ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

พระแสนแซว่ พระพุทธรูปที่ถูกตอกตะปูเย็บปาก ?!?

พระแสนแซว่ พระพุทธรูปที่ถูกตอกตะปูเย็บปาก ?!?

หากกล่าวถึงเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยมักนึกถึง “เศียรธรรมิกราช” ที่มีความสูงประมาณ 2 เมตร พบที่วัดธรรมิกราช พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

นอกจากเศียรธรรมิกราชแล้ว ยังพบเศียรพระขนาดใหญ่อื่นๆ อีก เช่น เศียรพระแสนแซว่ เชียงใหม่ ซึ่งมีเรื่องเล่าแปลกๆ ว่า ที่พระโอษฐ์ของท่านมีตะปูตอกอยู่

ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อธิบายเรื่องนี้ไว้ใน “เศียรพระแสนแส้ : พระพุทธรูปที่ถูกตรึงพระโอษฐ์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่” (ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับเดือนกรกฎาคม 2545) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

เศียรพระแสนแซว่ (แสนแส้) ปัจจุบันจัดแสดงใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เป็นเศียรพระพุทธรูปสําริด สูง 1.70 เมตร ถ้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์เต็มองค์ (พระพุทธรูปนั่ง) จะสูงประมาณกว่า 6 เมตร เทียบสัดส่วนได้กับพระศรีศากยมุนีประดิษฐานในวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสําริดที่สมบูรณ์และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (สูง 8 เมตร)

ประวัติความเป็นมาของเศียรพระพุทธรูปองค์นี้ กล่าวว่า แต่เดิมพบที่วัดยางกวง (วัดร้าง ใกล้กับประตูเมืองเชียงใหม่) อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามขึ้นนั้น พระองค์ได้มีพระราชดําริให้รวบรวมและอัญเชิญพระพุทธรูปที่เป็นงานช่างชั้นเยี่ยม มีรูปแบบต่างๆ กันทั้งในและต่างประเทศ และมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน มาประดิษฐานรอบพระระเบียงพระอุโบสถ โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้ดำเนินการ

ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการอัฐเชิญเศียรพระแสนแซว่จากเมืองเชียงใหม่มาในคราวเดียวกันนี้ด้วย แต่ไม่ปรากฏในทะเบียนประวัติพระพุทธรูปรอบพระระเบียงวัดเบญจมบพิตรฯ แต่อย่างใด

เมื่อคราวที่ให้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้นในปี พ.ศ. 2469  ได้มีการรวบรวมโบราณวัตถุจากที่ต่างๆ มาจัดแสดง เศียรพระแสนแซว่จึงได้ย้ายมาจัดแสดงในคราวเดียวกันนี้ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2515 กรมศิลปากรได้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ขึ้น ตามโครงการจัดตั้งมีนโยบายให้นําโบราณวัตถุที่เป็นของภาคเหนือนํากลับไปจัดแสดงด้วย ดังนั้นเศียรพระแสนแซว่จึงได้กลับคืนมาสู่ล้านนาอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

“พระแสนแซว่” บางครั้งเข้าใจเป็น “พระแสนแส้” หรืออาจเขียนตามภาษาพูดเป็น “แสนแซว่” หรือ “แสนแสว้” ตามศัพทานุกรมภาคเหนือใช้ “พระแสนแซว่” ในภาษาถิ่นภาคเหนือไม่มีความหมาย ส่วนคําว่า “แซว่” ตามภาษาถิ่นหมายถึง สลักหรือกลอนที่ใช้ยึด หรือเชื่อมวัสดุหลายๆ ชิ้นเข้าด้วยกัน

การที่มีคําว่า “แสน” มาประกอบหมายถึงจํานวนนับ ดังนั้นคําว่า “แสนแซว่” จึงหมายถึงสลักหรือกลอนจํานวนเป็นแสนๆ ซึ่งเป็นวิธีการของชาวล้านนาในการใส่จํานวนนับ เช่น หมื่น แสน ล้าน นําหน้าคําเพื่อเป็นการบอกขนาด เช่น พระเจ้าฝนแสนห่า พระเจ้าล้านทอง พระเจ้าเก้าตื้อ และพระแสนแซว่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้กับตําแหน่งผู้ปกครอง หรือทหารอีกด้วย เช่น พระเจ้าแสนเมืองมา หมื่นด้ามพร้าคด แสนหล้า เป็นต้น

ด้วยเหตุที่พระแสนแซว่มีขนาดใหญ่มาก ในการหล่อจึงต้องแยกเป็นส่วนๆ แล้วนํามาประกอบเข้าด้วยกันโดยใช้แซว่หรือสลักเป็นจํานวนมากนับเป็นแสนๆ จึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “แสนแซว่” (เป็นคําที่คนรุ่นหลังกําหนดเรียกขึ้นตามขนาดของพระพุทธรูปที่ต้องประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้น)

เศียรพระแสนแซว่ในปัจจุบันนี้ยังมีผู้ศรัทธามากราบไหว้อยู่เสมอ ในขณะที่ผู้เขียน [ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์] เป็นภัณฑารักษ์ประจําพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่นั้น ได้มีผู้มีเกียรติท่านหนึ่งมาขอพบและบอกว่า พระโอษฐ์ของพระแสนแซว่ถูกตะปูตอกตรึงไว้หลายปีแล้วจึงมีความประสงค์จะขอโอนตะปูออก

ผู้เขียน [ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์] ได้ตรวจสอบดูก็ปรากฏว่ามีตะปูตอกอยู่จริงทั้งริมพระโอษฐ์บนและล่างในลักษณะของการตอกเพื่อปิดพระโอษฐ์ไว้

แต่ในขณะนั้นก็ไม่ได้สอบถามประวัติและไม่ได้ดําเนินการอะไร ต่อมาจึงได้พยายามค้นหาประวัติความเป็นมาโดยเฉพาะในทะเบียนประวัติพระพุทธรูปรอบระเบียงพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ ก็ไม่พบว่ามีปรากฏว่ากล่าวถึง

เท่าที่ปรากฏหลักฐานคือทราบจากคําบอกเล่าเท่านั้น โดยผู้เขียน [ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์]  ได้ข้อมูลจากคุณพายัพ บุญมาก อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้รับฟังเรื่องราวจากญาติผู้ใหญ่ของท่านที่มีอายุในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 เล่าถึงความเป็นมาของพระแสนแซว่ และสาเหตุของพระแสนแซว่ถูกตะปูตรึงพระโอษฐ์ว่า

เมื่อคราวสร้างวัดเบญจมบพิตรฯ นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพผู้ทรงรวบรวมพระพุทธรูปจากแหล่งต่างๆ มาประดิษฐานรอบพระระเบียงพระอุโบสถ ได้อัญเชิญเศียรพระแสนแซว่จากวัดยางกวง จังหวัดเชียงใหม่ลงมาด้วย แต่ปรากฏว่าไม่สามารถนําเข้าประตูพระระเบียงได้ หรืออาจจะมีเฉพาะพระเศียรเมื่อตั้งแล้วอาจไม่เข้ากับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ จึงให้ประดิษฐานไว้ใต้ต้นไม้นอกพระระเบียงนั้น

สาเหตุที่พระโอษฐ์ของพระแสนแซว่ถูกตอกตะปูเกิดขึ้นในราวรัชกาลที่ 6 สมัยที่มีการเล่นหวย ก ข สภาพของผู้เล่นหวยคงไม่แตกต่างจากที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือการบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอให้ถูกหวย และมีผู้มาขอหวยกับเศียรพระแสนแซว่ด้วย

และเป็นที่เรื่องลือมากว่าใบ้หวยแม่นและมีผู้ถูกอยู่เสมอ เป็นเหตุให้เจ้ามือหวยเดือดร้อนจึงได้นําตะปูมาตอกเย็บพระโอษฐ์เพื่อไม่ให้ใบ้หวยอีกต่อไป ตะปูที่ตอกจึงติดมาจนถึงทุกวันนี้

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_85973

The post พระแสนแซว่ พระพุทธรูปที่ถูกตอกตะปูเย็บปาก ?!? appeared first on Thailand News.