ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“ภูมิศาสตร์” พลังขับเคลื่อนเครื่องจักรสงครามของราชวงศ์คองบอง

“ภูมิศาสตร์” พลังขับเคลื่อนเครื่องจักรสงครามของราชวงศ์คองบอง

ความแข็งแกร่งของราชวงศ์คองบองประกอบขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย ที่สำคัญประการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือปัจจัยด้าน “ภูมิศาสตร์” จากความสำเร็จในการผนวกพื้นที่ภูมิศาสตร์สำคัญ ๆ ตลอดแม่น้ำอิรวดีและลุ่มแม่น้ำข้างเคียง ทำให้รัฐพม่าภายใต้ราชวงศ์คองบองสามารถควบคุมหัวเมืองและพื้นที่ภูมิศาสตร์ได้มากกว่าหรือใหญ่โตกว่ารัฐอยุธยา เมื่อนั้นเองที่กำลังพลและเสบียงอาหารเพิ่มพูนขึ้น เป็นพลังขับเคลื่อนเครื่องจักรสงครามของกองทัพพม่าในการทำสงครามกับรัฐอยุธยา

พื้นที่ภูมิศาสตร์สำคัญของรัฐพม่าประกอบด้วย 2 พื้นที่ คือ 1. พื้นที่กสิกรรม “Dry Zone” ทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นหัวใจของการผลิตกำลังคนในรัฐพม่า และ 2. พื้นที่พาณิชยกรรม “Delta” ทางตอนใต้ ซึ่งเป็นหัวใจของการค้าและการซื้ออาวุธจากต่างชาติ

แผนที่จักรวรรดิพม่า เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1817

 

ผศ. ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช อธิบายไว้ในบทความ “พลังภูมิศาสตร์คองบองกับการล่มสลายของอยุธยา” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2562 ว่า ในแง่การขยายตัวของรัฐพม่า ราชวงศ์คองบองได้ฟื้นฟูพละกำลังจากการยึดกุมย่านกสิกรรมแถบชเวโบและอังวะ หรือพื้นที่กสิกรรม “Dry Zone” ทางตอนเหนือ จากนั้นจึงมุ่งแผ่ขยายอำนาจลงใต้ เพื่อผนวกฐานการค้าในเขตปลายน้ำอิรวดี หรือพื้นที่พาณิชยกรรม “Delta” ทางตอนใต้

จนกระทั่ง เมื่อใดก็ตามที่กษัตริย์พม่าสามารถขยายพระราชอำนาจครอบคลุมพื้นที่ทั้งเขตร้อนแห้งทางตอนเหนือ และเขตสามเหลี่ยมปากน้ำอิรวดี หรือแม้กระทั่งปากน้ำสะโตงและสาละวินทางตอนใต้ เมื่อนั้นรัฐพม่าจะมีเอกภาพและสามารถอาศัยพลังจากทั้งสองพื้นที่นี้ทำสงครามขยายพระราชอำนาจไปนอกบ้านได้เต็มกำลัง

ดังจะเห็นได้จากการสถาปนาราชวงศ์คองบองโดยพระเจ้าอลองพญา สืบย้อนหลังการล่มสลายของกรุงอังวะใน ค.ศ. 1752 พระเจ้าอลองพญาได้วางยุทธศาสตร์ระดมไพร่พลเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อค่อย ๆ เตรียมความพร้อมและสะสมฐานกำลังตามลำดับ โดยอาศัยการควบคุมเขตปลูกข้าวทางแถบลุ่มแม่น้ำมู (อยู่ทางทิศตะวันตกของมัณฑะเลย์ เป็นแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบมหานันดา และไหลลงแม่น้ำอิรวดี) เป็นจุดตั้งต้น จากนั้นกองทัพของพระเจ้าอลองพญาจึงยกทัพเข้ายึดกรุงอังวะ ตีทัพมอญแตกกระเจิงใน ค.ศ. 1754

จากนั้นพระเจ้าอลองพญาได้ใช้ประโยชน์จากระบบชลประทานในเขตลุ่มน้ำมูและเขตจ๊อกเซ (ใกล้กรุงอังวะ) ทำให้กำลังพลได้รับการฟื้นฟูบำรุงเลี้ยงดูอย่างดี เมื่อกองทัพเข้มแข็งแล้วจึงเคลื่อนตัวลงทางใต้ เข้าตีป้อมค่ายและเมืองยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ตามลำแม่น้ำอิรวดี โดยไล่ยึดเมืองแปร ย่างกุ้ง สิเรียม และปิดท้ายด้วยการยกทัพวกเข้าไปทำลายกรุงหงสาวดีของอาณาจักรมอญได้เมื่อ ค.ศ. 1757

สำหรับพลัง “ภูมิศาสตร์” ของรัฐอยุธยาภายใต้ราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้น แม้อยุธยาจะเป็นเมืองที่รวมเอาเขตกสิกรรมผสมกับเขตการค้าไว้ในที่แห่งเดียว แต่อำนาจของกษัตริย์อยุธยาที่แผ่คลุมเมืองต่าง ๆ นับตั้งแต่ปลายน้ำไปจนถึงต้นแม่น้ำเจ้าพระยาแถบเมืองตาก พิษณุโลก พิชัย หรือสวางคบุรีนั้น เทียบไม่ได้กับรัฐพม่า ซึ่งสามารถควบคุมหัวเมืองและพื้นที่ภูมิศาสตร์ได้มากกว่า ขณะที่ลักษณะของแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เป็นรองแม่น้ำอิรวดี ที่มีลักษณะกว้างกว่า ยาวกว่า พร้อมมีปริมาณลำน้ำสาขาที่ไหลมาสมทบด้วยจำนวนมาก

พระราชวังที่กรุงอมปุระ เมืองหลวงเก่าของราชวงศ์คองบองก่อนย้ายไปที่กรุงมัณฑะเลย์

 

ผศ. ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช กล่าวสรุปว่า “จุดหัวใจของรัฐคองบอง… อาจหนีไม่พ้นข้อเท็จจริงที่ว่าแผ่นดินพม่ามักมีต้นทุนทางภูมิศาสตร์เกษตรอยู่ในระดับสูง จนช่วยกระตุ้นให้กองทัพพม่าสามารถผลิตกำลังพลและเสบียงอาหารจนดีดตัวออกมาทำศึกนอกบ้านได้หลายครา…

ในช่วงที่แผ่นดินหัวใจทางแถบ Dry Zone เคลื่อนตัวเข้ามาแตะประชิดกับเขต Delta ตรงปากน้ำอิรวดี หรือบางส่วนของปากน้ำสะโตง มักเต็มเปี่ยมไปด้วยปริมาณหัวเมืองและพื้นที่กสิกรรมที่มากกว่าแดนแกนตรงแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่เป็นปฐม โดยเมื่อใดก็ตามที่เหล่ากษัตริย์พม่าทรงสามารถควบคุมแกนทวิขั้วเหล่านั้นได้อย่างมีเอกภาพ พลังพิเศษที่ผุดตัวขึ้นมาจากฐานกำลังภูมิศาสตร์เช่นนี้ ย่อมมีผลล้ำลึกต่อแสนยานุภาพทางทหารของกองทัพพม่า (ซึ่งสามารถกรีธาทัพรุกออกไปรบนอกบ้านได้เต็มกำลัง)

ขณะที่ฝ่ายอยุธยานั้น ความลงตัวทางภูมิศาสตร์กลับถูกปั้นไว้ที่พระนครอยุธยาเพียงจุดเดียว ทั้งในแง่การพาณิชยกรรม การพัฒนากสิกรรม และการใช้ภูมิศาสตร์ลำน้ำรอบตัวพระนครเป็นปราการรับศึก ฉะนั้น ผู้ปกครองอยุธยาจึงมิต้องพะวักพะวงกระวนกระวายไปกับการโยกย้ายราชธานี หรือการกรีธาทัพระยะไกลเพื่อควบรวมศูนย์อำนาจทางการค้าและเกษตรกรรมเหมือนดั่งพฤติกรรมของกษัตริย์พม่า…

เมื่อหันมาพิจารณาทบทวนข้อเท็จจริงเชิงภูมิศาสตร์กายภาพดูแล้ว รัฐพม่าเองก็นับว่ามีต้นทุนทางทรัพยากรภูมิศาสตร์ในระดับสูงจนอาจสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงใหักับรัฐอยุธยามิใช่น้อย เพราะแม้แต่ในนครรัฐตอนบนอย่างชเวโบและอังวะนั้น กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของประชากรและพืชพรรณธัญญาหาร…

ความกระตือรือร้นของนักยุทธศาสตร์พม่าที่สามารถเคลื่อนกระบวนทัพจนหลอมรวมเอาเขตร้อนแห้งตอนบนกับเขตปากน้ำตอนล่างได้สำเร็จ มักจะนำมาซึ่งพลังการค้า กสิกรรม นครา และกำลังพลอันเหลือล้น จนเกิดแรงปะทะที่พุ่งซัดเข้าใส่รัฐอยุธยาอย่างหนักหน่วง ซึ่งก็พบว่าทั้งศึกอลองพญาและศึกเสียกรุงครั้งที่สอง รัฐอยุธยาต้องเผชิญกับความบอบช้ำระส่ำระส่ายอันเกิดจากการรุกทะยานโหมกระหน่ำของทัพพม่าจนต้องสลายตัวลงในที่สุด…”

 

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_62522

The post “ภูมิศาสตร์” พลังขับเคลื่อนเครื่องจักรสงครามของราชวงศ์คองบอง appeared first on Thailand News.