ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“หัวลำโพง ฝรั่งเรียกไม่ชัด ไทยพลอยเรียกตามว่า วัวลำพอง” พระราชวิจารณ์ศัพท์ไทย-ฝรั่งในร.5

“หัวลำโพง ฝรั่งเรียกไม่ชัด ไทยพลอยเรียกตามว่า วัวลำพอง” พระราชวิจารณ์ศัพท์ไทย-ฝรั่งในร.5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากไฟล์ต้นฉบับของ AFP PHOTO)

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อครั้งยังเป็นที่พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ ตำแหน่งเจ้ากรมตรวจการศึกษาในกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2453 เนื้อหาส่่วนหนึ่งว่าด้วยพระราโชบายด้านการศึกษาของชาติ เนื้อหาส่วนที่ลงวันที่ 4 กรกฎาคม ร.ศ. 129 มีเรื่องการใช้ศัพท์ไทย ศัพท์ฝรั่ง ในอดีต

พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ส่วนหนึ่งทรงมีพระราชวิจารณ์เรื่องการใช้ภาษาไทย เช่น “…ถ้าขืนเอาอย่างฝรั่งตะพัดตะเพิดไปจะหลง ไม่รู้หัวนอนปลายตีน เมืองเก่า ๆ ที่เรียกชื่อไว้ในหนังสือ จะกลายเป็นเมืองในเรื่องพระอไภยไปหมด พาให้นักเรียนโง่ไปแน่แล้ว…”

หรือในกรณี หนังสือวิทยาจารย์ เล่มหนึ่ง ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า “สำแดงความโง่ของกรมศึกษา…” ตัวอย่างในกรณีนี้คือคำศัพท์ในตำราดังกล่าวที่ว่า

“…มีคำเรียกชาติแขกว่า แตมิลู แล้วมีหมึกแดงฆ่าตีนอู เหลือแต่ แตมิล นี่เป็นความเขลา ซึ่งปรากฏในตำราเรียน ฤๅข่าวของกรมศึกษา เพราะแขกชาตินี้ เรารู้จักมาแต่ไหนแต่ไร จนเป็นคำด่า นับว่าเป็นคำผรุสวาท มีในภาษามคธแลที่แปลเป็นภาษาไทยเป็นอันมากว่า ทมิฬ ให้ดูพงศาวดารลังกา เสียงเอาอย่างฝรั่งโง่ เพราะหลงฝรั่งเช่นนี้เป็นที่เดือดร้อนรำคาญ

เนื้อหาในพระราชหัตถเลขาส่วนที่เกี่ยวกับการใช้ศัพท์ไทย-ฝรั่งดังกล่าวมีว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“…​อนึ่ง อยากจะบอกให้รู้ความรำคาญใจอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งน่าที่จะมีผู้เข้าใจว่า อยากจะให้ใช้ศัพท์ไทย ไม่ใช่ศัพท์ฝรั่ง เช่นได้ตักเตือนไปยังกระทรวงด้วยคำว่า เทอม จะเข้าใจไปว่ารังเกียจคำต่างประเทศ อยากจะให้ใช้คำไทยเท่านั้น ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าคำที่จะใช้สำหรับคนสามัญเข้าใจทั่วไป เช่นประกาศกำหนดเวลาเรียน คนที่จะไม่รู้จักคำว่า เทอม นั้นมาก จึงแนะนำไปให้หาคำอื่นใช้ให้คนทั้งปวงเข้าใจง่าย

แต่บางทีคำที่มาคิดขึ้นใหม่จากภาษาสังสกฤตฤๅภาษามคธ ซึ่งเป็นคำแปลกๆ ไม่ใคร่เคยได้ยิน จำยากกว่าภาษาอังกฤษเช่นนี้ ไม่เป็นประโยชน์อันใด ถ้าพูดกันเองในชั้นผู้รู้ภาษาต่างประเทศไม่มีความรังเกียจ

ข้อซึ่งไม่ชอบแท้นั้น คือ สำแดงความโง่ของกรมศึกษา เช่นในหนังสือวิทยาจารย์เล่ม 10 ตอน 8 วันที่ 15 เมษายน หน้า 313 มีคำเรียกชาติแขกว่า แตมิลู แล้วมีหมึกแดงฆ่าตีนอู เหลือแต่ แตมิล

นี่เป็นความเขลา ซึ่งปรากฏในตำราเรียน ฤๅข่าวของกรมศึกษา เพราะแขกชาตินี้ เรารู้จักมาแต่ไหนแต่ไร จนเป็นคำด่า นับว่าเป็นคำผรุสวาท มีในภาษามคธแลที่แปลเป็นภาษาไทยเป็นอันมากว่า ทมิฬ ให้ดูพงศาวดารลังกา เสียงเอาอย่างฝรั่งโง่ เพราะหลงฝรั่งเช่นนี้เป็นที่เดือดร้อนรำคาญ ถ้าหากว่าจะอยากอวดดีจะว่าอังกฤษเขาเรียกแตมิล ซึ่งไทยเราเคยใช้ว่าทมิฬ เช่นนั้นก็ยังจะค่อยเป็นภูมิรู้สักหน่อยหนึ่ง

นี่เป็นตัวอย่างที่ยกขึ้นให้เห็นแต่เรื่องเดียว ยังมีอื่นๆ อีกมาก ​เช่น เวียงจันทน์ เรียก เวียนเทียน ตามภาษาญวน ปากน้ำเซ เรียก ปักเส เมืองเมาะตมะ เรียก มาตาบาน เมืองทวาย เรียก ตีวอย เมือง ตนาวศรี เรียก เตนแนสเซอริม ยังเมืองพม่า เมืองจีน บรรดาที่มีชื่ออยู่ในพงศาวดารแลในหนังสือไทย กลับเรียกตามเสียงฝรั่งไปหมด เช่น เมืองอ้ายมุ่ย เรียก เอมอย เมืองเซี่ยงไฮ้ เรียก แซงไค เป็นต้น

หนักกว่าหนัก เรื่องนี้ทนไม่ไหว ถ้าพยายามจะพูดฝรั่งเดี๋ยวนี้ว่า ไอเดนติไฟ ชื่อเมืองที่เคยมีในภาษาไทยให้ใช้ภาษาไทย อย่าให้จดหมายแลพงศาวดารแตกสูญเสียได้จะดี ถ้าขืนเอาอย่างฝรั่งตะพัดตะเพิดไปจะหลง ไม่รู้หัวนอนปลายตีน เมืองเก่า ๆ ที่เรียกชื่อไว้ในหนังสือ จะกลายเป็นเมืองในเรื่องพระอไภยไปหมด พาให้นักเรียนโง่ไปแน่แล้ว

การเช่นนี้มีจนกระทั่งในกรุงเทพฯ เช่น หัวลำโพง ฝรั่งเรียกไม่ชัด ไทยเราพลอยเรียกตามว่า วัวลำพอง นี่เป็นเรื่องที่ควรจะฟาดเคราะห์จริง ๆ ในวิทยาจารย์มีเรื่องเช่นนี้มากหลายแห่ง แต่ไม่ได้จดจำไว้ที่สำหรับจะยกขึ้นกล่าวในเวลานี้.

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์”

สำหรับผู้สนใจเรื่องสถานี “หัวลำโพง” ชวนรับฟังเสวนาหัวข้อ “หัวลำโพง” สเตชั่น มีวิทยากรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์-สถาปัตยกรรม คือ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และ รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ดำเนินการเสวนาโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

งานเสวนาจัดในวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องโถงมติชนอคาเดมี เวลา 13.30-16.30 น. โปรดสำรองที่นั่งล่วงหน้า **รับเพียง 50 ท่านเท่านั้น** (งานนี้เข้าร่วมฟังโดยไม่มีค่าใช้จ่าย)
.
แจ้งลงทะเบียนที่ inbox เฟซบุ๊กเพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม และทางโทรศัพท์หมายเลข 0 2580 0021-40 ต่อ 1206, 1220 (บริการตรวจ ATK หน้างานสำหรับผู้เข้าร่วม)
.
การเสวนาครั้งนี้มีถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ทางเพจมติชนออนไลน์ และศิลปวัฒนธรรม ในเฟซบุ๊ก

 

อ้างอิง :

พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 4 กรกฎาคม ร.ศ. 129, ใน ประมวลพระราชนิพนธ์เบ็ดเตล็ด ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์แจกเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล. ประจวบ กล้วยไม้ (จมื่นเทพสุรินทร์) ณ เมรุวัดสังเวชวิศยาราม วันที่ 4 กันยายน 2508. สืบค้นจาก https://vajirayana.org/ เข้าถึงเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2565.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_83250

The post “หัวลำโพง ฝรั่งเรียกไม่ชัด ไทยพลอยเรียกตามว่า วัวลำพอง” พระราชวิจารณ์ศัพท์ไทย-ฝรั่งในร.5 appeared first on Thailand News.