ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ชนชั้นนำกับพระพุทธบุษยรัตน์ พระแก้วผลึกที่ร.4-กรมดำรงฯ ทรงชม “งาม-หาที่เปรียบไม่ได้”

ชนชั้นนำกับพระพุทธบุษยรัตน์ พระแก้วผลึกที่ร.4-กรมดำรงฯ ทรงชม “งาม-หาที่เปรียบไม่ได้”

พระพุทธบุษยรัตน์ (ภาพจาก Facebook / กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร)

ผู้เขียน
รัชตะ จึงวิวัฒน์
เผยแพร่
วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ.2565

 

พระพุทธรูปสำคัญในไทยล้วนแต่มีความงามอันเป็นเอกลักษณ์ แต่หากจะพูดถึงพระพุทธรูปแก้วผลึกที่สำคัญและงดงามจนเป็นที่หมายปองของชนชั้นนำหลากหลายดินแดน ต้องมีพระพุทธบุษยรัตน์ หรือ “พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย” พระแก้วผลึกซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า “…งามยิ่งนักหนา หาที่เปรียบไม่ได้… “ ขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่า “…ทำงามยิ่งกว่าพระแก้วอย่างเดียวกันแม้ขนาดย่อมๆ ที่ได้เคยมีมา”

ในปัจจุบัน พระแก้วเป็นของ “คู่บ้านคู่เมือง” ของสยาม ในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกต อย่างไรก็ตาม พระแก้วสำคัญในสยามยังมีชื่อพระพุทธบุษยรัตน์ ซึ่งอาจพอกล่าวได้ว่าเป็นพระแก้วผลึกที่สำคัญแทบจะเทียบเท่าพระแก้วมรกต ดังเหตุการณ์เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 “หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นำพระเบญจาตั้งบุษบกสูงเพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตแล้ว ในการพระราชพิธีใหญ่ต่างๆ โปรดให้อัญเชิญพระแก้วผลึกหมอกตั้งเป็นประธานในพิธีแทนพระแก้วมรกต” (กรมศิลปากร, 2545, น. 186)

ลักษณะโดยคร่าวของพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย กรมศิลปากร บรรยายว่ามีลักษณะเป็น “ปางสมาธิขนาดหน้าตักกว้าง 7.5 นิ้ว สูงเฉพาะองค์ 15.2 นิ้ว สูงจากฐานถึงพระรัศมี 20.4 นิ้ว ฐานรองด้วยดอกบัวทองคำเป็นกลีบ 3 ชั้น เกสรประดับด้วยเนาวรัตน์ ฐานแข้งสิงห์ทำด้วยทองคำจำหลักลายประดับพลอยสี” เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา (กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร, 2560)

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ว่า

“พระพุทธบุษยรัตน์พระองค์นี้ เปนพระแก้วผลึกอย่างที่ช่างเรียกว่าเพ็ชรน้ำค้าง หรือบุษย์น้ำขาว เนื้อแก้วสนิทแลเปนแท่งขนาดใหญ่ยังไม่เคยมีเหมือน ทรวดทรงพระพุทธปฏิมาทำงามยิ่งกว่าพระแก้วอย่างเดียวกัน แม้ขนาดย่อมๆ ซึ่งได้เคยมีมา วัดขนาดมีประมาณสูงแต่ที่สุดทับเกษตรขึ้นไปจนสุดปลายพระจุฬาธาตุ 12 นิ้ว 2 กระเบียดอัษฎางค์ น่าตักวัดแต่พระชาณุทั้ง 2 เก้านิ้ว กับ 4 กระเบียดอัษฎางค์ ระหว่างพระกรรปุระทั้งสอง 6 นิ้ว 4 กระเบียดอัษฎางค์ ระหว่างพระอังสกูฏ 4 นิ้วกับ 7 กระเบียดอัษฎางค์ ประมาณพระเศียรแต่ปลายพระหณุขึ้นไปถึงที่สุดพระจุฬาธาตุ 4 นิ้วกึ่งกับ 2 กระเบียดอัษฎางค์ กว้างพระภักตร์วัดในระหว่างพระกรรณทั้ง 2 ข้าง 2 นิ้วกับ 7 กระเบียดอัษฎางค์…”

พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย (ภาพจาก Facebook / กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร)

 

ปริศนาที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ชัดเจนคือต้นกำเนิดและผู้สร้างพระพุทธรูปซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน มีแต่เป็นตำนานที่เล่ากันมา โดยในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ว่าด้วย “ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์” กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าตำนานที่สอดคล้องกับพงศาวดารเมืองจำปาศักดิ์ทั้ง 3 ฉบับว่า

“ตำนานที่สืบรู้ต้นเรื่องได้เพียงว่า พระพุทธปฏิมาแก้วผลึกพระองค์นี้ มีผู้พาหนีภยันตรายไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อยนายอน แขวงเมืองนครจำปาศักดิ ข้างฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีพราน 2 คน ชื่อพรานทึง พรานเทิง ไปเที่ยวยิงสัตว์ป่า ไปพบพระแก้วนี้อยู่ในถ้ำ ในตอนปลายสมัยเมื่อกรุงเก่าเปนราชธานี พรานทึง พรานเทิงรู้ว่าเปนของวิเศษ แต่สำคัญว่าเปนเทวรูป จึงไปเส้นสรวงบวงบนตามวิไสยพรานมาเนืองๆ ภายหลังพรานทั้ง 2 นั้นเห็นว่าพระแก้วอยู่ในที่เปลี่ยว เกรงว่าใครมาพบเข้าก็จะลักไปเสีย คิดกันจะเชิญมารักษาไว้เส้นสรวงที่บ้านเรือนตน จึงเอาเชือกผูกพระแก้วแขวนห้อยมากับคันน่าไม้ ในเวลาที่เดินมานั้น แก้วตรงพระกรรณเบื้องขวากระทบคันน่าไม้ลิไปน่อย 1 พรานทึงพรานเทิงรักษาพระแก้วไว้ที่บ้านต่อมา เวลาไปยิงได้สัตว์ป่าสำคัญว่าได้ด้วยอำนาจที่บนบานพระแก้ว จึงเอาโลหิตแต้มเส้นเปนนิจมา

ต่อมาในสมัยเมื่อกรุงธนบุรีเปนราชธานี เจ้าไชยกุมารเปนเจ้านครจำปาศักดิ ได้ทราบความจากพ่อค้าที่ไปเที่ยวซื้อหนังซื้อเขาสัตวป่าตามบ้านพราน ว่าพรานทึงพรานเทิงมีพระแก้วเปนของวิเศษอยู่องค์ 1 เจ้าไชยกุมารจึงให้ไปว่ากล่าวแก่พรานทึงพรานเทิงได้พระแก้วผลึกมา เห็นว่าเปนพระพุทธปฏิมาอันวิเศษจริง จึงให้สร้างวิหารประดิษฐานไว้เปนที่สักการบูชาในเมืองนครจำปาศักดิ

ข่าวที่เจ้านครจำปาศักดิมีพระแก้วผลึกวิเศษองค์นี้ ไม่ได้ทราบเข้ามาถึงกรุงธนบุรี แม้เมื่อกองทัพไทยยกไปถึงเมืองนครจำปาศักดิ เมื่อครั้งตีกรุงศรีสัตนาคนหุต คราวได้พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกฏ ก็มิได้ทราบความเรื่องพระแก้วผลึกพระองค์นี้ ด้วยพวกเมืองนครจำปาศักดิพากันซ่อนเร้นปิดบังเสีย เจ้าไชยกุมารพิราไลย เจ้าน่าได้เปนเจ้านครจำปาศักดิ ตรงสมัยในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร ย้ายเมืองนครจำปาศักดิมาตั้งฝั่งตวันตกแม่น้ำโขง ก็สร้างวิหารเปนที่ประดิษฐานพระแก้วผลึกในเมืองใหม่ แต่ความก็ไม่ทราบเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ตลอดรัชกาลที่ 1

จนเจ้าน่าพิราไลยในรัชกาลที่ 2 โปรดให้ข้าหลวงออกไปปลงศพเจ้าน่าเมื่อปีมแมตรีศกจุลศักราช 1173 พ.ศ. 2354 ข้าหลวงไปเห็นพระแก้วผลึกองค์นี้เข้า จึงบอกแก่พวกท้าวพระยาเมืองนครจำปาศักดิว่า พระแก้วผลึกนี้เปนของวิเศษ ไม่ควรจะเอาไว้ที่เมืองนครจำปาศักดิ ซึ่งอยู่ชายเขตรแดนพระราชอาณาจักร แลเคยมีเหตุโจรผู้ร้ายเข้าปล้นเมือง ถ้ามีเหตุเช่นนั้นอิกของวิเศษอาจจะเปนอันตรายหายสูยไปเสีย พวกท้าวพระยาเมืองนครจำปาศักดิเห็นชอบด้วย จึงมีใบบอกเข้ามาให้กราบบังคมทูลฯ ถวายพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกนั้น จึงโปรดให้ข้าหลวงออกไปรับแห่พระแก้วผลึก แลมีการสมโภชตามหัวเมืองรายทางตลอดมาจนถึงกรุงเทพฯ…”

มีบันทึกเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงเวลาการแห่ ดังที่ปรากฏในบทความ “ตํานาน “พระแก้วผลึกหมอก” : การเปรียบเทียบความหมายในบริบทวัฒนธรรมสยาม บรู และลาว” โดย เกียรติศักดิ์ บังเพลิง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เนื้อหาส่วนหนึ่งอ้างอิงพงศาวดารนครจาปาศักดิ์ฉบับพระพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจําปาศักดิ์ ซึ่งอธิบายว่า ระหว่างการแห่นั้น รัชกาลที่ 2 ทรงเห็นว่า พระพุทธรูปแก้วผลึกอยู่เมืองลาวมีเครื่องประดับ ปลอกทองคำประดับด้วยแก้วต่างๆ รับทับเกษตรอยู่โดยรอบกับเทริดดังศิลปะลาว และมีพระราชดำริว่า “เป็นฝีมือลาวรุงรังนัก กำบังเนื้อแก้ว ไม่งามเวลาแห่” ทรงมีพระราชโองการให้พนักงานนำเครื่องประดับเหล่านั้นออก

เมื่อมาถึงแล้ว รัชกาลที่ 2 ทรงบูรณะตามแบบพุทธรูป พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 มีใจความต่อมาว่า

“…โปรดให้เชิญพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกนั้นไปไว้ที่โรงที่ประชุมช่างข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ให้ช่างจัดเนื้อแก้วผนึกที่เหมือนกับเนื้อแก้วในพระองค์พระพุทธรูป มาเจียนจรในเปนรูปปลายพระกรรณที่ลิอยู่นั้นต่อติดให้บริบูรณ์แล้ว ให้ขัดเกลาชักเงาชำระพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกให้เกลี้ยงเกลามีเงาขึ้นสนิทเสมอกัน แล้วทรงพระราชดำริห์พระราชทานอย่างให้ช่างปั้นฐาน มีน่ากระดานชั้นสิงห์บัวหงาย แลน่ากระดานบนลวดทับหลัง ย่อเก็จเปนหลั่น แลมีน่ากระดานท้องไม้ชั้นรองรับบัวกลุ่มหุ้มรับทับเกษตรแก้วต่อองค์พระปฏิมา

โดยทรวดทรงสัณฐานที่พึงพอพระราชหฤไทยแล้ว ให้หล่อด้วยทองสัมริด แต่งให้เกลี้ยงเกลาสนิทแล้วหุ้มด้วยทองคำ ทำให้เกลี้ยงกวดขึ้นเงางาม ด้วยชอบพระราชหฤไทยว่าเนื้อแก้วเกลี้ยงใสบริสุทธิ ติดต่อกับเครื่องทองอันเกลี้ยงนั้นงามยิ่งนัก แต่ยอดพระรัศมีพระศกยังไม่มีต้องอย่างแบบแผนพระพุทธรูป จึงมีรับสั่งให้ช่างแผ่ทองคำหุ้มส่วนพระเศียรที่มีพระศกแล้วดุนเปนเม็ดพระศกเต็มตามที่ แล้วต่อกับพระรัศมีลงยาราชาวดีมีเพ็ชรประดับใจกลางน่าหลังแลกลีบต้นพระรัศมี

เมื่อเครื่องทองพระศกพระรัศมีเสร็จแล้วถวายสวมลง พื้นทองแลช่องดุนพระศกก็มาปรากฎข้างพระภักตร์เปนรวงผึ้งไป พระพักตร์ก็เห็นพรรณเหลืองคล้ำไม่ผ่องใสเหมือนสีพระองค์ จึงมีรับสั่งให้ประชุมนายช่างที่มีสติปัญญาปฤกษากันคิดแก้ไข จึงปฤกษาตกลงกันเอาเนื้อเงินไล่ขาวบริสุทธิแผ่หุ้มเสียชั้นหนึ่งก่อน ขัดเงินข้างในให้เกลี้ยงชักเงางามแล้ว จึงสวมพระศกทองคำลงชั้นนอกแผ่นเงิน ก็เห็นพระภักตร์ใสสอาดขาวนวลดีเสมอกับพระองค์

แล้วมีรับสั่งให้ทำพระสุวรรณกรัณฑ์น้อยพอจะสอดลงในช่องบนพระจุฬาธาตุ เปนที่บรรจุพระบรมธาตุไว้ให้สมควรเปนอุดมปูชนียวัตถุ แลให้ทำตัวทองน้อยเท่ากับช่องพระเนตร แล้วลงยาราชาวดีขาวดำตามที่พระเนตรขาวดำ แล้วฝังให้แนบพระเนตรให้งามดีขึ้น เพราะแต่ก่อนนั้นช่องพระเนตรเปนแต่ขุม แล้วแลแต้มหมึกแลฝุ่นเปนขาวดำเท่านั้น ไม่มีผิวเปนมันมั่นคงเหมือนผิวยาราชาวดี แลมีรับสั่งให้ช่างทองทำฉัตรทองคำ 5 ชั้น ๆ ต้นเท่าส่วนพระอังษา ลงยาราชาวดีประดับพลอยมีใบโพธิ์แก้วห้อยเปนเครื่องประดับ ปลายคันฉัตรปักลงกับฐานข้างเบื้องพระปฤษฎางค์พระพุทธปฏิมา แลให้ทำสันถัตห้อยน่าฐานพระพุทธปฏิมาด้วยทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดีประดับเพ็ชรแลพลอย

ครั้นการสำเร็จจึงให้เชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระสุราไลยพิมาน ซึ่งประดิษฐานอยู่บ้างบุรพทิศพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เปนที่ทรงสักการบูชาวันละสองเวลาเช้าค่ำมิได้ขาด

ต่อมาโปรดให้ตกแต่งหอพระสุราไลยพิมานด้วยเครื่องแก้ว ล้วนแต่ของอย่างดีที่มีเข้ามาจากต่างประเทศ ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้”

ในเอกสารชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 4 หมวดโบราณสถานและโบราณวัตถุ รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า “พระพุทธรูปแก้วองค์นี้งามยิ่งนักหนา หาที่เปรียบไม่ได้ ถึงแก้วผลึกที่มีในเมืองจีนและเกาะสิงหลลังกาที่เขาว่าทำเป็นแว่นตาหรือรูปพระพุทธปฏิมา และสิ่งอื่นที่ใช้อยู่นั้น เมื่อจะเอามาเทียบเข้าก็คล้ำไป คือเนื้อแก้วหยาบต่ำเลวสู้ไม่ได้เลย”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชโองการให้ช่างทำเครื่องประดับพระองค์และฐานใหม่ด้วยมีเพชรพลอยใหญ่มีราคา มีฉัตรกลาง ซ้าย และขวา ดังที่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรื่องสมโภชพระพุทธบุษยรัตน์ จักรพรรดิพิมลมณีมัย มีใจความว่า

“ทรงพระราชดำริว่า พระพุทธรูปแก้วผลึกซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มาแต่เมืองนครจำปาศักดิ์ ทรงทำเครื่องประดับพระองค์เสร็จแล้วประดิษฐานไว้ในหอพระเจ้า แต่ยังหาสู้มีเพ็ชรพลอยที่มีราคามากไม่ ครั้งนี้จะทรงทำฉลองพระเดชพระคุณใหม่ให้งามดียิ่งกว่าเก่า จึงให้ช่างกระทำเครื่องประดับพระองค์และฐานเสียใหม่ ล้วนเพ็ชรพลอยใหญ่ๆ มีราคาเป็นอันมาก มีฉัตรกลางและฉัตรซ้ายขวาด้วย ครั้นณวันพุธเดือน 7 ขึ้น 6 ค่ำ ได้ทำการฉลองสมโภชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ 20 รูป ได้ถวายไตรจีวรพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ 20 รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี ขึ้น 7 ค่ำ พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน เวลาบ่ายสวดอีก 20 รูป รุ่งขึ้นวันศุกร ขึ้น 8 ค่ำ พระสงฆ์ฉันแล้วได้ถวายพระนามว่า พระพุทธบุษยรัตน จักรพรรดิพิมลมณีมัย เวลาบ่ายตั้งบายศรีเงิน แก้ว ทอง เวียนเทียนสมโภชเวลา 1 วัน 9 ค่ำเว้น

รุ่งขึ้น 10 ค่ำ 11 ค่ำ 12 ค่ำ มีการฉลองพระพุทธบุษยรัตน์ ฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย ทำเป็นส่วนในพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อีกส่วน 1 แล้วทรงพระราชอุททิศถวายสิริราชสมบัติแด่พระพุทธบุษยรัตน์ 3 วัน เวลาบ่ายพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ 108 รูป แบ่งพระสงฆ์ฉันในพระอุโบสถ 36 รูป หอพระนาค 15 รูป ศาลาราย 57 รูป ทั้ง 3 วัน ณวันพุธขึ้น 13 ค่ำ ตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน เวียนเทียนสมโภชอีกเวลา 1 มีธรรมเทศนาวันละ 4 กัณฑ์

มีการสมโภชตั้งแต่ณวันขึ้น 10 ค่ำ ไปจนถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เวลาเช้าเวลาบ่ายมีมงครุ่มไม้ลอยญวนหก กะอั้วแทงควาย แทงพิไสย เวลาค่ำมีดอกไม้เพลิงต่างๆ ครบทุกสิ่ง สมโภช 4 วัน 4 คืน เมื่อมีงานสมโภชนั้น โปรดฯ ให้ขอแรงเจ้าและขุนนางผู้ใหญ่ตั้งโต๊ะที่หน้าพระอุโบสถด้วย เครื่องโต๊ะนั้นก็เปลี่ยนทุกวันประกวดประขันกันยิ่งนัก”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตเสร็จแล้ว ทรงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯ ไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน หลังพระองค์เสด็จสวรรคต มีการอัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯ กลับไปประดิษฐาน ณ พระพุทธรัตนสถาน (พระวิหารศิลาในพระบรมมหาราชวัง สร้างตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 4)

กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงอัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯ กลับไปประดิษฐานที่หอพระที่นั่งอัมพรสถานอีกครั้ง

นอกเหนือจากประวัติดังกล่าวแล้ว ยังมีคำอธิบายในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) จากต้นฉบับตัวเขียนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ มีเนื้อหาที่มีนัยยะว่า พระแก้วผลึกหมอกนี้เคยอยู่ไทยมาก่อน ซึ่งภายใต้สภาพความคลุมเครือ เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ผู้วิจัยศึกษาเรื่องพระแก้วผลึกหมอก จึงมองว่า สภาพไม่สามารถบอกที่มาที่ไป และผู้สร้างที่แน่ชัดได้ ทำให้ชนชั้นนำไทยพยายามสร้างความชอบธรรมในการครอบครองพระแก้วผลึก ดังเนื้อหาในบทความตอนหนึ่งว่า

“โดยช่วงชิงความหมายและอธิบายว่า พระแก้วผลึกหมอกเป็นองค์เดียวกับพระแก้วขาวที่เคยเป็นของไทยตั้งแต่สมัยเมืองละโว้ แล้วถูกอัญเชิญมาไว้ที่เมืองเชียงใหม่ ก่อนที่พระไชยเชฏฐาธิราชจะอัญเชิญไปไว้ที่ลาว เมืองหลวงพระบาง และจะด้วยไรก็มิอาจทราบได้ ภายหลังพระแก้วผลึกหมอกจึงได้ถูกนำมา (โดยใครมิทราบ) ไว้ที่ถ้ำบนภูเขาแถบบ้านสัมป่อยนายอน (จำปาศักดิ์) จนข่ามาพบเข้า

โดยนัยนี้ พระแก้วผลึกหมอกเคยเป็นของไทย ตกไปอยู่ที่อื่น แต่แล้วก็กลับมาเป็นของไทย (มิได้เป็นการช่วงชิงมาแต่ประการใด)…”

 

อ้างอิง:

กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ, สมเด็จ. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2.
ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปีมโรงอัฐศก พ.ศ. 2458; โรงพิมพ์ไทย ณ สพานยศเส.

เกียรติศักดิ์ บังเพลิง. “ตํานาน “พระแก้วผลึกหมอก” : การเปรียบเทียบความหมาย
ในบริบทวฒนธรรมสยาม บรู และลาว”. วารสารศิลปศาสตร์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2561). ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562

กรมศิลปากร. พระพุทธรูปสำคัญ. กรุงเทพฯ : สํานักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2545

พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2394 – 2411 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค); วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ณ วัดประยูรวงศาวาส; โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร.

พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย. กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร. Facebook / กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร. ออนไลน์. เผยแพร่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560. เข้าถึง 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562. <https://www.facebook.com/prfinearts/posts/1249851011749007>

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_37959

The post ชนชั้นนำกับพระพุทธบุษยรัตน์ พระแก้วผลึกที่ร.4-กรมดำรงฯ ทรงชม “งาม-หาที่เปรียบไม่ได้” appeared first on Thailand News.