พระสมเด็จจิตรลดา พระเครื่องทรงสร้างของในหลวงรัชกาลที่ 9
(ภาพจาก https://www.khaosod.co.th)
สิ่งสำคัญหลักๆ ในการสร้างพระเครื่อง คงไม่พ้นความงามในด้านพุทธศิลป์ และความน่าเลื่อมใสในด้านพุทธคุณ พระเครื่องต่างๆ เมื่อช่างทำพระเครื่องเสร็จสวยงามตามแบบแล้ว จึงมักทำพิธีพุทธาภิเษก โดยเกจิอาจารย์ผู้ใหญ่ แต่นั้นก็ไม่ใช่สูตรตายตัว
อย่างน้อยก็มี “พระสมเด็จจิตรลดา” พระเครื่องที่ไม่ต้องมีพิธีพุทธาภิเษก
พระสมเด็จจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน คือเป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสร้าง เป็นพระเครื่องที่มีความ “เหนือชั้น” กว่าพระเครื่องอื่น ด้วย “มวลสาร”
โดย มวลสารส่วนพระองค์ ได้แก่ ดอกไม้แห้งมาลัยที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดําเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและ ทรงแขวนไว้ที่องค์พระตลอดเทศกาล, เส้นพระเจ้าซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงเครื่องใหญ่ทุกครั้ง, ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและเค้ามพระขรรค์ชัยศรีในพระราชพิธีฉัตรมงคล, สีซึ่งพูดจากผ้าในที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์ ขันและสีซึ่งทรงพูดจากเรือใบไมโครมด เป็นต้น
ส่วนมวลสารจากสถานที่ที่เคารพบูชาของ ผู้คนในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยทูลเกล้าฯ ถวาย อาทิ ดอกไม้แห้ง ผงธูป เทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธชินสีห์ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระพุทธชินราช ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก, ดอกไม้แห้ง ผงธูป เทียนบูชาจากพระอารามหลวงที่ สําคัญ, ดินจากสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งในประเทศอินเดีย และประเทศศรีลังกาซึ่งสมณทูตได้ถวายเก็บไว้ในเจดีย์ที่วัดเสด็จ จังหวัดปทุมธานี, ดินและตะไคร่น้ำแห้งจากใบเสมาจากวัดทุกจังหวัดในประเทศไทย, น้ำจากบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเคยนํามาใช้ เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและน้ำอภิเษก เป็นต้น
รัชกาลที่ 9 ทรงสร้าง “พระสมเด็จจิตรลดา” เพื่อบรรจุที่ฐานบัวหงายของ “พระพุทธนวราชบพิตร” พระพุทธรูปปางมารวิชัย เพื่อประดิษฐานไว้ ณ จังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร โดยทรงตรวจพระพุทธลักษณะของพระปฏิมาด้วยพระองค์เองจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงโปรดให้เททองหล่อเป็นพระพุทธรูปขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2508 และส่งมอบไปยังจังหวัดต่างๆ ในปี พ.ศ.2509
จากนั้นทรงมีพระราชดำริให้สร้างเพิ่มเติมตั้งแต่ พ.ศ. 2508-13 เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ ทหาร ตํารวจ ข้าราชการ และพลเรือน ที่มีความดีความชอบและสร้างคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง เพื่อสร้างขวัญและกําลังใจให้ผู้ที่ได้รับ แต่การสร้างในแต่ละครั้งมีจำนวนน้อยมาก
ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงสงครามเย็นที่ต่อสู่กับระหว่างค่ายทุนนิยมเสรีที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ และค่านคอมมิวนิสต์ที่มีโซเวียตเป็นผู้นำ สำหรับประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญและแข็งขันยิ่งของสหรัฐในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ทั้งอนุญาตให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพและมีกองกำลังทหารในไทย
การเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยขณะนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความรุนแรง โดยเฉพาะในชนบทตามยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง ทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอยู่หลายครั้ง เช่น เหตุการณ์ “วันเสียงปืนแตก” 7 สิงหาคม 2508 เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐและอาสามสมัครล้อมปราบกลุ่มคอมมิวนิสต์ ที่บ้านนาบัว อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เล่าประสบการณ์เมื่อครั้งได้รับพระราชพระสมเด็จจิตรลดา ในปี 2510 ว่า “หลังจากที่เรารับพระราชทานพระแล้ว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาทมีความว่า พระที่พระราชทานนั้น ก่อนจะเอาไปบูชาให้ปิดทองเสียก่อน แต่ให้ปิดเฉพาะข้างหลังเท่านั้น
พระราชทานพระบรมราชาธิบายด้วยว่า ที่ให้ปิดทองหลังพระก็เพื่อจะได้เตือนตัวเองว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว”
ปัจจุบันพระสมเด็จจิตรลดาเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมในการบูชาสูงมากองค์หนึ่ง ด้วยความเลื่อมใสในพุทธคุณ โดยมีราคาเช่าบูชาสูงถึงหลักล้านบาทขึ้นไป นักการเมืองอย่าง สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, จองชัย เที่ยงธรรม ฯลฯ ต่างมีไว้ติดตัว
ข้อมูลจาก :
ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์. พระเครื่องกับสังคมไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2-พ.ศ. 2550 : การศึกษาคติความเชื่อ รูปแบบ และพุทธพาณิชย์, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2554
ราม วัชรประดษฐ์. พระสมเด็จจิตรลดา : คอลัมน์พันธุ์แท้พระเครื่อง, หนังสือพิมพ์ข่าวสด 11 ธ.ค. 2561
พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร. รอยพระยุคลบาท, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2559
กองบรรณาธิการข่าวสด. พระดี คนดัง , สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2553
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2563
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_50863
The post พระสมเด็จจิตรลดา พระเครื่องทรงสร้างของในหลวงรัชกาลที่ 9 appeared first on Thailand News.