ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ที่ปรึกษากฎหมายสมัยร.6 เล่าตำนานเหตุร.4 หายท้อพระทัยในพุทธศาสนา-ไม่คิดลาสิกขา

ที่ปรึกษากฎหมายสมัยร.6 เล่าตำนานเหตุร.4 หายท้อพระทัยในพุทธศาสนา-ไม่คิดลาสิกขา

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำนุบำรุงศาสนา” ภาพเขียนสีปูนเปียกบนเพดานโดมด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งอนันตสมาคม

 

การปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปีพ.ศ. 2435 สำเร็จลุล่วงและยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศหลายประการ และยังเป็นช่วงที่มีบุคลากรต่างชาติก็มีบทบาทในหลายแง่มุมด้วย ดังเช่นหลักฐานที่ปรากฏชาวอังกฤษทำงานด้านการคลังและการศึกษา ชาวเยอรมันทำงานด้านไปรษณีย์ โทรเลขและการรถไฟ ชาวอเมริกัน ชาวเบลเยี่ยม ชาวฝรั่งเศสทำงานด้านกฎหมาย เป็นต้น

โรเบิร์ต แลงกาต์ (Robert Lingat) เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้รับการว่าจ้างเข้ามาทำงานในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มทำงานเมื่อปี 2467 จนถึงปี 2483 เป็นระยะเวลารวมแล้ว 16 ปี แลงกาต์มีความรู้ด้านภาษาไทยเป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้นเขามีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ไทยและเป็นที่ยอมรับ

เขาเขียนและเรียบเรียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในเมืองไทยหลายเรื่องจากเอกสารและหลักฐานที่เชื่อถือได้ บทความของเขาที่เกี่ยวกับเมืองไทยเรื่องแรกคือ “พระราชสมณประวัติในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งอาจแปลกใจว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับด้านหน้าที่การงานในทางการบ้านการเมือง แต่ข้อเท็จจริงแล้ว แลงกาต์สนใจในพระพุทธศาสนาอย่างมาก มีผลงานเกี่ยวกับประวัติวัดต่างๆ เช่น ประวัติวัดสระเกศ (2473) ประวัติวัดมหาธาตุ (2473) ประวัติวัดบรมนิวาส (2476) เป็นต้น

เมื่อปี 2469 แลงกาต์ได้ปฐกถาเรื่องพระราชสมณประวัติในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นภาษาฝรั่งเศส ณ สโมสรรอยัล บางกอก สปอร์ตคลับ ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมฝรั่งเศส เนื้อหาได้ตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคม ฉบับที่ 10 ปีที่ 2469 และตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่งในวารสารสยามสมาคม ฉบับครบรอบ 50 ปี เมื่อปี 2497

ในเนื้อหาดังกล่าว แลงกาต์ เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ก่อนที่พระองค์จะทรงขึ้นครองย์ราชสมบัติ ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ ทั้งนี้เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงอุปสมบทเป็นพระภิษุ ก่อนออกผนวช มีพระโอรส 2 พระองค์ จึงทำให้เข้าใจได้ว่ามีพระราชดำริที่จะอุปสมบทเพียงชั่วคราว แต่เพียง 15 วันหลังจากทีอุปสมบท พระราชบิดาก็เสด็จสวรรคต พระเชษฐาพระองค์โตของพระองค์ ซึ่งมิได้ประสูติแต่พระอัครมเหสี ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ พระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” (รัชกาลที่ 3)

สำหรับการขึ้นครองราชย์ในครั้งนีมีความเห็นของผู้ศึกษาที่แตกต่างกันออกไป นักเขียนชาวตะวันตกส่วนมากที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์สยามในช่วงนั้นเห็นตรงกันว่าเป็นการเมืองด้านอำนาจ แต่แลงกาต์เชื่อว่าเจ้าฟ้ามงกุฎทรงมอบราชสมบัติให้กับพระเชษฐาธิราชด้วยความเต็มพระทัย โดยเขาอ้างอิงการศึกษาจากเอกสารที่ได้รับการเชื่อถือจากระดับสูง

เมื่อครั้งที่ทรงอุปสมบท เจ้าฟ้ามงกุฎทรงเลือกประทับที่วัดราชาธิวาส แต่เดิมชื่อวัดสมอราย ภายหลังตั้งอยู่ที่สามเสนริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีความเงียบสงบ ห่างไกลจากความวุ่นวายของเมือง พระสงฆ์ดำรงวัตรปฏิบัติที่เรียบง่ายและปฏิบัติตนเพื่อสร้างสมบุญบารมีทางศาสนา พระองค์ใช้เวลาอยู่วัดนี้ไม่มากนัก เพราะเสด็จไปพระอารามสำคัญต่างๆ ที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนาธุระ

เจ้าฟ้ามงกุฎทรงศึกษาปฏิบัติทุกวิถีทางทั้งจากพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในฝ่ายวิปัสสนา ทรงได้รับการถ่ายทอดแนวทางต่างๆ อันนำสู่ความรู้ความเข้าใจถึงที่สุดแห่งสรรพสิ่ง เพื่อยกระดับสมาธิให้สูงถึงขั้นการบรรลุถึงสิ้นซึ่งอาสวะ แลงกาต์ เล่าว่า พระองค์ยังไม่ทรงพอพระทัยจึงหันกลับไปสู่รากฐานเดิมของการเจริญภาวนา อันหมายถึงการศึกษาพระพุทธวัจนะจึงเสด็จไปยังวัดมหาธาตุเพื่อศึกษาพระศาสาตามแนวทางของพระองค์

การประทับที่แห่งใหม่นี้ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงศึกษาหาความรู้จากพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง และศึกษาพระธรรมวินัยอย่างถ่องแท้ ทรงพบว่าพระธรรมวินัยบางบทและวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ไม่เป็นตามคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ และเมื่อทรงเห็นว่าได้มีความเข้าใจออกนอกลู่นอกทางมากขึ้น ทำให้พระองค์ทรงท้อพระทัย

การเฉื่อยชาต่อการศึกษาที่มีอยู่โดยทั่วไปทำให้ทรงตั้งคำถามหนึ่งในพระรัตนตรัยอันได้แก่หมู่สงฆ์นั้นจะถึงแก่การล่มสลายแล้วหรือไม่ จากที่ยึดพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดจึงทำให้พระองค์เห็นแต่ข้อบกพร่องในการปฏิบัติของพระภิษุสงฆ์

แลงกาต์ เล่าว่า บ่ายวันหนึ่งเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จไปยังพระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ทรงจุดธูปเทียนสัการะพระพุทธรูปและทรงตั้งสัตยาธิษฐานต่อเหล่าทวยเทพว่า

ข้าพเจ้านี้อุทิศต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ออกบวชด้วยความเลื่อมใสและศรัทธา มิได้เพ่งต่ออามิสสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทั้งเกียรติยศและลาภยศ ถ้าวงศบรรพชาที่เนื่องมาแต่พระสุคตยังดำรงอยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใด ขอให้ได้ประสบหรือได้ยินข่าวภายใน 1 สัปดาห์ หากไม่เป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะเข้าใจว่าศาสนวงศ์แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นสิ้นไปแล้ว และข้าพเจ้าก็จะลาเพศบรรพชิตไปรักษาศีล 5 หรือศีล 8 ตามสมควร”*

อีก 2-3 วันต่อมาก็ทรงได้ข่าวว่ามีพระมอญรูปหนึ่งชำนาญคันถธุระจนได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ เจ้าฟ้ามงกุฎจึงเสด็จไปพบและทรงปุจฉาวิสัชนาจนเป็นที่พอพระทัย จึงเกิดความมั่นพระทัยขึ้นมาอีกครั้ง และเลิกความคิดที่จะลาสิกขา พระองค์ย้ายกลับไปประทับที่วัดราชาธิวาสดังเดิมในขณะที่มีพระชนมายุได้ 25 พรรษา ทรงปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด พร้อมกับการก่อตัวขึ้นของแนวคิดการปฏิรูปศาสนา

แลงกาต์ อธิบายว่า จากแนวคิดที่ได้เกิดขึ้นจริง เจ้าฟ้ามงกุฎทรงปฏิรูปศาสนา 3 ประการคือ ประการแรกก่อตั้งนิกายธรรมยุติ ซึ่งจะยึดถือพระพุทธวัจนะและปฏิบัติให้สอดคล้อง ยึดมั่นในพระวินัย พระไตรปิฎก พิธีกรรมและวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์บางประการถูกยกเลิก

ประการที่สอง ทำให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องของหลักศีลธรรมในการดำรงชีวิต ไม่ใช่การยึดติดกับความคิดฝันแบบอภิปรัชญาที่ยึดติดเรื่องโลกหน้า

ประการสุดท้าย เปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อ พระภิกษุที่แท้จริงจะไม่พึงพอใจเพียงได้บรรลุธรรม หากแต่ต้องถือเป็นภารกิจที่จะถ่ายทอดความรู้และสมณศักดิ์ที่มีอยู่เพื่อนำพาผู้อื่นไปสู่ความหลุดพ้น ซึ่งเป็นวิธีการรื้อฟื้นความเชื่อมั่นศรัทธาในพุทธศาสนากับการปลดเปลื้องความทุกข์

*ข้อความส่วนนี้อ้างอิงจาก “สงฆ์ไทยใน 200 ปี” โดย สิริวัฒน์ คำวันสา พิมพ์โดยมหาจุฬาบรรณาคาร พ.ศ. 2524

 

อ้างอิง

ปรีดี พิศภูมิวิถี. (ตุลาคม 2547). “พระราชสมณประวัติในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว La vie religieuse du roi Mongkut โดย Robert Lingat” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 25, 12. หน้า 94 – 107.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 9 มกราคม พ.ศ. 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_43819

The post ที่ปรึกษากฎหมายสมัยร.6 เล่าตำนานเหตุร.4 หายท้อพระทัยในพุทธศาสนา-ไม่คิดลาสิกขา appeared first on Thailand News.