ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

วิกฤตการณ์ “วังหน้า” ปริศนาการเมืองร้อน เหตุการณ์เผาวังหลวง สู่การดึงอำนาจกลับคืนร.5

วิกฤตการณ์ “วังหน้า” ปริศนาการเมืองร้อน เหตุการณ์เผาวังหลวง สู่การดึงอำนาจกลับคืนร.5

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2543
ผู้เขียน
พีรพล สงนุ้ย
เผยแพร่
วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

วิกฤตการณ์วังหน้าเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ไทยมีความเห็นขัดแย้งกัน เอกสารชั้นต้นของไทยและของอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้พิมพ์เผยแพร่ในประเทศไทย แต่ไม่สามารถอธิบายปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนเพียงพอ ดังนั้น เรื่องนี้จึงยังคงต้องการคำอธิบายใหม่ ๆ อยู่

เอกสารชั้นต้นของกองจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสให้ข้อมูลใหม่ที่ค่อนข้างจะขัดแย้งกับสมมติฐานที่เคยศึกษาไว้ ที่กล่าวว่า วังหน้าหรือกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อพยายามรักษาผลประโยชน์ส่วนพระองค์ไว้ บางท่านเห็นว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้เกิดจากมือที่สาม สมมติฐานเหล่านี้ยังคงรอการพิสูจน์

ผมขอเสนอเอกสารชั้นต้นของจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสเพื่ออธิบายวิกฤตการณ์ดังกล่าว ความน่าเชื่อถือของเอกสารฝรั่งเศสนี้มีมาก เนื่องจากเอกสารมีความสมบูรณ์ และประเทศฝรั่งเศสในช่วงนั้นไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ หากมีอยู่บ้าง ก็เป็นเรื่องการเลือกคบกลุ่มที่ฝรั่งเศสคาดว่า น่าจะให้ประโยชน์กับตนที่สุด และไม่ให้เสียรู้อังกฤษ

การบริหารประเทศต้นรัชกาลที่ 5 ภายใต้อำนาจสมเด็จเจ้าพระยาฯ

“เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในคืนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 วันต่อมากระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) ได้แจ้งให้สถานกงสุลต่างประเทศทราบว่า ที่ประชุมเสนาบดีได้ถวายพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 1 แทน และได้รื้อฟื้นพระอิสริยยศวังหน้า หรือพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ขึ้นมาใหม่ ซึ่งพระอิสริยยศนี้ได้ถูกยุบเลิกไปหลังจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

ประชาชนทั่วไปรู้สึกแปลกใจกับการสถาปนาพระอิสริยยศนี้ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ต้องเก็บความรู้สึกของตนเองไว้ และไม่กล้าคัดค้าน เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม แต่งตั้งตนเองเป็นผู้ดูแลราชการแผ่นดิน (tuteur du souverain) และกราบทูลเชิญให้กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นเสมือนบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ดำรงพระอิสริยยศวังหน้า” [1]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

 

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างกรมหมื่นบวรวิไชยชาญกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สถาปนาพระอิสริยยศวังหน้าขึ้นมา ข้าราชการและทหารที่อยู่ในพระบัญชาของวังหน้ารวมเข้ากับอำนาจของสมุหพระกลาโหมที่มีอยู่เดิม ทำให้อำนาจของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มั่นคง และยิ่งใหญ่ไม่มีใครสามารถทัดทานได้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 เกี่ยวกับปัญหาการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ มีใจความตอนหนึ่งว่า

“เวลานั้น อายุพ่อเพียง 15 ปี กับ 10 วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหล ก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อ คือเจ้านายทั้งปวงก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัว รักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายราชการถึงว่ามีผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด…” [2]

กงสุลฝรั่งเศสบรรยายถึงความตกต่ำของพระบรมวงศานุวงศ์และความเรืองอำนาจของกลุ่ม “บุนนาค” ว่า

“พระบรมวงศานุวงศ์รู้สึกอับอายและไร้ศักดิ์ศรีอย่างยิ่งที่ต้องก้มหน้าให้อำนาจอันยิ่งใหญ่ของสมุหพระกลาโหม และต้องยอมให้ตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ตกอยู่ในมือของครอบครัว ‘บุนนาค’ และ ‘คนใกล้ชิดกับครอบครัวบุนนาค’ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งกรมท่าแทนน้องชายของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ [เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)] เพียงไม่กี่เดือนก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต แต่ด้วยพระอัธยาศัยรักอิสระ ทำให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่พอใจและได้ให้น้องชายอีกคนของท่าน (เจ้าพระยาภาณุวงศ์) ดำรงตำแหน่งนี้ แทน” [3]

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2412 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ ทรงสถาปนาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (Régent) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุตรชายของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ คือ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์เป็นสมุหพระกลาโหม [4]

นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2416 อำนาจในการบริหารประเทศทั้งหมดตกอยู่ในมือของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ในงานฉลองบรมราชาภิเษกสมโภชเมื่อ พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873) ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐในฝรั่งเศสก็ทรงติดตามความเคลื่อนไหวจากที่นั่นอย่างใกล้ชิด คำว่า Re-Coronation แปลว่า พิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2

 

รัชกาลที่ 5 ดึงคืนพระราชอำนาจอันชอบธรรม

นักประวัติศาสตร์หลายท่านคิดว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดึงพระราชอำนาจกลับคืนมาแบบค่อยเป็นค่อยไป และทรงปฏิบัติอย่างจริงจังหลังจากสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2425 หลายท่านลืมสังเกตว่า หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เกิดความขัดแย้งสำคัญ ๆ หลายครั้ง ซึ่งล้วนแสดงถึงพระราชประสงค์อันแรงกล้าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการดึงพระราชอำนาจกลับคืน และครั้งที่สำคัญที่สุดคือ กรณีวังหน้า

“หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรกิจการต่าง ๆ ในอินเดีย อาณานิคมของอังกฤษในปี พ.ศ. 2415 พระองค์มีพระราชประสงค์จะปฏิรูปประเทศไทยหลายเรื่อง เช่น ระบบไพร่ ระบบทาส ระบบการจัดเก็บภาษี และระบบราชการให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เป็นต้น แต่โครงการปฏิรูปเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากเสนาบดีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งต้องปกป้องรักษาผลประโยชน์ของตนหรือของกลุ่มตนไว้

ส่วนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มักจะปฏิเสธการปฏิรูปโดยอ้างประสบการณ์อันยาวนานของท่าน (อายุ 63 ปี ในปี พ.ศ. 2415) อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เพราะโครงการของพระองค์ได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเจ้าพระยาภาณุวงศ์ซึ่งเป็นกรมท่า และเป็นน้องชายต่างมารดาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เพราะเจ้าพระยาภาณุวงศ์ หวังดำรงตำแหน่งสมุหพระกลาโหม”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

 

สถานการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้ครอบครัวบุนนาคแตกเป็น 2 ฝ่าย และเป็นผลดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่จะทรงดึงพระราชอำนาจกลับคืนมา [5]

สถานการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้นักประวัติศาสตร์หลายท่านแบ่งกลุ่มการเมืองในช่วงต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มหัวก้าวหน้าหรือกลุ่มปฏิรูป (Progressistes หรือ Réformateurs) มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้นำ โดยมีข้าราชการระดับกลางสนับสนุน

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มอนุรักษ์สายกลาง (Centrice) มีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นแกนนำ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สนับสนุน กลุ่มนี้พยายามรักษาผลประโยชน์ของตน และให้ความสำคัญกับการปฏิรูปน้อยกว่ากลุ่มแรก

ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มอนุรักษนิยม (Conservateurs) มีวังหน้าทรงเป็นแกนนำ และมีข้าราชการที่อยู่ในพระบัญชาอีกจำนวนหนึ่งคอยสนับสนุน

แต่การที่หลักฐานฝรั่งเศสบอกไว้ชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กับวังหน้าเป็นแบบบิดาและบุตรบุญธรรม เราควรรวม 2 กลุ่มหลังเข้าด้วยกันหรือไม่ อีกทั้งเป็นที่ทราบกันดีว่า ข้าราชการที่ถวายการรับใช้วังหน้า ล้วนเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทั้งสิ้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งไว้ชัดเจนว่า การดึงพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินของพระองค์กลับมาในระยะแรกนี้ใช้กฎหมายที่ได้จากสภา 2 สภาที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2417 คือ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Conseil d’Etat หรือ Grand Conseil) กับสภาที่ปรึกษาราชการในพระองค์ (Conseil Privé)

การตั้งสองสภานี้ไม่น่าเป็นสาเหตุให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ สมุหพระกลาโหมไม่พอใจ แต่สาเหตุน่าจะมาจากหัวข้อเรื่องที่นำเข้าพิจารณาในสภาทั้งสองมากกว่า ทำให้ทั้งสองท่านไม่ยอมเป็นที่ปรึกษาราชการในพระองค์อย่างเป็นทางการโดยอ้างว่า “ไม่อาจถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเป็นครั้งที่ 2 และไม่อาจรับคำสาบานเหมือนคนทั้งหลายได้” [6]

เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงสามารถบีบบังคับให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และสมุหพระกลาโหมเป็นที่ปรึกษาราชการในพระองค์อย่างเป็นทางการได้ จึงดูเหมือนว่า พระราชอำนาจของพระองค์ยังคงถูกตระกูลบุนนาคท้าทายอยู่

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีผู้มีอำนาจสนับสนุนจำนวนน้อย แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพแห่งความเป็นผู้นำ สามารถทำให้กลุ่มสนับสนุนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีท่าที่อ่อนลงได้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มยึดพระราชอำนาจอันชอบธรรมของพระองค์กลับคืน โดยทรงประกอบจัดพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งที่สองขึ้น เมื่อทรงพระชนมพรรษา 21 พรรษา ในปี พ.ศ. 2416 หลังพระราชพิธีราชาภิเษกนี้ การบริหารประเทศยังคงประสบปัญหา โครงการปฏิรูปต่าง ๆ ในช่วงแรกไม่สัมฤทธิผล ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือโอกาสที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ฉลองอายุ 65 ปี ในต้นปี พ.ศ. 2417 เพื่อพระราชทานยศ “สมเด็จ” แก่อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ช่วยพระองค์บริหารราชการแผ่นดิน [7]

ความใกล้ชิดครั้งใหม่ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทำให้การปฏิรูปต่าง ๆ ได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการทุกฝ่ายจนสามารถพัฒนาประเทศไปในแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริไว้

การที่ทรงโอนอ่อนผ่อนตามสมเด็จเจ้าพระยาฯ ในครั้งนี้ ถ้าพิจารณาอย่างไม่ลึกซึ้ง ดูเหมือนว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับว่า ทรงขาดประสบการณ์และขาดอำนาจอย่างแท้จริงที่จะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ตามลำพัง จึงต้องทรงยอม “ง้อ” สมเด็จเจ้าพระยาฯ

แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น จะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง “หลอกใช้” สมเด็จเจ้าพระยาฯ เพื่อลดอำนาจและทรงสามารถควบคุมได้อย่างใกล้ชิดในฐานะที่ปรึกษาส่วนพระองค์อย่างไม่เป็นทางการ

รัชกาลที่ 5 ทรง “เชือดไก่ให้ลิงดู”

ดังได้กล่าวแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้สภาที่สถาปนาขึ้นใหม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญ ผลงานประการแรกของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน คือ การจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เพื่อดูแลการจัดเก็บภาษี และการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน การปฏิรูปนี้ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่กลุ่มผลประโยชน์หลัก ๆ ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของครอบครัวบุนนาคอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกเป้าหมายอย่างชาญฉลาดเพื่อ “เชือดไก่ให้ลิงดู” โดยใช้หอรัษฎากรพิพัฒน์และสภาที่ปรึกษาในพระองค์เป็นเครื่องมือ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกที่จะโจมตีพระยาอาหารบริรักษ์ (นุช บุญหลง) กรมนา หลานชายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ โดยหอรัษฎากรพิพัฒน์และสภาที่ปรึกษาในพระองค์สืบพยานและสอบสวนพบว่า กรมนาได้ฉ้อโกงเงินแผ่นดินไป 6,000 ปอนด์ หรือ 1.5 ล้านฟรังก์ฝรั่งเศส (ข้าวราคาเกวียนละ 1 ปอนด์) ทำให้กรมนาถูกปลดออกจากตำแหน่ง และทรัพย์สินทั้งหมดถูกยึดเป็นของแผ่นดิน คดีนี้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากทั้งในพระนครและต่างจังหวัด เพราะเป็นครั้งแรกที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถูกพิพากษาโทษในคดีฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งในความเป็นจริงเป็นที่ทราบกันว่า มีการประพฤติปฏิบัติกันเช่นนี้โดยทั่วไป [8]

คดีพระยาอาหารบริรักษ์ กรมนา กลายเป็นคดีตัวอย่างที่ทำให้ข้าราชการทุกระดับชั้นได้สังวรถึงอำนาจขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้การนำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และคดีพระยาอาหารบริรักษ์ช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่า การเป็น “คนของสมเด็จเจ้าพระยาฯ” ดูเหมือนจะไม่ปลอดภัยเหมือนดังเช่นอดีตที่ผ่านมาอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นเป้าให้กับพระมหากษัตริย์หนุ่ม ที่ทรงมุ่งมั่นเสริมสร้างพระราชอำนาจอันชอบธรรมของพระองค์ ในชั้นต้นนี้อำนาจดังกล่าวตกอยู่ในที่ประชุมของสภาที่ปรึกษาในพระองค์และสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ การจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เพื่อดูแลการจัดเก็บภาษีและการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินเป็นการลิดรอนและจำกัดผลประโยชน์ ซึ่งเป็นที่มาของอิทธิพลของกลุ่มอำนาจเก่าโดยตรง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

 

วิกฤตการณ์วังหน้า

หลังจากความแตกแยกในครอบครัวบุนนาค การพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการของสมเด็จเจ้าพระยาฯ การที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ “ถูกหลอกใช้” ในฐานะที่ปรึกษาในพระองค์อย่างไม่เป็นทางการ และการพิพากษาโทษพระยาอาหารบริรักษ์ ทำให้อิทธิพลของครอบครัวบุนนาคอ่อนกำลังลง คงเหลือแต่ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม และวังหน้าที่ยังคงเป็นฐานอำนาจหลักให้กับอิทธิพลของครอบครัวบุนนาค และนี่คือที่มาของความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้าตามหลักฐานฝรั่งเศส

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกลดอำนาจวังหน้าก่อนสมุหพระกลาโหม อาจเป็นเพราะ

ประการแรก การแต่งตั้งวังหน้าโดยสมเด็จเจ้าพระยาฯ นั้นไม่ถูกต้องชอบธรรมตามพระราชประเพณีที่ให้วังหลวงแต่งตั้งวังหน้า

ประการที่ 2 ปกติวังหน้าต้องเป็นพระอนุชาร่วมพระมารดาของวังหลวง

ประการที่ 3 วังหน้าทรงมีอำนาจกำลังรบ คือกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่แข็งแกร่งในยามปกติ

ประการที่ 4 พระบรมวงศานุวงศ์ทรงสนับสนุนให้เปลี่ยนหรือยกเลิกวังหน้า

ประการที่ 5 ตำแหน่งวังหน้าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอและความแตกแยกของพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นสัญลักษณ์ของความแตกแยกระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์กับขุนนาง

ประการที่ 6 ความสำเร็จในการลดพระราชอำนาจของวังหน้าโดยวังหลวง ช่วยยืนยันความเป็นพระมหากษัตริย์ผู้นำ และผู้มีอำนาจอันชอบธรรมสูงสุดในการปกครองแผ่นดินของวังหลวง และยืนยันความอ่อนแอของฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ

จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดน่าจะเพียงพอที่จะทำให้กลุ่มหัวก้าวหน้า ซึ่งเป็นคนหนุ่มเลือดร้อนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเหตุการณ์ และสร้างโอกาส

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

 

M. Garnier กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2415 ติดตามกรณีวังหน้าอย่างใกล้ชิดและได้บันทึกเหตุการณ์ในช่วงนั้นไว้ดังนี้

“ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีสิ่งบอกเหตุหลายอย่าง ทำให้คิดว่า (autorisent à penser) พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 1 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งทุกคนรู้ดีว่าพระองค์ไม่ทรงโปรดวังหน้า (พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2) เลย ได้ทรงร่วมกันวางแผนกับคนสนิท (ses plus intimes confidents) เพื่อถอดถอนวังหน้า แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกันทรงดำรงพระอิสริยยศวังหน้าแทน หรือยุบเลิกพระอิสริยยศวังหน้าเพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน

แต่กระทำการสำคัญนี้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ต้องให้วังหน้าทรงกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดผิดอย่างรุนแรง จึงขอให้ที่ประชุมเสนาบดียอมรับการถอดถอนพระอิสริยยศของวังหน้า แต่ด้วยพระชนมายุประมาณ 40 พรรษา และประสบการณ์ที่สุกงอม ทำให้วังหน้าค่อนข้างเก็บพระองค์ ไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับใคร และทรงระมัดระวังพระองค์อย่างมากในทุกโอกาส ทำให้จับผิดพระองค์ได้ยาก ด้วยวังหน้าไม่ทรงมีข้อบกพร่อง ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ ที่สามารถใช้เป็นข้ออ้างได้ เราจึงไม่พลาดโอกาสที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

คืนวันที่ 28 ธันวาคม เกิดไฟไหม้ (บางทีวางเพลิงเพื่อเหตุผลดังที่กล่าวแล้ว) ในเขตพระบรมมหาราชวัง ซึ่งอยู่ติดกับเขตพระตำหนักของวังหน้า กรณีเช่นนี้ ตามโบราณราชประเพณี เป็นพระกรณียกิจของวังหน้าที่ต้องดับไฟ ด้วยเสียงกลองฆ้องให้สัญญาณเตือนภัย วังหน้าซึ่งกำลังประชวรด้วยโรคไขข้อ (rhumatisme) ทำให้เสด็จพระดำเนินไม่ได้นับเดือนแล้ว (qu’un rhumatisme empêchait de marcher depuis un mois) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เวรยามของวังหน้า รีบวิ่งไปดับเพลิงแต่ลำพัง โดยทุกนายมีถังน้ำอยู่ในมือ ไม่ช้าเพลิงจึงสงบ

ทันใดนั้นเองพวกที่หลบอยู่คอยโอกาสจะให้โทษวังหน้า ออกมากล่าวหาวังหน้าว่า พระองค์ทรงส่งทหารมาเพื่อยึดวังหลวงและเพื่อจับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (Immédiatement, les gens qui quêtaient une occasion d’incrimer le Wangnah l’accuèrent d’avoir envoyé ses soldats pour envahir le palais et saisir du Premier Roi) มีคนยืนยันแม้กระทั่งว่า ได้เห็นวังหน้าเสด็จฯ ตรวจการณ์รอบพระบรมมหาราชวังบนหลังม้า ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงขยับเขยือนไม่ได้

ไม่ว่าเรื่องที่กล่าวมานี้จะจริงหรือเท็จ ความวิตกกังวล เรื่องการยึดอำนาจโดยวังหน้าได้แผ่ขยายออกไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้ระดมกำลังไพร่พลในเขตพระนครและติดอาวุธให้ รวมทั้งอาสาสมัครจากบริเวณปริมณฑล ข่าวการระดมไพร่พลนี้ ทำให้วังหน้า ซึ่งทรงมีกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือตลอดเวลา 400 นาย ทรงจัดกำลังเพื่อป้องกันพระตำหนักจากการโจมตี เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในวันที่ 29 ธันวาคม…คืนวันที่ 31 ธันวาคม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กลับพระนคร

วันที่ 1 มกราคม…M. Newman (รักษาการกงสุลใหญ่อังกฤษ) แจ้งให้ฉันทราบว่า ท่านเพิ่งมาจากบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาฯ สมเด็จเจ้าพระยาฯ แจ้งให้ M. Newman ทราบว่าสถานการณ์กำลังย่ำแย่ และขอให้เรียกเรือรบมาโดยด่วนเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะตามมา…

วันที่ 5 มกราคม…M. Newman ได้ส่งหนังสือให้ฉันทราบตั้งแต่เช้าตรู่ว่า วังหน้าได้ทรงขอลี้ภัย (demander asile) ที่สถานกงสุลใหญ่อังกฤษ พร้อมด้วยพระมารดา พระขนิษฐา และพระชายา (พระองค์ที่ 1) ตั้งแต่เวลา 2 นาฬิกา เนื่องจากทรงเห็นว่า พระองค์จะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์และสถานภาพของพระองค์ไว้ได้แล้ว…วังหน้าพร้อมด้วย M. Newman ในชุดเต็มยศ ได้เดินทางไปยังบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่ง ณ ที่นั้นมีสมุหพระกลาโหม สมุหนายก และกรมท่าอยู่ด้วย

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้กราบทูลวังหน้าในนามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะที่ปรึกษาในพระองค์ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะที่ปรึกษาในพระองค์ไม่ต้องการให้พระองค์ทรงอยู่ในตำแหน่งวังหน้าอีกต่อไป และขอให้วังหน้าทรงสละพระอิสริยยศด้วยความสมัครพระทัย โดยพระองค์จะทรงได้รับเบี้ยหวัดและการยอมรับว่ายังทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่งเพื่อเป็นการตอบแทน

วังหน้าทรงปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมด โดยทรงให้เหตุผลว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้วยความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดมา จึงไม่ทรงควรได้รับการตอบแทนเช่นนั้น (le Wangnah avait répondu que, n’ayant rien fait qui pût lui attribuer un pareil traitement, et qu’ayant au contraire, toujours loyalement rempli ses devoirs envers le Premier Roi, il ne pouvait souscrire à la dégradation imméritée qu’on voulait lui infliger)… “ [9]

บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ภาพถ่ายทางเครื่องบินเมื่อ พ.ศ. 2489 ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

แม้สาเหตุของเพลิงไหม้จะไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า เป็นฝีมือของใคร แต่การที่ไพร่พลในวังหลวงปล่อยให้เพลิงไหม้อยู่เป็นเวลานาน แล้วปล่อยให้ไพร่พลของวังหน้าเข้าไปดับเพลิงในวังหลวงเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ ส่วนกลุ่มที่กล่าวหาและปล่อยข่าวว่า วังหน้าทรงต้องการจะยึดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นขุนนางระดับใดย่อมไม่กล้าปฏิบัติสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงเช่นนี้ หากไม่ได้รับความสนับสนุนจากผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง หากฝ่ายวังหน้าหรือสมเด็จเจ้าพระยาฯ ต้องการจะยึดอำนาจจริง ๆ ย่อมจะลงมือตั้งแต่ช่วงที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้สำเร็จราชการ ไม่น่าจะคอยเวลาให้เนิ่นนาน

นอกจากนี้ หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องการยุติข่าวลือ ก็ทรงสามารถปฏิบัติได้โดยง่าย ด้วยการเจรจาโดยตรงกับวังหน้า หรือโดยให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ หรือสมุหพระกลาโหม เป็นผู้แทนพระองค์ในการเจรจากับวังหน้าทันทีหลังเกิดปัญหาขึ้น

แต่การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปล่อยให้ข่าวลือขยายเป็นวงกว้างต่อไป อีกทั้งทรงระดมกำลังไพร่พลเพื่อเตรียมพร้อมก่อน แล้วทรงมอบหมายให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้แทนพระองค์ และเป็นผู้แทนที่ปรึกษาในพระองค์ในการเจรจา เพื่อให้วังหน้าทรงสละพระอิสริยยศทั้งปวง คงไว้แต่เบี้ยหวัด และความเป็น “พระองค์เจ้า” ของวังหน้า ย่อมแสดงว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องการเปลี่ยนวิกฤตที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสสำหรับพระองค์ในการยึดอำนาจอันชอบธรรมของพระองค์กลับคืนมา แต่สภาที่ปรึกษาในพระองค์ลืมนึกไปว่า ความกดดันที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้วังหน้าทรงหันไปพึ่งความช่วยเหลือจากต่างชาติแทนการยอมจำนนโดยดี

สถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีเมื่อ Sir Andrew Clarke ผู้ว่าราชการเมืองสิงคโปร์ และนายพลเรือ Ryder ผู้บัญชาการกองเรือในทะเลจีนแห่งราชนาวีอังกฤษเดินทางถึงกรุงเทพฯ พร้อมเรือรบ 2 ลำ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418

“Sir Andrew Clarke ได้ร่างข้อเสนอในการแก้ปัญหา และสมเด็จเจ้าพระยาฯ แก้ไขเล็กน้อยก่อนถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ข้อตกลงมีสาระสำคัญ คือ ให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงได้รับพระอิสริยยศกลับคืน ทรงได้รับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังเดิม เพิ่มหรือลดในอัตราเดียวกับวังหลวง แต่จำนวนทหารของวังหน้าให้ลดจาก 400 นาย เหลือ 200 นาย และให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบังคับบัญชาและทรงครอบครองปืนใหญ่ กระสุน และเรือรบ เพียงพระองค์เดียว ข้อตกลงนี้ได้ตีพิมพ์เป็นพระราชกฤษฎีกา วังหน้าจึงเสด็จพระดำเนินออกจากสถานกงสุลใหญ่อังกฤษ นิวัติพระตำหนักในวันที่ 25 กุมภาพันธ์” [10]

แม่น้ำเจ้าพระยา มองเห็นพระบรมมหาราชวังและเรือนแพที่พักชาวสยาม ภาพเขียนหลังเหตุการณ์ไข้ห่าระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ในหนังสือของครอว์เฟิร์ด (ภาพจาก Journal of An Embassy to the Courts of Siam And Cochin China by John Crawfurd. Oxford University Press, 1967)

 

การลี้ภัยทางการเมืองของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้า ที่สถานกงสุลใหญ่อังกฤษช่วยหลีกเลี่ยงการรบพุ่งที่อาจเกิดขึ้น และได้ช่วยให้วังหน้าทรงได้รับพระอิสริยยศเดิมกลับคืนอีกครั้ง แม้จะมีพระราชอำนาจลดลงก็ตาม แต่การที่วังหน้าทรงพึ่งพาชาวต่างชาติในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ทำให้พระเกียรติยศเสื่อมทรามลง และอาจจะถูกตำหนิโดยนักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบันว่า ทรงยึดติดกับพระราชอำนาจที่ทรงได้มาโดยไม่ชอบธรรมตามโบราณราชประเพณี และทรงขัดขวางความพยายามปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตามครรลองตะวันตกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือทำให้การปฏิรูปต่าง ๆ ล่าช้าออกไป

วิกฤตการณ์ครั้งนี้แสดงถึงความอ่อนแอของสมเด็จเจ้าพระยาฯ และผู้ใกล้ชิดที่ไม่สามารถยุติปัญหาภายในประเทศได้ตามลำพัง และต้องหันไปพึ่งผู้แทนมหาอำนาจอังกฤษมาช่วยไกล่เกลี่ย

อะไรจะเกิดขึ้น หาก Sir Andrew Clarke ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น เช่น ไม่สนับสนุนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในบันทึกส่วนตัวของท่านเอง หากวังหน้าหรือสมเด็จเจ้าพระยาฯ เสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่อังกฤษ เช่น ยินยอมยกดินแดนบางส่วนให้เพื่อเป็นการตอบแทนการให้กลุ่มอำนาจของตนขึ้นปกครองประเทศ หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงยินยอมให้สัมปทานเหมืองแร่ในกลันตันแก่ Sir Andrew Clarke เป็นการตอบแทน

แม้วิกฤตการณ์ครั้งนี้จะช่วยให้พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมั่นคง และเข้มแข็งยิ่งขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ชาวสยาม และ “ค้ำประกัน” โดยมหาอำนาจอังกฤษ แต่วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้พระราชอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดินเกือบตกไปอยู่ในมือของมหาอำนาจต่างชาติ หรือผู้ที่ไม่มีอำนาจโดยชอบธรรมเช่นกัน ความผิดพลาดในการปฏิบัติงานครั้งนี้เป็นบทเรียนทำให้สภาที่ปรึกษาในพระองค์มีความรอบคอบยิ่งขึ้นในการปฏิบัติงานในอนาคต จึงไม่เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงใด ๆ กับกลุ่มอำนาจเก่าที่อ่อนแอลงไปมากอีกเลย

ท้ายที่สุด วิกฤตการณ์วังหน้าน่าจะจัดเป็นส่วนหนึ่งของพระบรมราโชบายในการยึดพระราชอำนาจอันชอบธรรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับคืนมาจากกลุ่มผู้นำเก่าอนุรักษนิยม (กลุ่มสมเด็จเจ้าพระยาฯ และวังหน้า) ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับพระราชอำนาจ และสร้างเอกภาพในการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยตามแบบอย่างตะวันตก

เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระคลัง และกรมท่า

 

ส่วนอิทธิพลของตระกูล “บุนนาค” แม้จะลดลงมาก แต่ก็ไม่ได้หมดไป จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงดึงอำนาจในการจัดเก็บภาษีและการให้สัมปทานต่าง ๆ จากกรมท่า ผลักดันให้กรมท่าลาออกในที่สุด (ในปี พ.ศ. 2428)

ส่วนสมุหพระกลาโหม ซึ่งมีความระมัดระวังและโอนอ่อนผ่อนตามมากกว่า อีกทั้งมีธิดาเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงอยู่ในตำแหน่งได้นานกว่า แต่ท้ายที่สุด ก็ต้องยอมสละตำแหน่งให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2430

ภายหลังวิกฤตการณ์ในปี พ.ศ. 2417-2418 วังหน้าไม่มีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินอีกเลยจนกระทั่งเสด็จทิวงคต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงเป็น “วังหน้าพระองค์สุดท้ายในพระบรมราชจักรีวงศ์”

 

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “วิกฤตการณ์วังหน้า ใครเผาวังหลวง?” เขียนโดย พ.อ. รศ. ดร. พีรพล สงนุ้ย ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2543

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_70840

The post วิกฤตการณ์ “วังหน้า” ปริศนาการเมืองร้อน เหตุการณ์เผาวังหลวง สู่การดึงอำนาจกลับคืนร.5 appeared first on Thailand News.