ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ถนนเจริญกรุง ฝุ่นจับ-สกปรก มี “ตรอกอาจม” ร.5 ทรงกำชับทำให้สะอาดก่อนต่างชาติมา

ถนนเจริญกรุง ฝุ่นจับ-สกปรก มี “ตรอกอาจม” ร.5 ทรงกำชับทำให้สะอาดก่อนต่างชาติมา

รถรางจอดบน ถนนเจริญกรุง ใกล้เสาไฟฟ้า ภาพจากหนังสือ Siam (1913) โดย Walter Armstrong Graham

 

ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายราชธานีมาสร้างกรุงเทพฯ บ้านเมืองก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา เริ่มต่อเติมสร้างถนนหลายจุดในแต่ละรัชสมัย จนมาถึงช่วงรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองถูกพัฒนาในหลายด้าน และเป็นที่รู้กันว่า ถนนเจริญกรุง ในเวลานั้นเป็นถนนที่ทันสมัย แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้าการปรับปรุง ถนนเจริญกรุงก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่มีบันทึกว่าฝรั่งติเตียนเรื่องความสกปรกกันด้วย

บันทึกทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ต่างเอ่ยถึงถนนเจริญกรุงกันมาก อาทิ บันทึกของคาร์ล บอค ชาวยุโรปที่เข้ามาในไทยเมื่อ พ.ศ. 2424 คาร์ล บอค ได้รับการต้อนรับจากเจ้านายในไทยและมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ รวมถึงถนนเจริญกรุงด้วย และเอ่ยถึงถนนเส้นหนึ่งว่า “กรุงจรูน” ซึ่งตามความเห็นของสมบัติ พลายน้อย เชื่อว่า หมายถึงถนนเจริญกรุง แต่ชาวต่างชาติอาจฟังผิดแล้วไปเขียนผิดตาม เนื้อความช่วงหนึ่งเอ่ยว่าถนนบางตอนอยู่ใต้น้ำเมื่อเจอฝนตกหนัก

ถนนเจริญกรุงในสมัยนั้นขึ้นชื่อว่า “ใหญ่และยาว” ที่สุด สมบัติ พลายน้อย บรรยายในหนังสือ “เล่าเรื่องบางกอก” ว่า สมัยก่อนจัดสร้างโดยแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ถนนเจริญกรุงตอนใน และถนนเจริญกรุงตอนใต้ ทั้งสองส่วนบรรจบกันที่ “สะพานเหล็กบน” ซึ่งภาษาราชการเรียกสะพานนี้ว่า “สะพานดำรงสถิต” ถนนเจริญกรุงตอนใน เป็นถนนที่อยู่ฝั่งภายในกำแพงเมือง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2405 (สมัยรัชกาลที่ 4) ขณะที่ถนนเจริญกรุงตอนใต้ สร้างตั้งแต่สะพานเหล็กบนคือตั้งแต่สะพานดำรงสถิตเป็นต้นไป ออกไปนอกกำแพงพระนครตลอดจนถึงตลาดน้อยและบางรัก

เมื่อครั้งสร้างใหม่ย่อมเห็นกันว่ากว้างมาก ผู้ใหญ่ที่มาเดินบ่นกันว่าจะให้ใครมาเดินกัน แต่เมื่อมาดูในยุคปัจจุบันก็จะเห็นได้ว่าการณ์หาเป็นเช่นดังที่วิจารณ์ไว้เมื่อก่อน เนื่องจากจะเห็นได้ว่า รถมากขึ้นจนถนนคับแคบกันไปแล้ว

ถนนเจริญกรุงตอนในนี้ว่ากันว่าสร้างภายหลังถนนเจริญกรุงตอนใต้ โดยสร้างเพื่อให้ฝรั่งได้มีที่ขี่ม้าเที่ยวเล่น ดังจะเห็นได้จากพระราชปรารภในรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระองค์มีพระราชบันทึกไว้ว่า

“…เสมือนหนึ่งสนนเจริญกรุง ฤาจะเอาตามปากชาวเมืองว่า ถนนใหม่ชาวต่างประเทศเข้าชื่อกันขอให้ทำขึ้น เพื่อจะใช้ม้า ใช้รถให้สบาย ให้ถูกลมเย็น เส้นสายเหยียดยืดสบายดี ผู้ครองแผ่นดินฝ่ายไทยเห็นชอบด้วยจึงได้ยอมทำตามขึ้น ครั้นสร้างขึ้นแล้ว คนใช้ม้าทั้งไทยทั้งชาวต่างประเทศกี่คน ใช้รถอยู่กี่เล่ม ใช้ก็ไม่เต็มถนน ใช้อยู่แต่ข้างหนึ่ง ก็ส่วนถนนอีกข้างหนึ่งก็ทิ้งตั้งเปล่าอยู่ ไม่มีใครเดินม้า เดินรถ เดินเท้า ผู้ครองแผ่นดินฝ่ายไทยทำถนนกว้าง เสียค่าจ้างถมดิน ถมทรายเสียเปล่าไม่ใช่ฤา ถ้าจะทำแต่แคบ ๆ พอคนเดินก็จะดี แต่ซึ่งทำใหญ่ไว้นี้ก็เผื่อไว้ว่า เมื่อนานไปภายน่าบ้านเมืองสมบูรณ์ มีผู้คนมากขึ้นรถแลม้าแลคนจะได้คล่องสดวก จึงทำให้ใหญ่ไว้ แต่เดี๋ยวนี้บ้านเมืองยังไม่เจริญทันใจ ครึ่งหนึ่งของถนนเพราะไม่มีคนเดินคนใช้ก็ยับไปเสียก่อน…”

ใจความนี้ย่อมทำให้เห็นพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงมองการณ์ไกล กระทั่งการณ์พัฒนามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่ถนนเจริญกรุงกลายเป็นถนนที่ทันสมัย สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นย่านการค้าจากการสร้างตึกสองฟากถนนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 (ช่วงแรกยังเป็นผู้มีเงินเท่านั้น) มีบ้านเรือนหลังคามุงจากสลับกับโรงบ่อนเบี้ย 7 แห่งในถนนเจริญกรุง

อย่างไรก็ตาม มีเสียงร่ำลือว่าถนนใหม่นั้นก็มีมุมมืดอยู่บ้าง ดังที่มีเสียงฝรั่งติเตียนกันเรื่องข้อบกพร่องในการทำความสะอาดเข้ามา และจะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ถึงพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เมื่อ พ.ศ. 2420 ซึ่งข้าหลวงสิงคโปร์จะเข้ามาในเมืองไทย พระองค์จึงทรงกำชับให้ทำถนนให้สะอาด ซึ่งคงจะพอทำให้เห็นเรื่องการรักษาความสะอาดที่ยังไม่ค่อยจริงจังนัก

“ด้วยตามถนนเจริญกรุงตลอดมารกเปื้อนด้วยฝุ่นฝอยยอดอ้อยเปลือกมะพร้าวทุกหนทุกแห่งนั้น ให้พระยายมราชรองเมืองคิดชำระเสียให้หมดให้ได้ในสองสามวันนี้ จะเกณฑ์ให้เจ้าของบ้านผู้ทำรกเปื้อน ช่วยขนตามหน้าบ้านของตัวบ้างก็ตาม ให้คนโทษขนบ้างก็ได้ สุดแต่อย่าให้รกเปื้อนอยู่ได้จนถึงวันที่ 4 ตั้งแต่วันนี้ไปเป็นอันขาดทีเดียว”

เป็นที่ทราบกันว่า บ้านเมืองสมัยสยามในสมัยก่อนนั้นมักเป็นสภาพตรอกซอกซอยแยกย่อยลงมาจากถนนใหญ่อีกที มีตรอกซอกซอยจำนวนมากด้วยอีกต่างหาก ชาวบ้านมักขนานนามตรอกกันตามที่คุ้นชินกัน อาทิ ตรอกป่าช้าหมาเน่า ซึ่งสมบัติ พลายน้อย บรรยายว่า เป็นตรอกที่สกปรกสมชื่อ ความเป็นมาของนามนี้ก็มาจากพฤติกรรมคนทั่วไปที่มักนำซากสุนัขตายมาทิ้งเกลื่อนกลาด สภาพกลายเป็นเสมือนป่าช้าสุนัขก็ปาน ชื่อที่ดูไม่ใคร่ชวนชนนักก็ถูกเปลี่ยนเป็น “ถนนแปลงนาม” มาจนถึงปัจจุบัน

อีกหนึ่งตรอกที่ถูกพูดถึงคือ “ตรอกอาม้าเก็ง” หรือในภาษาเรียกโดยทั่วไปคือ “ตรอกอาจม” ซึ่งนักเขียนนาม ส.พลายน้อย บรรยายว่า ที่เรียกกันแบบนี้เพราะมักเป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนสมัยก่อนนิยมไปปลดทุกข์หนัก ปล่อยอุจจาระกันโดยมาก แม้จะขยายถนนแล้วก็ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ โดยไปปล่อยข้าศึกกันในปลายตรอกที่จะออกสำเพ็ง ภายหลังเมื่อสร้างจุดขับถ่ายเป็นกิจลักษณะแล้ว ปัญหาก็คลี่คลายลงมาก สำหรับตรอกที่ว่านี้ มีผู้สืบเสาะกันต่อและส่วนหนึ่งเชื่อว่าภายหลังกลายเป็นซอยบำรุงรัฐ (เจริญกรุง 12)

 

อ้างอิง: ส.พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก (ฉบับสมบูรณ์). พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำสำนักพิมพ์, 2555

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_34342

The post ถนนเจริญกรุง ฝุ่นจับ-สกปรก มี “ตรอกอาจม” ร.5 ทรงกำชับทำให้สะอาดก่อนต่างชาติมา appeared first on Thailand News.