ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

นักวิชาการม.ออสเตรเลียชี้ กรุงศรีอยุธยามิได้ถูกพม่าเผาทั้งหมด พวกอื่นทำลายหลังกรุงแตก

นักวิชาการม.ออสเตรเลียชี้ กรุงศรีอยุธยามิได้ถูกพม่าเผาทั้งหมด พวกอื่นทำลายหลังกรุงแตก

ข้อสังเกตเรื่องพม่าเผาทำลายกรุงศรีอยุธยาหลังจากตีกรุงศรีฯ เมื่อปี พ.ศ. 2310 เป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงในวงวิชาการมายาวนาน แม้แต่นักวิชาการต่างชาติอย่างออสเตรเลียก็เคยเขียนบทความตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ด้วย

บทความชื่อ “ใครทำลายกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา)?” โดย ดร. บี.เจ. เตรวิล จากศูนย์ประวัติศาสตร์เอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Asian History Centre, Australian National University) เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 11 เดือนกันยายน 2528

เนื้อหาต่อไปนี้คือเนื้อหาที่คัดลอกมาจากบทความเดิม

…ผู้เขียนมีโอกาสดีมากที่ได้ไปทำงานที่กรุงปารีส และได้ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่อ่านจดหมายและเอกสารสำคัญต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมากมายที่แผนกจดหมายเหตุของ Missions Etrangères de Paris

จดหมายจำนวนมากมายเหล่านี้ เขียนโดยบาทหลวงที่เข้ามาสอนศาสนา เขียนถึงศูนย์กลางเผยแผ่ศาสนาที่กรุงปารีส มีจดหมายหลายฉบับที่ให้ความรู้อันมีคุณค่ายิ่งต่อนักประวัติศาสตร์ ข้อสังเกตเล็กน้อยถึงเหตุการณ์ซึ่งอาจจะไม่มีความสำคัญสำหรับบาทหลวง แต่จะเป็นข้ออ้างซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์แก่เรา

ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องลงใน “ศิลปวัฒนธรรม” และได้กล่าวถึงเอกสารต่างๆ ที่หอจดหมายเหตุของฝรั่งเศส ซึ่งอาจจะทำให้เราต้องหันมาพิจารณาแก้ไขบางสิ่งบางอย่างในประวัติศาสตร์ไทย ในเรื่องนั้นได้กล่าวถึงการป้องกันอยุธยาระหว่างพม่าล้อมกรุงศรีฯ และได้พิจารณาถึงปัญหาซับซ้อนว่า ทำไมกรมหลวงรักษรณเรศร์ถึงถูกประหารชีวิต ในปี 2391 สำหรับบทความสั้นๆ นี้ผู้เขียนอยากจะชี้ให้เห็นคุณค่าของจดหมายเหตุของฝรั่งเศส โดยการยกตัวอย่างอีกถึงเรื่องการทำลายกรุงศรีอยุธยา

นักประวัติศาสตร์ส่วนมากจะลงความเห็นเดียวกันว่า “เรื่องการเสียกรุงนั้นทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว” กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลาย

หนังสือประวัติศาสตร์ทุกเล่มต่างก็เห็นพ้องเช่นนั้น พม่าทำลาย เผาและขนเอาทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลของไทยไปประเทศพม่าโดยไม่มีความเมตตากรุณาเลย รวมทั้งกวาดต้อนเอาคนไทยนับหมื่นไปเป็นเชลย เหลือแต่ซากเมืองหลวงที่ถูกทำลาย

หนังสือประวัติศาสตร์ที่คนส่วนมากยอมรับเล่มหนึ่งกล่าวว่า พม่าทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง “…สำหรับผู้ชนะซึ่งมีแต่ความโลภ ปราศจากบุญ บาป ทำลายแม้แต่วัดวาอาราม แม้แต่ศาสนาของตนเอง พระพุทธรูปที่ใหญ่และสวยงามที่สุดได้ถูกทำลาย ตัด(เลื่อย)เป็น ชิ้นๆ และเป็นจำนวนมากถูกเผาเอาทองซึ่งหุ้มองค์พระพุทธรูป มีแต่การแย่งชิงและขนเอาไปให้หมดแต่อย่างเดียว”[1]

ข้อบกพร่องข้อแรกที่เกิดจากความนิยมกันทั่วๆ ไปอยู่ที่กาลเวลาและโอกาส อยุธยาเคยเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ในโลก ซึ่งมีป้อมปราการใหญ่โตมโหฬารเต็มไปด้วยปราสาทพระราชวัง วัดวาอารามต่างๆ อันสวยงาม เราทราบกันแล้วว่าพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้ในคืนวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 สิ่งที่คนส่วนมากยังไม่คำนึงถึงคือจากหลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสกล่าวว่า กองทัพพม่าส่วนใหญ่ยกกลับประเทศพม่าในวันที่ 25 เมษายน เพียง 18 วันหลังจากตีกรุงศรีอยุธยาได้ ผู้ชนะย่อมปฏิบัติตนอย่างโหดร้ายแบบผู้ชนะทั่วไป มีการฆ่าฟันกันตายแน่ ได้เงินทองและนำเอาเชลยศึกอาจถึง 30,000 คนไปด้วย[2]

ถ้าเรายอมรับวันที่กล่าวมาแล้ว (25 เม.ย. พม่าเดินทางกลับ) ของบาทหลวงฝรั่งเศสแล้ว (ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่จะคัดค้าน) เราอาจจะกล่าวด้วยความมั่นใจได้ว่าพม่ารีบร้อนที่จะยกทัพกลับ พม่าคงจะไม่มีเวลาพอที่จะทำลาย (ทุกสิ่งทุกอย่าง) ดังที่กล่าวถึงกัน

จริงอยู่ พม่าเหลือกองทัพเพียง 2-3 พันไว้แถวอยุธยาและที่ราชบุรี พม่าได้แต่งตั้งกองทหารดูแลรักษาทหารกองที่พม่าแต่งตั้งเพื่อรักษาเมือง อาจจะมีส่วนทำลายบ้าง แต่หน้าที่ของกองทัพดังกล่าวคือการช่วยเหลือการปกครองให้แก่พม่า ไม่ใช่ที่จะทำให้ราษฎรเดือดร้อนอีก กองทหารที่พม่าแต่งตั้งดังกล่าวอยู่ได้เพียง 6 เดือนเท่านั้นก่อนที่พระเจ้าตากจะยึดคืนมาได้ และกรุงศรีอยุธยาก็กลับคืนมาอยู่ใต้อำนาจของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง

สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้อาจจะทำให้ท่านแปลกใจ (Shock) ถ้าท่านเชื่อถือแบบผิวเผินว่ากรุงศรีอยุธยาถูกทำลายอะไรบ้าง แล้วไม่มีความสงสัยในข้อที่ว่าพม่าไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำลายกรุงศรีอยุธยาดังกล่าว

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2565 “เพลงยาวชาวกรุงเก่า : คำบอกเล่า “ความหลัง” ครั้งเสียกรุง” และบทความน่าสนใจอื่นๆ การเดินทางของกองทัพพม่าสู่ค่ายวัดทุ่งประเชด-ปากกราน, ภาพอานุภาพในรัชกาลที่ ๕ จุดยืนของสยามยามวิกฤติ, ศัพท์มหาชาติคำหลวง ผลงานที่ถูกลืมของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย), ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ไม่ใช่นวัตกรรมอาหารสมัย จอมพล ป.

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2312 ชาวต่างประเทศคนแรกที่ไปกรุงศรีอยุธยาหลังจากเสียกรุงและได้ส่งคำพรรณนาถึงความยากจนของราษฎรทั่วๆ ไป รวมทั้งเด็กที่ไม่มีที่อยู่อาศัยส่งไปให้ผู้อ่านที่ฝรั่งเศส เขาได้กล่าวต่อไปว่า

“คนไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนซึ่งไม่สามารถจะช่วยตนเองได้ หันไปทำลายวัดวาอารามต่างๆ เขาเหล่านั้นได้ทำลายพระพุทธรูป เผา ตัดเป็นชิ้นๆ สำหรับพระพุทธรูปที่ทำด้วยทองแดงก็เอาไฟสุมหลอมเสีย ประตูหน้าต่างและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่จะเผาได้ก็เผาเสีย พระพุทธรูปนั้นให้ความเอื้ออารี แม้ว่าจะถูกคนงานตัดออกเป็นชิ้นๆ (พระพุทธรูปซึ่งคนเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ แต่ตอนนี้ถูกผู้ที่เคยนับถือตัดออกเป็นชิ้นๆ) ที่วัดประดู่มีการค้นพบทองและเงินถึง 5 โอ่ง และที่วัดโพธิ์ราย (พุไร) Phu-Rhai ได้ทองจากหอใหญ่ของวัดได้ทอง 3 ลำเรือ ข้าพเจ้าอยู่ที่ประเทศสยามแล้ว เมื่อคนจีนค้นพบ ข้าพเจ้าสามารถกล่าวยืนยันได้ว่า แทบจะไม่มีเจดีย์องค์ไหนเลยในบริเวณเมืองหลวงและรอบๆ เมืองหลวงที่ไม่ถูกทำลาย คนจีนถือโอกาสทำลายเจดีย์อันสวยงามเหล่านี้ เพราะเขาจะไม่ต้องทำงานอื่น”[3]

ผู้เขียนคนเดียวกันยังให้ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ในจดหมายฉบับอื่นๆ ซึ่งเขียนในวันเดียวกันคือ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2312 2 ปีหลังจากที่พม่าหมดอำนาจในการควบคุมกรุงศรีอยุธยา เขาได้กล่าวว่าในปี พ.ศ. 2311 และปี พ.ศ. 2312 คนจีนและคนไทยไม่มีงานอะไร นอกจากทำลายพระพุทธรูปและวัดวาอารามสิ่งก่อสร้าง เหมือนกับว่าเป็นความขยันของคนจีนที่จะให้ประเทศชาติกลับคืนมาสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด ถ้าปราศจากการขุดค้นหาทรัพย์สมบัติแล้ว คงจะไม่มีเงินและความมั่นคงของประเทศชาติ

“เขาเอาดีบุก ทองแดง ทองเหลือง หลอมทำอาวุธไม่เหลือเลย ประตู หน้าต่าง เสาไม้ ซึ่งทำด้วยไม้ในวัดวาอาราม ได้ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงที่จะหลอมเอาโลหะดังกล่าว”[4]

ถ้าเราเชื่อข้อความของบาทหลวงนี้ การทำลายกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นผลของการกระทำดังกล่าวไม่ใช่โดยพม่า แต่โดยคนไทยและคนจีน[5] ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่เห็นคล้อยด้วย อย่างไรก็ตาม บาทหลวงอาจจะมีความต้องการที่จะเปลี่ยนพุทธศาสนาของคนไทยเป็นคริสต์ศาสนา มันอาจจะเป็นไปได้ว่าการเขียนเรื่องรายงานไปยังศูนย์กลางศาสนา แม้ว่าเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้ผู้อ่านชาวยุโรปเชื่อถึงความล้มเหลวของผู้นับถือศาสนาตะวันออก

ท่านผู้อ่านที่มีความสงสัยดังกล่าว ควรได้รับการยกย่อง เพราะว่าฝรั่งเองก็มักมีความคิดเห็นบิดเบือนอยู่บ่อยๆ แต่ว่าในกรณีนี้มีพยานที่เห็นเหตุการณ์เช่นเดียวกัน

ในปี พ.ศ. 2321 9 ปีหลังจากพยานหลักฐานที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น Dr. J.G Koening ซึ่งเป็นนักสังเกตการณ์และนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่มีความสนใจที่จะสนับสนุนศาสนาของยุโรป เขาเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นในพระพุทธศาสนา จากบันทึกของเขากล่าวถึงกรุงเก่าที่ถูกทำลายว่า

“คนยังขุดค้นหาทรัพย์สมบัติ ซึ่งเชื่อกันว่ามีการซุกซ่อนในระหว่างสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใกล้ๆ วัดใหญ่ๆ และซากของพระราชวัง เมื่อคืนนี้ข้าพเจ้าสามารถเห็นรอยการขุดใหม่ๆ มีคนค้นพบบริเวณที่ซ่อนทรัพย์สมบัติและขุดได้ทรัพย์สมบัติที่ยังบรรจุอยู่ในที่ซ่อน”[6]

ในแง่ของ Dr. J.G Koening เป็นการแน่นอนว่าการทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเก่าอาจจะเกิดขึ้นเพราะการขุดค้นหาทรัพย์สมบัติหลังจากพม่าถอนทัพกลับไปแล้ว อาจจะเป็นไปได้ที่มีคนที่จะฉวยโอกาสที่จะทำลายสถานศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีอะไรที่จะทำให้เขาเหล่านั้นเกรงกลัว เพราะอำนาจการปกครองหมดสิ้นไปแล้ว

จากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานกล่าวว่าในปี 2309 เมื่อพม่าบุกล้อมกรุงศรีอยุธยา ทหารจีนที่ส่งจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อต่อสู้กับพม่าได้ไปที่มณฑปใหญ่ของพระพุทธบาทที่สระบุรีและทำลาย

อนึ่ง จีนค่ายคลองสวนพลู 400 เศษ ชวนกันขึ้นไปทำลายพระพุทธบาท เลิกเอาเงินดาดพื้น ทองหุ้มพระมณฑปน้อยลงสิ้น ครั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบ จึงให้ว่าแก่นายด่าน ให้สืบเอาเงินทองของพระพุทธบาทส่งเข้ามา[7]

ทำไมจึงจะมีคนมากล่าวอย่างนี้ว่า ตำราประวัติศาสตร์ไทยอาจจะไม่สมบูรณ์ถูกต้อง ในการกล่าวถึงการเสียกรุงของกรุงศรีอยุธยา

ผู้เขียนขอยืนยันว่า บทความนี้มิใช่ที่จะทำให้ใครขายหน้าหรือสร้างข้อขัดแย้งขึ้น การทำลาย การแย่งชิง การค้นหาทรัพย์สมบัติ ย่อมเป็นส่วนของการทำสงคราม แล้วก็การที่คนจีนและคนไทยอาจจะทำลายสถานศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นมหาสมบัติซึ่งอาจจะไม่ด้อยหรือแย่ไปกว่าความโลภที่คนชาติอื่นเขาทำกัน ผู้เขียนถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องบอกถึงความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ และความเป็นจริงจะไม่ทำอันตรายให้แก่ใครถ้าหากว่าข้อเสนอนั้นเต็มไปด้วยการรู้เห็นอย่างกระจ่างแจ้ง

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะมีส่วนเล็กน้อยในความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย นอกจากความสำคัญในการศึกษาข้อมูลขั้นแรก (Primary Sources) อย่างเช่นในกรณีจดหมายเหตุของฝรั่งเศสที่ใช้เป็นพื้นฐาน มีเหตุผล 2 ประการสำหรับบทความนี้

ถ้าข้อความของรายงานดังกล่าวเป็นจริง จึงไม่เป็นความยุติธรรมที่จะโทษพม่าว่าทำลายทุกสิ่งทุกอย่างของกรุงศรีอยุธยา (คำกล่าวหานี้ไม่ถูกต้อง) การทำลายวัดวาอารามหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ตลอดจนพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียง เป็นผลของการลักขโมยหลังจากพม่ายกทัพกลับไปแล้ว ในข้อนี้อาจจะนำเราไปข้อที่ว่า พม่าทำลายหนังสือจดหมายเหตุ ต่างๆ

บาทหลวงได้ตั้งข้อสังเกตว่า การกลับคืนมาของเศรษฐกิจของประเทศภายใต้การปกครองของพระเจ้าตากสิน อาจจะเป็นไปได้สำหรับการค้นหาทรัพย์สมบัติในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนเชื่อว่ายังไม่มีการกล่าวถึงกันของนักเศรษฐศาสตร์ทางประวัติศาสตร์ พระเจ้าตากสินทรงคุ้มครองถึงบริเวณอยุธยาในปี 2311 ด้วยเหตุนี้อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องการทรัพย์สมบัติจากกรุงเก่ามาค้ำจุนกรุงธนบุรีและกองทัพของพระองค์ในการกระทำสงคราม

ความจริงที่ทำให้เราไม่สบายใจนี้ อาจจะช่วยให้เราหันไปตรวจสอบอดีตในแง่ใหม่ ดังได้กล่าวมาแล้วทั้ง 2 ประการ

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_27325

The post นักวิชาการม.ออสเตรเลียชี้ กรุงศรีอยุธยามิได้ถูกพม่าเผาทั้งหมด พวกอื่นทำลายหลังกรุงแตก appeared first on Thailand News.