ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เผยความในพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 4 ถึงกษัตริย์เขมร หลังเสียดินแดนเขมรแก่ฝรั่งเศส

เผยความในพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 4 ถึงกษัตริย์เขมร หลังเสียดินแดนเขมรแก่ฝรั่งเศส

สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ หรือ นักองค์ราชาวดี (ภาพจาก wikipedia)

ผู้เขียน
ธนกฤต ก้องเวหา
เผยแพร่
วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2565

 

สมัยจักรวรรดินิยมที่ชาติมหาอำนาจแผ่อิทธิพลและจัดตั้งอาณานิคมในดินแดนต่าง ๆ เขมรในฐานะประเทศราชของสยามก็เผชิญการรุกคืบจากฝรั่งเศส พ.. 2402 หลังจากฝรั่งเศสได้ญวนเป็นอาณานิคม จึงมีความตั้งใจในการครอบครองเขมรเพื่อรวมอาณานิคมอินโดจีนให้สมบูรณ์ เริ่มจากการเจรจาทำสัญญากับเขมร โดยเจ้าอธิราชของเขมรไม่มีโอกาสร่วมตัดสินใจประการใดทั้งสิ้น

สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ กษัตริย์เขมรผู้มีส่วนในสัญญาครั้งนี้โดยตรงทรงพบว่า พลเรือเอก กรองดิแยร์ (Contre Admiral de la Grandiere) มาถึงเมืองอุดงมีชัย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.. 2406 และเริ่มต้นเจรจากับพระองค์ให้ทำสัญญากับฝรั่งเศส นายพลผู้นี้นำเรือรบติดปืนใหญ่มาขู่หน้าเมืองอุดงมีชัย ในที่สุดก็ทรงประทับตรายอมรับสัญญาฉบับดังกล่าว

จะด้วยยังทรงกริ่งเกรงในอำนาจของสยาม หรือไม่อยากหักหาญพระราชหฤทัยพระเจ้าแผ่นดินสยามไม่ทราบได้ หลังเหตุการณ์นั้น กษัตริย์เขมรได้กราบบังคลทูลมายังกรุงเทพฯ ว่า ถูกบีบบังคับให้ทำสัญญาโดยตนไม่เต็มใจ ความว่า

ครั้งนี้ อัดมิราลเดอ ลากรันดิเอ บังคับให้ข้าพระพุทธเจ้าทำหนังสือสัญญา ณ เมืองเขมร ข้าพเจ้าคิดกลัวว่าจะมีความผิดกับกรุงเทพฯ เป็นอันมาก แต่ข้าพเจ้าคิดกลัวไปว่าถ้าเกิดวิวาทกันขึ้นกับฝรั่งเศส ความครหาติเตียนข้าพเจ้าก็จะมากขึ้น ด้วยใจพระยาเขมรแลราษฎรทุกวันนี้เป็นสามพวกอยู่ ก็จะพากันว่าได้ผู้นั้นผู้นี้เป็นเจ้าเมืองไม่สบายฤๅ ความข้อนี้สิ้นปัญญาแล้ว จึงยอมทำหนังสือสัญญากับฝรั่งเศส

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงทราบข่าวการทำสัญญาและข้อความกราบบังคลทูลของกษัตริย์เขมร ทรงพยายามหาทางแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ด้วยตระหนักในอำนาจของฝรั่งเศส และทรงทราบดีว่าสยามเป็นชาติเล็กต้องใช้วิธีโอนอ่อนต่อชาติมหาอำนาจ จึงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการทำ “สัญญาลับ กับเขมรในวันที่ 1 ธันวาคม พ.. 2406 เพื่อรับประกันความเป็นประเทศราชของเขมรต่อสยาม เมื่อฝรั่งเศสรู้เรื่องนี้ก็ประท้วงการกระทำของสยามทันที และให้สัญญาลับเป็น “โมฆะ

รัฐบาลสยามไม่สามารถต่อรองหรือกีดกันอะไรได้จึงเลือกตัดใจ คือปล่อยเขมรจากประเทศราชของตนเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส แม้สูญเสียศักดิ์ศรี อุดมการณ์ และมรดกของบรรพชน แต่สิ่งที่รักษาได้คือ เอกราชและอธิปไตยที่ยังคงอยู่ ในทัศนะรัชกาลที่ 4 ความเป็นรัฐสยามยังไม่ถูกแตะต้อง หรือเสียหายใด ๆ ความผิดหวังจากการสูญเสียยังเป็นสิ่งที่ “พอรับได้ (ไกรฤกษ์ นานา : 85 : 2552) และไม่ทรงตำหนิการกระทำของกษัตริย์เขมรแต่ประการใด  สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านพระราชหัตถเลขาของพระองค์ถึงสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ ซึ่งจะยกมาบางตอนที่สำคัญ ดังนี้

“…ก็ถ้าจะมีผู้ใดคิดคลางแคลงสงสัยว่าข้าพเจ้าขุ่นข้องหมองหมางกับเธอประการใด จึงคิดอ่านเหหันผันแปรจะยักย้ายไปอย่างอื่นจึงไม่ไปอภิเษก ให้สมกับการที่พระยาราชวรานุกูลไปนัดหมายไว้นั้น ถ้าผู้ใดวิตกสงสัยไปดังนี้ การนั้นไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นแท้จริงเลย เจ้านายฝ่ายเขมรทั้งปวงนั้น ดำรงชีพอยู่ในกาลบัดนี้ ผู้ใดจะเป็นที่สนิทคุ้นเคยกับข้าพเจ้ามากกว่าเธอมีฤๅ…”

“…ก็เมื่อเจ้าเวียตนามก่อให้เกิดเหตุ จนฝรั่งเศสได้เมืองญวนฝ่ายใต้ตกเป็นของเอมปรอ ซึ่งมีอำนาจใหญ่โตขึ้นกว่าเจ้านายฝ่ายฝรั่งเศส แต่ก่อนอย่างนี้แล้ว เมืองเขมรก็มีทางที่ค้าที่ขายก็ซึ่งจะปิดอยู่ไม่ให้ฝรั่งเศสเข้ามาทักมาทาย แสวงหาทางที่จะเป็นประโยชน์กับเขานั้น จะให้ไม่รู้จักกันเหมือนอย่างแต่ก่อนทีเดียวจะเป็นได้ฤๅ…”

“…เมื่อฝรั่งเศสมาอยู่เมืองญวนฝ่ายใต้ ก็เป็นฟันใกล้ลิ้นกับเมืองเขมร จะไม่ให้ไปถึงกันอย่างไรได้ การจะเป็นอย่างไรในข้างใดข้างโน้นก็เป็นได้ทุกประการ ไม่มีใครเห็นเป็นพยาน ไม่ต้องกลัวครหานินทา เขมรมีกำลังน้อยจะรู้ที่ทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าคาดจิตเห็นใจเธอและพระยาพระเขมรผู้ใหญ่อยู่หมดจริง ๆ ไม่ได้ขุ่นข้องหมองหมางอันใดด้วยเหตุนั้นดอก…”

พระราชหัตถเลขาพระแกระแสราชดำริในรัชกาลที่ 4 พระราชทานตอบสาส์นขององค์พระนโรดม (ไม่ปรากฎวันที่.. 2407

อันที่จริงพระราชหัตถเลขานี้มีความยาวรวมกว่า 7 หน้า เมื่อพิจารณาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เสียเขมรแก่ฝรั่งเศสจะเห็นว่า รัชกาลที่ 4 ยังทรงเมตตาเหล่าเชื้อพระวงศ์เขมรเหมือนพระญาติสนิท ไม่ได้โกรธเคืองการกระทำของกษัตริย์เขมร เพราะกระทำไปด้วยถูกบังคับไม่อาจต้านทานฝรั่งเศสได้ รวมทั้งปลอบประโลมให้คลายความกังวลจากเหตุสุดวิสัยดังกล่าว ปีต่อมาทรงมีกระแสพระราชดำริไปยังกษัตริย์เขมรอีกครั้ง คัดตรงใจความสำคัญความว่า

“…เธอได้อภิเษกเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา มียศเสมอด้วยองค์หริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีแล้ว ฤๅจะวิเศษไปอีก ฝรั่งเศสเขามาทำสัญญาว่า เอมเปรอพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสรับอุปถัมภ์เธอให้เป็นเอกราชไม่ขึ้นเมืองใด ฝ่ายไทยก็ได้รับสัญญานั้นแล้ว ก็ข้าพเจ้าจะมีหนังสือไปมาถึงเธอ จะกลับใช้คำว่าท่านว่าฉันดังพูดกับองค์หริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ตามยศที่เธอเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาแล้วนั้นก็ควรแท้จริง ฤๅถ้าจะคิดด้วยยอมให้เป็นเอกราช แล้วจะใช้โวหารเช่นพระราชสาส์นไปเมืองอื่นๆ ที่เป็นเอกราช คือในคำที่ควรจะว่าข้าพเจ้าก็ว่ากรุงสยาม ในคำที่ควรจะว่าท่านก็ว่ากรุงนั้น ๆ คือกรุงฝรั่งเศส กรุงอังกฤษ กรุงเวียตนาม แลอื่น ๆ นั้นฉันใด จะใช้ว่ากรุงสยาม กรุงกัมพูชา เหมือนอย่างพระราชสาส์นไปเมืองเอกราชก็ควร ข้าพเจ้าก็ไม่มีความรังเกียจเลย จะยอมใช้ทั้งสองอย่าง…”

พระราชหัตถเลขาพระแกระแสราชดำริในรัชกาลที่ 4 พระราชทานสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ (ไม่ปรากฎวันที่.. 2408

ถึงตรงนี้จะเห็นว่ารัชกาลที่ 4 ทรงยอมรับความเป็นเอกราชของเขมรโดยดุษฎี เห็นควรที่จักรพรรดิฝรั่งเศสจะเป็นผู้อุปถัมภ์ราชวงศ์และประเทศเขมรโดยชอบ รวมถึงยกย่องพระเกียรติสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์เสมอพระเจ้าแผ่นดินเขมรในอดีต

เมื่อวิเคราะห์ตามความในพระราชหัตถเลขา จะเห็น “ความคิด” ของรัชกาลที่ 4 ถึงกรณีเสียเขมรแก่ฝรั่งเศสจากสนธิสัญญาเขมรฝรั่งเศส ฉบับ พ.. 2406 ทรงถนอมน้ำใจทั้งมิตรและศัตรูแม้จะมีหลักฐานว่าพระองค์ทรงขมขื่นพระราชหฤทัย ไม่ถือโทษกษัตริย์เขมรเพราะไม่เกิดประโยชน์อันใดในสถานการณ์ดังกล่าว กลับกันทรงรีบอภัยโทษทันทีเพื่อรักษาความสัมพันธ์ แต่ชั้นเชิงทางการทูตสารพัดรูปแบบถูกนำมาใช้ เช่น การทำสัญญาลับ ตอบรับการคัดค้านสัญญาดังกล่าวทันทีเพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้า

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า พระอัจฉริยภาพที่กล้าได้กล้าเสีย แต่ใจกว้างและยอมรับความเป็นจริงของสถานการณ์ มีส่วนสำคัญทำให้สภาวะระหว่างสยามและฝรั่งเศสไม่ถึงจุดที่ย่ำแย่จนเกิดการแตกหัก ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียครั้งใหญ่ในอนาคต

 

อ้างอิง :

ไกรฤกษ์ นานา. (2552). ค้นหารัตนโกสินทร์ สิ่งที่เรารู้ อาจไม่ใช่ทั้งหมด. กรุงเทพฯ : มติชน.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 สิงหาคม 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_36696

The post เผยความในพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 4 ถึงกษัตริย์เขมร หลังเสียดินแดนเขมรแก่ฝรั่งเศส appeared first on Thailand News.