ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“รัฐชาติ” ปะทะ “รัฐจารีต” มูลเหตุกบฏเมืองแพร่ เมื่อเงี้ยวกลายเป็น “คนอื่น”

“รัฐชาติ” ปะทะ “รัฐจารีต” มูลเหตุกบฏเมืองแพร่ เมื่อเงี้ยวกลายเป็น “คนอื่น”

หลังจากสยามรับอิทธิพลและแนวคิดจากชาติตะวันตก จนนำมาสู่การปฏิรูปการปกครอง ทำให้เกิดสำนึกเรื่อง “รัฐชาติ” และเกิด “โลกทรรศน์” แบบใหม่ขึ้นแก่ชนชั้นปกครองสยาม แนวคิดดังกล่าวนำมาสู่การทำแผนที่ การกำหนดเส้นเขตแดน ฯลฯ รวมถึงแนวคิดเรื่องพลเมือง ภายใต้เขตแดนที่เริ่มก่อตัวขึ้น ทว่า แนวคิดเหล่านี้นำมาสู่การกีดกัน “เงี้ยว” หรือชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ออกไป ในขณะที่แนวคิด “รัฐชาติ” หรือ “รัฐสมัยใหม่” ยังไม่ไปถึงการรับรู้ของคนพื้นเมือง ที่ยังคงแนวคิดแบบ “รัฐจารีต” ไว้อยู่ค่อนข้างมาก

แนวคิดในเรื่องเขตแดนของ “รัฐชาติ” เป็นการมองเขตแดนที่ตายตัว มีขอบเขตชัดเจน นำมาสู่การให้ความหมายกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในอาณาบริเวณนั้น เช่น คน หรือประชากรที่อยู่ในเขตแดน ว่าอยู่ในบังคับสยาม อยู่ในบังคับอังกฤษ หรือฝรั่งเศส นี่จึงส่งผลต่อการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองในระดับหนึ่ง

ก่อนเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ เมื่อ พ.ศ. 2445 คนพื้นเมืองไม่เคยรับรู้ มีสำนึก หรือมีโลกทรรศน์เรื่อง “รัฐชาติ” หรือ “รัฐสมัยใหม่” ที่มีเส้นเขตแดนแน่นอนมาก่อน แม้ว่าจะมีการพูดถึงเส้นเขตแดนมาก่อนในกรณีเมืองเงี้ยว 5 หัวเมือง แต่เส้นเขตแดนของกรณีดังกล่าวก็ไม่ใช่แนวคิดของ “รัฐชาติ”

กรณีเมืองเงี้ยว 5 หัวเมืองนั้น เมืองเชียงใหม่ได้ทำข้อตกลงตามจารีตประเพณีกับเจ้าเมืองยางแดงเมื่อ พ.ศ. 2352 มีการฆ่าควายตัวหนึ่งแล้วผ่าหัวออกเป็น 2 ส่วนแบ่งเขากันคนละซีก เพื่อเป็นการทำสัญญาแบ่งดินแดน โดยใช้แม่น้ำสาละวินเป็นพรมแดน

แม้ในเวลาต่อมาได้เกิดข้อพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษกรณีเงี้ยว 5 หัวเมือง เมืองเชียงใหม่ได้ยกเอาข้อตกลงกับเมืองยางแดงมาอ้าง พร้อมหลักฐานยืนยัน คือ เขาควาย 1 ซีก แต่การยืนยันเช่นนี้ใช้ไม่ได้กับอังกฤษที่มีโลกทรรศน์เกี่ยวกับรัฐอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้น เมืองเงี้ยว 13 หัวเมือง จึงตกเป็นของอังกฤษไป

อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาครั้งนี้สะท้อนสำนึกและโลกทรรศน์ในเรื่องเขตอิทธิพลแบบ “รัฐจารีต” หรือรัฐราชาธิราช ที่เจ้าอธิราชต่างแผ่อิทธิพลเหนือดินแดนชายขอบ ซึ่งอาจทับซ้อนกันได้ หรือที่นิยมเรียกว่า ดินแดนสองฝ่ายฟ้า สามฝ่ายฟ้า โดยรัฐที่อ่อนแอสามารถส่งส่วยให้เจ้าอธิราชหลายองค์ได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ของ “รัฐจารีต” เช่น ในบางยุคเมืองเชียงตุงส่งส่วยให้พม่า จีน และสยาม, ในบางยุคเขมรส่งส่วยให้สยามและญวณ

แนวคิดเรื่องเส้นเขตแดนของ “รัฐจารีต” จึงแตกต่างจากเส้นเขตแดนแบบใหม่ของ “รัฐชาติ” ที่เป็นเขตแดนของรัฐสองรัฐมาบรรจบกัน มีพื้นที่แน่นอน ไม่มีพื้นที่คลุมเครือ แม้พื้นที่นั้นจะเป็นป่าเขาก็ตาม

แนวคิดเรื่องเส้นเขตแดนของ “รัฐชาติ” ไม่อยู่ในการรับรู้ของคนพื้นเมือง ทั้ง เงี้ยว คนเมือง และเจ้านายเมืองแพร่ เพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนทั้ง 3 กลุ่มกับชาวตะวันตกยังมีไม่มากนัก จะมีก็เป็นเพียงเรื่องการค้าเป็นส่วนใหญ่ ทำให้โลกทรรศน์ของคนพื้นเมืองยังเป็นโลกทรรศน์ตามแบบ “รัฐจารีต” ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเส้นเขตแดน

นอกจากนี้ วิถีชีวิตแบบ “รัฐจารีต” ที่ผู้คนสามารถเคลื่อนย้ายไปมาหาสู่กันโดยไม่ต้องสนใจเรื่องเขตแดน เช่น พ่อค้าเงี้ยวจากเมืองเชียงตุงสามารถบรรทุกสินค้าด้วยวัวต่างม้าต่าง เดินทางเข้ามาค้าขายในเมืองเชียงใหม่ได้อย่างสะดวก ซึ่งทำกันมานานหลายร้อยปี แต่เมื่อมีการตีแบ่งเส้นเขตแดน เรื่องของพลเมือง หรือคนในบังคับของรัฐ จึงเพิ่มความสำคัญขึ้นทันที เงี้ยวซึ่งยังคงวิถีชีวิตแบบ “รัฐจารีต” แต่ส่วนใหญ่เป็นคนในบังคับอังกฤษ ถูกทำให้เป็นพลเมืองตามแนวคิดของ “รัฐชาติ” จึงได้รับผลกระทบ ทำให้เงี้ยวกลายเป็น “คนอื่น” ในสายตาของสยาม

ดังนั้น การที่ไม่มีเส้นเขตแดนที่แน่นอนนำไปสู่การให้ความหมายต่อสิ่งที่อยู่ในเส้นเขตแดนที่ไม่แน่นอน ซึ่งแตกต่างจากโลกทรรศน์เรื่อง “รัฐชาติ” ของชนชั้นนำสยาม ดังความคิดของหม่องจินนาที่ว่า

“…ที่อยู่บังคับไปค้าขายเกนไป ขอหนังสือเดินทางต้องให้คนลาวเมืองแพร่ไปรับประกัน เมื่อครั้นไปหาคนลาดคนลาวมารับประกันตัว ลาวกลับว่าสู้เป็นคนในบังคับไลยไม่ได้ ครั้นมาคนในบังคับเหมือนอันรับตัวพวกข้าหลวงที่ออกหนังสือเดินทางนั้น กลับว่าคนบังคับเหมือนกันรับตัวออกหนังสือยังไม่ได้…”

โลกทรรศน์แบบใหม่นี้มองเงี้ยวว่าเป็นคนอื่น ส่งผลต่อสิทธิในฐานะพลเมือง เช่น ห้ามสร้างบ้าน ซื้อจำนองบ้านเรือน บุกเบิกที่ดินเพื่อทำไร่ ทำนา รวมถึงตัดไม้มาสร้างวัดก็ไม่สามารถทำได้  ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่เงี้ยวเป็นอย่างมาก ดังที่เงี้ยวมีข้อเรียกร้องว่า  

“1. คนบังคับอังกฤษทั้งหลาย อยู่ในเมืองแพร่มีความเดือดร้อนเป็นอันมาก

2. ตั้งแต่คนไทยมาเป็นข้าหลวงจัดการในเมืองแพร่ ต้องห้ามไม่ให้คนในบังคับปลูกเรือนอยู่ ห้ามไม่ให้ซื้อขายจำนำที่เรือนคนในบังคับอยู่

3. ห้ามไม่ให้คนในบังคับเบิกนาทำไร่ ทำสวน ห้ามไม่ให้ซื้อขายจำนำคนในบังคับ… ห้ามไม่ให้ซื้อขายจำนำจ่ายที่ไร่ที่นาที่สวนเป็นอันขาด… ถ้าคนบังคับไปขอไม้ขอนสักมาสร้างวัดฮิโต เงี้ยว พม่า  ต้องสู้ ข้าหลวงว่าไม่ให้ ถ้าสูสร้างวัดฮิโตไทยฮิโต ลาวอยู่จะฮิ…”

ชัยพงษ์ สำเนียง อธิบายว่า ในโลกของ “รัฐจารีต” ข้อเรียกร้องของเงี้ยวอาจสามารถปฏิบัติได้ เพราะโลกทรรศน์แบบจารีตที่ไม่มีเส้นเขตแดนแน่นอน ล้านนา รัฐฉาน สิบสองพันนาที่เคยเป็นบ้านพี่เมืองน้อง มีการข้ามไปมาของรัฐทั้งสามอย่างอิสระ การเปลี่ยนเข้าสู่ “รัฐชาติ” หรือ “รัฐสมัยใหม่” ที่มีเขตแดน อำนาจอธิปไตยตายตัว ทำให้เงี้ยวในฐานะ “คนใน” ของ “รัฐจารีต” มีสถานะเป็น “คนนอก” ของ “รัฐสมัยใหม่”

ดังนั้น การปฏิบัติต่อเงี้ยวในฐานะคนในบังคับอังกฤษ จึงแตกต่างจาก “คนใน” ที่อยู่ในบังคับสยาม และการมีสำนึกหรือมีโลกทรรศน์เรื่อง “รัฐชาติ” หรือ “รัฐสมัยใหม่” คนละแบบ จึงนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่าง สยาม กับ เงี้ยว คนเมือง และเจ้านายเมืองแพร่ ในที่สุดก่อให้เกิดการลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ ต่อต้านสยาม

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_61818

The post “รัฐชาติ” ปะทะ “รัฐจารีต” มูลเหตุกบฏเมืองแพร่ เมื่อเงี้ยวกลายเป็น “คนอื่น” appeared first on Thailand News.