงเอาจังในการบริหารกระทรวงที่ตนรับผิดชอบ

ส่วนเรื่องการนำเอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับงานราชการนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้มากในเงื่อนไขที่เสนาบดีส่วนใหญ่เป็น “ญาติพี่น้อง” กันหมด คือ เป็น “การเมืองในครอบครัว” (family politics) เพราะจากข้อจำกัดในทางทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย และโดยส่วนใหญ่แล้ว “เจ้า” ย่อมได้รับการศึกษามากกว่าสามัญชนทั่วไป จากเงื่อนไขข้อจำกัดดังกล่าวนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระเจ้าน้องยาเธอที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในขณะนั้น ซึ่งมีเพียง 25 พระองค์ในตำแหน่งเสนาบดีเกือบทุกกระทรวง และรวมทั้งตำแหน่งอื่นๆที่มีความสำคัญ เช่นแต่งตั้ง กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่) เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ

และเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอและบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอ 4 พระองค์ที่ทรงได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นรุ่นแรกที่ไปศึกษาต่อในทวีปยุโรปในปี พ.ศ. 2428 สำเร็จการศึกษากลับมาในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน นั่นคือ ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2436-2439 จึงเกิดการปรับคณะเสนาบดีครั้งใหญ่อีกครั้งตามที่ ศาสตราจารย์ ดร. ปิยนาถได้กล่าวไว้

ในคราวหน้า ผู้เขียนจะได้กล่าวถึง การแต่งตั้งให้พระเจ้าน้องยาเธอและพระเจ้าลูกยาเธอที่สำเร็จการศึกษเป็นเสนาบดีในกระทรวงต่างๆในช่วงการ “ปรับคณะเสนาบดีครั้งที่สอง” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในภาษาการเมืองสมัยใหม่เรียกว่า “การปรับคณะรัฐมนตรี”

Source: https://www.posttoday.com/politic/columnist/680091

The post ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ตอนที่สิบ) appeared first on Thailand News.