“ผักตบชวา” วัชพืชนำเข้าที่สร้างปัญหาตั้งแต่ 100 ปีก่อน
ในบรรดาวัชพืชประเภทต่างๆ “ผักตบชวา” ดูจะมีชีวิตที่ผกผันมากที่สุด ด้วยเป็นวัชพืชที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงและคณะจากการประพาสชวา กลับมาเป็นไม้กระถางอยู่ในราชสำนักเมืองไทย ก่อนจะกลายเป็นวัชพืชไม่มีค่าในแม่น้ำลำคลอง จนสร้างปัญหาการคมนาคมทางน้ำ หลังจากนั้นในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการนำผักตบชวามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผักตบชวาจะเป็นอะไรต่อไปยังไม่รู้ได้
ความบอบบางของดอกผักตบชวา เหี่ยวเฉาได้ง่าย ในช่วงแรกที่นำเข้ามาปลูกในเมืองไทย จึงได้รับการดูแลอย่างดี เทพชู ทับทอง และธงชัย ลิขิตพรสวรรรค์ ต่างเขียนเรื่องนี้ไว้สอดคล้องกันว่า ในปี พ.ศ. 2439 ซึ่งเป็นการเสด็จประพาสชวาครั้งที่ 2 ของรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทอดพระเนตรและสนพระทัยใน “ช่อผักตบชวา” สีม่วง ที่ประดับผมเหล่าสตรีชวา จึงมีพระราชเสาวนีย์ขอนำกลับมาเมืองไทย
ผักตบชวา (ทั้งรากและโคน) จำนวน 3 เข่ง, พร้อมน้ำในบ่อเดิมอีก 10 ปี๊บ (สำหรับเป็นน้ำเชื้อ) ที่มากับเรือพระที่นั่งจักรีโดยมีเรือโทโดด หม่องมณี เป็นผู้ดูแลตลอดการเดินทางโดยต้นไม่ตาย จึงได้รับพระราชทานรางวัลเป็นเหรียญ ส.ผ. (พระนามย่อ เสาวภาผ่องศรี) ทองคำ 1 เหรียญ, พร้อมสร้อยทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น, เงิน 3 ชั่ง ฯลฯ
เมื่อมาเมืองไทยก็นำไปปลูกที่พระราชวังพญาไท ใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน ผักตบชวาก็แน่นกระถางลายคราม มีการเปลี่ยนของใช้น้ำในเมืองไทยเติม แทนน้ำที่นำมาจากชวา ก็ไม่ผิดน้ำและงามดี บรรดาเจ้านาย และขุนนาง เห็นดอกสวยก็ขอพระราชทาน ก็พระราชทานให้องค์ละ 1-2 หน่อเท่านั้น จึงย้ายลงบ่อน้ำพระราชวังพญาไท เมื่อปลูกได้ 6 เดือน ผักตบชวาขึ้นเต็มแน่นบ่อ เจ้านายตามวังต่างๆ ก็ไม่มีองค์ใดมาทูลขอพระราชทาน จึงโปรดให้นำเอาต้นผักตบชวาปล่อยลงคลอง เผื่อใครต้องการจะให้นําเอาไปปลูกเป็นการแพร่พันธุ์กันต่อๆ ไป
ครั้งแรกโปรดให้ปล่อยลงคลองสามเสน (หลังพระราชวังพญาไท), ครั้งที่สองโปรดให้ปล่อยลงคลองเปรมประชากร, ครั้งที่สามโปรดให้ปล่อยลงคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่นั้นมา ผักตบชวาก็ได้เกิดขึ้นแพร่หลายเต็มแม่น้ำ ลําคลองทั่วเมืองไทยมาจนบัดนี้
อย่างไรก็ดี มีข้อเขียนของ ผศ.ดร. ชัชพล ไชยพร เสนอว่าผักตบชะวาเข้ามาเมืองไทยที่กรุงเทพฯ ครั้งแรกใน พ.ศ. 2444 เมื่อคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาศชวา พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ทรงนำเอาต้นเข้ามา เนื่องด้วยทรงโปรดมาก เพราะดอกดูสวยงามคล้ายดอกกล้วยไม้ ขอเขียนติดไว้ให้ท่านผู้อ่านที่ต้องการค้นคว้าเพิ่ม
เรื่องของผักตบชวายังไม่จบ เพราะผักตบชวาที่แพร่พันธุ์ไม่ได้เพิ่งสร้างปัญหาในยุคปัจจุบัน แต่มีปัญหาตั้งแต่ในยุคสมัยที่นำเข้าเลยทีเดียว
พ.ศ. 2450 เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้เปลี่ยนการเสด็จกลับจากประพาสเมืองฉะเชิงเทราโดยทางเรือ ทรงบันทึกถึงปัญหาของผักตบชวาไว้ใน “เสด็จประพาสคลองแสนแสบ” ซึ่งขอยกตอนหนึ่งทรงบันทึกว่า
“วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ร.ศ.126 [พ.ศ. 2450] ออกเรือ 3 โมงเศษ บ้านเรือนตอนในนี้เข้า มาแปลกกว่าข้างนอก รู้สึกว่าบางกอกมากขึ้น มีเจ๊กและไทยมากขึ้น ผักตบชะวาแลเห็นกำลังออกดอกในทุ่งดาษไป มันก็งาม เขาว่าพึ่งมี ไม่ใช่เต็มคลองอย่างข้างแถบนครไชยศรี แต่เจ้าชายงาม [หม่อมเจ้าชายสง่างาม สุประดิษฐ์] ออกจะชอบๆ เห็นว่าเลี้ยงหมูได้ แต่ข้างฝ่ายนครไชยศรีนั้นกริ้วเหลือเกินว่าหมูก็ไม่กิน หรือที่สุดจนว่ากินเมา นั่นก็เป็นการเหลือเกินไป เป็ดห่านกินเห็นแก่ตา จำต้องมีให้กิน คนก็กินได้ ข้อที่มันเกิดเร็วทำให้คลองตันนั้นไม่ดีจริง แต่เห็นจะใส่ความมันบ้าง…”
นอกจากนี้เมื่อเสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2451 ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) ทรงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องของ ผักตบชวา ว่า
“วันที่ 21 เช้า ลงเรือล่องลงไปดูคลองท่าถั่ว ซึ่งตั้งชื่อว่า คลองประเวศน์บุรีรมย์ ทางตั้งแต่บ้านเทศาลงไปประมาณชั่วโมงหนึ่ง ที่คลองนี้น้ำไม่สู้แรงเหมือนคลองบางขนาก…ที่สี่แยกเรือเดินเข้าออกไม่ได้เตรียมจะไปเตือน เจ้าพระยายมราชเรื่องผักชวานี้ร้ายกาจมาก ตามลําน้ำบางประกงหน้าจ๋อยๆ เพราะถูกน้ำกร่อย แต่ก็ไม่ไหลลงไปทะเลได้หมด เพราะน้ำไหลขึ้นก็กลับลอยขึ้น
ข้อที่ว่ากระบือกินได้นั้นเป็นความจริงแต่กลับมีอันตรายมาก เหตุด้วยกระบือกินแต่ใบ ต้นรากแห้งติดอยู่กับดิน ครั้นถึงเวลาไถหว่านข้าวในนา พอน้ำมาผักชวาเจริญเร็วก่อนต้นข้าวในนา เบียดเสียดแทรกต้นข้าวลีบไปหมด โทษถึงจะต้องประหารให้หายขาด แต่ต้องเป็นการพร้อมกันทั้งหัวเมืองและในกรุง เวลานี้การที่จะคิดทำลายผักชวาในกรุงยังไม่ได้จับคิดอ่านให้เป็นการทำทั่วไป”
ต่อมาในต้นรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2456 ทางการได้ออกพระราชบัญญัติกำจัดผักตบชวาขึ้นฉบับหนึ่ง มีข้อความบางมาตราที่สำคัญๆ ดังนี้
“มาตรา 3 เมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ในที่ใด ถ้าในที่นั้นผักตบชวาเกิดขึ้นหรือมีอยู่ในที่ของผู้ใด ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้อยู่ในที่นั้นจะต้องทำลายผักตบชวา ตามความในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 ถ้าผักตบชวามีอยู่ในที่ใดมากมายเกินกำลังผู้อยู่ในที่นั้นจะกำจัดได้ ให้เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่เรียกระดมแรงราษฎรช่วยกันกำจัด ให้ถือว่าการกำจัดผักตบชวาเป็นสาธารณะประโยชน์อย่างหนึ่ง
มาตรา 5 วิธีกำจัดผักตบชวานั้น ให้เก็บเอาผักตบชวาขึ้นไว้บนบกพึ่งให้แห้งเผาไฟเสีย
มาตรา 6 ผู้ใดไม่กระทำตามหน้าที่และคำสั่ง ในการที่ได้กล่าวมาในมาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่งเป็นเงินไม่เกิน 10 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 วัน หรือทั้งปรับแลจำด้วยทั้ง 2 สถาน
มาตรา 7 ผู้ใดพาผักตบชวาเข้าไปในเขตท้องที่ ซึ่งใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ดี ปลูกหรือเลี้ยงหรือปล่อยให้ผักตบชวางอกงามไม่มีห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ก็ดี หรือเอาผักตบชวาทิ้งลงไปแม่น้ำลำคลองห้วยหนองใดๆ ก็ดี ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ปรับครั้งหนึ่งเป็นเงินไม่เกินกว่า 100 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งปรับแลจำด้วยทั้ง 2 สถาน”
ส่วนกรมรถไฟหลวง (การรถไฟแห่งประเทศไทย) ก็มีการประกาศห้ามไม่ให้บรรทุกผักตบชวาไปในรถไฟ มีใจความว่า
“ห้ามไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดนำเอาผักตบชวาขึ้นรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใดเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดฝ่าฝืน ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องถูกปรับเป็นเงินไม่เกิน 10 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 วัน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานรถไฟ ในการทำลายผักตบชวาที่พบบนรถไฟด้วย”
The post “ผักตบชวา” วัชพืชนำเข้าที่สร้างปัญหาตั้งแต่ 100 ปีก่อน appeared first on Thailand News.