ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าเยี่ยมคำนับท่านรีเย้นท์ (ช่วง บุนนาค) ผู้มากบารมีสมัยรัชกาลที่ 5
(ซ้าย) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และประธานาธิบดีกร้านท์ (President Ulysees S. Grant)
ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2553
ผู้เขียน
ไกรฤกษ์ นานา
เผยแพร่
วันพฤหัสที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2564
ประธานาธิบดีกร้านท์ (President Ulysees S. Grant) ประธานาธิบดีคนที่ 18 ของสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2422 (ค.ศ. 1879) และใช้เวลา 6 วันอยู่ที่นี่ ระหว่างวันที่ 11-16 เมษายน ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้สร้างภาพพจน์แห่งมิตรภาพและความน่าเชื่อถือไว้จนพัฒนาเป็นบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ระยะยาวในสมัยต่อๆ มา
แต่การเดินทางมาเยือนสยามของประธานาธิบดีกร้านท์ เดิมทีไม่อยู่ในแผนการเดินทาง?
วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1877 เรือโดยสารชื่อ Indiana นำกร้านท์และภริยาพร้อมด้วยผู้ติดตามกลุ่มหนึ่งออกเดินทางจากฟิลาเดลเฟีย ท่ามกลางเสียงปืนใหญ่ยิงสลุต 21 นัด เรือแล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ไอร์แลนด์และอังกฤษ เพื่อต่อรถไฟท่องยุโรปในฐานะแขกของรัฐบาลเบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี อียิปต์ อิสราเอล ตุรกี กรีก ฮอลแลนด์ ปรัสเซีย (เยอรมนี) เดนมาร์ก นอร์เวย์-สวีเดน รัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการี สเปน โปรตุเกส จากนั้นจึงต่อเรือเดินสมุทรอีกครั้งมุ่งหน้าสู่อินเดีย พม่า สิงคโปร์ สยาม จีน และญี่ปุ่น
เมื่อมาถึงสิงคโปร์ แผนเดิมคือจับเรือมุ่งหน้าตรงไปเมืองจีนเลย แต่พระราชสาส์นฉบับหนึ่งจากรัชกาลที่ 5 แห่งสยามส่งมายังกร้านท์ที่สิงคโปร์ ทำให้เขาเปลี่ยนแผนโดยกะทันหัน พระราชสาส์นฉบับนั้นเชื้อเชิญให้กร้านท์แวะมาเยือนบางกอกในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ ดังนั้นในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) กร้านท์และคณะก็ได้มากับเรือโดยสารประจำทางชื่อ Kongsee (กงสี) สู่กรุงเทพฯ
ที่ท่าราชวรดิฐ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ ทรงรอต้อนรับคณะของกร้านท์ แล้วทรงนำท่านเข้าพัก ณ พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง ในวันรุ่งขึ้นกร้านท์มีกำหนดการเข้าเยี่ยมคำนับบุคคลผู้มากด้วยอิทธิพลทางการเมืองคนหนึ่งของสยาม เขาก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
การเยี่ยมเยือนคำนับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หรืออดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดินระหว่าง 5 ปีแรกในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2411-16 นับเป็นข้อมูลที่หาอ่านยากชิ้นหนึ่ง ในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้หมดภาระหน้าที่ปกครองประเทศไปแล้ว ภายหลังรัชกาลที่ 5 ทรงบรรลุนิติภาวะมีพระชนมายุ 20 พรรษาบริบูรณ์ นับจากนี้ท่านจะมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเท่านั้น แต่ก็ยังเป็นผู้มีอิทธิพลที่สุดในคณะรัฐบาล
ภารกิจและชื่อเสียงของท่านโด่งดังแค่ไหน นักประวัติศาสตร์หลายท่านก็เคยบรรยายไปมากแล้ว ในที่นี้จะกล่าวเพียงว่ากิตติศัพท์ของท่านยังเป็นที่รู้จักกันในต่างประเทศ ผู้นำชาวต่างชาติมักจะถือเป็นเกียรติที่จะขอเข้าเยี่ยมคำนับในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และแน่นอนที่การพบปะแต่ละครั้งจะทำให้คนแปลกหน้าได้ “ข้อมูลเชิงลึก” และการมาของประธานาธิบดีกร้านท์ทำให้เราได้ทราบความรู้สึกของคนไทยโบราณที่มีต่อคนอเมริกัน
ในปี พ.ศ. 2422 สมเด็จเจ้าพระยาฯ อยู่ในวัยชรา อายุ 72 ปีแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรงและกระฉับกระเฉง ท่านได้แสดงวิสัยทัศน์ในฐานะนักการเมืองอาชีพได้หนักแน่นแม่นยำ เรายังเห็นได้ว่าการที่กร้านท์มาถึงบางกอกในเย็นวันแรก แล้วขอเข้าพบสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทันทีในเช้าวันรุ่งขึ้นก่อนใครทั้งหมด ชี้ชัดว่าท่านเป็นผู้มีบารมีเพียงใดในสายตาของกร้านท์ บันทึกการเข้าพบเขียนไว้ในลักษณะ “การสัมภาษณ์” แบบพูดจาโต้ตอบกันของชนชั้นผู้นำที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นายยัง (John Russel Young) นักข่าวอเมริกันจากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกาคือ THE NEW YORK HERALD เขียนว่า
“…ชายชราผู้นี้เป็นคนสำคัญระดับแนวหน้าของประเทศทีเดียว เขาเป็นขุนนางในระบอบเก่าที่ทรงอิทธิพลที่สุด และเป็นสหายของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน (คือรัชกาลที่ 4) ในรัชกาลปัจจุบันเขาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (Regent) ในระยะ 5 ปีแรก และด้วยอิทธิพลของเขานี่เองทำให้รัชกาลปัจจุบันปราศจากเสี้ยนหนาม ทุกวันนี้เขาดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ทั้งยังปกครองดูแลหลายจังหวัดทางภาคใต้ (คือ ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้น – ผู้เขียน) มีอาญาสิทธิ์ขาดสั่งให้คนไปตายได้ เสียงของเขาทำให้รัฐบาลต้องรับฟัง ครึ่งหนึ่งเป็นเพราะผ่านโลกมามาก อีกครึ่งหนึ่งเพราะความอาวุโสในหน้าที่การงาน
เรือของเราเคลื่อนเข้าเทียบท่าหน้าคฤหาสน์หลังใหญ่ของท่านรีเย้นท์ (คือผู้สำเร็จราชการฯ – ผู้เขียน) รอคอยอยู่ที่ท่าในชุดครึ่งยศประดับเหรียญตราเต็มหน้าอก ข้างหลังเขามีนายชานด์เลอร์ (Mr. Chandler) ชาวอเมริกันผู้อาศัยอยู่ในประเทศนี้เป็นเวลาหลายปี และรู้ภาษาไทยดี รีเย้นท์เป็นคนรูปร่างเล็กแต่ล่ำสัน ตัดผมเกรียนรอบศีรษะ เป็นผู้มีสีหน้าเคร่งขรึมอยู่เสมอ
รีเย้นท์เดินเข้ามาสัมผัสมือกับท่านกร้านท์ แล้วนำขึ้นไปยังห้องรับแขกอันหรูหรา ที่หน้าคฤหาสน์มีกองทหารจำนวนหนึ่งทำวันทยาวุธ มีกองดุริยางค์เล่นเพลงรักชาติของเรา (เพลง Star – Spangled Banner) ต่อด้วยเพลงชาติ (Hail, Columbia) เสียงดังกระหึ่มไปทั่วบริเวณ
รีเย้นท์เป็นคนมีวาจาสิทธิ์ พูดช้าๆ แต่หนักแน่น น้ำเสียงมีพลัง พูดไปพลาง คิดไปด้วย ในระหว่างการสนทนาเด็กรับใช้เสิร์ฟน้ำชาจีนอย่างดี และซิการ์คิวบาที่มีราคาแพง หลังจากครุ่นคิดอย่างรอบคอบอีกครั้ง รีเย้นท์ก็ได้กล่าวต้อนรับอย่างมั่นใจว่าชาวอเมริกันเป็นพันธมิตรของสยาม
ท่านกร้านท์กล่าวชมเชยความพยายามของผู้นำสยามที่ต้องการเปิดประเทศค้าขายกับชาวตะวันตกอย่างเสมอภาค รีเย้นท์รับฟังคำสดุดีอย่างแช่มชื่น ด้วยสีหน้าภาคภูมิใจแล้วจึงกล่าวตอบในลักษณะให้สัมภาษณ์ว่า
“สยามอาจจะแปลกประหลาดในสายตาคนภายนอก เราแทบจะไม่อยู่ในสายตาของผู้นำตะวันตกเลย เพราะเราไม่ได้อยู่บนเส้นทางผ่านของการพาณิชย์นาวี แต่เราก็เป็นชาติรักสงบ และไม่ชอบความก้าวร้าว จึงไม่มีนโยบายต่อต้านชาวตะวันตก เราตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างอิทธิพลของมหาอำนาจทั้ง 2 ชาติ คือ อังกฤษและฝรั่งเศส เราจึงผูกมิตรกับทั้งสองฝ่ายบนพื้นฐานแห่งมิตรภาพและภราดรภาพ
บางทีมันอาจดูเหมือนว่าเราอ่อนแอ แต่มันเป็นนโยบาย เราต้องการรักษาเอกราชและอธิปไตยของเราไว้ โดยมิต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มันมา แต่คนภายนอกก็ต้องมีมานะกับเราบ้าง เราเป็นชาติโบราณ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันทีทันใดตามความต้องการของชาติมหาอำนาจ ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป เรามีความเชื่อเป็นของเราเอง แต่เราก็มีใจให้อเมริกาเสมอมา“
เพิ่งไม่กี่ปีมานี่เองที่พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินถูกจำกัดอำนาจลงภายหลังการก่อตั้งสภาองคมนตรี อันเป็นแนวคิดของรีเจ้นท์โดยตรง เพื่อประคับประคองและสนับสนุนพระเจ้าแผ่นดินในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ เรารู้สึกได้ว่าอำนาจขององคมนตรียังมีอยู่ ก็ที่ตัวรีเจนท์นี่เอง”
หมายเหตุ : คัดบางส่วนมาจากบทความในนิตยสารชื่อ ค้นหารัตนโกสินทร์ ประธานาธิบดีอเมริกันในราชสำนักไทย
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 22 มกราคม พ.ศ.2564
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_61856
The post ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าเยี่ยมคำนับท่านรีเย้นท์ (ช่วง บุนนาค) ผู้มากบารมีสมัยรัชกาลที่ 5 appeared first on Thailand News.