ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (เดือนพฤษภาคม 2565) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายข้าราชการการเมือง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยร่วมประชุม
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทาน “พระพลังแผ่นดิน” ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด และโปรดเกล้าฯ ให้เชิญไปมอบให้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นมงคลยิ่งของชีวิตข้าราชการฝ่ายปกครองที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นกำลังสำคัญยิ่งของรัฐบาลมิใช่เพียงของกระทรวงมหาดไทย ในการแปลงนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่โดยกลไกท้องที่ และการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการบริหารราชการทุกกระทรวงเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ เมื่อในพื้นที่จังหวัดมีประเด็นหรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนหรือความมั่นคงของประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องลงไปบริหารจัดการสถานการณ์ สั่งการ หรือบูรณาการแก้ไขปัญหา ด้วยการกำหนดแนวทาง มอบนโยบาย และกำกับติดตามการขับเคลื่อนตามแนวทางหรือนโยบายที่ได้สั่งการ มอบหมายไป อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) ต้องสั่งการและบูรณาการกลไกฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหาร ตำรวจ เฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ต้องเน้นย้ำแนวทางการทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) ให้กับข้าราชการทุกสังกัดในพื้นที่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งหลักนิติธรรม คุณธรรม โปร่งใส มีส่วนร่วม รับผิดชอบ และคุ้มค่า ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายและแนวทางการทำงาน ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกำชับนายอำเภอนำข้อมูลจากระบบ TPMAP บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาลงไปพุ่งเป้าร่วมแก้ปัญหากับครัวเรือนเป้าหมาย ตามหลัก 4 ท ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก ทำให้ประชาชนรู้จักการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างอยู่รอด พอเพียง อย่างยั่งยืน รวมทั้งให้ประมวลผลรายงานความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน และจำแนกแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้องให้หน่วยงานตามอำนาจหน้าที่เข้าไปแก้ปัญหาให้ตรงจุด ทันเวลา เพื่อกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบในการประชุมคณะรัฐมนตรีให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 2) การเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอให้กรุงเทพมหานคร ได้รวบรวมปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาจากนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นประโยชน์ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน 3) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ต้องไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างเด็ดขาด ซึ่งกรมการปกครอง ทำให้ผลงานส่งผลต่อการปรับระดับ TIP Report โดยเมื่อเราได้รับข่าวจากองค์กรสากล เราสามารถทำได้ทันที ขอให้ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติ 4) การจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเน้นย้ำ คทช. จังหวัด จัดสรรที่ดินทำกินทุกประเภทให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล 5) การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ด้วยการสร้างการรับรู้ความเข้าใจในด้านการจัดเก็บภาษีและมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชน 6) การบูรณาการสร้างการรับรู้สู่ชุมชน ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องใช้กลไกที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ ทั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงสื่อในความรับผิดชอบ เช่น หอกระจายข่าว เสียงตามสาย สื่อสารสร้างความเข้าใจ พูด ประกาศ ย้ำให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้และเข้าใจข้อมูลข่าวสารภาครัฐและมีความรู้ที่ถูกต้องในการพัฒนาชีวิต โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและกระชับ 7) การป้องกันและลดอุบัติภัยทางถนน ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น สร้างจิตสำนึก วัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนที่ถูกต้อง และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรับปรุงด้านกายภาพของถนนให้มีสัญลักษณ์ เครื่องหมายที่ชัดเจน การจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ ด้วยการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบวาตภัยหรือพายุฤดูร้อน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขฟื้นฟูที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนให้มีบ้านเรือนอาศัยที่มั่นคง แข็งแรง กลับมาใช้ชีวิตโดยปกติสุขได้โดยเร็ว รวมถึงกำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรับปรุงถนนสาธารณะที่ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย และในด้านการจัดการภัยแล้ง ให้นำข้อมูลสภาวการณ์ด้านภัยแล้ง มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ทั้งการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในฤดูฝน ด้วยการเตรียมพื้นที่รองรับน้ำ และระบายน้ำไปจัดเก็บในพื้นที่รองรับน้ำ เพื่อกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป 9) การบริหารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในขณะนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้กำหนดให้พื้นที่จังหวัดทั่วประเทศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 65 จังหวัด และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว (สีฟ้า) 12 จังหวัด และมี 16จังหวัดเป็นพื้นที่สีฟ้าบางพื้นที่ โดยให้เน้นย้ำมาตรการการป้องกันโรคส่วนบุคคล DMHTA ได้แก่ D Distancing เว้นระยะห่างระหว่างกัน M Mask wearing สวมใส่หน้ากากอนามัย H Hand washing ล้างมือบ่อย ๆ T Temperature ,Testing ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และหมั่นตรวจหาเชื้อโควิด-19 และ A Application ใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” หรือ “ไทยเซฟไทย” ก่อนเข้า-ออก สถานที่ต่าง ๆ ทุกครั้ง และกำชับผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID-FREE Setting รวมทั้งบริหารจัดการการรักษาแบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) สำหรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว หากมีอาการหนักขึ้นต้องส่งต่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที 10) การพัฒนาบริหารจัดการภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล ด้วยการพัฒนางานบริการเข้าสู่ระบบดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน 11) การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ต้องจัดทำประกาศ/แนวทางการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดต่าง ๆ เพื่อให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแนวทางในการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และใช้ประโยชน์จากขยะในด้านต่าง ๆ 12) การจัดการน้ำเสีย ด้วยการกำกับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอสภาท้องถิ่นออกข้อบัญญัติ กำหนดให้ทุกบ้านต้องติดตั้งบ่อดักไขมัน และบำบัดน้ำเสียขั้นต้นจากต้นทาง (ครัวเรือน) ให้มากที่สุด ก่อนปล่อยลงสู่ท่อระบายน้ำ/แหล่งน้ำสาธารณะ 13) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องใช้อำนาจหน้าที่บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลด demand และ Supply ยาเสพติดในพื้นที่ เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน และ 14) โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ด้วยการกำกับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติเกี่ยวกับการดูแลสุนัขจรจัดและแมวจรจัด ดำเนินการฉีดวัคซีน/ทำหมันสุนัขและแมว และจัดทำศูนย์พักพิงสุนัข/แมวจรจัดในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึง การแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายรัฐบาลตามกรอบเวลา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญในการบูรณาการบุคลากรที่มีองค์ความรู้ มีความเข้าใจ และมีจิตวิญญาณในการแก้ไขปัญหาประชาชนลงไปแก้ปัญหาให้กับประชาชนครัวเรือนเป้าหมาย และได้กล่าวถึงการดำเนินการขุดลอกพื้นที่รองรับปริมาณน้ำให้พร้อมในการรองรับน้ำฝนในช่วงฤดูฝน ด้วยการบริหารจัดการน้ำด้วยวิธีการ “ขุดดินแลกน้ำ” เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุ่มเทการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย ให้บรรลุผลตามนโยบายรัฐบาล และกล่าวถึงในด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยย้ำให้ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด/อำเภอ พิจารณาแก้ไขปรับปรุงจุดเสี่ยงบริเวณถนน โดยเฉพาะถนนในกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 600,000 กิโลเมตร ให้มีสัญลักษณ์ เครื่องหมายเตือน ด้วยการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบรรจุเรื่องความปลอดภัยทางถนนลงไปในแผนพัฒนาท้องถิ่น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง และกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ตามนโยบายและแนวทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ได้ซักซ้อมจากการประชุมมอบนโยบาย 4 ภาค ซึ่งคำว่าความยากจน หมายถึง ปัญหาความเดือดร้อนทุกเรื่องที่พี่น้องประชาชนประสบและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง และมอบแนวทางในด้านการบูรณาการหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ในพื้นที่พุ่งเป้าแก้ไขปัญหาครัวเรือนเป้าหมายร่วมกับนายอำเภอ โดยกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือแจ้งไปยังปลัดกระทรวงต้นสังกัดของหน่วยงานในพื้นที่เพื่อนำเรียนรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทราบ ควบคู่กับการรายงานมายังกระทรวงมหาดไทยในฐานะฝ่ายเลขานุการ ศจพ. นอกจากนี้ ในด้านการแก้ไขปัญหาหมู่บ้านน้ำแล้งซ้ำซาก 1,000 หมู่บ้าน กระทรวงมหาดไทยได้ประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำข้อมูลดังกล่าวมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งได้กำชับหัวหน้าสำนักงานจังหวัดนำรายชื่อหมู่บ้านน้ำแล้งซ้ำซากนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญและบรรจุในแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่




เครดิตข่าวจากเว็บไซต์ สมุทรปราการ https://www2.samutprakan.go.th/