ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

นิสัย “คนไทย” หวังสิ่งตอบแทนในชาตินี้มากกว่าชาติหน้า-ชอบดื่มเหล้าเพราะสบายใจ

นิสัย “คนไทย” หวังสิ่งตอบแทนในชาตินี้มากกว่าชาติหน้า-ชอบดื่มเหล้าเพราะสบายใจ

ศาสตราจารย์รูธ เบเนดิกต์ (Ruth Benedict) ได้ทำการศึกษาวัฒนธรรมและพฤติกรรมของคนไทยโดยการใช้ระเบียบวิธีการทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรม (Cultural Anthropology) และตีพิมพ์เป็นหนังสือ THAI CULTURE AND BEHAVIOR แล้วเสร็จในช่วง ค.ศ. 1943 โดยหนังสือเล่มนี้นับว่าเป็นผลงานชิ้นหนึ่งในระหว่างสงความโลกครั้งที่ 2 ของสำนักงานข่าวสารสงครามของรัฐบาลอเมริกัน

ซึ่งต่อมามีการเป็นแปลเป็นภาษาไทย โดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ ในชื่อ วัฒนธรรมและพฤติกรรมของคนไทย (มติชน, 2564) จากการศึกษาวัฒนธรรมและพฤติกรรมของคนไทยโดยอาศัยอ่านงานวิชาการเกี่ยวกับประเทศไทยทั้งภาษาอังกฤษและเยอรมนี รวมทั้งการสัมภาษณ์ชาวไทยในอเมริกา ได้พบข้อสังเกตประหนึ่งคือ คนไทยเป็นผู้ที่รักในการใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน อาทิ การดื่มเหล้า สูบฝิ่น เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ชีวิตที่รักความสนุกสนาน

คนไทยใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน และการสังสรรค์ฉันมิตรกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมักเป็นไปอย่างง่ายๆ คนไทยทักทายกันเมื่อผ่านกันตามแม่น้ำลำคลอง รวมถึงถนนหนทางก็เต็มไปด้วยความรื่นเริง การต้อนรับขับสู้ที่คนไทยมอบแก่คนต่างถิ่นนั้นไร้ซึ่งเจตนาร้ายและเปี่ยมไปด้วยเมตตาจิต แคมป์เบล (Campbell) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “คนไทยแทบจะไม่กังวลกับความยุ่งยากใด” และ “คนไทยใช้ชีวิตโดยประมาทด้วยความสุข”

งานนักขัตฤกษ์ของไทยเป็นงานบันเทิงรื่นเริง และเป็นงานที่ทำให้รู้สึกสนุกสนาน ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานพระราชพิธีพืชมงคล งานนมัสการพระพุทธบาท พิธีโกนจุกหรืองานฌาปนกิจ ล้วนแต่มีวงมโหรี การแสดงละคร และการจุดดอกไม้ไฟ ทั้งมีของขบเคี้ยวให้ทุกคนรับประทานมากมาย และมักจะมีการละเล่นที่ส่งเสียงอึกทึกครึกโครม “ทุกคนต่างจ่ายเงินกันอย่างมีความสุข” ทั้งที่งานออกร้านและเทศกาลสาธารณะ

คนไทยรู้สึกว่าชีวิตนั้นช่างรื่นรมย์เสียจนยากที่จะลืมความสนุกสนานจากการดื่มเหล้าหรือสูบฝิ่น คนไทยชอบดื่มเหล้าเพราะเหล้าทำให้สบายใจแต่ไม่ทำให้เกิดความอ่อนเพลีย ต่างจากฝิ่นที่มีแต่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ปัญหาการสูบฝิ่นกันมากจึงไม่เป็นเรื่องน่ากังวลในสังคมคนไทย ทว่าคนจีนในประเทศไทยสูบฝิ่นกันมากและสูบโดยไม่คำนึงถึงข้อบังคับประการใดของรัฐบาล แต่ปรากฏว่าคนไทยไม่ใคร่สนใจสูบฝิ่นนัก คนไทยไม่เสพติดฝิ่น เพราะฝิ่นขัดต่อความสำราญอันเป็นกิจวัตรประจำวันของชีวิต

ความสามารถอันฝังรากลึกในการสร้างความสนุกสนานเสรีแก่ชีวิตนั้น ได้ทำให้พุทธศาสนาของไทยแตกต่างไปจากหลักการใช้ชีวิตในทัศนะของพระบรมศาสดา สาระสำคัญในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือหลักที่ว่าการมีชีวิตเป็นทุกข์และการดับขันธ์เท่านั้นคือการหนทางแห่งการพ้นทุกข์

แต่คนไทยมีความตั้งมั่นว่าการมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งที่ดี และโดยลักษณะเฉพาะแล้ว คนไทยหวังสิ่งตอบแทนตามหลักพุทธศาสนาในชีวิตนี้มากกว่าในชีวิตหน้า คนไทยให้อรรถาธิบายคำนิพพานว่า เป็นการดับกิเลสทั้งหลายที่มีอยู่ในตัว “มนุษย์ในชีวิตนี้” และในนิทานพื้นบ้านก็กล่าวไว้ว่า แม้แต่พระสงฆ์ที่บวชมานานก็เข้าใจว่ากุศลบุญของท่านลดน้อยลงเพราะทรัพย์สินของโยมมารดาสูญหาย

ไม่มีการเอ่ยอ้างถึงภพชาติอื่นที่ได้เห็นผลลัพธ์ของผลบุญที่เคยสะสมไว้ การอ้างถึงปรินิพพานของพระพุทธเจ้าและในทัศนะของคนไทยนั้นจึงขัดแย้งกัน ยัง (Yong) ได้กล่าวถึงเด็กชายไทยผู้ซึ่งคิดว่าตนไม่จำเป็นต้องสะสมบุญไว้มากนัก เนื่องจากเขาไม่ต้องการเสี่ยงที่จะนิพพานโดยไร้ซึ่งตัวตน

“คนไทยทั่วๆ ไป…หวังว่าตนนั้นมีบุญพอที่จะไม่ตกนรก ไม่ต้องมีชีวิตอาบเหงื่อต่างน้ำหรือยากลำเค็ญ และหวังว่าจะได้กลับมาเกิดใหม่ในสภาพที่ดีกว่าปัจจุบัน หรืออีกสองสามล้านปีก็คงมีความสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นต่างๆ”

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_86278

The post นิสัย “คนไทย” หวังสิ่งตอบแทนในชาตินี้มากกว่าชาติหน้า-ชอบดื่มเหล้าเพราะสบายใจ appeared first on Thailand News.