แชร์แวส บาทหลวงฝรั่งเศสระบุ สมัยอยุธยา พระสงฆ์ดื่มด่ำรสพระธรรมมีน้อย
นิโกลาส์ แชร์แวส ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้บันทึกเกี่ยวกับ พระสงฆ์ ไว้หลากหลายประเด็นอย่างน่าสนใจ
หนึ่ง ว่าด้วยเอกสิทธิ์ของพระสงฆ์ ไม่ต้องเสียส่วยและทำงานให้หลวง เหตุนี้ทำให้ชาวสยามบวชพระกันมากก็เพื่อเอกสิทธิ์นั้น ดังที่ นิโกลาส์ แชร์แวส บันทึกว่า
“ในบรรดาเอกสิทธิ์ทั้งปวงที่พระภิกษุได้รับอยู่นั้น การได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียส่วยทั้งสิ้นกับไม่ต้องทำงานหลวงนั้นนับว่าพ้นความลำบากอันใหญ่หลวงไปได้ เพราะการยกเว้นในประการที่สำคัญนี่เองจึงพาให้บุคคลไปบวชกันเสียมาก การอยู่อย่างเกียจคร้านในอารามต่าง ๆ นั้น เป็นเสน่ห์ดึงดูดอันทรงอำนาจของประชาชาตินี้ ซึ่งถือว่าอะไร ๆ ก็ไม่มีความสุขเท่าการดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต้องทำการงาน และโดยพึ่งน้ำพักน้ำแรงของผู้อื่นเขาตลอดไป…”
สอง ว่าด้วยการบวชพระเพื่อดิื่มด่ำรสพระธรรมนั้นมีอยู่น้อย ชาวสยามบวชพระไปตลอดชีวิตก็มีจำนวนน้อย ครั้นอายุมากขึ้นหากพิจารณาว่าชีวิตฆราวาสจะมีลู่ทางที่ดีกว่าก็จะสึกเสีย แต่ถ้าไม่ก็จะบวชต่อไป หรือหากมีโอกาสที่จะได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นก็จะบวชต่อไป ดังที่ นิโกลาส์ แชร์แวส บันทึกว่า
“พระภิกษุเหล่านี้ไม่มีข้อผูกพันแต่ประการใด มีเสรีภาพที่จะลาสิกขาบทกลับมาเป็นฆราวาสและแม้จะแต่งงานมีเมียก็ได้ เพียงแต่ว่าเมื่อปรารถนาจะลาสิกขาบทเมื่อใด ก็เรียนให้เจ้าอธิการทราบล่วงหน้าหนึ่งวันก่อนจะออกไปจากวัด
โดยเหตุที่บิดามารดามักจะให้บุตรของตนบวชแต่ยังมีอายุน้อย จึงมีจำนวนน้อยนักที่จะบวชไปจนตลอดชีวิต พอมีอายุได้ 25-26 ปี เมื่อเห็นว่ามีลู่ทางดี และรวบรวมเงินทองไว้ได้บ้างแล้ว ก็มักจะพากันละบรรพชิตเพศ ผู้ที่มีศรัทธาแก่กล้าและสละโลกียวิสัยได้ และดื่มด่ำในรสพระธรรมนั้นมีน้อยนัก เหตุผลสำคัญ ๆ ที่เหนี่ยวรั้งไว้มิให้เขาสึกออกมาก็คือ ความหวังที่จะเลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นไปในไม่ช้าหรือว่าเมื่อสึกออกไปแล้วก็จะไม่ได้รับเกียรติยิ่งใหญ่และความสะดวกสบายเท่ากับที่ยังอยู่ในวัดเท่านั้น…”
สาม ว่าด้วยพระวินัยสงฆ์ นิโกลาส์ แชร์แวส เล่าถึงพระวินัยสงฆ์บางข้อที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสตรีเพศ ซึ่งดูเหมือนว่าชาวสยามจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก หากพระสงฆ์กระทำผิดพระวินัยเรื่องนี้ก็จะได้รับบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นย่างสดเลยทีเดียว ดังที่ นิโกลาส์ แชร์แวส บันทึกว่า
“มีการให้เกียรติและอภิสิทธิ์ต่างๆ แก่พระสงฆ์ เป็นการสักการะแก่พระธรรมนูญหรือวินัยสงฆ์ ซึ่งมีข้อบัญญัติอันงดงามเป็นอันมาก และซึ่งส่งเสริมพระภิกษุเหล่านี้ให้ลุการถึงพร้อมยิ่งขึ้น เหตุด้วยมีบัญญัติให้ภิกษุสงฆ์มีไว้ในครอบครองเฉพาะสิ่งที่จำเป็นแท้แก่การดำรงชีวิตเท่านั้น กล่าวคือ เครื่องนุ่งห่มประกอบด้วยผ้าสามพื้นและผ้าเก่า ๆ อีกผืนหนึ่งสำหรับนุ่งสรงน้ำ หรือเมื่อท่านใช้ถูตัวให้แก่ภิกษุรูปอื่นเท่านั้น
ให้บริจาคอาหารบิณฑบาตทานที่ได้รับมาเหลือเฟือแก่ภิกษุที่ยากจนกว่าบ้าง และมิพึงเก็บสิ่งไรไว้เพื่อบริโภคในวันรุ่งขึ้น มีข้อห้ามมิให้แสวงหาซึ่งลาภยศ แสดงอำนาจเหนือเพื่อนภิกษุด้วยกัน ชมการมหรสพ ระวังการเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลกย์ และการเป็นสื่อให้หญิงชายได้เสกสมรสกัน แม้จะเป็นญาติผู้ใกล้ชิดของตนก็ตาม
มีข้อห้ามโดยกำหนดโทษไว้อย่างหนักคือ การทอดตาดูมาตุคาม [หมายถึง ผู้หญิง, เพศหญิง – กองบก.ออนไลน์] รับของจากมือมาตุคาม นั่งใกล้กับมาตุคามและบนเสื่อหรือพรมผืนเดียวกัน สรุปว่ามิพึงคบค้ามาตุคามและแม้ปรารถนาที่จะทำความรู้จัก ถ้าปรากฏว่ามีผู้พบภิกษุสงฆ์ทอดสนิทแก่มาตุคามในเชิงเสน่หาด้วยประการใด ๆ ก็มีกฎหมายกำหนดโทษให้ย่างสดเสียทีเดียว
ในระหว่างที่ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศสยามนั้น ได้มีการใช้บทลงทัณฑ์อันเข้มงวดนี้แก่ภิกษุผู้น่าสงสารสองรูปซึ่งประพฤติผิดตามวินัยข้อนี้ เป็นการแน่นอนเหลือเกินที่พวกเขาจะมิได้รับอภัยเลย เมื่อตกอยู่ในความผิดข้อใหญ่เช่นนี้ เพราะพระวินัยของเขานั้นมีข้อบัญญัติอยู่แล้ว ให้ทำตนห่างจากโลกียวิสัยทั้งปวง โดยแจ้งวิธีการที่จะบำเพ็ญจิตใจให้แน่วแน่อยู่…”
ในมุมของ นิโกลาส์ แชร์แวส นั้นมองว่า พระสงฆ์ผู้แสดงธรรมเทศนาด้วยความวิริยะอุตสาหะ ประณามการประพฤติผิดอย่างรุนแรง มีกิริยาอันสงบเสงี่ยม นั้นน่าเลื่อมใสยิ่ง อย่างไรก็ตามเขามองอีกมุมหนึ่งว่า “ภายในนั้นท่านก็เหมือน ๆ กับคนธรรมดาสามัญทั่วไป และลางทีก็เลวกว่าไปเสียอีก”
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2564
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_74125
The post แชร์แวส บาทหลวงฝรั่งเศสระบุ สมัยอยุธยา พระสงฆ์ดื่มด่ำรสพระธรรมมีน้อย appeared first on Thailand News.