ชุมชนในไทย-ชุมชนต่างชาติในกรุงรัตนโกสินทร์อยู่อย่างผาสุกร่มเย็นใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์ วธ.เชิญชมนิทรรศการในงาน“ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”วันที่ 20-24 เม.ย.นี้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร-หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ชม-ชิมการสาธิตด้านอาชีพและอาหาร
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน จัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบปีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 โดยการจัดงานนี้ขึ้นก็เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความผาสุกและความเจริญในทุกๆด้าน สืบมาจนถึงปัจจุบันครบรอบ 240 ปีแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี และความภาคภูมิใจในความเป็นไทยร่วมกัน รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนสินค้าของชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ปีนี้งาน“ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” จัดขึ้นวันที่ 20-24 เมษายน 2565 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ และบริเวณพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ ทั้งหมด 9 พื้นที่หลักและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม 20 แห่ง ซึ่งกิจกรรมส่วนหนึ่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชุมชนในไทยและชุมชนต่างชาติในกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาคต่างๆ นับตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์โดยเมื่อปีพ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี มีชาวต่างชาติทั้งที่อพยพย้ายถิ่นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและอพยพมาใหม่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงใช้ทศพิธราชธรรมในการปกครองไม่เพียงเฉพาะกับพสกนิกรชาวไทย หากแต่ยังทรงแผ่พระบารมีไปยังชาวต่างชาติโดยพระราชทานสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิต การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณี การนับถือศาสนา อีกทั้งพระราชทานที่ดินให้อยู่อาศัยแยกตามเชื้อชาติและศาสนาและพระราชทานเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันทั้งที่เป็นชุมชนและย่านตามรูปแบบทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต เชื้อชาติและศาสนาที่คล้ายคลึงกัน ต่อมาเกิดการหลอมรวมและผสมผสานความต่างทางสังคมและวัฒนธรรม จนเป็นประชากรส่วนหนึ่งของประเทศไทย นับเป็นบุญของพสกนิกรชาวไทยที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมีและชุมชนต่างชาติใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารที่ล้วนอยู่อย่างผาสุกร่มเย็น
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า วธ.จึงจัดนิทรรศการเกี่ยวกับชุมชนในไทยและชุมชนต่างชาติใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารใน 2 พื้นที่ ได้แก่ 1) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดนิทรรศการ“ชุมชนใต้ร่มพระบารมี” ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาและอัตลักษณ์ชุมชน เช่น สถาปัตยกรรม งานหัตถกรรมและช่างฝีมือ อาหาร การแต่งกายของชุมชนในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก และ2) ศูนย์อาเซียน ชั้น 3 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน จัดนิทรรศการ “ชุมชนอาเซียนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” วันที่ 20 – 24 เมษายน 2565 เวลา 10.00-19.00 น. เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนอาเซียนดั้งเดิมในกรุงเทพฯ 6 กลุ่ม ได้แก่ เขมร ญวน พม่า มอญ ลาว และมุสลิม พร้อมนำเสนออัตลักษณ์ ขนบประเพณีของชุมชนอาเซียนดังกล่าวที่อยู่อาศัยภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารอย่างร่มเย็นเป็นสุขตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน และวันที่ 23-24 เมษายน 2565 มีกิจกรรมบรรยายและเสวนาเรื่อง “ชุมชนอาเซียนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” รวมทั้งการสาธิตทางวัฒนธรรมด้านอาชีพและอาหารโดยผู้แทนชุมชนอาเซียน ได้แก่ ย่านเขมร ชุมชนบ้านบาตรสาธิตการทำบาตร ย่านพม่า ชุมชนตลาดพระโขนงออกร้านขายเครื่องอุปโภคบริโภค ย่านมอญ จัดแสดงข้าวแช่จากบางลำพู ย่านลาว ชุมชนบางไส้ไก่สาธิตการทำขลุ่ย และย่านมุสลิม จัดแสดงแกงมัสมั่นจากชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ ทั้งนี้ วธ.ขอเชิญชวนประชาชนเที่ยวชมงานวันที่ 20-24 เมษายน 2565 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765
ข้อมูล สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More