ปลดเขี้ยวเล็บ “กองทัพเรือ” ผลกระทบจากกบฏแมนฮัตตัน
แม้กบฏแมนฮัตตันที่เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 29 มิถุนายน 2494 จะสิ้นสุดลงในตอนเย็นจองวันที่ 1 กรกฎาคม 2494 แต่เวลาเพียง 3 วันนี้ ได้สร้างผลกระทบอย่างมากกับ “กองทัพเรือ” เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นความพยายามของทหารเรือกลุ่มหนึ่งซึ่งต้องการโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มาจากการรัฐประหาร
ผลกระทบอย่างมากนั้นมีอะไรบ้าง พล.ร.อ.หลวงพลสิธราณัติก์ บันทึกไว้ในบทความชื่อว่า “กบฎแมนฮัตตัน”
โดยขณะเกิดเหตุนั้น พล.ร.อ.หลวงพลสิธราณัติก์ มีตำแหน่งเป็น “รองเสนาธิการกลาโหม” และเป็นทหารเรือคนเดียวที่อยู่ในกองบัญชาการปราบปราม จึงได้รู้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]
“วันที่ 2 ก.ค. 2494 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ปลดผู้บัญชาการทหารเรือและนายพล เรือชั้นผู้ใหญ่ รวม 7 คน ออกจากประจำการ และสั่งพักราชการทหารเรืออีกหลายคน บางคนก็ถูกนําตัวไปกักไว้เพื่อทําการสืบสวนสอบสวนและฟ้องร้องกันต่อไป และในโอกาสเดียวกันก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งตําแหน่งนี้ ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้มีความสนใจนัก
แต่เมื่อเกิดความจําเป็นขึ้นแก่กองทัพเรือในระยะบ้านแตก สาแหรกขาดแล้ว ข้าพเจ้าก็จําต้องรับเอาไว้ ถึงแม้ในระยะหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 มาแล้ว ผู้บัญชาการทหารเรือแต่ละคนเมื่อพ้นตําแหน่งไปแล้ว มักจะเลยไปอยู่ในคุกบ้าง เขาดินบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง สําหรับข้าพเจ้าเองก็นึกเสี่ยงอยู่เหมือนกัน แต่นึกว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็พอแก้ไขเอาตัวรอดได้ เพราะข้าพเจ้าถือว่า ข้าพเจ้าทำดีเพื่อประเทศชาติ มิได้มีความมุ่งร้ายหมายขวัญใด และกระทำไปโดยความยุติธรรมที่สุด แต่กระนั้นก็เกือบไปอย่างอดีตๆ ผู้บัญชาการทหารเรือในสมัยนั้นเหมือนกัน
ในวันนี้ กระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่ง ลับ ด่วน ที่ จ. 6578/12878 ลงวันที่ 2 ก.ค. 2494 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกองทัพเรือขน 12 คน ดังมีรายนามต่อไปนี้
จอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. ผิน ชุณหวัณ ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.ท. หลวงสุนาวินวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. หลวงหาญสงคราม เสนาธิการกลาโหม พล.อ.อ. ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคณี ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.อ. หลวงเสนาณรงค์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.ท. หลวงพลสินธวาณัติก์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ. หลวงวิชิตสงคราม พล.อ. หลวงชาตินักรบ พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม่ทัพที่ 9 พล.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีตํารวจ พล.ต. บัญญัติ เทพหัสดินทร ณ อยุธยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และมี พล.อ. เดช เดชประดิยุทธ รองผู้บัญชาการทหารบก เข้าร่วมประชุมด้วย อีกผู้หนึ่ง
คณะกรรมการชุดนี้ได้เริ่มประชุมกันตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 94 เป็นต้นไป การประชุมนี้ ก็เป็นการปรับปรุงให้กองทัพเรือลดกำลังลง มิได้ปรับปรุงเพื่อให้กองทัพเรือมีสมรรถภาพดีขึ้นเพื่อให้เป็นกำลังรบอันเข็มแข็งของประเทศ…
ข้อตกลงของการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงกองทัพเรือเท่าที่จำได้ ที่สำคัญๆ มีดังนี้
ยุบกรมนาวิกโยธินที่กรุงเทพฯ และสัตหีบให้หมด คงเหลือไว้ 1 กองพัน ให้ปลดนายทหารที่เกินอัตรากำลังออกให้หมด
2. ให้ย้ายกองบัญชาการกองทัพเรือไปอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า
3. ให้ย้ายกองเรือรบตลอดทั้งเรือในสังกัดไปอยู่ที่สัตหีบ และเปลี่ยนชื่อกองเรือรบเป็นกองเรือยุทธการ
4. กองสัญญาณทหารเรือที่ศาลาแดงให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น
5. ให้โอนกองบินทหารเรือสัตหีบให้กองทัพอากาศ
6. กองสารวัตรทหารเรือของมณฑลทหารเรือกรุงเทพ ฯ ให้ยุบเลิก
7. ที่ทําการกองเรือรบเดิมที่ท่าราชวรดิฐไม่ให้ทหารเรือหรือทหารเหล่านั้นเข้าอยู่
8. โอนสถานที่ทําการหมวดเรือพระราชพิธีแจวบางส่วนให้ทหารบก
9. สถานที่ นย. 4-5 ตําบลสวนอนันต์ ไม่ให้ทหารเรือเข้าอยู่
จากผลของการประชุมดังกล่าวแล้ว มีเหตุผลและรายละเอียดดังที่ข้าพเจ้าจะเล่าต่อไปนี้
1. การยุบเลิกกรมนาวิกโยธินทั้งที่กรุงเทพ ฯ และสัตหีบนั้น ก็เพื่อไม่ให้กองทัพเรือมีทหารนาวิกโยธินต่อไปอีก เพราะหน่วยนี้เป็นหน่วยที่ไม่น่าไว้วางใจ และต้องการปลดนายทหาร นย. ออก แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าการทําเช่นนี้จะมีผู้เดือดร้อนกันมาก ตลอดทั้งผู้ที่มิได้เกี่ยวข้องรู้เห็นกับเหตุการณ์รวมทั้งครอบครัวของพวกเหล่านั้นด้วย ทหารนาวิกโยธินนี้ต่างประเทศเขาก็มีกัน และถือเป็นกําลังหลักอย่างหนึ่งของทหารเรือ ถ้ายกเลิกหมดก็เท่ากับตัดทอนกําลังของกองทัพเรืออย่างยิ่งใหญ่
แต่เมื่อเกิดความจําเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็ยอมรับที่จะยุบเลิกกรมนาวิกโยธิน แต่ก็จําต้องขอไว้สัก 1 กองพัน โดยอ้างว่าเมื่อจะใช้สัตหีบเป็นสถานีทหารเรือ สําหรับกองเรือรบต่อไปแล้ว ก็จําเป็นต้องมีหน่วยป้องกันสถานีทหารเรืออย่างเยี่ยงต่างประเทศเขาปฏิบัติกัน และทหารพวกนี้ก็จะได้มีหน้าที่เข้าเวรยามรักษาการณ์และป้องกันสถานที่บนบกด้วย ซึ่งที่ประชุมก็ตกลงให้มีทหารได้ 1 กองพัน เรียกว่า “กองป้องกันสถานทหารเรือ” (ก.ป.ส.) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อกลับเป็นกรมนาวิกโยธินในปัจจุบันนี้
นอกจากขอให้มีกองป้องกัน สถานทหารเรือแล้ว ข้าพเจ้าขอให้มีโรงเรียนพลทหารเรืออีกหนึ่งโรงเรียน เพราะเรายังไม่มีเหมือนของต่างประเทศซึ่งเขามีกันเกือบทุกประเภท ทั้งกองทัพบกของไทยก็มีแล้วเรียกว่า ศูนย์การฝึก ตั้งอยู่ที่ปราณบุรี ทหารเรือก็ขอมีไว้บ้าง เพื่อเอาไว้ฝึกทหารใหม่ที่เรียกเข้ามารับราชการทหารเรือ ที่ประชุมตกลงให้มีโรงเรียนนี้ขึ้น เรียกว่า “โรงเรียนพลทหาร” ซึ่งคงมีอยู่จนปัจจุบันนี้ ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าต้องการให้มีรากฐานของกรมนาวิกโยธินเหลือไว้ โดยเปลี่ยนชื่อเสียใหม่…
2. เรื่องให้ย้ายกองบัญชาการกองทัพเรือไปอยู่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ทั้งนี้เพราะไม่ให้ทหารเรืออยู่ในพระนคร-ธนบุรี เมื่อกองบัญชาการกองทัพเรื่อย้ายไปแล้ว สถานที่เดิมก็จะให้เป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หรือหน่วยพลเรือนต่อไป ข้าพเจ้าก็ยอมรับที่จะย้ายออกไป แต่ขอให้ทางราชการเร่งรัดทําถนนสายกรุงเทพฯ ป้อมพระจุลฯ ให้เรียบร้อยก่อน และของบประมาณก่อสร้างสถานที่ราชการ ทั้งนี้ก็เพื่อประวิงเวลาไว้เมื่อไม่มีเงินก่อสร้างก็ไปไม่ได้อยู่เอง ส่วนถนนไปป้อมพระจุลฯ ก็ให้เร่งรัดทําตั้งแต่คราวนั้น จนใช้ได้เรียบร้อยในปัจจุบันนี้
3. ให้ย้ายกองเรือรบและเรือในสังกัดไปอยู่ที่สถานีทหารเรือสัตหีบ ข้าพเจ้ายอมรับที่จะไป แต่ขอให้มีเงินสร้างโรงเรียน บ้านพักทหารเรือให้พอก่อน และเมื่อตั้งเป็นสถานีทหารเรือแล้ว เรือต้องไปอยู่ที่นั้นก็ต้องมีอู่เรือ โรงงานซ่อมเรือ คลังสัมภาระต่างๆ หากมีเงินสร้างเรียบร้อยแล้วก็จะย้ายไป ในขณะนี้ขออยู่ในกรุงเทพฯ ก่อน เกี่ยวกับการซ่อมก็ให้ไปจอดที่บางจากหรือบางนา
4. กองสัญญาณทหารเรือที่ศาลาแดง ซึ่งทหารบกเข้ายึดครองตั้งแต่แรกนั้น เป็นอันว่าไม่ให้ทหารเรือเข้าอยู่ต่อไป เพราะสถานที่นี้มักเป็นจุดเริ่มต้นก่อการกบฏ (ต่อมาได้ทดลองเลียบเคียง เพื่อขอคืนกลับมาก็ไม่เป็นผล) ส่วนกองสัญญาณฯ เดิมจะย้ายไปอยู่ที่ใดก็เป็นเรื่องของทหารเรือเอง อาคารบ้านเรือนสิ่งต่างๆ โยกย้ายไปไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงให้ไปอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าซึ่งมีที่พักทหารอยู่แล้ว ส่วนกองสัญญาณฯ เดิม ทหารบกหน่วยสื่อสารก็ได้เข้าอยู่จนปัจจุบันนี้
5. ให้โอนกองบินทหารเรือให้กับกองทัพอากาศ ทั้งนี้โดยเห็นว่ากองบินทหารเรือไม่จำเป็น เมื่อมีสงครามเกิดขึ้นก็ส่งหน่วยบินมาสังกัดหรือใช้ร่วมกันก็ได้ นอกจากนั้นก็สะดวกในการซ่อมเครื่องบินเมื่อเกิดการชํารุดขึ้นก็ซ่อมที่ดอนเมือง กองบินนี้เดิมเป็นของทหารอากาศอยู่แล้ว ในการโอนกลับไปก็ไม่เดือดร้อนอะไร ส่วนนายทหารและพันจ่าซึ่งเดิมเป็นทหารเรือนั้น ถ้าใครไม่อยากโอนไปอยู่กับทหารอากาศ จะคงอยู่กับทหารเรือ ข้าพเจ้าก็ไม่ขัดข้องแม้แต่ตัวผู้บังคับกองบินทหารเรือในครั้งนั้น ข้าพเจ้าก็รับไว้
6. กองสารวัตรทหารเรือของสถานทหารเรือกรุงเทพฯ เลิกหมด โดยเหตุที่ว่าการตั้งหน่วยสารวัตรทหารเรือเป็นการซ้อนกับทหารบก เพราะพระนครและธนบุรีเป็นเขตพื้นที่ของมณฑลทหารบกกรุงเทพฯ การจัดหน่วยสารวัตรเป็นหน้าที่ของมณฑลทหารบกกรุงเทพฯ ดังนั้น สารวัตรทหารเรือจึงให้ยกเลิก คงให้ทหารเรือมีสารวัตรทหารได้เฉพาะสัตหีบ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของทหารเรือเท่านั้น สารวัตรทหารเรือจึงไม่มีในพระนคร-ธนบุรี ในขณะนั้น
7. ที่ทําการกองเรือรบเดิม ที่ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของท่าราชวรดิฐ ให้ทหารเรือออกไปให้หมด ไม่ให้ตั้งอยู่ต่อไป เพราะสถานที่นี้เป็นจุดซึ่งทหารเรือก่อการไม่สงบมา 2 ครั้งแล้ว และไม่ให้ทหารไม่ว่าเหล่าใดเข้าอยู่ เพราะใกล้พระบรมมหาราชวัง ผลสุดท้ายที่ทำการกองเรือรบ ต้องย้ายข้ามฟากไปอยู่ยังที่ทําการกองเรือยุทธการปัจจุบันนี้ สถานที่กองเรือรบเดิมได้ตกเป็นที่ทำการของกรมสหกรณ์ที่ดิน โดยรื้อเรือนโรงของเก่าออก และสร้างใหม่ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
8. ที่ทำการหมวดเรือพระราชพิธีในคลองมอญเดิม ถูกตัดพื้นที่ออกไปมาก ให้คงอยู่เฉพาะตอนริมคลองนิดหน่อยสำหรับจอดเรือพระราชพิธีแจว พาย เท่านั้น ในชั้นเดิมจะเอาให้หมด ให้เรือไปจอดที่อื่นโดยหาที่เอาเอง เมื่อข้าพเจ้าบอกว่าเรือเหล่านี้เป็นเรือสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ประทับไปประพาสในที่ต่างๆ เป็นเรือพระราชพิธี ถ้าไม่ให้อยู่ที่เดิมก็ไม่มีที่อื่นๆ ที่จะอยู่ จึงได้ยอมให้อยู่ได้ แต่ตัดพื้นที่ออกไปเหลือไว้เฉพาะตั้งแต่ที่ทำการกับที่จอดเรือ เท่านั้น นอกนั้นมอบให้กองทัพบก
9. สถานที่ตั้งตลอดทั้งอาคารของกรมนาวิกโยธิน 4-5 ซึ่งได้ยุบเลิกทหารหน่วยนี้ไปแล้ว ให้โอนให้กองทัพบกไปซึ่งกลายเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารช่างในปัจจุบันนี้
นอกจากข้อตกลงดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีบางสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่สามารถปฏิบัติได้คือ ขอให้ข้าพเจ้าปลดนายทหารเรือในนายพลให้หมดทั้งกองทัพ ข้าพเจ้าขอร้องไม่ปฏิบัติโดยอ้างว่าเป็นการเสียหายแก่กองทัพเรืออย่างยิ่ง เพราะนายทหารกว่าจะเป็นนายพลขึ้นมาคนหนึ่งๆ ไม่ใช่เวลาเล็กน้อย ต้องมีความสามารถได้ผ่านกิจการมามาก จึงได้เลื่อนยศเป็นนายพล และนายพลเรือ ที่เหลืออยู่นี้ก็มิได้เกี่ยวข้องกับการกบฏด้วย การปลดจึงไม่เป็นการยุติธรรม และเมื่อปลดคนอื่นได้ก็ต้องปลดตัวเองด้วย จึงเป็นอันว่าการปลดนายพลเป็นอันระงับ…
ความเสียหายอันเนื่องจากกบฏในคราวนี้เฉพาะเรือที่จม มี
เรือรบหลวงศรีอยุธยา จมหน้าที่ทำการกองบัญชาการกองทัพเรือปัจจุบันกู้ไม่ได้ เรือ ต. 1 จมหน้าป้อมพระจุลจอมเกล้า เรือตระเวณวารี จมทางด้านใต้สะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ เรือรบหลวงคํารณสินธุ์ จมหน้ากรมอู่ทหารเรือ (กู้ขึ้นได้ภายหลัง)
เมื่อได้สํารวจและรวมค่าเสียหายต่างๆ แล้ว ปรากฏดังนี้
1. ค่าเสียหายของหน่วยต่างๆ เกี่ยวกับเรือ เครื่องจักร อาคาร เครื่องมอ ตลอดทั้งพัสดุต่างๆ 39,458,401 บาท
2. ค่าเสียหายของหน่วยๆ เกี่ยวกับสรรพาวุธ 58,062,258 บาท
3. ค่าเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์ จักรยานยนต์ และเครื่องอะไหล่ 8,394,501 บาท
4. เกี่ยวกับเงินราชการ เงินสโมสร และเงินอื่นๆ 1,218,511 บาท
รวมทั้งสิ้น 107,133,761 บาท
มีผู้เสียชีวิตเเละบาดเจ็บดังนี้
นายทหารเสียชีวิต 5 บาดเจ็บ 5 พันจ่าบาดเจ็บ 2 จ่าเสียชีวิต 2 บาดเจ็บ 35
พลทหารเสียชีวิต 26 บาดเจ็บ 42 นักเรียนเตรียมนายเรือเสียชีวิต 5
พลเรือนเสียชีวิต 2 บาดเจ็บ 3 ไม่ทราบยศนามเสียชีวิต 43 บาดเจ็บ 87”
โดยภาพรวมความเสียหายของกองทัพเรือคือ “กบฏคราวนี้เป็นจุดกลับของกองทัพเรือจากความเจริญที่สุดมาสู่จุดเสื่อมที่สุด” พล.ร.อ.หลวงพลสิธราณัติก์ กล่าว
ข้อมูลจาก พล.ร.อ.หลวงพลสิธราณัติก์. “กบฎแมนฮัตตัน” ใน, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายบรรพต เอมสะอาด ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 9 สิงหาคม 2509
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2564
The post ปลดเขี้ยวเล็บ “กองทัพเรือ” ผลกระทบจากกบฏแมนฮัตตัน appeared first on Thailand News.