ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

สปสช.ชี้แจงค่าบริการ “เจอ แจก จบ” ระบบจ่ายตรงร้านยา ไม่ผ่านคนกลาง

สปสช.ชี้แจงค่าบริการ “เจอ แจก จบ” ระบบจ่ายตรงร้านยา ไม่ผ่านคนกลาง

สปสช. ชี้แจง “บริการ เจอ แจก จบ ที่ร้านยา” ความร่วมมือ สภาเภสัชกรรม ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว เพิ่มความสะดวกเข้ารับการรักษา กรณีการจ่ายชดเชยค่าบริการมีระบบพิสูจน์ตัวตนผู้เข้ารับบริการ การบันทึกผลผ่านระบบ AMED พร้อมใช้วิธีจ่ายตรงร้านยาตามบัญชีที่ลงทะเบียน ไม่มีจ่ายผ่านคนกลาง ขอความร่วมมือร้านยา หากพบกรณีทุจริตแจ้งตรงที่ “เลขาธิการ สปสช.” จะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด พร้อมยืนยัน สปสช.เป็นหน่วยงานแห่งความโปร่งใส       

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวว่า ตามที่ได้มีวิเคราะห์ข่าวในประเด็น “สปสช.ดึง ร้านขายยา 700 แห่ง ดูแลผู้ป่วยโควิด” ทางสื่อออนไลน์ (ฐานเศรษฐกิจออนไลน์) นั้น สปสช.ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการในนโยบายนี้และถูกพาดพิงขอชี้แจงว่า นโยบายในการดึงร้านยา 700 แห่ง ร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการให้บริการแบบผู้ป่วยนอกแยกกักตัวที่บ้าน หรือ “เจอ แจก จบ” เนื่องด้วยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มสูงอย่างมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก สปสช. ได้ร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้าถึงระบบบริการรักษาโดยสะดวก ขณะเดียวกันยังลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการมากทั้งกลุ่มสีเหลืองและสีแดง และผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีร้านยาทยอยขึ้นทะเบียนในระบบกับ สปสช.แล้ว 500 แห่ง  

สำหรับร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 ตามนโยบายนี้ มีหลักเกณฑ์ระบุชัดเจนต้องเป็นร้านยาที่มีเภสัชกรประจำ โดยได้รับการเชิญชวนและคำแนะนำจากสภาเภสัชกรรมในการเข้าร่วมให้บริการ ซึ่งขณะนี้มีร้านยาที่สนใจและสมัครเข้ามาประมาณ 700 แห่ง ขึ้นทะเบียนในระบบแล้ว 500 แห่ง 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ขั้นตอนการเข้ารับริการเจอ แจก จบ ที่ร้านยานั้น เช่นเดียวกับการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลและหน่วยบริการอื่นๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยก่อนให้บริการจะมีการพิสูจน์ตัวตนของผู้รับบริการเพื่อยืนยันการเข้ารับบริการโดยใช้บัตรประชาชน และบันทึกข้อมูลการให้บริการผ่านโปรแกรม AMED Telehealth ระบบบริการการแพทย์ทางไกล ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการบันทึกข้อมูลเพื่อส่งเบิกกับ สปสช. 

ทั้งนี้ในส่วนของการจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับร้านยารายละ 700 บาทนั้น สปสช.วางระบบเป็นการจ่ายตรงเข้าบัญชีของร้านยาตามที่ลงทะเบียนไว้ โดยไม่มีการจ่ายผ่านคนกลางแต่อย่างใด ซึ่งตามที่ได้เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังมีจำนวนการเบิกค่าบริการเข้ามาไม่มาก มีเพียงราว 1,200 รายเท่านั้น  

อย่างไรก็ตามขอเรียนไปยังร้านยาที่ต้องการเข้าร่วมโครงการว่า ท่านสามารถสมัครเข้าร่วมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย กรณีที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามโดยตรงที่ สปสช. และหากพบว่ามีการทุจริตหรือมีพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใสในขั้นตอนใด ขอให้แจ้งโดยตรงที่เลขาธิการ สปสช. จะดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด     

“สปสช.ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้ร่วมกันวิเคราะห์และตั้งประเด็นการแสวงหาผลประโยชน์ในนโยบายนี้เพื่อให้เกิดการร่วมตรวจสอบในสังคม ซึ่ง สปสช.มีความยินดีด้วยเราเป็นหน่วยงานที่ยึดหลักคุณธรรม ส่งเสริมความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต และจะนำข้อสังเกตที่ได้รับมาตรวจสอบและเฝ้าระวังต่อไป” โฆษก สปสช. กล่าว   

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso

รายชื่อร้านยาดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียว ‘รับยา-ติดตามอาการตามระบบเจอ แจก จบ’ https://bit.ly/3jpyET3

ข้อมูล 

https://www.nhso.go.th/news/3567

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More