ทำไมรัชกาลที่ 5 มีรับสั่งห้ามสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จออกนอกประเทศ
พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายเมื่อคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระมหานคร ครั้งทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินออกไปรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ประทับคอยอยู่ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ที่หน้าเมืองสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2445
ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2553
ผู้เขียน
ไกรฤกษ์ นานา
เผยแพร่
วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565
สมเด็จบรมฯ [รัชกาลที่ 6] ทรงอธิบายความตื้นลึกหนาบางของความจำเป็นที่จะต้องเสด็จออกไปที่ประเทศอังกฤษ แต่ความสังหรณ์พระทัยของสมเด็จพระบรมราชชนกทำให้ภารกิจนั้นต้องถูกระงับไป โดยในความเป็นจริงถ้าต้องเสด็จไปในคราวนั้นก็จะทำให้ไม่ได้ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อสมเด็จพระปิยมหาราชสวรรคต และอาจจะเกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นเป็นแน่
“ส่วนผู้อื่นจะมีความรู้สึกกันอย่างไรไม่ทราบ, แต่ส่วนฉันได้ทราบเค้าว่าทูลกระหม่อมเองท่านออกจะทรงรู้พระองค์อยู่ว่าจวนจะถึงพระชนมายุขัย เพราะในเดือนกันยายนศกนั้นเอง ฉันได้กราบบังคมทูลขอไปเป็นผู้แทนพระองค์ในงานราชาธิเษกพระเจ้ายอร์ชที่ 5 แห่งประเทศอังกฤษ แต่หาโปรดให้ไปไม่
ไหนๆ ก็ได้กล่าวขึ้นถึงเรื่องนี้แล้ว ฉันขอเล่าความให้ตลอด ในชั้นต้นเมื่อได้มีกำหนดงานราชาภิเษกพระเจ้ายอร์ชที่ 5 ทูลกระหม่อมจะให้น้องชายแดง (สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์) ไปเป็นผู้แทนพระองค์ตามประเพณีที่ได้เคยมีมาในงานครั้งก่อนๆ คือเจ้าฟ้าองค์ใดที่มีพระชันษามากที่สุดในพวกเจ้าฟ้าที่ยังคงศึกษาอยู่ในประเทศยุโรป ก็มักได้รับเลือกเป็นผู้แทนพระองค์ไปช่วยงานต่างๆ ในราชสำนักนานาประเทศ
ครั้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2453 ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมนายทหารผู้ใหญ่ที่ศาลายุทธนาธิการ (ศาลากลาโหมเดี๋ยวนี้) น้องชายเล็กได้พูดขึ้นว่า มิสเตอร์ปีล (Mr. Arthur Robert Peel) อัครราชทูตอังกฤษ ได้พูดทักท้วงถึงเรื่องที่จะส่งน้องชายแดงไปในงานราชาภิเษกพระเจ้ายอร์ชที่อังกฤษ คือมิสเตอร์ปีลบ่นอยู่ว่าน้องชายแดงอายุน้อยนัก (ในเวลานั้นน้องชายแดงอายุเพ่อจะได้ 17 ปี) และถามว่าทำไมไม่ส่งเจ้านายไปจากในนี้ กรมนครชัยศรีตีความว่าเขาต้องการให้ฉันไป และกรมนครชัยศรีเองก็ทรงเห็นว่าถ้าฉันได้ไปยุโรปอีกคราว 1 ก็จะดี
ฉันเองก็เห็นด้วย เพราะในเวลานั้นฉันได้กลับมาจากยุโรปถึง 7 ปีแล้ว ย่อมจะเรื้ออยู่บ้าง ความรู้ในการงานในยุโรปบกพร่องไปทุกที และหาความรู้เติมขึ้นใหม่ไม่ใคร่ทัน เพราะขาดการฟังด้วยหดด้วยตา การงานใดๆ ที่ได้ดูได้เห็นมาแล้วก็ดูและเข้าใจอย่างเด็กๆ และอย่างผู้ที่อยู่ในที่นั้น คงไม่ดีเท่าดูด้วยตาและรู้สึกด้วยใจผู้ใหญ่ที่ได้รู้การงานในเมืองของตนเองแล้ว
เมื่อได้มีความเห็นตรงกันเช่นนี้แล้ว กรมนครชัยศรีกับฉันจึ่งพร้อมใจกันมอบให้น้องชายเล็กไปกราบบังคมทูลข้อความตามที่มิสเตอร์ปลีได้พูดกับเธอเอง ที่ได้ตกลงมอบให้เล็กไปทูลเช่นนั้น เป็นความคิดของกรมนครชัยศรี ซึ่งคเณอยู่ว่าเมื่อได้ทรงทราบเรื่องแล้วก็คงจะทรงปรึกษากรมนครชัยศรี เพราะโดยปรกติมักจะได้เคยทรงทำเช่นนั้นในกิจการอันเนื่องด้วยราชสำนักต่างประเทศ
ครั้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน กรมนครชัยศรีได้บอกแก่ฉันว่า ตกลงโปรดเกล้าฯ ให้น้องชายเล็กออกไปแทนพระองค์ ฉันได้ฟังข่าวเช่นนี้แล้วก็ได้เก็บเอาไปตรองอยู่ตลอดวัน 1 เพราะยังมิได้รู้ทางเหนือทางใต้เลยว่าเหตุใดทูลกระหม่อมจึ่งได้ทรงเลือกน้องชายเล็กเพราะฉันเป็นที่ได้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และได้เป็นผู้คุ้นเคยกับเจ้านายอังกฤษยิ่งกว่าใครๆ ส่วนน้องชายเล็กเป็นผู้ที่ได้เคยแสดงวาจาติเตียนอังกฤษอยู่เสมอๆ จนใครๆ ก็รู้ และอีกประการ 1 เธอมีเมียที่เป็นน่ารังเกียจแก่เจ้านายชาติยุโรปอยู่ด้วย
ดังนี้จึ่งเข้าใจว่าอย่างไร ก็คงจะต้องได้มีการดำเนิรอุบายลึกลับอะไรกันสักอย่าง 1 ซึ่งฉันยังมิได้ทราบ ฉันต้องรับสารภาพว่าฉันรู้สึกเสียใจมากในการที่จะไม่ได้ไปยุโรป เพราะฉันรู้สึกว่าถ้าไม่ได้ไปในโอกาสนั้นแล้วคงไม่มีโอกาสได้ไปอีก พะเอินในเวลาค่ำวันที่ 12 นั้นเอง ไปเฝ้าทูลกระหม่อมได้พระราชทานรูปอักษรพระนามที่ได้ทรงจารึกไว้บนนอร์ดเคป ในประเทศนอร์เวย์ และมีพระราชดำรัสว่า ถ้าฉันไปยุโรปเห็นจะต้องไปให้ถึงที่จารึกนี้ พระราชดำรัสนี้ทำให้ฉันยิ่งนึกอยากไปยุโรปมากขึ้นอีก จนตกลงใจว่าต้องลองกราบบังคมทูลเข้าไปสักที่จงได้
ครั้นวันที่ 13 กันยายน ฉันจึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเข้าไปที่ทูลกระหม่อม ขอพระราชทานไปยุโรป สรุปความในหนังสือนั้นว่า ตั้งแต่ฉันได้กลับเข้ามาจากยุโรปก็ได้ 7 ปีแล้ว รู้สึกว่าข้อนข้างจะเรื้อ ได้พูดจากับกรมนครชัยศรี เห็นพร้อมกันว่าควรจะไป แต่อาศัยเหตุที่ยังมิได้มีโอกาสอันดี จึงยังมิได้กราบบังคมทูล มาบัดนี้จะมีงานราชาภิเษกพระเจ้ายอร์ช ดูเป็นโอกาสดีที่จะไปได้ เพื่อจะได้สำแดงอัธยาศัยไมตรีต่อพระองค์พระเจ้ายอร์ชและเจ้านายอื่นๆ ณ ยุโรป ซึ่งได้เคยรู้จักมักคุ้นกันมาแล้วแต่ก่อนนั้นทั้งจะได้มีโอกาสดูการงานต่างๆ ด้วยตา ผู้ใหญ่ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในทางที่จะสนองพระเดชพระคุณในราชการทั่วไปได้ดีขึ้น
อีกประการ 1 ชาวยุโรปกำลังจะเริ่มรู้จักเมืองเราขึ้นแล้ว แต่ฝ่ายไทยเรายังประกาศโฆษณาเมืองของเราเองไม่พอธรรมดาประเทศต่างๆ ต้องอาศัยทูตของตนเป็นผู้ทำให้ชนต่างชาติรู้จัก และทึ่งในประเทศของตน แต่ราชทูตไทยไม่สามารถจะประกาศโฆษณาเมืองไทยได้ เพราะไม่เป็นคนกว้างขวางเสียเลย ราชทูตไทยไม่ใคร่จะได้พบปะกับผู้ใดนอกจากข้าราชการบางคน และก็พบแต่เฉพาะในเมื่อไปพูดจากันด้วยข้อราชการเท่านั้น เมื่อใช้ทูตทำน่าที่เป็นผู้ประกาศเกียรติคุณของเมืองไทยยังไม่ได้แล้ว ก็ควรที่จะต้องส่งผู้ที่สามารถจะทำการเช่นนั้น ได้ออกไปจากในกรุง และฉันเชื่อว่าจะฉลองพระเดชพระคุณในน่าที่เช่นนั้นได้
ในเวลากลางคืนวันที่ 13 นั้นเอง ฉันได้รับพระราชหัตถเลขาตอบ มีความว่าเรื่องที่จะเกิดไปยุโรปกันนี้เกี่ยวด้วยเรื่องช่วยงานราชาภิเษก จึงจำเป็นจะต้องไปในต้นปีน่าของฝรั่ง ข้อซึ่งจะโปรดให้น้องชายแดงไปนั้น เป็นเด็กคงจะไม่พอประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายจริง แต่ถ้าจะเปลี่ยนเป็นถึงให้ ‘มกุฎราชกุมาร’ ออกไป ทรงพระราชดำริห์เห็นเป็นข้อขัดข้องไม่สดวกหลายอย่าง จะแบ่งเป็นข้อๆ ตามที่ทรงระบุมาในพระราชหัตถเลขา ดังต่อไปนี้
(1) ข้อสำคัญนั้นเป็นไปเฉพาะช่วยงาน หาได้เป็นการเจริญทรงพระราชไมตรีทั่วไปไม่ ถึงจะไปที่อื่นก็เป็นหลายเหตุ ทรงพระราชดำริห์ว่าไม่จำเป็นต้องถึงมกุฏราชกุมาร เพราเหตุที่ระยะทางไกล และพ่อก็เจ็บๆ ไข้ๆ ไม่สู้มั่นคง
นี่ทำให้ฉันต้องชงักเสียแล้ว และรู้สึกว่าทูลกระหม่อมท่านรู้สึกพระองค์อยู่ว่าเป็น ‘ไม้ใกล้ฝั่ง’ และถ้าหากจะทรงยกเหตุแต่ข้อนี้ข้อเดียว ฉันก็จำเป็นต้องงดความคิดที่จะไปอยู่แล้ว
(2) เงินทองเวลานี้บกพร่องมาก งบประมาณต้องตัดลงร้อยละ 3 ยังจะต้องรับแขกเมือง ซึ่งจำจะต้องเลิกงานพระศพ แขกเมืองที่ทรงเตรียมรับเวลานั้นคือเจ้าชายวิลเฮล์ม รัชทายาทของไกเสอร์วิลเฮล์มที่ 2 ซึ่งกะว่าจะเข้ามาเยี่ยมกรุงสยามราวปลายปีนั้น
(3) ซึ่งจะไปแต่เมืองเดียว 2 เมือง และพลอมๆ แพลมๆ ก็ไม่ได้ ทรงพระราชดำริห์ ว่าไม่ใช่โอกาสดี คงจะมีเวลาซึ่งมีโอกาสดีหรือเปนการจำเป็นดีกว่าไปช่วยงานนี้
(4) ในงานนี้ได้ทรงรับกับน้องชายเล็กไว้ว่าจะให้ออกไป เหตุด้วยเป็นผู้ซึ่งไม่ได้เที่ยว ‘มากเหมือนคนอื่น ได้เห็นการน้อย น่าที่ซึ่งเข้ารับราชการอยู่เดี๋ยวนี้ก็เปนน่าที่สำคัญ ซึ่งควรจะเพิ่มเติมความรอบรู้ให้ทั่วถึง’ การจะไปควรจะเป็นยศแต่ในเวลางาน ที่เป็นสำคัญก็ในเมืองอังกฤษและรัสเซีย นอกนั้นต่อดูอะไรไม่ได้จึ่งค่อยเป็นเจ้า ทรงพระราชดำริห์ เห็นว่าพลิกแพลงได้ง่ายกว่า เงินที่ใช้พอจะลดหย่อนให้น้อยลงได้ และน้องชายเล็กสัญญาว่า นอกจากเวลาไปราชการจะใช้เงินของตัวเองในการเที่ยวเล่น ‘มีข้อที่จะพึงรังเกียจอยู่บางอย่าง ก็ได้พูดกันเป็นที่เข้าใจชัดเจนตั้งแต่เมื่อไปอยู่เพ็ชรบุรีแล้ว’ ทรงพระราชดำริห์ว่าเป็นการเหมาะ สมควรดีแล้ว จึงได้ตรัสตกลงไปแล้ว
‘ข้อที่พึงรังเกียจนั้น’ หมายความถึง…ซึ่งคงทรงเอาสัญญาว่าไม่ให้พาไปเข้าราชสำนักต่างประเทศ ส่วนข้อความอื่นๆ ในข้อ 4 นั้น ฉันรับสารภาพว่าได้ทําให้ฉันรู้สึกไม่สู้พอใจอยู่บ้าง…ฉันเชื่อว่าทูลกระหม่อมก็คงจะได้ทรงรู้สึกอยู่แล้วเหมือนกันว่ามีข้อควรฉันจะไม่พอใจอยู่ จึงได้มีแถมความมาข้างท้ายพระราชหัตถเลขานั้นว่า
‘อันที่จริงพ่อไม่เชื่อตัวพ่อเองว่าจะทนทานเท่าใด หมู่นี้อยู่ข้างทุพพลภาพ โรคภัยก็เบียดเบียฬมาก ขอให้สบายใจเถิด ขออย่าให้ต้องว้าเหว่ เวลาที่ดียังมีข้างภายหน้า’” [1]
ก่อนที่ [รัชกาลที่ 5] จะเสด็จสวรรคตถึง 3 ปี กล่าวคือ ในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2450) ได้เคยมีพระราชดำรัสครั้งหนึ่งที่เมืองซานเรโมความว่า
“แก (หมายถึงแพทย์ที่ถูกเรียกมาตรวจพระอาการ – ผู้เขียน) เลยทุ่มเหว (หมายถึง ยอให้ถูกใจ – ผู้เขียน) ว่าที่พ่อกลัวจะตายในสามปีนั้นไม่ตาย ถ้าผ่อนทำงานให้น้อยลงหน่อย นอนให้มากขึ้นอีกหน่อย จะอยู่ได้ถึง 80 แกว่าที่ว่านี้ตามลักษณะกำลังร่างกายที่จะเป็นไปได้ ตามที่แลเหน เช่นกับรูปร่างแลหัวใจปอดหนุ่มกว่าอายุ เว้นแต่ถ้ามีโรคภัยอันใดกระแทกกระทั้นมานั้นก็เป็นธรรมดาที่จะอยู่ไปไม่ถึง” [2]
การที่มีพระราชดำรัสว่า “พ่อกลัวจะตายในสามปี” นั้นค่อนข้างจะเป็นวาจาสิทธิ์ เพราะในที่สุดก็เสด็จสวรรคตจริงๆ ในอีก 3 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2453 หมายความว่า ทรงพยากรณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำว่าจะสวรรคตในปีใด สิ่งเหล่านี้เป็นลางบอกเหตุและความกังวลใจให้ทรงเตรียมพระองค์มากขึ้น ภายหลังเสด็จฯ กลับจากยุโรปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2450
กลางปี พ.ศ. 2453 เมื่อสมเด็จพระปิยมหาราชทรงพระประชวรมากขึ้น จึงมีพระราชประสงค์ให้สมเด็จพระบรมฯ ประทับอยู่ใกล้ชิดมากกว่าเดิม เผื่อว่าจะเกิดเหตุฉุกเฉิน สมเด็จพระบรมฯ ก็จะได้อยู่รับหน้าที่แทนได้ทันที เหตุการณ์ตอนหนึ่งในระหว่างนี้ก็เป็นจริงขึ้น โดยที่เกิดมีภารกิจเร่งด่วนให้เจ้านายชั้นสูงต้องเสด็จแทนพระองค์ออกนอกประเทศ แต่สมเด็จพระปิยมหาราชก็ได้ทรงห้ามปรามไว้ การคาดการณ์ล่วงหน้าเช่นนี้ชี้ว่าสมเด็จพระปิยมหาราชทรงรู้พระชะตาของพระองค์ดี [2]
เอกสารประกอบการค้นคว้า
[1] ราม วชิราวุธ ปร. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6, กรุงเทพฯ : มติชน, 2550
[2] พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในเวลาเสด็จฯ ประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2450 ตีพิมพ์ในงานพระเมรุ พระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสิงห์วิกรมเกรียงไกร พ.ศ. 2491
หมายเหตุ บทความนี้คัดย่อจาก ไกรฤกษ์ นานา. “พระราชประสงค์ พระราชดำริ พระราชปรารภในสมเด็จพระปิยมหาราชเมื่อก่อนสวรรคต” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2553 (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2565
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_82496
The post ทำไมรัชกาลที่ 5 มีรับสั่งห้ามสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จออกนอกประเทศ appeared first on Thailand News.