ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“ปราสาทเขมร” สถาปัตยกรรมซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดและทรงสร้างในไทย

“ปราสาทเขมร” สถาปัตยกรรมซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดและทรงสร้างในไทย

ในบรรดาสิ่งที่ “โปรด” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ปราสาทเขมร ถึงกับมีพระราชดำริให้รื้อปราสาทเขมรมาสร้างในประเทศ เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2402 แล้วนำมาสร้างไว้บนยอดเขามหาสวรรค์ (เขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี และวัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร

พิญชา สุ่มจินดา อธิบายเรื่องปราสาทเขมร ที่รัชกาลที่ 4  โปรดไว้ใน “ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา”  ซึ่งขอสรุปมาเสนอแก่ท่านผู้อ่าน

แม้โครงการดังกล่าวจะไม่สำเร็จ หากความยิ่งใหญ่งดงามของปราสาทเขมรยังคงอยู่ในพระราชหฤทัย เช่น ปราสาทนครจำลอง ที่วัดพระแก้ว (ที่โปรดเกล้าฯ ให้วัดมาตราส่วนจำลองตามแบบปราสาทนครอย่างละเอียด), พระเจดีย์แดง ปรางค์อย่างเขมรที่วัดพระแก้วน้อย บนยอดเขามหาสวรรค์ จังหวัดเพชรบุรี ฯลฯ

ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อที่ดินพระราชทานให้เป็นวิสุงคามสีมาวัดราชประดิษฐ เพื่อเป็นวัดของคณะสงฆ์ธรรมยุต จึงมีอาคารที่สร้างตามแบบสถาปัตย์เขมรที่พระองค์โปรดอยู่ด้วย นั้นคือ “ปราสาทพระบรมรูป”

“ปราสาทพระบรมรูป” หรือ “ปราสาทพระจอม” ลักษณะคล้ายกับปราสาทพระไตรปิฎกเกือบทุกประการ เพียงแต่ใช้กลีบขนุนประดับรูปเทพนมแทนนาคปัก เปลี่ยนยอดปราสาทตรงบัญชรชั้นแรกเป็นรูปหน้าบุรุษสวมกะบังพักตร์แบบเขมรทั้ง 4 ด้าน รวมเป็นยอดจตุรพักตร์ หรือที่นิยมเรียกว่า “พรหมพักตร์”

ความพิเศษนี้อาจมีนัยบางอย่างที่ผู้สร้างต้องการสื่อถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระองค์โปรดปรานสถาปัตยกรรมประเภท “ปรางค์” และ “พรหมพักตร์” เป็นพิเศษ

การสร้างปรางค์แบบเขมรของพระองค์ อาทิ พระปรางค์แดงบนยอดเขามหาสวรรค์ (เขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี หรือปราสาทยอดปรางค์ เช่น ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่นั่งเวชยันตวิเชียรปราสาท พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความชื่นชมดังกล่าว ทรงพระราชดำริให้รื้อ “ปราสาทไผทตาพรหม” จากประเทศกัมพูชา ประเทศราชของไทยในตอนนั้นมาไว้ที่กรุงเทพมหานครและเพชรบุรี หากไม่สำเร็จตามพระราชประสงค์

ปราสาทไผทตาพรหม ปัจจุบันแม้ยังไม่ทราบว่าเป็นปราสาทใดแน่ชัด แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า คือ ปราสาทตาพรหม ในแขวงเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เพราะขนาดความสูงประมาณ 12 เมตร ที่กล่าวไว้เป็นความสูงใกล้เคียงกับโคปุระหรือประตูทางเข้ากำแพงชั้นนอก ปราสาทตาพรหมซึ่งยอดเป็นรูปจตุรพักตร์ ส่วนรูปพรหมพักตร์ก็เป็นที่โปรดปรานเช่นกัน

ดังเห็นได้จากทรงสร้างประตูพรหมพักตร์ยอดปรางค์ในเขตพระราชฐานชั้นใน ตามอย่างประตูพระราชวังหลวงกรุงเก่า เช่น ประตูพรหมโสภา และประตูศรีสวัสดิ์ข้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หรือซุ้มประตูยอดทรงมงกุฏยอดพรหมพักตร์ หน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นต้น รวมทั้งทรงริเริ่มใช้ยอดพรหมพักตร์เป็นยอดพระกลดเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก ความชื่นชมในรูปพรหมพักตร์ของพระองค์จึงอาจมีความเกี่ยวข้องกันจนผู้สร้างนำมาเป็นประเด็นในการสร้างยอดพรหมพักตร์ของปราสาทพระจอมก็เป็นได้

อนึ่ง รูปจตุรพักตร์บนยอดปราสาทหรือที่ไทยเราเรียกว่า “พรหมพักตร์” ถือกำเนิดในประเทศกัมพูชาตรงกับรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ทรงนับถือพุทธศาสนาในระยะแรก ส่วนหนึ่งของยอดโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าปราสาทในพุทธศาสนา เช่น ปราสาทตาพรหม ต่อมาจึงนำไปใช้เป็นยอดปราสาทเช่นที่เรารู้จักกันดี คือ ปราสาทบายน

นักวิชาการโดยทั่วไปเชื่อว่า คือ พระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณาของผู้ที่นับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายานและลัทธิตันตรยาน (วัชรยาน) ที่เขมรโบราณเรียกว่าพระโลเกศวร ทว่านักวิชาการบ้างกลุ่มมีความเห็นว่า น่าจะเป็นพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าในลัทธิตันตรยานของกัมพูชา เพราะหากเป็นพระโลเกศวรจะต้องมีพระพุทธรูปปางสมาธิ คือ พระอมิตาภะอยู่บนพระเศียร เช่นเดียวกับสถูปสวายัมภูนาถ เนปาล

The post “ปราสาทเขมร” สถาปัตยกรรมซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดและทรงสร้างในไทย appeared first on Thailand News.