ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

วธ.เผยผลโพลประชาชนยุคโควิด-19 ส่วนใหญ่อยากให้จัดงานสงกรานต์แบบออนไซต์และออนไลน์ เพื่อสืบสานเทศกาลประเพณีไทย

วธ.เผยผลโพลประชาชนยุคโควิด-19 ส่วนใหญ่อยากให้จัดงานสงกรานต์แบบออนไซต์และออนไลน์ เพื่อสืบสานเทศกาลประเพณีไทย

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน ในหัวข้อ “สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ประจำปี 2565 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 5,999 คน ผลปรากฏว่า  1. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 74.50 เห็นว่า “วันสงกรานต์” มีความสำคัญ คือ เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย รองลงมา คือ ร้อยละ 64.33 เป็นธรรมเนียมปฏิบัติชัดเจน เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ งดงาม บ่งบอกถึงความเป็นไทย ร้อยละ 59.13 เป็นวันครอบครัว ช่วงเวลาแห่งความรัก ความอบอุ่น และทำกิจกรรมร่วมกัน และร้อยละ 49.06 เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ตามลำดับ
        2.เมื่อพูดถึงวันสงกรานต์ ส่วนใหญ่จะนึกถึงสิ่งใดมากที่สุด คือ อันดับ 1 รดน้ำขอพรผู้ใหญ่  อันดับ 2 เล่นน้ำสงกรานต์ อันดับ 3 ขึ้นปีใหม่แบบไทย 3. ปัจจุบันอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่วนใหญ่ร้อยละ 31.36 อยากให้มีการจัดงานสงกรานต์แบบออนไซต์และออนไลน์ รองลงมา คือ ร้อยละ 26.97 จัดในรูปแบบปกติหรือออนไซต์ ร้อยละ 22.07 ไม่ควรจัด และร้อยละ 19.60 จัดในรูปแบบออนไลน์ ตามลำดับ   4. ประชาชนส่วนใหญ่ ตั้งใจเข้าร่วมกิจกรรม “วันสงกรานต์” อันดับ 1 วัด อันดับ 2 บ้าน อันดับ 3 สถานที่ที่มีการจัดงาน  5. กิจกรรมที่ตั้งใจจะทำในช่วงสงกรานต์ อันดับ 1 ทำบุญตักบาตร  อันดับ 2 รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ อันดับ 3 สรงน้ำพระ อันดับ 4 ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ/การทำบุญอัฐิ และอันดับ 5 พบปะสังสรรค์กับครอบครัว/ญาติพี่น้อง
        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า 6. บุคคลที่ต้องการรดน้ำขอพร อันดับ 1 พ่อแม่/ญาติผู้ใหญ่ อันดับ 2 ครูบาอาจารย์/ผู้มีพระคุณ  อันดับ 3 พระสงฆ์ อันดับ 4 เจ้านาย/ผู้บังคับบัญชา อันดับ 5 ศิลปิน (ดารา นักแสดง บุคคลที่มีชื่อเสียง) 7. กิจกรรมที่คิดว่าควรช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทย อันดับ 1 การทำบุญ ตักบาตร สรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทราย เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต อันดับ 2 การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ อันดับ 3 การเล่นน้ำ สาดน้ำแบบสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับกาลเทศะ ตามประเพณีโบราณไทย อันดับ 4 การแต่งกายแบบไทยๆ ด้วยผ้าไทย ผ้าขาวม้า ผ้าประจำถิ่น แต่งกายย้อนยุค ฯลฯ อันดับ
          8. ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการผ่อนคลายอนุญาตให้จัดกิจกรรมสงกรานต์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting ทั้งในกิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมในครอบครัว และกิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์  โดยต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด การสรงน้ำพระพุทธรูป ให้เตรียมอุปกรณ์มาด้วยตนเองและห้ามนำน้ำที่สรงน้ำมาใช้ต่อ หากประเมินว่ามีความเสี่ยงควรพิจารณาตรวจ ATK ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเข้าร่วมกิจกรรม จัดกิจกรรมในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศได้ดีหรือในที่โล่ง จัดให้มีจุดล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ สวมหน้ากากอนามัย และควรเฝ้าระวังตนเองอย่างน้อย 10 วันหลังจบการร่วมงาน  และ9.ประชาชนส่วนใหญ่อยากฝากถึงวธ.ให้ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมประเพณีวันสงกรานต์ อาทิ การรดน้ำ  ขอพรผู้ใหญ่ ส่งเสริมการละเล่นพื้นบ้าน ขบวนแห่ แสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม การทำบุญตักบาตร บังสุกุลอัฐิ ฟังเทศน์ฟังธรรม สรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัดหรือก่อพระเจดีย์ ปล่อยนกปล่อยปลา ส่งเสริมการสวมใส่ผ้าไทยหรือผ้าพื้นถิ่นร่วมงานสงกรานต์ และขอให้นำเสนอถึงความเป็นมาและกิจกรรมของประเพณีสงกรานต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์

ข้อมูล สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More