ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เบื้องหลังเรื่องระหองระแหงระหว่าง รัชกาลที่ 4 กับ โอบาเรต์ ทูตฝรั่งเศส

เบื้องหลังเรื่องระหองระแหงระหว่าง รัชกาลที่ 4 กับ โอบาเรต์ ทูตฝรั่งเศส

รัชกาลที่ 4 ฉลองพระองค์อย่างเครื่องแบบนายทหารเรือสหรัฐอเมริกา ฉายเมื่อ พ.ศ. 2411

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม. ฉบับเดือนมกราคม 2547
ผู้เขียน
ไกรฤกษ์ นานา
เผยแพร่
วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ.2565

 

ปลายรัชกาลที่ 4 ประมาณปี พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) ขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างดูราบรื่นเรียบร้อยดีอยู่แล้ว เกิดมีความระหองระแหงบางอย่าง เป็นเรื่องอื้อฉาวทางการทูตระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับทูตฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ “โอบาเรต์” (Aubaret) ผู้วางอํานาจบาตรใหญ่เกินตําแหน่งหน้าที่ ใช้อํานาจในทางมิชอบจนเกิดความขุ่นข้องมัวหมองพระราชหฤทัย จนทรงพิโรธ และไม่ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าอีกต่อไป

โอบาเรต์ยังบังอาจยับยั้งหน่วงเหนี่ยว “เครื่องมงคลราชบรรณาการ” อันมีความหมายยิ่งจากราชสํานักฟองเตนโบล คือ “พระแสงดาบนโปเลียน” ที่พระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 พระราชทานเข้ามาถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเขาจะใช้เป็นเครื่องมือข่มขู่ต่อรองข้อเรียกร้องทางการเมืองตามที่ต้องการ จนทําให้เกิดความชะงักงันทางการทูตกับทางการฝรั่งเศสนับจากนั้น

แต่ก็มีเหตุบังเอิญอีกเช่นกัน ที่ในระหว่างนั้นมีเจ้าชายชาวฝรั่งเศส 3 พระองค์ที่เป็นนักผจญภัยขนานแท้ เดินทางท่องเที่ยวรอบโลกอยู่ และกําลังผ่านเข้ามาเยือนกรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะเปิดเผยเรื่องฉ้อฉลในพฤติกรรมของทูตฝรั่งเศส จึงมีพระบรมราชานุญาตเป็นกรณีพิเศษ ให้เจ้าชายผู้สูงศักดิ์เหล่านั้น ซึ่งประกอบด้วย ดุ๊ก อลองซอง (le Duc dûAlencon) เจ้าชายเดอ กองเด (le Prince de Conde)และดุ๊กแห่งปองติแอฟรึ (le Duc de Penthièvre) พร้อมด้วยเคานต์โบวัวร์ (le Comte de Beauvoir) พระสหาย โดยการนําของคุณพ่อ โลนาร์ดี (Père Lonardi) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสผู้ที่ทรงคุ้นเคยและโปรดปรานมาก่อน เป็นผู้นําเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด [1]

ความประจวบเหมาะนี้อํานวยให้คนแปลกหน้ากลุ่มนี้ได้เข้าไปเยี่ยมเมืองต้องห้ามโดยไม่คาดฝัน!

โอกาสพิเศษนี้เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ระหว่างการพํานัก อยู่ในกรุงเทพมหานครนาน 9 วัน ระหว่างวันที่ 11-19 มกราคม พ.ศ. 2409

การเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามของชาวยุโรปชุดนี้ ได้รับการเปิดเผยโดยเคานต์โบวัวร์ นักท่องเที่ยวธรรมดาๆ ผู้ไม่เคยคาดหวังโอกาสนั้นมาก่อน เขาเพียงแต่ตั้งใจไว้แต่ต้นว่าจะจดบันทึกช่วยจําสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็นไว้เรียบเรียงให้บิดามารดาทางบ้านได้อ่านเท่านั้น [1] เหตุผลทั้งหมด จึงเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงวิสาสะทําความคุ้นเคยกับเชื้อพระวงศ์จากฝรั่งเศสในโอกาสที่หาได้ยาก

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 4 ยังทรงเข้าพระทัยว่า เจ้าชายทั้ง 3 องค์เป็นพระประยูรญาติอันสนิทของนโปเลียนที่ 3 แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะเป็นคนละสายราชสกุลกัน จึงโปรดให้มีขึ้นในที่รโหฐานจริงๆ พระบุคลิกลักษณะและพระราชอัธยาศัยที่แท้จริง ตลอดจนเหตุการณ์บ้านเมืองที่ดําเนินอยู่จึงถูกนําออกมาจากเมืองต้องห้าม ปรากฎในรูปร้อยแก้วที่ให้รายละเอียดและภาพสเก๊ตช์อย่างรวดเร็วที่ถูกวาดเก็บไว้ได้ทันท่วงที่ในทัศนะของชาวต่างประเทศ ล้วนเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์นอกพงศาวดารที่แปลกแหวกแนวที่สุดชุดหนึ่งในรัชกาลนี้ตั้งแต่เคยพบมา

เพียง 12 เดือนก่อนการมาถึงของคณะเจ้าชายฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือกษัตริย์องค์ที่ 2 เสด็จสวรรคต คณะชาวฝรั่งเศสได้รับเชิญให้ เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระบวรราชวัง เคานต์โบวัวร์ได้ถ่ายทอดภาพจําลองของพระบรมศพที่บรรจุอยู่ในพระบรมโกศ ในมุมมองที่ชาวตะวันตกนึกไม่ถึงมาก่อน คําบอกเล่าทั้งหมด จึงเป็นสีสันของเมืองไทยที่ผู้บันทึกพบเห็นชีวิตฝ่ายในของราชสํานักที่ผู้คนอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่ติดออกมาด้วยคือพระราชปฏิพัทธ์และพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่เป็นข่าวใหญ่อยู่ในเวลานั้นคือประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายขยายอาณานิคมของฝรั่งเศส และพฤติกรรมฉาวที่ทูตฝรั่งเศส [โอบาเรต์] ผู้โอหังแสดงอยู่

เรื่องมีอยู่ว่า ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2406 เขมรตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ด้วยสนธิสัญญาที่พระนโรดมลงพระนาม ณ เมืองอุดงมีชัย แต่ด้วยความอาลัย หวงแหนในพระราชอาณาเขตเก่าแก่นี้ รัฐบาลไทยได้ทํา “สัญญาลับ” ขึ้นฉบับหนึ่งกับเขมรในเดือนธันวาคม ศกนั้น [2] เพื่อยืนยันรับรองว่าเขมรยังเป็นประเทศราชของไทยอยู่ และเพื่อเป็นการผูกมัดเขมรไว้กับไทยตลอดไป

สัญญาลับฉบับดังกล่าวก่อให้เกิด “สงครามเย็น” ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

โอบาเรต์ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลฝรั่งเศสคนใหม่ ใช้ความพยายามที่จะทําให้สัญญาลับระหว่างเขมรกับไทย “เป็นโมฆะ” และบีบบังคับให้ไทยรับรองว่าจะสละสิทธิ์เหนือเขมรตลอดไป ฝ่ายไทยปฏิเสธโดยสิ้นเชิง โอบาเรต์เริ่มใช้เล่ห์เพทุบายอาศัยการนําเรือรบติดอาวุธที่ทันสมัยที่สุด ชื่อเรือปืน “มิตราย” เข้ามาในลําแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อข่มขู่รัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามโดยปราศจากข้อแม้ใดๆ

เมษายน พ.ศ. 2048 ในที่สุดก็ทําได้สําเร็จ ฝ่ายไทยยอมจํานนโดยดุษณี

ความเป็นปฏิปักษ์อย่างพร้อมเพรียงกันต่อฝรั่งเศส ซึ่งมีโอบาเรต์เป็นตัวแทนจึงระเบิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าปกติจะเข้าเฝ้าได้ง่ายมาก และคุ้นเคยกับโอบาเรต์เป็นพิเศษอยู่แล้ว กลับให้การต้อนรับเขาอย่างเย็นชาและชิงชัง เพื่อเป็นการตอบโต้

โอบาเรต์จึงแสดงปฏิกิริยาหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมมอบ “ของขวัญ” (เป็นพระแสงดาบ 2 เล่มซึ่งมีความหมายอย่างยิ่ง เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของผู้นําโลกที่สนับสนุน ให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นสืบทอดราชบัลลังก์ในสมัยต่อมา-ผู้เขียน) ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งมีมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อการเจรจากับตัวแทนฝรั่งเศสดูไม่เป็นผลอีกต่อไป ในที่สุดจึงมีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้จัดส่งคณะทูตพิเศษไปเจรจาความถึงในกรุงปารีส เพื่อทูลเสนอต่อพระจักรพรรดิโดยตรง เรื่องการปักปันเขตแดนเขมร และเพื่อประณามความประพฤติของโอบาเรต์

ราชทูตไทยชุดนี้นําโดยพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชายคนโตของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และทูตอื่นๆ อีก 3 ท่านส่วนล่ามภาษาฝรั่งเศสคือบาทหลวงลาร์โนดีคนเดิม จะสังเกตได้ว่าคุณพ่อลาร์โนดีเป็นสาธุคุณชาวฝรั่งเศสที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้วางพระราชหฤทัยที่สุดในขณะนั้น โดยตําแหน่งแล้วเป็นผู้ช่วยของท่านสังฆราชปาลเลอกัวซ์ คณะทูตชุดนี้จึงเป็นชุดที่ 2 ที่ได้ไปถึงฝรั่งเศสในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีความสําคัญไม่น้อยไปกว่าคณะราชทูตชุดแรกในปี พ.ศ. 2404 (คณะของมงติญยี่) แต่กลับมีการกล่าวถึงน้อยมาก แม้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยก็ตาม [3]

…………

เมษายน พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) คณะราชทูตไทยเดินทางถึงกรุงปารีส พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ได้เข้าเผ้าพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในทันที เพื่อถวายฎีกาพร้อมกับกราบบังคมทูลเรื่องราวอันยืดยาวในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำร้องขอทำให้พระจักรพรรดิได้ทรงสดับด้วยพระงอค์เองถึงสถานการณ์และความไพ่อใจของไทยในเรื่องสนธิสัญญาฝรั่งเศส-เขมร พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863)

อีก 3 เดือนต่อมานายโอบาเรต์ทูตฝรั่งเศสก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และเดินทางกลับกรุงปารีส ต่อมาได้กลายเป็นคนวิกลจริต เป็นที่รังเกียจของสังคมในบั้นปลายชีวิต

อีก 6 เดือนต่อมาพระบาทสมเด้จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต ภาพลักษณ์ของเมืองไทยและเหตุการณ์ร่วมสมัยในครั้งนั้น ที่เคานต์โบวัวร์บันทึกไว้ก็ตีพิมพ์เผยแพร่ทันเวลาในปีที่สิ้นพระชนม์ และเป็นแหล่งข้อมูล “แบบไม่เป็นทางการ” ที่น่าเชื่อถือชิ้นหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง

[1] Le Comte de Beauvoir. Voyage Autour du Monde. (เรื่องสยาม หน้า 459-536). Paris, 1868.

[2] เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย กับฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 19. ราชบัณฑิตยสถาน, 2539

[3] เพ็ญศรี ตุ๊ก, ศ.ดร. การต่างประเทศกับเอกราชและ อธิปไตยของไทย ราชบัณฑิตยสถาน, 2542

 

หมายเหตุ คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เกร็ดนอกพงศาวดาร ‘การ์ตูนต้องห้าม’ ชุดแรกและชุดเดียว วาดสมัยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4” โดย ไกรฤกษ์ นานา เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2547 จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_81340

The post เบื้องหลังเรื่องระหองระแหงระหว่าง รัชกาลที่ 4 กับ โอบาเรต์ ทูตฝรั่งเศส appeared first on Thailand News.