ตามหาร่องรอย “แคนพระปิ่นเกล้า” ที่ทรงเป่าให้เซอร์จอห์น เบาริ่งฟัง
(ซ้าย) พระปิ่นเกล้าฯ (ขวา) แคนยาวที่จัดแสดงในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ (เอนก นาวิกมูล ถ่าย SS-3344-010-อาทิตย์ 17 กุมภาพันธ์ 2562) (สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)
ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2562
ผู้เขียน
เอนก นาวิกมูล
เผยแพร่
วันพฤหัสที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565
หลายปีก่อน… คือเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 ผมติดตามท่านทูต พิษณุ จันทร์วิทัน ไปแขวงสาละวัน (ใกล้เมืองจำปาสัก) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ตกค่ำของวันพุธที่ 2 มีการแสดงแบบลาวให้แขกดู แน่นอนว่าการแสดงหนึ่งที่ต้องมีคือการเป่าแคน
แต่แคนคืนนั้นมีความพิเศษกว่าที่เราเคยเห็นในภาคอีสาน คือมีอันหนึ่งยาวมากๆ จนชนเพดานห้อง
แคน 8 ศอกที่อัตตะปือ (เอนก นาวิกมูล ถ่าย SLA-3169-015-พุธ 2 ตุลาคม 2545) (สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)
ผู้ให้ข้อมูลกล่าวว่าแคนนั้นเรียกกันว่าแคน 8 ศอก ซึ่งเมื่อเทียบกับมาตราวัดแบบสากลแล้วก็เท่ากับ 4 เมตร (1 ศอก เท่ากับ 50 เซนติเมตร)
ผมเก็บความประทับใจแคน 8 ศอกมานาน เพราะนึกไปถึงแคนพระปิ่นเกล้าที่ เซอร์จอห์น เบาริ่ง ราชทูตอังกฤษ บันทึกไว้ในหนังสือ The Kingdom and People of Siam กรมศิลปากรให้ นันทนา ตันติเวสส แปลในชื่อ “บันทึกรายวันของเซอร์ จอห์น เบาริง” กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. 2532
เบาริ่ง (พ.ศ. 2335–2415 อายุ 80 ปี) ซึ่งเป็นราชทูตอังกฤษเดินทางเข้ามาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2398 เพื่อทำสนธิสัญญาทางการค้ากับไทยได้เข้าเฝ้าฯ พระปิ่นเกล้าในตอนบ่ายของวันที่ 18 เมษายน
เบาริ่งกล่าวว่าภาษาอังกฤษของพระปิ่นเกล้าอยู่ในขั้นยอดเยี่ยม
ห้องสมุดของพระองค์มีหนังสือภาษาอังกฤษที่เลือกเฟ้นอย่างดี
ในพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์มีเครื่องกลไกต่างๆ พร้อมด้วยหุ่นจำลองในสาขาต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ มีเครื่องวัดแดด–เครื่องวัดมุม–หุ่นจำลองเรือกลไฟแบบย่อส่วน–อาวุธใหม่ๆ หลากหลายชนิด…
จากดนตรีที่มาบรรเลงตลอดเย็นวันนั้น เบาริ่งหลงใหลในความไพเราะของเครื่องดนตรีที่ประกอบด้วยไม้ซางสูงกว่า 7 ฟุต
เขากล่าวว่าพระปิ่นเกล้า “ทรงเป่าแคน และหลังจากนั้นก็พระราชทานเครื่องดนตรีดังกล่าวแก่ข้าพเจ้า-and I was much struck with the sweetness of an instrument composed of the reeds of bamboo-the central reeds above 7 feet long. The King played upon it, and afterwards presented it to me.”
และในวันที่ 21 เบาริ่งก็บันทึกอีกว่าพระปิ่นเกล้าพระราชทานเครื่องดนตรีลาวประเภทเป่าให้เขา
นี่แสดงว่าแคนของพระปิ่นเกล้าต้องถูกนำกลับไปอังกฤษด้วย แต่ในขณะนี้… เราไม่ทราบว่าแคนดังกล่าวยังอยู่ที่อังกฤษหรือไม่ เพราะไม่มีใครไปค้นคว้าหรือนำมากล่าวถึงเลย
อ้างถึงแคนจากคำแปลของนันทนาแล้ว ต้องหมายเหตุให้ทราบด้วยว่า ในฉบับนายเพ่ง พ,ป, บุนนาค แปลมาก่อน ท่านแปลความแปลกมาก
คือที่ควรแปลว่าเครื่องดนตรีใช้เป่า ท่านกลับแปลเป็น “ใช้ตีบนผิวไม้ฟังเพราะดี เรียงกันเปนแผ่น ต่อกันยาวประมาณสัก 7 ฟิตส์” ซึ่งชวนให้นึกถึงระนาด เป็นคนละเรื่องและเป็นไปไม่ได้ที่ระนาดจะยาวขนาดนั้น ท่านที่ใช้เบาริงฉบับแปลโดยนายเพ่งจึงต้องระวัง
วันที่ 20 หลังจากเที่ยวชมวัดโพธิ์แล้ว เบาริ่งได้ไปร่วมโต๊ะเสวยกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท กรมหลวงวงษาฯ ได้จัดวงดนตรีให้ฟัง ทรงพาชมอาวุธ ชมห้องบรรทม แล้วมีรับสั่งให้คนลาวมาเล่นดนตรีขับร้องและฟ้อนเทียนถวาย
ตัวเครื่องดนตรีชุดนี้ เบาริ่งกล่าวว่าทำด้วยไม้ไผ่ขนาดต่างๆ เจาะรูคล้ายฟลุต และส่วนที่ใช้ปากเป่านั้นมีลักษณะคล้ายกับของขลุ่ยหรือปี่ ฟังเพลงเพราะๆ เศร้าๆ
นันทนาไม่แปลตรงๆ ว่าแคน ในขณะนายเพ่งแปลตรงๆ ว่าแคน
ที่ยกของกรมหลวงวงษาฯ มาอ้างไว้ด้วยนี้ เพื่อจะได้ทราบว่าวังของกรมหลวงวงษาฯ เป็นอีกวังที่มีเครื่องดนตรีลาวปนอยู่ แต่ปัจจุบันคงหายหมดแล้ว
วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 ผมหาเวลาไปเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ไปเห็นแคนยาวมากๆ ในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ 3 เต้า รู้สึกตื่นเต้น คำบรรยายไม่บอกว่ายาวเท่าใด ประมาณด้วยสายตาว่าน่าจะราวๆ 3 เมตร เพราะไม่เคยเห็นนำมาแสดงในพระที่นั่งองค์นี้มาก่อน ทำให้คิดอยากจะเขียนเรื่องพระปิ่นเกล้าขึ้นมาทันที
แคนที่นำมาจัดแสดงในตู้ไม่ได้ระบุว่าเป็นของพระปิ่นเกล้าแต่อย่างใด แต่ถ้าจะให้เดา ก็คงต้องเดาว่าเป็นของพระปิ่นเกล้าอยู่ดี–ไม่น่าจะเป็นแคนของชาวบ้าน เพราะปลอกรัดแคนทั้ง 3-4 ระดับที่เห็น ทำด้วยโลหะอย่างดี มีการแกะลายประดับสวยงามเกินกว่าที่สามัญชนทั่วไปจะทำได้
แคนยาวที่จัดแสดงในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ (เอนก นาวิกมูล ถ่าย SS-3344-010-อาทิตย์ 17 กุมภาพันธ์ 2562) (สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)
สอบถามไปที่ ดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ผู้ชำนาญการคนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ดิษพงศ์รีบโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงแล้วตอบมาทันทีว่าแคนนี้เดิมเคยจัดแสดงปะปนอยู่กับเครื่องดนตรีอื่นๆ ในห้องดนตรี พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน และเป็นของชุดเดียวกันกับที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือทเวนตี้เซนจูรี่ พ.ศ. 2451
ในปัจจุบันได้ย้ายมาจัดแสดงที่ชั้นล่างของพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ทว่าไม่มีประวัติหรือหลักฐานยืนยันว่าเป็นแคนของพระปิ่นเกล้าแต่อย่างใด อันที่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นชิ้นส่วนของแคนของพระปิ่นเกล้าจริงๆ มีแค่ตัวเต้าแคนชิ้นหนึ่งเท่านั้น ไม่มีไม้ซางยาวๆ ติดอยู่ด้วย เต้าแคนดังกล่าวนี้ปัจจุบันเก็บอยู่ในโกดัง ไม่ได้เอาออกมาแสดง
อย่างไรก็ต้องขอบคุณทางพิพิธภัณฑ์ ที่นำแคนฝีมือวิจิตรมาแสดงให้ดูเป็นขวัญตา
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “สมบัติพระปิ่นเกล้า” เขียนโดย เอนก นาวิกมูล ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2562 เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อธันวาคม 2563 จัดย่อหน้าและเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_52130
The post ตามหาร่องรอย “แคนพระปิ่นเกล้า” ที่ทรงเป่าให้เซอร์จอห์น เบาริ่งฟัง appeared first on Thailand News.