ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ป้ายหินสุสานบูเช็คเทียนทำไมไร้อักษรจารึกสดุดี?

ป้ายหินสุสานบูเช็คเทียนทำไมไร้อักษรจารึกสดุดี?

บูเช็คเทียน-จักรพรรดินีหนึ่งเดียวของจีน ป้ายหินหน้าสุสานพระองค์กลับไม่มีคำจารึกสดุดีสักตัวอักษร

บูเช็คเทียน (武则天) (พระราชสมภพ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 624 – สวรรคต 16 ธันวาคม ค.ศ. 705) จักรพรรดินีเพียงพระองค์เดียว ในประวัติศาสตร์ของจีน พระองค์เริ่มถวายตัวรับใช้ในวังด้วยการไต่เต้าจากตําแหน่งนางสนมชั้นตรี และก้าวขึ้นสู่ราชบัลลังก์ด้วยการสถาปนาราชวงศ์ต้าโจว (大周) เป็นผลสําเร็จในที่สุด (ระหว่าง ค.ศ. 690-705 เป็นยุคที่ราชวงศ์ถังเปลี่ยนชื่อเป็นต้าโจว) หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ ภารกิจหลักที่พระองค์ปฏิบัติก็คือ คิดหาทางกําจัดขวากหนามในราชสํานัก ซึ่งตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายตน นอกจากนี้ยังทรงดําเนินนโยบายการบริหารประเทศได้อย่างเฉียบแหลมไปในขณะเดียวกัน

ตลอดระยะเวลาที่ทรงเรืองอํานาจ พสกนิกรทั่วทุกหย่อมหญ้าต่างอยู่เย็นเป็นสุข ทว่าเรื่องเล่าจากปากสู่ปากเกี่ยวกับความเป็นมาของพระองค์กลับเป็นที่กล่าวขานกันอย่างมากในหมู่ประชาชน แม้กระทั่งตอนที่พระองค์สิ้นพระชนม์ ยังสร้างป้ายสุสานไร้อักษรตั้งตระหง่านอยู่เคียงข้างสุสานของตน

ป้ายหินที่สุสานดังกล่าวกลายเป็นที่สงสัยว่า เหตุใดพระองค์จึงตัดสินใจไม่สลักอักษรใดๆ ?

สุสานที่ฝังพระศพของ กษัตริย์ถังเกาจง ( 唐高宗) และบูเช็คเทียน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมหานครซีอาน หน้าหลุมพระศพมีป้ายศิลาอยู่ 2 ป้าย ซึ่งมีความสูง 6.3 เมตร ตั้งตระหง่านอยู่

ป้ายศิลาทางด้านตะวันตกมีการสลักข้อความสดุดีคุณูปการ ที่กษัตริย์ถังเกาจงเคยสร้างไว้ เมื่อครั้งยังมีพระชนม์อยู่ มีชื่อว่า 述圣碑 (ซูเซิ่งเปย) คําจารึกเหล่านี้ได้จากการบอกเล่าของบูเช็คเทียนและถ่ายทอดผ่านฝีพระหัตถ์ในรูปแบบบทกวี 7 คำ ของรัชทายาทอย่างกษัตริย์ถังจงจง (唐中宗) มีความกว้าง 1.86 เมตร หนัก 81.6 ตัน

ส่วนป้ายศิลาทางด้านตะวันออกเป็นแท่นหินว่างเปล่า จึงมีชื่อเรียกว่า “无字碑 ” (อู๋จื้อเปย-แท่นหินไร้อักษร) ทว่ามีการสลักลวดลายมังกร 8 ตัว ซึ่งลําตัวพันไปมาอยู่บนส่วนยอดของตัวเสา และด้านบนของเสาสลักลวดลายฝูงม้าที่กําลังค้อมตัวลงดื่มน้ำ พร้อมด้วยภาพสลักกองกําลังทหารอันเกรียงไกร สลับกับลวดลายปุยเมฆ ถือเป็นงานแกะสลักที่มีความละเอียดอ่อนและประณีตมาก ทําให้ป้ายศิลาดังกล่าวกลายเป็นโบราณวัตถุซึ่งหาชมได้ยากในทุกยุคสมัย

ปัจจุบันผู้คนต่างเคลือบแคลงถึงสาเหตุของการที่บูเช็คเทียนปล่อยให้ป้ายศิลาหน้าสุสานว่างเปล่าโดยไม่ปรากฏอักษรใดๆ ทั้งนี้ มีข้อสันนิษฐานหลักๆ 3 ประการดังนี้คือ

1. พระองค์ทรงคิดว่า คุณงามความดีที่ตนสร้างให้แก่บ้านเมือง ขณะที่นั่งอยู่บนราชบัลลังก์ถือว่ามากมายเหลือคณานับ ต่อให้ป้ายศิลามีขนาดใหญ่เพียงใดก็คงมีพื้นที่ไม่เพียงพอสําหรับการจดบันทึก

แม้ตนจะเป็นเพียงแค่อิสตรี แต่กลับมีความสามารถเฉพาะตัวสูงกว่ากษัตริย์ถังเกาจงอย่างสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้น ขณะที่พระองค์ครองราชย์ สังคมเกิดความสงบสุข อาณาประชาราษฎร์ต่างอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข สิ่งเหล่านี้ถือเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงซึ่งพระองค์ได้สั่งสมไว้ น่าเสียดายที่ประชาชนในยุคนั้นต่างรู้สึกต่อเหตุการณ์ในช่วงที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ในลักษณะเดียวกันว่า บูเช็คเทียนช่วงชิงบัลลังก์มาจากพระสวามี และถือเป็นพระสนมที่มีจิตใจเหี้ยมโหด จึงมองข้ามคุณงามความดีที่พระองค์ได้สร้างให้แก่บ้านเมือง

ดังนั้นการปล่อยแท่นศิลาจารึกว่างเปล่าจึงถือเป็นการเปิดรับความคิดเห็นในเรื่องคุณงามความดีของพระองค์ที่สร้างไว้เพื่อชนรุ่นหลังสามารถนำมาถกเถียงกันต่อไป

2. เนื่องจากรู้ว่าตนเองเคยก่อกรรมทําเข็ญไว้มาก การสร้างป้ายศิลาโดยสลักข้อความสดุดีความดีของตน อาจตกเป็นเป้าครหาของประชาชน ดังนั้น จึงทรงตระหนักดีว่าการไม่สลักคุณูปการของตนจะเป็นผลดีมากกว่า

3. เหตุที่ไม่สลักอักษรใดๆ ลงบนป้ายศิลาเป็นเพราะ อยากให้ชนรุ่นหลังได้มีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความดี-ความชั่วที่พระองค์ได้กระทําขณะยังมีชีวิตอยู่ ข้อสันนิษฐานนี้แตกต่างจากข้อที่แล้วอย่างสิ้นเชิงเพราะบูเช็คเทียนรู้สึกภาคภูมิใจในความสําเร็จเรื่องการบริหารบ้านเมืองของตนเป็นอย่างมาก

การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่ผู้หญิงแทบจะไม่มีความสําคัญใดๆ เลยในยุคนั้น แต่พระองค์กลับสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาท อยู่ในแวดวงการเมืองของประเทศและสามารถกุมอํานาจบริหารสูงสุดไว้ในกํามือ การไม่สลักอักษรใดๆ ลงบนแท่นหิน คงเป็นเพราะพระองค์ทรงต้องการให้ชนรุ่นหลังได้แสดงความคิดเห็นต่อตัวผลงานที่ทรงกระทํามาตลอดพระชนม์ชีพมากกว่า

ข้อสันนิษฐานข้างต้นต่างก็มีเหตุผลที่ชวนคิดทั้งสิ้น ทว่าตราบจนทุกวันนี้ก็ยังหาข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุของการปล่อยให้ป้ายศิลาหน้าสุสานของพระองค์ว่างเปล่าโดยปราศจากตัวอักษรมิได้

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นับจากสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋朝 ราว ค.ศ. 960-1279) และอาณาจักรจิน (金国 ราว ค.ศ. 1234) เป็นต้นมา ผู้คนเริ่มสลักตัวอักษรลงบนแท่นศิลาดังกล่าว นับรวมได้ 13 ข้อความ

ที่น่าแปลกก็คือ ส่วนหนึ่งของภาษาที่ใช้ในการสลักเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อย ยังไม่เคยมีใครสามารถอ่านและตีความหมายอักษรเหล่านี้ได้ เนื่องจากใน ค.ศ. 1134 พระเชษฐาของกษัตริย์จินไท่จง (金太宗) ได้สลักกฎมณเฑียรบาลด้วยอักษรของชาวจินลงบนเสา โดยมีอักษรฮันกํากับเป็นคําอธิบาย ทําให้ทราบว่าตัวอักษรบนแท่นหินไม่ใช่ตัวอักษรจีน

ตราบจนกระทั่งเมื่อศตวรรษที่ 20 นักโบราณคดีก็พบอักษรในลักษณะเดียวกันที่ชุมชนปาหลิน (巴林) ในประเทศมองโกเลีย การค้นพบครั้งนี้ทำให้พบว่า อักษรบนแท่นศิลามีลักษณะเดียวกับอักษรของชนกลุ่มน้อยอย่างชี่ตาน (契丹) ซึ่งสถาปนาอาณาจักรเหลียว ( 辽国 ระหว่าง ค.ศ. 907-1125) บริเวณตอนเหนือของจีน อักษรของชนเผ่านี้ถือกําเนิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 920 ทว่า เป็นที่น่าเสียดายที่บ้านเมืองเกิดศึกสงครามจนทำให้ชนเผ่าชี่ตานมีอันต้องล่มสลายไปในท้ายที่สุด

เมื่อมาถึงสมัยราชวงศ์หยวน (元朝) แทบจะหาผู้อ่านตัวอักษรชี่ตานออกน้อยมาก ตราบจนกระทั่งราชวงศ์หมิง (明朝 ค.ศ. 1368-1644) ภาษาที่สลักอยู่บนแท่นศิลาจารึก ได้กลายเป็นภาษาตายตลอดกาล

อย่างไรก็ตาม อักษรเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า และส่งผลให้ศิลาจารึกไว้อักษรของบูเช็คเทียนแผ่นนี้กลายเป็นโบราณวัตถุที่ล้ำค่าจวบจนปัจจุบัน

The post ป้ายหินสุสานบูเช็คเทียนทำไมไร้อักษรจารึกสดุดี? appeared first on Thailand News.