ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

120 ปี รถไฟไทยพัฒนาต่อเนื่องสู่แนวหน้าของภูมิภาค

120 ปี รถไฟไทยพัฒนาต่อเนื่องสู่แนวหน้าของภูมิภาค

รถไฟไทย การพัฒนาสู่แนวหน้าของภูมิภาค

กรณีมีการกล่าวถึงรถไฟไทยใช้มานานว่า 120 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หากฟังแค่เพียงเท่านี้ บางคนอาจหลงเข้าใจได้ว่ารถไฟไทยใช้มาตั้งกว่า 120 ปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาใดๆ เลย แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

พัฒนาการและที่มาของรถไฟไทย

ประเทศไทยมีรถไฟใช้เป็นขบวนแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 รถไฟขบวนประวัติศาสตร์ที่ออกวิ่งเป็นครั้งแรกคือ ขบวนรถจักรไอน้ำ วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปพระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร เมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2439 หรือกว่า 126 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเส้นทางรถไฟไทยได้ขยายไปทั่วทุกภูมิภาค เช่นกันกับหัวรถจักรและขบวนรถก็ถูกพัฒนาปรับเปลี่ยนมาเป็นระยะตามยุคสมัย โดยเฉพาะหัวรถจักรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รุ่นเก่าที่สุดที่ยังใช้อยู่คือ รถจักรดีเซลไฟฟ้า Davenport รุ่น 500 แรงม้า จากสหรัฐอเมริกา การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. นำเข้ามาใช้งานเมื่อปี 2507 หรือเมื่อ 58 ปีที่แล้ว จำนวน 30 คัน ปัจจุบันถูกตัดบัญชีการใช้งานไปเกือบหมด เหลือเพียงไม่กี่คันที่นำมาใช้สับเปลี่ยนภายในสถานีใหญ่ๆ ตามต่างจังหวัดในบางโอกาสเท่านั้น ขณะที่รุ่นใหม่สุดที่ใช้งานอยู่คือ รถจักรดีเซลไฟฟ้า CSR Qishuyan รุ่น U20 จากจีน รฟท. นำเข้ามาใช้งานเมื่อปี 2558 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว จำนวน 20 คัน รุ่นนี้ทำความเร็วสูงสุดได้ 120 กม./ชม. ปัจจุบันยังใช้งานอยู่ทั้งหมด

สำหรับรถไฟไทยที่ใช้อยู่โดยทั่วไปทั้งขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ปัจจุบันมีอยู่ราว 10 รุ่น มีอายุการใช้งานมาแล้วในแต่ละรุ่น 7- 58 ปี ดังนั้นความจริงตรงจุดนี้ย่อมไม่ตรงกับข้อกล่าวอ้างที่ว่า รถไฟไทยใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กว่า 120 ปีมาแล้วโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งกรณีนี้ไม่รวมการนำหัวรถจักรไอน้ำออกมาวิ่งย้อนรอยประวัติศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวในบางโอกาส

รถไฟไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทางรัฐบาลจัดให้เป็นการขนส่งราคาถูกเพื่อให้บริการและช่วยลดภาระด้านการเดินทางและขนส่งสินค้าของประชาชน ดังนั้นจึงเห็น รฟท.ยอมขาดทุนและประสบปัญหาหนี้สินอยู่เรื่อยมา

รูปแบบรถในระบบรางของไทยที่มีในปัจจุบันและกำลังก่อสร้าง

รถไฟ มีเส้นทางเดินรถที่เปิดใช้การแล้ว 4,346 กม. ทั่วประเทศ รถไฟทางคู่ มี 7 เส้นทางระยะเร่งด่วน ระยะทางรวม 993 กม. มีหลายรูปแบบในบางช่วงทั้งเลียบพื้นดิน ยกระดับ ลอดอุโมงค์และข้ามแม่น้ำ สร้างเสร็จแล้ว 2 เส้นทางคือ เส้นทางที่ 1 ชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย ระยะทาง 109 กม. เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562 และชุมทางถนนจิระ -? ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม. เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2562 ส่วนอีก 5 เส้นทางมีความคืบหน้าได้แก่ เส้นทางที่ 3 มาบกะเบา-ชุมทางจิระ ระยะทาง 135 กม. สร้างแล้วกว่า 90% จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เส้นทางที่ 4 ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. สร้างแล้ว 70% จะแล้วเสร็จปี 2566 เส้นทางที่ 5 นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. สร้างแล้ว 95% จะแล้วเสร็จในปีนี้ เส้นทางที่ 6 หัวหิน- ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. ซึ่งเส้นทางนี้เป็นทางรถไฟที่ใกล้ทะเลที่สุดช่วงสถานีทุ่งมะเม่าถึงสถานีขั้นกระได ที่มีวิวทิวทัศน์สวยงามมาก เส้นทางนี้งานโยธาก่อสร้างแล้วเสร็จ เส้นทางที่ 7 ประจวบคีรีขันธ์ -? ชุมพร ระยะทาง 167 กม. สร้างแล้ว 85% จะแล้วเสร็จในปีนี้

ทั้ง 5 สายที่กำลังก่อสร้างนี้ คาดว่าจะเปิดบริการได้ภายในปี 2566 นอกจากนี้ รถไฟทางคู่ ยังจะมีการก่อสร้างระยะที่ 2 ของ 7 เส้นทาง ภาคเหนือ จะสร้างต่อไปถึงเชียงใหม่ ภาคอีสาน จะสร้างต่อไปถึงหนองคายและอุบลราชธานี ภาคใต้ จะสร้างต่อไปถึงสุราษฎร์ธานี สงขลา หาดใหญ่ ปาดังเบซาร์ โดยระยะ 2 นี้ จะมีระยะทางเพิ่มอีก 1,483 กม.คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า 2566

รถไฟฟ้า ทั้งยกระดับ ใต้ดิน ระดับพื้นดินและลอดใต้แม่น้ำ เป็นโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง เริ่มเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันเปิดให้บริการ 8 สี 11 เส้นทาง 141 สถานี ครอบคลุมระยะทาง 210.51 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 5 สี 6 เส้นทาง ส่วนในต่างจังหวัดหลายพื้นที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง

รถไฟฟ้าความเร็วสูง จะมีทั้งหมด 4 สายคือ อีสาน เหนือ ตะวันออกและใต้ เริ่มก่อสร้างแล้ว 2 สายคือ สายอีสาน กรุงเทพฯ-หนองคาย หรือเรียกง่ายๆ ว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ระยะทาง 608 กม.ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างเฟส 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะ 253 กม. ส่วนอีกสายคือสายตะวันออก หรือรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กรุงเทพฯ-ตราด ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งมอบและปรับพื้นที่ก่อสร้างเฟส 1 สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. ส่วนเฟส 2 อู่ตะเภา-ระยอง-ตราด อยู่ระหว่างศึกษาเส้นทาง

รัฐบาลและการผลักดันเส้นทางคมนาคมระบบราง

รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้มีการผลักดันโครงการพัฒนาระบบรางเป็นผลสำเร็จไปหลายโครงการ อย่าง รถไฟฟ้าความเร็วสูง สามารถลงนามและเริ่มก่อสร้างไปแล้ว 2 สายคือ สายอีสาน รถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน สายตะวันออก รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน , ผลักดันรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง จนสร้างสำเร็จไปแล้ว 2 เส้นทางและกำลังจะแล้วเสร็จอีก 5 เส้นทาง รวมทั้งผลักดันสร้างระยะที่ 2 ต่อ , รถไฟฟ้าใน กทม.และปริมณฑล จากเดิมก่อนปี 2557 เปิดใช้ได้เพียง 87 กม. แต่เมื่อถึงยุคของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา มีการเปิดใช้รถไฟฟ้าถึงขณะนี้กว่า 210 กม. 8 สี 11 เส้นทาง กำลังก่อสร้างอีก 5 สี 6 เส้นทาง โดยเฉพาะสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ที่จะเปิดวิ่งให้บริการได้ภายในปีนี้

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า รถไฟไทยไม่ได้ล้าสมัย จากจุดเริ่มต้นกว่า 120 ปี ได้มีพัฒนาการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขนส่งระบบรางอีกหลายประเภทต่างถูกพัฒนาให้มีความทันสมัย จนอาจเรียกได้ว่าครอบคลุมและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียนและถ้าจะกล่าวอีกว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าระบบรางของไทยจะอยู่ในระดับต้นๆ ของเอเชีย ก็ไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะกล่าวเช่นนั้น

ข้อมูล 

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220421112918045

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More