ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ประวัติศาสตร์ต้องบันทึก ครั้งหนึ่งญี่ปุ่น “กู้เงิน” จากไทยกว่า 1,500 ล้านบาท

ประวัติศาสตร์ต้องบันทึก ครั้งหนึ่งญี่ปุ่น “กู้เงิน” จากไทยกว่า 1,500 ล้านบาท

กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาใช้สวนลุมพินีเป็นค่ายทหาร บันทึกเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2485 (ภาพจาก ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ )

 

เห็นชื่อเรื่องแล้วท่านผู้อ่านอาจคิดว่า นี่เป็นเรื่องขายขำ เพื่อให้กดไลค์ กดแชร์ แต่ต้องยืนยันว่านี้เป็นเรื่องจริง ไม่ได้โม้ “ญี่ปุ่น” หนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วระดับแนวหน้าในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งเคยกู้เงินจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย

แต่ได้โปรดอย่าเพิ่งด่วนดีใจ/ภาคภูมิใจ กรุณาอ่านให้จบก่อน

การกู้เงินของดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างปี 2484-2488 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รายละเอียดการกู้เงินมีดังนี้ ระหว่างปี 2484-2485 ญี่ปุ่นกู้เงินจากไทยกว่า 23 ล้านบาท, ปี 2486 กู้เงิน 192 ล้านบาท, ปี 2487 กู้เงิน 514 ล้านบาท และปี 2488 กู้เงิน 799 ล้านบาท รวมทั้งหมดญี่ปุ่นได้กู้เงินจากไทยประมาณ 1,530 ล้านบาท

ทำไมมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นที่กล้าท้ารบกับชาติตะวันตกต้องกู้เงินไทย

คำตอบก็คือ เพราะเมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้าในประเทศไทย (8 ธันวาคม 2484) รัฐบาลไทยประกาศเป็น “พันธมิตร” กับญี่ปุ่น

ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงใช้วิธีกู้เงินบาทของไทยที่เรียกว่า “เงินเยนพิเศษ” เพื่อใช้จ่ายสำหรับนายทหารจำนวน 50,000 คนในไทย แทนการพิมพ์ธนบัตรของตนเอง (invasion notes) ซึ่งเป็นวิธีปกติที่ญี่ปุ่นใช้ในดินแดนอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครอง

นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลานั้น ซึ่งไม่เห็นด้วยและคัดค้านเรื่องนี้ กลับถูกปลดในทันที และโยกย้ายให้ไปเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ (16 ธันวาคม 2484)

ขณะที่รัฐบาลไทยกับกองทัพญี่ปุ่นยังเดินหน้าสานความสัมพันธ์กันต่อไป ในวันที่ 21 ธันวาคม 2484 ทั้งสองฝ่ายมีการลงนามในกติกาสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่น ที่ทําให้ไทยต้องให้ความช่วยเหลือญี่ปุ่นในฐานเป็นพันธมิตรในทางการเมือง การเศรษฐกิจ และการทหาร

ปัญหา 2-3 ประการก็ตามมาก็คือ ปริมาณเงินบาทที่เคยสะพัดอยู่ตามปกติ เพิ่มจํานวนขึ้นอย่างมหาศาลและรวดเร็ว เป็นผลให้สินค้าที่ขาดแคลนในช่วงสงครามมีราคาสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทก็ถูกปรับลดลง 33 เปอร์เซ็นต์ อัตราการแลกเปลี่ยน 1 บาท ต่อ 1  เยน (ก่อนสงครามโลกนั้นเงินบาทมีค่าสูงกว่าเงินเยน คือ อัตราแลกเปลี่ยน 100 บาท ต่อ 150-160 เยน) ทำให้ไทยจึงต้องซื้อสินค้าจากญี่ปุ่น ในราคาที่แพงกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็ต้องขายสินค้าให้ญี่ปุ่นถูกกว่าเดิมด้วย

นอกจากนี้เกิดปัญหา “ธนบัตรไม่พอใช้” ธนบัตรปกติที่รัฐบาลสั่งพิมพ์กับ บริษัท โธมัสเดอลารู ประเทศอังกฤษ ไม่สามารถจะสั่งพิมพ์เพิ่มได้ รัฐบาลไทยแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์ธนบัตรเองในประเทศ แต่ด้วยคุณภาพการพิมพ์และกระดาษที่ไม่ได้มาตรฐาน ธนบัตรที่พิมพ์ออกมาจึงได้รับฉายาว่า “แบงก์กงเต๊ก”

บางครั้งการเป็น “เจ้าหนี้” ก็ไม่ได้เรื่องน่าดีใจ แต่เป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างยิ่ง ที่สำคัญคือ “การลงทุนมีความเสี่ยง…”

 

ข้อมูลจาก

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2475-2500, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2544

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_66554

The post ประวัติศาสตร์ต้องบันทึก ครั้งหนึ่งญี่ปุ่น “กู้เงิน” จากไทยกว่า 1,500 ล้านบาท appeared first on Thailand News.