ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“รามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง” พระราชนิพนธ์ในร.4 แฝงสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างไร

“รามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง” พระราชนิพนธ์ในร.4 แฝงสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างไร

“พระราม” อวตารของ “พระนารายณ์” (จิตกรรมฝาผนังเรื่อง “รามเกียรติ์” ภายในพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2549
ผู้เขียน
รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ
เผยแพร่
วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

บทละครเรื่องรามเกียรติ์ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีความสําคัญเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ทางการเมือง ทั้งนี้เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงมีสถานะเป็น “พระนารายณ์อวตาร” พระรามซึ่งเป็น “พระนารายณ์อวตาร” จึงมีความหมายพิเศษยิ่งกว่าความเป็นวีรบุรุษในตํานานนิทานหรือกษัตริย์ผู้ประเสริฐเท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ซึ่งหมายถึง “พระมหากษัตริย์” อีกประการหนึ่งด้วย

ดังนั้นพระนามพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จึงปรากฏพระนามที่เกี่ยวข้องกับความเป็น “พระราม” นับแต่ “พระญารามราช” หรือ “พ่อขุนรามคําแหง” ซึ่งหมายถึง “พระราม” สืบมาถึงพระนาม “สมเด็จพระรามาธิบดี” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหมายถึง “พระรามผู้เป็นใหญ่” ก็แสดงถึงแนวคิดนี้ที่สืบทอดผ่านการนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกายเป็นใหญ่

การแสดงเรื่องรามเกียรติ์ จึงค่อนข้างจะเป็นสิ่งผูกขาดของราชสํานัก และได้สืบทอดผ่านขนบการแสดงหนังใหญ่ โขนและละครใน บทละครเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นบทพระราชนิพนธ์ และกําหนดไว้เป็นเรื่องที่เล่นได้เฉพาะในละครหลวง (ละครใน) ของราชสํานักเท่านั้น บทละครเรื่องรามเกียรติ์จึงจัดเป็น “บทละครใน” ในจํานวน 4 เรื่องของราชสํานักกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งประกอบด้วย รามเกียรติ์ อิเหนา ดาหลัง และ อุณรุท [1]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้น นอกจากเพื่อใช้เป็นบทละครสําหรับเล่นละครในแล้ว บทละครเรื่องรามเกียรติ์ยังน่าจะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง “เรื่องพระราม” ในรัชกาลของพระองค์ด้วยเช่นเดียวกัน ดังที่ สมบัติ จันทรวงศ์ ได้เคยวิเคราะห์ไว้ว่า

“…สิบห้าปีหลังการปราบดาภิเษก คือในปี พ.ศ. 2340 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้กวี นักปราชญ์ราชบัณฑิตประชุมกันแต่งบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะแสดงต่อราษฎร์ว่า การปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ของพระองค์นั้นถูกต้องทั้งตามคติพุทธและพราหมณ์ เพราะบานแพนกของบทละครเรื่องรามเกียรติ์…แต่สิ่งที่มาก่อนคือการยอพระเกียรติ์พระองค์ ว่า ‘พระบาทดํารงทรงภิภพลุ่มล่างฝ่ายพระนารายณ์ ผ่ายแผ่นพื้นสีมาออกกว้าง สร้างสรรค์สิ่งมิ่งเมือง’ คือ เป็นพระนารายณ์อวตารลงมาแผ่พื้นปฐพีให้กว้างใหญ่ออกและสร้างเมืองใหม่ขึ้น..จึงเป็นการเปรียบเทียบตามคติพราหมณ์ว่าพระมหากษัตริย์ก็คือพระนารายณ์อวตารลงมาทําหน้าที่บําบัดทุกข์บํารุงสุขราษฎรและปกปักรักษาโลก…” [2]

ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชสมบัติ พระองค์จึงเท่ากับทรงเป็น “พระนารายณ์อวตาร” หรือ “พระราม” ตามคติพราหมณ์-ฮินดู และเมื่อจะทรงพระราชนิพนธ์บทละครสําหรับเล่นละครหลวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเลือกพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง “รามเกียรติ์” แทนที่จะเป็นบทละครเรื่องอื่น [3]

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์จึงเป็น “สัญลักษณ์ทางการเมือง” ของพระองค์ด้วย เพราะ เท่ากับเป็นการยืนยันถึงสถานะทางการเมืองของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็น “พระราม” หรือ “พระนารายณ์อวตาร” ที่มีความชอบธรรมในการเป็นพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เหตุใดต้องเป็นรามเกียรติ์ ตอน “พระรามเดินดง”

สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกรามเกียรติ์ “ตอนพระรามเดินดง” มาทรงพระราชนิพนธ์แปลงใหม่สําหรับเล่นละครหลวง น่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติของพระองค์เอง ในการที่ทรงพระผนวชในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชบิดา และต้องทรงดํารงสมณเพศตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเชษฐาธิราช อยู่ถึง 27 ปี จึงได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 2367 เจ้าฟ้ามงกุฏได้ทรงพระผนวช และมีฉายาว่า “วชิรญาณภิกขุ” ทว่าหลังจากนั้นเพียง 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคตโดยไม่ได้ดํารัสสั่งมอบเสนอราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้านายพระองค์ใดให้เป็นพระรัชทายาท

แม้เจ้าฟ้ามงกุฎจะเป็นพระราชโอรสพระองค์โตที่ประสูติจากสมเด็จพระอัครมเหสี ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลแล้วพระองค์ทรงมีฐานะเป็นรัชทายาท แต่ในเวลานั้นยังมีพระชันษาน้อยอีกทั้งไม่ทรงมีอํานาจบารมีในวงราชการเหมือนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระเชษฐาต่างพระมารดาที่ทรงรับราชการสนองพระราชบิดาก่อนพระองค์และได้ทรงบังคับบัญชาราชการต่างพระเนตรพระกรรณเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ 2 มีผู้คนยําเกรงนับถืออยู่มาก [4]

ครั้นเมื่อพระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ประชุมกันได้ส่งคนมาทูลถามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงพระผนวชว่าพระองค์จะทรงปรารถนาราชสมบัติหรือไม่ พระองค์จึงทรงปรึกษากับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ กรมขุนฯ ทูลแนะนําว่าควรจะคิดเอาราชสมบัติตามสิทธิ์ แต่กรมหมื่นนุชิตชิโนรส และกรมหมื่นเดชอดิศร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ตรัสว่า ไม่ใช่เวลาควรปรารถนาราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตัดสินพระทัยที่จะผนวชต่อไป

กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระองค์เจ้าชายทับ) จึงเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้ามงกุฏจึงทรงดํารงสมณเพศต่อมา ในระหว่างนี้เมื่อเสด็จประทับอยู่ที่วัดราชาธิวาส พระองค์ได้เสด็จออกธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ เช่น หัวเมืองมณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลอยุธยา และมณฑลนครสวรรค์ ตลอดขึ้นไปจนมณฑลพิษณุโลกทางฝ่ายเหนือ [5] ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายกับพระรามต้องออกบวชและเดินป่าเป็นเวลา 14 ปี ตามพระราชดํารัสของท้าวทศรถ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ปรึกษาพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จให้ลาผนวชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ [6]

การที่ทรงเลือกเรื่องรามเกียรติ “ตอนพระรามเดินดง” มาทรงพระราชนิพนธ์แปลงเป็นพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง จึงน่าจะเกี่ยวกับพระราชประวัติในส่วนที่พระองค์ต้องทรงพระผนวช (เช่นเดียวกับพระราม) และต้องรอจนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งนานถึง 27 ปี จึงจะได้เสวยราชสมบัติเมื่อพระชนมายุได้ 47 พรรษา [7] (ในกรณีของพระราม 14 ปี) พระราชประวัติส่วนนี้จึงไม่ต่างกับประวัติของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ที่ต้องเดินดงถึง 14 ปี จึงได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา

ดังนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระรามเดินดง จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องความบังเอิญ แต่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับสัญลักษณ์บางประการของเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ และน่าจะแสดงถึงความชอบธรรมในการที่ทรงรับราชสมบัติหลังจากต้องปลีกพระองค์จากพระราชบัลลังก์ไปนานถึง 27 ปี แต่ในที่สุดก็ได้เสวยราชสมบัติ เช่นเดียวกับพระรามที่ต้องเดินป่าเป็นเวลา 14 ปี

บทสรุป

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า แม้บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง จะเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีความยาวไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับพระราชนิพนธ์เรื่องอื่น แต่มีความน่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการพระราชนิพนธ์แปลง “บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง” จากบทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 โดยทรงแก้ไขถ้อยคําบางส่วน เป็นต้น

นอกจากนี้ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง น่าจะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งเปรียบเหมือนพระนารายณ์อวตาร หรือพระราม เหตุการณ์ตอนพระรามเดินดงก็มีส่วนที่คล้ายกับพระราชประวัติของพระองค์เองเมื่อต้องเสด็จออกผนวชและดํารงสมณเพศมาจนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสมเด็จพระเชษฐาธิราชสวรรคต พระองค์จึงลาผนวชและเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อมาเช่นเดียวกับพระรามต้องผนวชและเดินป่าถึง 14 ปี ซึ่งน่าจะเป็นเหตุที่ทําให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกเรื่องรามเกียรติ์ตอนนี้มาทรงพระราชนิพนธ์แปลงสําหรับใช้แสดงละครหลวงในรัชกาลของพระองค์

อย่างไรก็ตามบทความเรื่องนี้เป็นเพียงการนําเสนอข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าศึกษาสนใจและไม่สามารถกล่าวถึงในที่นี้อีกมาก ซึ่งควรศึกษาเพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อไป

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระรามเดินดง : สัญลักษณ์ทางการเมืองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดย ศานติ ภักดีคำ. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2549)

 

เชิงอรรถ :

[1] สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ. “ตํานานเรื่องละครอิเหนา,” ใน ละครฟ้อนรํา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 334.

[2] สมบัติ จันทรวงศ์. บทพิจารณ์ว่าด้วยวรรณกรรมกา เมืองและประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2550, หน้า 373-374.

[3] นอกจากบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระราชนิพนธ์บทเบิกโรงละครหลวงอีกหลายเรื่องแต่ไม่ได้มีความยาวและสําคัญเท่าเรื่องรามเกียรติ์ โปรดดู บทลครชุดเบ็ดเตล็ดในเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และพระราชนิพนธ์กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กับบาญชีรายชื่อพระยายืนชิงช้า. พระยาราชนกูล (อวบ เปาโรหิตย์) มสม. ทจว. ฯลฯ พิมพ์แจกเป็นของชําร่วยเมื่อยืนชิงช้า พ.ศ. 2458. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณ พิพรรฒธนากร, 2458. และบทเบิกโรงลครหลวง พระบรมราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐโปรดให้พิมพ์ เมื่อปีวอก พ.ศ. 2463. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย, 2463.

[4] สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ. “เรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อก่อนเสวยราชย์,” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 4. กรุงเทพฯ : กอง วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542, หน้า 327.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 335.

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 347.

[7] สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ. “เรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสวยราชย์แล้ว พ.ศ. 2394-2411,” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 4. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542, หน้า 351.

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 4. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์.กรมศิลปากร, 2542.

จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. บทลครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง พระบรมราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย, 2462.

ดํารงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ละครฟ้อนรํา, กรุงเทพฯ : มติชน, 2546.

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2538.

เทอดพงศ์ คงจันทร์. การเมืองเรื่องสถาปนาพระจอมเกล้าฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.

บทเบิกโรงลครหลวง พระบรมราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ
โปรดให้พิมพ์ เมื่อปีวอก พ.ศ. 2463. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย, 2463.

บทลครชุดเบ็ดเตล็ดในเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และพระราชนิพนธ์กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กับบาญชีรายชื่อพระยายืนชิงช้า, พระยาราชนกูล (อวบ เปาโรหิตย์) มสม. ทจว. ฯลฯ พิมพ์แจกเป็นของชําร่วยเมื่อยืนชิงช้า พ.ศ. 2458. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2458.

พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, พระบาทสมเด็จพระ. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เล่ม 1-4. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2540.

สมบัติ จันทรวงศ์. บทพิจารณ์ว่าด้วยวรรณกรรมการเมืองและประวัติศาสตร์, กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2540.

“สัญลักษณ์ทางการเมือง” ในรัชกาลที่ 4 จากพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_28249

The post “รามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง” พระราชนิพนธ์ในร.4 แฝงสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างไร appeared first on Thailand News.