ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

รมว.มท. สั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ปรับปรุงแผนเผชิญเหตุเตรียมพร้อมทุกด้านรับสถานการณ์อุทกภัยฤดูฝน ช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

รมว.มท. สั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ปรับปรุงแผนเผชิญเหตุเตรียมพร้อมทุกด้านรับสถานการณ์อุทกภัยฤดูฝน ช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

วันนี้ (7 พ.ค. 65) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ลักษณะอากาศของประเทศไทย ปี 2565 ว่าจะเริ่มต้นฤดูฝนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม โดยในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน จะมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และประเมินสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดสาธารณภัย เพื่อจัดทำแผนเผชิญเหตุได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำรายละเอียดข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ดินถล่มในหมู่บ้าน/ชุมชน รายการเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย การกำหนดจุด/พื้นที่ปลอดภัยประจำหมู่บ้าน/ชุมชน แผนรองรับการอพยพประชาชน สถานที่จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว ช่องทางการสื่อสาร และการซักซ้อมแนวทางปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกันเมื่อเกิดสถานการณ์ พร้อมทั้งวางแผนการติดตั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัยในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงในเขตชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และเส้นทางคมนาคมที่มักเกิดอุทกภัยซ้ำซากเป็นประจำ และทำการเร่งขุดลอกท่อระบายน้ำ ดูดเลน ทำความสะอาดร่องน้ำ กำจัดวัชพืช ขยะ สิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณคู คลอง แหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อใช้รองรับน้ำฝน น้ำจากท่อระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และวางแผนลำเลียงน้ำที่มีการระบายในช่วงน้ำมากไปยังพื้นที่รองรับน้ำต่าง ๆ ที่มีน้ำน้อย อาทิ การเปิดทางน้ำ การสูบส่งน้ำไปยังแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้หากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง และให้สำรวจ ตรวจสอบ ปรับปรุงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ กั้นน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำ ให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง ตามหลักวิศวกรรมเพื่อรองรับกรณีฝนตกหนัก หรือน้ำไหลเข้า/ผ่านในปริมาณมาก และเพื่อความมั่นใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ เมื่อมีแนวโน้มว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ให้แจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแต่ละระดับ เตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามแผนผชิญเหตุอุทกภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์และแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางการแจ้งข้อมูล และการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐในทุกช่องทางอย่างทั่วถึง และสำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ชายฝั่งทะเล หากมีแนวโน้มเกิดคลื่นลมแรง คลื่นซัดชายฝั่ง ให้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่แจ้งเตือนการเดินเรือ ทั้งเรือเล็ก เรือประมง เรือท่องเที่ยว เรือข้ามฟาก หรือเรือเฟอร์รี่ ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการนำเรือเข้าที่กำบังและห้ามการเดินเรือในช่วงที่มีคลื่นลมแรง หากฝ่าฝืนให้ดำเนินการทางกฎหมายในทุกกรณี ตลอดจนกำชับให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากกรณีคลื่นซัดชายฝั่ง ให้ทราบถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นและลดความเสี่ยงอันตราย โดยออกห่างจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลและงดกิจกรรมทางทะเล

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ด้านการเผชิญเหตุ หากเกิด หรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น เป็นศูนย์ควบคุม สั่งการ และอำนวยการหลักในการระดมสรรรพกำลัง ประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรสาธารณกุศล และมอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ตลอดจนเชิญชวนประชาชนจิตอาสา ร่วมเฝ้าระวัง และร่วมกันกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งบูรณาการหน่วยงานฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร ตลอดจนภาคเอกชน ในการใช้เครื่องจักรกลสาธารณภัยเปิดทางน้ำ หรือสูบน้ำระบายออกจากพื้นที่ที่เมื่อเกิดฝนตกหนัก มักเกิดน้ำท่วมขังสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนซ้ำซาก พร้อมทั้งจัดชุดปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนแต่ละด้านให้ครอบคลุม ทั้ง “ด้านการดำรงชีพ” โดยจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน การให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาลให้กับประชาชนที่ประสบภัยตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง “ด้านที่อยู่อาศัย” ให้บูรณาการหน่วยงาน ทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนโดยเร็ว สำหรับในเส้นทางคมนาคมที่มีน้ำท่วมขังหรือได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ให้จัดทำป้ายแจ้งเตือน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแนะนำเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย รวมทั้งจัดยานพาหนะที่เหมาะสม อาทิ เรือ รถยกสูง เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และเร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุด/ถูกตัดขาด เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว และต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุขที่ยังคงพบการระบาดอยู่ในขณะนี้ด้วย

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สาธารณภัย สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือทุกด้านผ่านสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ข้อมูล 

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220507161125933

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More