ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เจาะลึกข้อมูลเชื้อสายอิสลาม มอญ จีน ในราชินีกุลรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5

เจาะลึกข้อมูลเชื้อสายอิสลาม มอญ จีน ในราชินีกุลรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2546
ผู้เขียน
เล็ก พงษ์สมัครไทย
เผยแพร่
วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2564

 

ราชินีกุลรัชกาลที่ 3 หมายถึงเชื้อสายอันเป็นพระวงศ์ในกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนับได้ 2 ทางคือ ทางพระชนก พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (พระชนกจัน) ทางหนึ่ง และ ทางพระชนนี เพ็ง ทางหนึ่ง

ส่วนราชินีกุลรัชกาลที่ 5 หมายถึงเชื้อสายอันเป็นพระวงศ์ในสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ พระชนกในสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินีเป็นขัตติยราชสกุล จึงไม่นับเป็นราชินีกุลรัชกาลที่ 5 จะนับแต่ฝ่ายพระชนนีน้อยว่าเป็นราชินีกุลรัชกาลที่ 5 แต่เพียงฝ่ายเดียว

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสายสัมพันธ์ทางสายพระโลหิตทั้ง 2 ทาง กล่าวคือ ถ้านับทางพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเป็นสมเด็จพระบรมราชปิตุลาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ถ้านับทางสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเป็นสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะเดียวกัน ราชินีกุลในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และราชินีกุลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่างก็มีความสัมพันธ์เป็นพระญาติสายโลหิตกันหลายชั้น ทั้งนี้ราชินีกุลรัชกาลที่ 3 มีสกุลอิสลามและสกุลมอญเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนราชินีกุลรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเกี่ยวเนื่องด้วยสกุลอิสลามและสกุลมอญแล้ว ยังมีสกุลจีนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา มีข้าราชการผู้หนึ่งชื่อ “หมุด” เป็นชาวอิสลาม นิกาย “สุหนี่” ท่านรับราชการเป็นหลวงศักดินายเวรมหาดเล็ก เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทำสงครามกอบกู้อิสรภาพและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี หลวงศักดินายเวรมหาดเล็ก (หมุด) ได้รับราชการมีความดีความชอบ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ตามลำดับ และได้รับสถาปนาเป็นเจ้าพระยาจักรี และเพราะเป็นอิสลาม หรือเป็น “แขก” จึงเรียกเจ้าพระยาจักรีท่านนี้ว่า “เจ้าพระยาจักรี แขก”

เจ้าพระยาจักรี แขก มีบุตรชาย 2 คน

คนโตชื่อ “หมัด” รับราชการมีความดีความชอบได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระยายมราช ซึ่งคนก็เรียกกันโดยทั่วไปว่า “พระยายมราช แขก”

บุตรอีกคนหนึ่งของเจ้าพระยาจักรี แขก ชื่อ “หวัง” รับราชการในกรมมหาดไทยเป็นที่พระชลบุรี ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระชลบุรีย้ายเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชวังสัน ท่านผู้นี้ตั้งเคหสถานอยู่ที่ริมวัดหงส์รัตนาราม คลองบางกอกใหญ่

บรรดาศักดิ์ที่พระยาราชวังสันเป็นบรรดาศักดิ์เฉพาะของผู้บังคับบัญชากองทัพเรือ ซึ่งได้ใช้สืบต่อกันมาจนเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้เป็นคนสุดท้ายคือนายพลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในหลายรัฐบาลในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน

พระยาราชวังสัน (หวัง) มีภริยาชื่อท่านชู มีธิดาด้วยกัน 3 คน คือ

1. ท่านเพ็ง เกิดปี พ.ศ. 2313 ท่านเป็นพระชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

2. ท่านปล้อง เป็นภรรยาของพระยาวิชิตเสนา มหาพิชัย อภัยพิริยศรีสงคราม (พระยาพัทลุง-ทองขาว) ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงซึ่งเป็นอิสลามิกชนเช่นเดียวกัน

3. ท่านรอด เป็นภรรยาพระยาศรีสรราช (เงิน) และเป็นพระนมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ท่านเพ็ง ธิดาคนโตของพระยาราชวังสัน (หวัง) ได้สมรสกับพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (จัน) ผู้ว่าราชการเมืองนนท์ ท่านผู้นี้เป็นคนไทยชาวพุทธสกุลบางเชือกหนัง ท่านทั้งสองมีธิดาร่วมกัน 1 คน คือ “เรียม” นอกจากนั้นพระยานนทบุรีฯ ยังมีบุตรกับภรรยาอื่นอีก 1 คน เป็นชายชื่อนาค นับเป็นต้นสกุลของพระยารัตนอาภรณ์ (แตง)

พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยานและท่านเพ็ง ได้ถวายคุณเรียม ธิดาคนเดียว ให้เป็นหม่อมในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ซึ่งในขณะนั้นประทับ ณ พระราชวังเดิมธนบุรี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือน 4 แรม 10 ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2330 เมื่อแรกเสด็จพระราชสมภพทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า มีพระนามว่า “หม่อมเจ้าทับ”

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานมหาเจษฎาบดินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง

 

หม่อมเจ้าทับเป็นพระราชนัดดาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตายิ่งนัก ด้วยเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรก ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีเกษากันต์เป็นการพระราชพิธีอย่างใหญ่ ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าทับทรงบรรพชาเป็นสามเณร และทรงผนวชเป็นพระภิกษุเฉพาะพระพักตร์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้ง 2 คราว

ครั้นปี พ.ศ. 2349 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้ารัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หม่อมเจ้าทับจึงทรงดำรงพระยศเป็น “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทับ”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์และพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ได้ทรงรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระบรมชนกาธิราช โดยทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจ ว่าความฎีกา และเสด็จประทับ ณ วังท่าพระ ส่วนเจ้าจอมมารดาเรียมนั้นได้รับราชการเป็นพระสนมเอก ได้กำกับการห้องพระเครื่องต้น

กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ตามจินตนาการของจิตรกร (พระรูปจากหนังสือราชินีกุลรัชกาลที่ ๓ พระนิพนธ์จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช)

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อปีวอก พ.ศ. 2369 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระบรมราชชนนีขึ้นเป็น “กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย” กล่าวอย่างสามัญคือทรงสถาปนาให้เป็นเจ้า

“พระวิมาน” พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 3

 

กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย สถิตในพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ที่สมเด็จพระราชชนนีพระพันปีหลวง เป็นเวลา 11 ปี ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตเมื่อวันอังคาร เดือน 11 แรม 3 ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380 พระชนมายุ 68 พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามโบราณราชประเพณีถวายเป็นอเนกอนันตประการ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย ยิ่งใหญ่เสมอด้วยที่ทรงบำเพ็ญถวายสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเสด็จสวรรคตเมื่อเดือน 6 ปีจอ พ.ศ. 2369 และถวายพระเพลิงพระบรมศพเมื่อเดือน 6 ปีชวด พ.ศ. 2371

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอนุสรณ์คำนึงว่าบริเวณป้อมเก่าริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้ตลาดขวัญ เมืองนนทบุรี เป็นนิวาสสถานเดิมแห่งพระอัยกาและพระอัยกี และเป็นสถานที่ประสูติของกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย สมควรที่จะสถาปนาพระอารามหลวงขึ้นสักแห่งหนึ่ง

ในปีมะแม พ.ศ. 2390 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ตำแหน่งที่สมุหพระกลาโหม เป็นแม่กองสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการ ก่ออิฐถือปูน มีใบเสมา เป็นทำนองเดียวกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง เป็นรูป 4 เหลี่ยมรอบวัดไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย ได้พระราชทานพระอารามแห่งนี้ว่า “วัดเฉลิมพระเกียรติ” (ในเอกสารบางแห่งเรียกว่า วัดเฉลิมพระเกียรติธาราม)

การสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติยังไม่แล้วเสร็จ ทรงพระประชวรหนัก พระองค์ได้พระราชทานเงิน 40,000 ชั่งไว้ในการบริหารราชการแผ่นดิน และทรงขอให้กันเงินนั้น 10,000 ชั่ง สำหรับการบูรณะวัดที่ทรงสร้าง รวมทั้งการก่อสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติให้แล้วเสร็จ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างวัดต่อมาจนแล้วเสร็จ สมพระราชประสงค์ในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า วัดเฉลิมพระเกียรติเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร

ถึงแม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์สุขแก่ทวยราษฎร์นานาประการ แต่พระองค์ก็ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อาภัพ ด้วยทรงถูกกล่าวหาว่าแย่งราชสมบัติจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระผนวช ตลอดรัชกาลมิได้ทรงมีช้างเผือกคู่พระบารมี

โดยปกติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก ครั้นเมื่อทรงพระประชวรหนัก ทรงพระราชปรารภว่าถ้าเสด็จสวรรคต ณ ที่นั้น พระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อๆ ไปอาจรังเกียจ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระองค์ออกไปบรรทมรอวันเสด็จสวรรคตทางองค์ตะวันตก ซึ่งจะไม่เป็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันตก โดยทรงครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา 25 ปีเศษ

พระชนนีเพ็ง พระชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย มีพระน้องนาง 2 ท่าน คือท่านปล้อง และท่านรอด

ท่านปล้องได้สมรสกับพระยาวิชิตเสนาฯ (พระยาพัทลุง-ทองขาว) เจ้าเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นอิสลามิกชน และเป็นบุตรของพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก)

พระยาวิชิตเสนาฯ (พระยาพัทลุง-ทองขาว) เดิมรับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แล้วได้เป็นหลวงศักดินายเวรมหาดเล็ก และได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง ท่านผู้นี้มีความดีความชอบในราชการสงครามมากมาย เช่น เมื่อครั้งปีฉลู พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงยกกองทัพไปตีเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริดของพม่า

ในครั้งนี้พระยาวิชิตเสนาฯ ได้เกณฑ์กองทัพโดยเสด็จสมเด็จพระบวรราชเจ้าไปด้วย ในปีมะเมีย พ.ศ. 2353 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสวรรคต พม่ายกกองทัพหลวงมาตีเมืองถลาง พระยาวิชิตเสนาฯ และพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ร่วมกับกองทัพหลวงตีเมืองถลางคืนจากพม่า

พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา พระประธานในพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยทองแดงจากบางจันทึกทั้งองค์ เป็นพระพุทธปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 6 ศอก (144 นิ้ว) สูง 8 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว (208 นิ้ว)

 

พระยาวิชิตเสนาฯ (พระยาพัทลุง-ทองขาว) มีบุตรธิดากับท่านปล้องรวม 9 คน ธิดาคนโตชื่อท่านผ่อง ได้สมรสกับพระอักษรสมบัติ (หม่อมทับ) ซึ่งรับราชการเป็นเสมียนตราในกรมพระคลังมหาสมบัติ พระอักษรสมบัติ (หม่อมทับ) เป็นบุตรหม่อมเจ้าแห่งราชสกุลกรุงศรีอยุธยา แต่จะเป็นเชื้อพระวงศ์พระมหากษัตริย์พระองค์ใด ไม่ปรากฏหลักฐาน หม่อมมารดาของพระอักษรสมบัติ (หม่อมทับ) คือหม่อมทองคำ เป็นคนเชื้อสายมอญ รับราชการฝ่ายในในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ “ท้าวทรงกันดาล” คนทั้งหลายเรียกกันว่า ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ)

อนึ่งท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) มีพี่ชายคนหนึ่งชื่อ “ซวน” รับราชการมาแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา และในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ “เจ้าพระยารามจตุรงค์” ท่านผู้นี้เป็นปู่ของพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ขุนคลังคู่พระบารมีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื้อสายของท่านรับราชการสืบต่อกันมา และได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ศรีเพ็ญ”

เชื้อสายสายตรงที่สืบต่อมาจากพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) และพระยาพัทลุง (ทองขาว) ได้ใช้นามสกุลว่า “สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง” และยังมีสกุลที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายสกุล

หม่อมเจ้าราชสกุลกรุงศรีอยุธยากับท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) มีบุตรธิดา 4 คน คนที่ 2 คือพระอักษรสมบัติ (หม่อมทับ) สามีท่านผ่องตามที่กล่าวข้างต้น และธิดาคนที่ 3 ของท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) คือ “ทิม” ได้รับราชการเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประสูติพระราชโอรสคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอัมพวัน เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินเป็นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว คนทั้งหลายยังให้เกียรติเรียกกันว่า “คุณอัมพวัน”

พระอักษรสมบัติ (หม่อมทับ) และท่านผ่องมีบุตรธิดา 6 คน ธิดาคนที่ 3 ชื่อ ทรัพย์ ได้รับราชการเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าจอมมารดาทรัพย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติพระราชโอรสธิดา 2 พระองค์คือ

1. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ (สมเด็จพระมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ ต้นราชสกุลศิริวงศ์ ณ อยุธยา)

2. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม (พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยุร)

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ ประสูติวันอังคาร เดือน 12 ขึ้น 7 ค่ำ ตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีวอก พ.ศ. 2355 เมื่อแรกประสูติมีพระอิสริยยศเป็นหม่อมเจ้า ภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นพระองค์เจ้า ทรงกรมในพระบรมมหาราชวัง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ ได้ทรงรับราชการกำกับราชการกรมช่างมุก ผลงานสำคัญของพระองค์คือทรงสร้างประตูมุก ภาพรามเกียรติ์ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระองค์ทรงเป็นต้นราชสกุล ศิริวงศ์ ณ อยุธยา และสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันเสาร์ เดือน 7 ขึ้น 5 ค่ำ ปีกุน พ.ศ. 2382 พระชันษา 28 ปี

(ซ้าย) เจดีย์ทรงมอญที่มุมกำแพงแก้ว พระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ องค์ซ้าย สันนิษฐานว่าบรรจุอัฐิพระอัยกีเพ็ง
(ขวา) เจดีย์ทรงมอญที่มุมกำแพงแก้ว พระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ องค์ขวา สันนิษฐานว่าบรรจุอัฐิพระยานนทบุรีฯ (พระอัยกาจัน)

 

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ เป็นพระชนกในสมเด็จพระเทพศรินทรา บรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จครองราชย์แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอัฐิในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ”

สมเด็จพระราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ มีพระโอรสธิดา 9 พระองค์ ประสูติแต่หม่อมหลายท่าน คือ

1. หม่อมเจ้ามงคล ประสูติแต่หม่อมแพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ

2. หม่อมเจ้าหญิงรำเพย คือสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

3. หม่อมเจ้าชมชื่น ประสูติแต่หม่อมงิ้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมชื่น (หลักฐานไม่แน่นอนว่าหม่อมเจ้าชมชื่นเป็นหม่อมเจ้าชายหรือหม่อมเจ้าหญิง)

4. หม่อมเจ้าหญิงพื้นพงศ์ ประสูติแต่หม่อมจาด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพื้นพงศประยุรวงษสนิท

5. หม่อมเจ้าหญิงพรรณราย พระนามเดิมคือหม่อมเจ้าหญิงแฉ่ ประสูติแต่หม่อมกิม เป็นพระชนนีในพลเอก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต้นราชสกุลจิตรพงศ์ ณ อยุธยา

6. หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สันท์ ประสูติแต่หม่อมสัน

7. หม่อมเจ้าฉายฉันเฉิด ประสูติแต่หม่อมเชย พระนามเดิมคือหม่อมเจ้าขาว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนพระนามเป็นหม่อมเจ้าฉายฉันเฉิด รับราชการในกรมราชบัณฑิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉายฉันเฉิด แล้วทรงสถาปนาเป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนฤมาลมุขมาตย์ กำกับราชการกรมราชบัณฑิต

8. หม่อมเจ้าหญิงสารพัดเพ็ชร ประสูติแต่หม่อมน้อย ธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่)

9. หม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ์ พระนามเดิมหม่อมเจ้าดำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนพระนามเป็นหม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ์ รับราชการกรมราชบัณฑิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม แต่ยังมิได้ทรงรับพระราชทานพระสุพรรณบัฏก็สิ้นพระชนม์เสียก่อนในปี พ.ศ. 2424

หม่อมเจ้าหญิงในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ ส่วนใหญ่จะประทับอยู่กับพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยุร) ด้วยเป็นพระขนิษฐาพระองค์เดียวในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ

พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยุร

 

พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น 11 ค่ำ ปีขาล ตรงกับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2361 พระอิสริยยศเดิมเป็นหม่อมเจ้า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม ซึ่งได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกาธิราชมาประทับ ณ พระตำหนักตึกในพระบรมมหาราชวัง โดยประทับกับกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม ได้ย้ายจากพระตำหนักตึกมาประทับที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอภิบาลพระราชโอรสธิดาซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย คือ

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑลโสภณภควดี (สมเด็จฯ เจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑลโสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย)

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี (สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ ต้นราชสกุลจักรพันธุ์ ณ อยุธยา)

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ (จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ กรมพระยาภาณุพันธุวงษวรเดช ต้นราชสกุลภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำพร้าสมเด็จพระบรมราชชนนีแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงได้รับการถวายอภิบาลจากพระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม จึงทรงเคารพรักเสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม ขึ้นเป็น พระเจ้ามหัยยิกาเธอ กรมพระสุดารัตนราชประยุร เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2411 และต่อมาในปีระกา พ.ศ. 2416 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยุร มีเจ้ากรมเป็นพระยา นับเป็นพระอิสริยยศชั้นสูงสุด (กรมพระชั้นพิเศษ)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จครองราชย์แล้ว พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยุร ย้ายสถานที่ประทับมา ณ พระตำหนักตึกตามเดิม ต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะสถาปนาพระที่นั่งใหม่ในหมู่พระตำหนักตึกนั้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยุร ย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งพิมานรัถยา ในหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงมีสมญาว่า “ทูลกระหม่อมปราสาท” ด้วย โดยที่ก่อนหน้านั้นพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้าและฝ่ายในต่างเรียกพระองค์ว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว”

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะพระองค์ ณ บริเวณซึ่งเดิมเป็นตำหนักในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาศ กรมหมื่นอัปษรสุดาเทพ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยุร ได้ประทับตลอดมาจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์ เดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2439 พระชนมายุ 79 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเธอรำเพยภมราภิรมย บรมราชินี

 

หม่อมเจ้าหญิงรำเพย (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระธิดาองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ ประสูติแต่พระชนนีน้อยเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2377

หม่อมน้อยหรือพระชนนีน้อย เป็นธิดาของท่านบุศย์และท่านแจ่ม บรรพชนของท่านบุศย์นั้นไม่มีหลักฐานปรากฏสกุลวงศ์ของท่าน ส่วนท่านแจ่มเป็นชาวมอญซึ่งสืบขึ้นไปได้ถึงพระยารัตนจักร (หงส์ทอง) เจ้ากรมอาทฆาตในกองมอญอาสา

หม่อมเจ้าหญิงรำเพย (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ทรงกำพร้าทั้งพระชนกและพระชนนีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระอภิบาลของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม ซึ่งเป็นพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์

เมื่อหม่อมเจ้าหญิงรำเพยเสด็จเข้าประทับ ณ พระตำหนักตึกในพระบรมมหาราชวัง พระปิตุจฉาคือพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม ได้พาขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เนืองนิจ ทรงสอนให้รู้จักวิธีถวายอยู่งานพัด ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงองค์น้อยก็สามารถทำได้ดี ถูกระเบียบแบบแผนเป็นที่โปรดปรานยิ่งนัก จึงได้พระราชทานพระนามว่า “หม่อมเจ้าหญิงรำเพย”

เมื่อหม่อมเจ้าหญิงรำเพยทรงเจริญพระชันษามากยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงย้ายไปประทับกับพระเจ้าอัยยิกาเธอ พระองค์เจ้าหญิงบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา ณ ตำหนักต้นจำปี เพื่อทรงศึกษาอักขรวิธีและโบราณราชประเพณี

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าหญิงรำเพยเสด็จกลับมาประทับ ณ พระตำหนักตึกดังเดิม และหม่อมเจ้าหญิงรำเพยได้รับราชการเป็นพระราชนารีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปี พ.ศ. 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมมตยาภิเษกหม่อมเจ้าหญิงรำเพยเป็นพระราชเทวี ทรงพระนามว่า พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ และพระราชทานพระอิสริยยศเป็นที่ สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์

สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์เป็นขัตติยนารี ทรงมีพระจริยาวัตรที่เรียบร้อยงดงาม เป็นที่สนิทเสน่หาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ทรงโปรดเรียกขานว่า “แม่เพย” บ้าง “แม่รำเพย” บ้าง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาหลายฉบับ

ภายหลังการประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ แล้ว 3 ปี สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ทรงพระประชวรพระยอดเม็ดเล็ก ทรงพระกาสะเป็นโลหิตติดระคนเสมหะออกมา ทรงพระประชวรอยู่หลายเดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดหมอหลวง หมอฝรั่งมาถวายการรักษาพยาบาล แต่พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด และสิ้นพระชนม์ ณ วันจันทร์ เดือน 10 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2404 พระชนมายุได้ 28 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมศพ ณ หอธรรมสังเวศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวงในช่วงสงกรานต์ของศกต่อมา

และเนื่องด้วยสมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ ทรงมีเชื้อสายมอญ ในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีปี่พาทย์มอญวงของชาวบ้านมาบรรเลง มิใช่วงของหลวง ทั้งนี้เนื่องจากกรมพิณพาทย์ไม่มีวงปี่พาทย์มอญ และงานพระศพพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีปี่พาทย์มอญเพิ่มขึ้น ด้วยเป็นเชื้อสายของสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี และอีกประการหนึ่งยังเกิดค่านิยมที่ผิดๆ กันขึ้น ว่าถ้างานศพใดใช้วงปี่พาทย์มอญบรรเลงในงาน แสดงว่าเป็นงานศพของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หรือผู้มีอันจะกิน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาเข้าเขตเบญจเพสมงคล เพื่อเป็นการถวายพระราชกุศลสนองพระคุณแด่สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามหลวงขึ้นแห่งหนึ่ง เป็นอนุสรณ์แห่งพระกตเวทิตาธรรมในสมเด็จพระบรมราชชนนี พระราชทานนามพระอารามหลวงแห่งนี้ว่าวัดเทพศิรินทราวาส โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 3 กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ เป็นแม่กองสร้างพระอาราม เริ่มแต่ปีชวด พ.ศ. 2419

วัดเทพศิรินทราวาส มีเนื้อที่ 31 ไร่เศษ พื้นที่เมื่อก่อนสร้างวัดนี้ บริเวณใกล้คลองผดุงกรุงเกษมเป็นนา ด้านตะวันตกพ้นถนนพลับพลาชัยออกไปเป็นสวนมะลิ ถัดไปด้านเหนือเป็นตำบลยศเส ด้านทิศใต้ตอนใกล้คลองผดุงกรุงเกษมมีป้อมซึ่งสร้างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ป้อมผลาญศัตรูราบ ทิศตะวันตกเป็นวัดพลับพลาชัย พื้นที่ตั้งวัดเทพศิรินทราวาสเป็นที่ต้องพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดเทพศิรินทราวาสเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร

สกุลจีนที่สัมพันธ์กับราชินีกุลรัชกาลที่ 5 คือหม่อมกิม ในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ บรรพชนของหม่อมกิมเป็นชาวจีนแซ่ลี้ หม่อมกิมประสูติพระธิดา 1 องค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงพรรณราย พระนามเดิมคือหม่อมเจ้าหญิงแฉ่

หม่อมเจ้าหญิงพรรณรายเป็นกนิษฐภคินีต่างพระชนนีกับสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เดิมหม่อมเจ้าหญิงพรรณรายประทับอยู่กับพระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยุร) ภายหลังเมื่อเป็นพระราชนารีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประทับ ณ ตำหนักต่างหาก

หม่อมเจ้าหญิงพรรณราย ซึ่งภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ประสูติพระราชโอรสและธิดา 2 พระองค์คือ

1. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงกรรณิกาแก้ว (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา)

2. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต้นราชสกุลจิตรพงศ์ ณ อยุธยา)

(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องต้นในพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ พระชนมายุ ๑๓ พรรษา
(ขวา) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงรับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่น

พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงกรรณิกาแก้ว ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 2 ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. 2398 สิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2425 พระชันษา 28 ปี ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอัฐิ ขึ้นเป็นพระเจ้าน้องเธอ กรมขุนขัตติยกัลยา และทรงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าเมื่อปีกุน พ.ศ. 2430

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน 6 ขึ้น 11 ค่ำ ปีกุน ตรงกับวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2406 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัดติวงษ เมื่อปีระกา พ.ศ. 2428 จากนั้นอีก 2 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นเจ้าฟ้า กรมขุน (เจ้าฟ้าชั้นโท) ทรงรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ คือ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงวัง ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงษ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระ มีพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับราชการเป็นอภิรัฐมนตรี เป็นอุปนายกราชบัณฑิตสภา และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสประเทศอังกฤษ ปีระกา พ.ศ. 2476 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระอัฐมราชาธิบดินทร์ รัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

เมื่อทรงลาออกจากราชการแล้ว ได้ทรงย้ายที่ประทับจากวังท่าพระ มาประทับที่ตำหนักปลายเนิน คลองเตย ดำเนินพระชนมชีพอย่างเรียบง่าย สมถะ ภายหลังประชวรด้วยพระโรคชรา และสิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักปลายเนินเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ปีกุน พ.ศ. 2490 พระชันษาได้ 84 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการพระศพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองน้อยประกอบพระศพ พร้อมเครื่องประกอบพระอิสริยยศ ในงานออกพระเมรุทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวงต่อท้ายงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระอัฐมราชาธิบดินทร์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน ปีขาล พ.ศ. 2493 แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอัฐิประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มุขตะวันตก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2411

เนื่องด้วยบรรพชนของหม่อมกิมในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ เป็นจีนพ่อค้า เดินเรือสำเภาค้าขายระหว่างเมืองไทยกับเมืองจีน ครั้งหนึ่งเรือถูกพายุหนักก็หลบเข้าไปอาศัยเกาะกำบังลม แต่เคราะห์ร้ายท้องเรือกระทบหินจนแตกรั่วน้ำไหลเข้าในอับเฉามากมาย พยายามวิดน้ำอุดยาแก้ไขอย่างใดๆ ก็ไม่สำเร็จ เห็นว่าเรือจะจมเป็นแน่ จึงบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ช่วยคุ้มครอง หากรอดพ้นภยันตรายไปได้จะทำบุญทำทานให้หนักหนา

สักครู่หนึ่งเรือก็หยุดรั่วไปเองโดยไม่มีเหตุผล พอลมพายุผ่านพ้นไปแล้วก็รีบซ่อมแซมเรือเดินทางกลับเข้าท่าได้โดยสวัสดิภาพ เมื่อจัดแจงขนสินค้าขึ้นแล้ว จึงเอาเรือเข้าอู่ซ่อม ก็ได้พบว่ามีปลาสีเสียดแทรกตัวเข้าไปฝังแน่นอยู่ในรอยไม้ที่แตกนั้น จึงได้ทำให้เรือหยุดรั่ว พ่อค้าจีนนั้นได้ทำบุญทำทานเป็นอันมาก แล้วสั่งไว้ว่าปลาสีเสียดมีบุญคุณแก่บรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นห้ามมิให้ลูกหลานต่อจากท่านไปเจ็ดชั่วโคตรกินปลาสีเสียด ทั้งสาปแช่งไว้ด้วยว่าหากผู้ใดอกตัญญูฝ่าฝืนคำสั่ง ขอให้เป็นขี้เรื้อนกุฏฐัง พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงระวังยิ่งนักเมื่อจะเสวยปลา

ข้อห้ามเรื่องปลาสีเสียดนี้ เป็นข้อห้ามในราชสกุลศิริวงศ์ ณ อยุธยา ราชสกุลกุญชร ณ อยุธยา ราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งหมด ราชสกุลจักรพันธ์ ณ อยุธยา ราชสกุลภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ราชสกุลจิตรพงศ์ ณ อยุธยา และสายสกุลศิริสัมพันธ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยเจ้าจอมมารดาทรัพย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

หนังสือประกอบการเขียน

ชุมนุมบทละคอนและคอนเสิตพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. กรมศิลปากรจัดพิมพ์อุทิศถวายในงานฉลองครบรอบร้อยปีแห่งวันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2506.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว. รัฐบาลจัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันอังคารที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2530.

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. องค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์ พ.ศ. 2504.

ดวงจิตร จิตรพงศ์, หม่อมเจ้าหญิง. ป้าป้อนหลาน. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระชันษาครบ 5 รอบ วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2511.

ภาณุรังษีสว่างวงษ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดช, จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้า. ราชินิกูลรัชกาลที่ 3. มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์ 2535.

__________. ราชินิกูลรัชกาลที่ 5. หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภา ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 7 สิงหาคม 2522.

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2560

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_7099

 

The post เจาะลึกข้อมูลเชื้อสายอิสลาม มอญ จีน ในราชินีกุลรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 appeared first on Thailand News.