ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“ซุ้มช้าง” สูงเท่าตึก 7 ชั้น สร้างรับเสด็จรัชกาลที่ 5 ทำจากอะไร?

“ซุ้มช้าง” สูงเท่าตึก 7 ชั้น สร้างรับเสด็จรัชกาลที่ 5 ทำจากอะไร?

มื่อ พ.ศ. 2450 พสกนิกรชาวไทยได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างซุ้มขนาดมหึมาขนาดสูงเท่าตึก 7 ชั้น จำนวนกว่า 10 ซุ้ม ที่บริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อถวายการต้อนรับแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องในโอกาสที่เสด็จนิวัติพระนครจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2

งานต้อนรับการเสด็จครั้งนี้ เรียกได้ว่าสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะที่ “ซุ้มกรมยุทธนาธิการ” หรือ “ซุ้มช้าง” ซึ่งหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ได้กล่าวถึงไว้ว่า “เป็นซุ้มที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นซุ้มที่สวยงามที่สุด” นอกจากนี้ก็ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “เข้าใจว่าซุ้มนี้ได้รับการออกแบบโดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมทหาร (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช)”

ซุ้มช้างในงานต้อนรับกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ ความสูงใหญ่ที่คนไทยเมื่อราว 100 ปีที่แล้วช่วยกันสร้างขึ้นจนแล้วเสร็จภายในเวลาแค่ 2 เดือน ยังคงสร้างความแปลกใจให้คนในยุคปัจจุบันว่า ซุ้มนี้สร้างด้วยวัสดุอะไร? คนไทยสมัยก่อนทำได้อย่างไรกัน?

คำตอบของคำถามนี้อยู่ในตอนหนึ่งของหนังสือ ซุ้มรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่ง ยุวดี ศิริ ผู้เขียนเล่มนี้ได้รวบรวมข้อมูลมาให้อ่านแก้สงสัยเอาไว้ ดังที่ได้คัดลอกมาส่วนหนึ่งดังนี้

จากภาพถ่ายซุ้มรับเสด็จตามที่ปรากฏนั้น ครั้งหนึ่งคณะผู้วิจัยใน “โครงการวิจัยภาพถ่ายโบราณชุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว เสด็จนิวัตพระนครจากการประพาสยุโรป ร.ศ. 126” ซึ่งได้รับ เงินทุนสนับสนุนการวิจัยจากกองทุนรัชดาสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา มาร่วมให้ความคิดเห็น อันประกอบด้วย ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี ม.ร.ว. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี อาจารย์ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา อาจารย์อาวุธ เงินชูกลิ่น และอาจารย์ ดร.ประเวศ ลิมปรังษี โดยท่านผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้ให้ข้อ สังเกตว่า

วัสดุที่ใช้ประดิษฐ์เป็นตัวช้างและพระเกี้ยวยอดนั้น น่าจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ วัสดุด้านนอก (เปลือก) และวัสดุด้านใน (โครงสร้าง)

วัสดุด้านนอก ในส่วนที่เป็นตัวช้าง น่าจะประกอบจากกระดาษว่าวจีน หรือกระดาษประเภทอื่น ในขณะเดียวกันก็มีผู้เชี่ยวชาญบาง ท่านที่ตั้งข้อสังเกตว่า วัสดุบางส่วนก็อาจจะประดิษฐ์ขึ้นจากปูนปลาสเตอร์ก็เป็นได้เช่นเดียวกัน อันน่าจะสอดคล้องกับรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ที่รายงานข่าวว่าในวันรับเสด็จนั้น“ทุกคนคาดหวังว่า จะไม่มีฝนตกลงมาทําความเสียหายแก่ปะรําพิธีและซุ้มต่างๆ ก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทอดพระเนตรเห็น” ซึ่งไม่ว่าวัสดุด้านนอกจะประดิษฐ์จากกระดาษก็ดี หรือปูนปลาสเตอร์ก็ดี ก็อาจจะเป็นเหตุให้ฝนสามารถทําความเสียหายได้ทั้งสิ้น

และน่าจะสอดคล้องกับความคิดเห็นของคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการหนังสือศิลปวัฒนธรรม ที่ได้ให้ข้อสังเกตว่า

การประดิษฐ์รูปตุ๊กตาหรือหุ่นใดๆ จากกระดาษนั้น เป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยอยู่ก่อนแล้ว โดยดูได้จากการประดิษฐ์หัวโขนของคนไทย”

และน่าจะมีความเป็นไปได้เป็นอย่างยิ่ง หากได้มีการพิจารณาลึกลงไปถึงรายละเอียดของช้างและคนที่นั่งอยู่บนคอช้าง ที่ได้มีการลงสีและตกแต่งหน้าตาให้เหมือนคนจริงๆ เพราะหากเป็นวัสดุประเภทอื่น ก็คงยากที่จะวาดลายละเอียดลงไปได้ ในขณะเดียวกันก่อนวันเสด็จพระราชดําเนินเข้าพระนครเพียงหนึ่งวัน (16 พฤศจิกายน) รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ รายงานว่า ได้มีฝนตกลงมาบางส่วน แต่ไม่รุนแรงนัก ซึ่งด้วยเหตุนี้เอง จึงทําให้ตัวช้างที่ได้เห็นจากรูปถ่ายในวันรับเสด็จมีลักษณะเหมือนกระดาษที่พองจากการโดนน้ำฝนในบางส่วน แต่กลับเป็นผลดีที่ทําให้เห็นช้างคล้ายความเป็นจริงมากขึ้น คือ มีลักษณะของการยับย่น จนเหมือนเป็นรอยผิวหยาบๆ ของช้าง

ส่วนที่เป็นพระเกี้ยวยอดนั้น ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความคิดเห็นว่า เนื่องจากมีลักษณะของการสะท้อนแสง หากมิได้ประดิษฐ์ขึ้นจากกระดาษที่ติดประดับกระจก ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ประดิษฐ์ขึ้นจากสังกะสีแบบบาง เพราะในสมัยนั้นประเทศไทยได้มีการนําเข้าแผ่นสังกะสีเข้ามาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือนบ้างแล้ว อันปรากฎเห็นสังกะสีลักษณะดังกล่าวนํามาประดิษฐ์เป็นธงฉัตรที่ปักอยู่ระหว่างทางเสด็จพระราชดําเนิน แต่ไม่ว่าจะเป็นวัสดุใดก็ตาม สิ่งที่สันนิษฐานได้ก็คือต้องเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เพื่อให้งาช้างและงวงช้างสามารถเป็นพระเกี้ยวยอดที่อยู่ด้านบนเอาไว้ได้

ส่วนวัสดุด้านในที่เป็นโครงสร้างนั้น ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นได้ทั้งไม้ไผ่ ไม้จริงและโครงสร้างเหล็ก เพราะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้มีการนําเข้าเหล็กมาใช้บ้างแล้ว แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับวัสดุด้านนอกว่าหากประดิษฐ์จากกระดาษ วัสดุโครงสร้างด้านในน่าจะทําจากไม้ไผ่มากกว่า เพราะช่างจีนซึ่งเข้ามารับงานก่อสร้างในยุคสมัยนั้น น่าจะมีความชํานาญในการใช้ ไม้ไผ่เป็นส่วนประกอบมากกว่าการใช้เหล็ก อีกทั้งไม้ไผ่มีความอ่อนตัว และยืดหยุ่นสามารถดัดเป็นรูปทรงได้ง่าย แต่ถึงกระนั้นก็เชื่อว่าตัวเสาซึ่งเป็นแกนหลักนั้นก็น่าจะยังใช้วัสดุที่แข็งแรง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งไม้จริง หรือเหล็ก โดยปักแกนหลักลึกลงไปในพื้นดินโดยสังเกตได้จากเชือกที่ มีการยึดโยงตัวช้างกับแกนนี้ไว้ซึ่งค่อนข้างจะแน่นหนาและแข็งแรงพอสมควร

The post “ซุ้มช้าง” สูงเท่าตึก 7 ชั้น สร้างรับเสด็จรัชกาลที่ 5 ทำจากอะไร? appeared first on Thailand News.